27 เม.ย. 2020 เวลา 08:00 • สุขภาพ
อัปเดต 10 เมืองใหญ่ทั่วโลก 'ถนนโล่ง' เพราะ COVID-19
เมื่อมาตรการของแต่ละประเทศถูกหยิบยกขึ้นมาต่อกรกับ COVID-19 ไม่ว่าจะเป็นการปิดเมือง การประกาศเคอร์ฟิวบางช่วงเวลา รวมถึงภาคเอกชนที่ให้พนักงานทำงานที่บ้านแทนการมาออฟฟิศ เพื่อชะลอการแพร่ระบาดของไวรัส ซึ่งมาตรการเหล่านี้ทำให้การใช้คมนาคมทั่วโลกลดลง
ตามรายงานสถิติของ ‘TomTom (ทอมทอม)’ ผู้ให้บริการข้อมูลจราจร และแผนที่จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ระบุว่า ปี พ.ศ. 2562 ประชาชนทั่วโลกใช้เวลาบนท้องถนนเฉลี่ย 87 นาทีต่อวัน แต่เมื่อเกิดไวรัสระบาดในปี พ.ศ. 2563 ทำให้ระยะเวลาที่ใช้บนท้องถนนในแต่ละวันลดลงเหลือเพียง 43 นาทีเท่านั้น นอกจากนี้ TomTom ยังระบุว่า การเกิด COVID-19 ส่งผลให้คนกักตัวอยู่บ้านมากขึ้น ทำให้ปริมาณความหนาแน่นบนท้องถนนจาก 10 เมืองใหญ่ทั่วโลก ลดลงมากถึง 70-80%
เมื่อเทียบจากข้อมูลวันที่ 24 มกราคม กับ วันที่ 6 เมษายน 2563 ซึ่งเป็นช่วงก่อน - หลังที่ไวรัสโคโรนาจะมีการระบาดไปทั่วโลก จะเห็นได้ว่า ‘10 อันดับเมืองที่มีการจราจรลดลงมากที่สุด’ ดังต่อไปนี้ (อ้างอิงข้อมูลจาก TomTom)
1. Milan, Italy = ลดลง 84.78%
2. Paris, France = ลดลง 84.10%
3. Rome, Italy = ลดลง 83.80%
4. Madrid, Spain = ลดลง 83.27%
5. Barcelona, Spain = ลดลง 81.04%
6. Monaco, Monaco = ลดลง 79.44%
7. Manchester, UK = ลดลง 75.65%
8. Lisbon, Portugal = ลดลง 75.54%
9. Lyon, France = ลดลง 73.66%
10. Boston, USA = ลดลง 73.40%
สำหรับสถิติการใช้รถของกรุงเทพฯ ประเทศไทยไม่ต่างจากเมืองใหญ่ทั่วโลก หากย้อนดูระหว่างวันที่ 16 - 22 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา นับเฉพาะช่วงเวลารถติดมากที่สุด คือ 6 โมงเย็น พบว่ามีปริมาณรถหนาแน่นน้อยลงเฉลี่ย 52% เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2562
16 เม.ย. 63 : ปริมาณความหนาแน่น 36% ลดลงจากปีก่อน 63%
17 เม.ย. 63 : ปริมาณความหนาแน่น 44% ลดลงจากปีก่อน 72%
18 เม.ย. 63 : ปริมาณความหนาแน่น 20% ลดลงจากปีก่อน 49%
19 เม.ย. 63 : ปริมาณความหนาแน่น 6% ลดลงจากปีก่อน 38%
20 เม.ย. 63 : ปริมาณความหนาแน่น 46% ลดลงจากปีก่อน 38%
21 เม.ย. 63 : ปริมาณความหนาแน่น 43% ลดลงจากปีก่อน 51%
22 เม.ย. 63 : ปริมาณความหนาแน่น 44% ลดลงจากปีก่อน 54%
จะเห็นได้ว่าวันที่ 16 - 17 เม.ย. 63 มีปริมาณรถน้อยลงกว่าปีก่อนถึง 60-70% เนื่องจากช่วงเวลาปกติจะคาบเกี่ยวกับช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ และผู้คนต่างทยอยเดินทางเข้าเมือง แต่ปีนี้ดันตรงกับสถานการณ์ไวรัสระบาดพอดี เลยทำให้คนใช้รถน้อยลงกว่าปีที่ผ่านมา (รวบรวมข้อมูลล่าสุดวันที่ 22 เมษายน 2563)
โดยปริมาณความหนาแน่นของคมนาคมทั่วโลกที่ลดลง ช่วยให้สภาพอากาศของโลกเราดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ทั้งจากภาคอุตสาหกรรม และการคมนาคมลดลงตาม ซึ่งนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา มีระดับของคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ลดลงมากกว่า 50% ส่วนมิลาน ประเทศอิตาลี พบก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ลดลงมากกว่า 40%
นอกจากนี้การที่รถบนท้องถนนน้อยลง ยังทำให้ราคาน้ำมันทั่วโลกลดฮวบฮาบอีกด้วย กลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน OPEC+ ต่างลดการผลิตลง 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ราคาซื้อขายน้ำมันดิบจาก 17.69 เหลือ 7.98 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (-54.89%) เรียกว่าต่ำที่สุดในรอบกว่า 30 ปี นั่นจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ว่าทำไมกรุงเทพฯ หรือเมืองอื่นๆ ทั่วโลกต่างมีราคาน้ำมันขายปลีกถูกลงกว่าปกติ
Content Writer : Tunlaya S.
Graphic Designer : Sasicha H.
#UrbanCreature #WhatsUp #UrbanDashBoard #TrafficIndex #City
โฆษณา