27 เม.ย. 2020 เวลา 07:41 • การศึกษา
พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงเหตุแห่งความเจริญไว้ ๕ ประการ
๑. เป็นผู้ไม่คดโกง
๒. ไม่พูดเพ้อเจ้อ
๓. มีความรอบรู้เฉลียวฉลาด
๔. ไม่เย่อหยิ่ง
๕. มีจิตใจมั่นคง
๑. นิคคูหา- การไม่คดโกง.
เป็นคำสอนในแนวให้เห็นโทษ ของการคดโกงในลักษณะต่างๆ ด้วยการกระทำก็ตาม ด้วยการก็พูดตาม ด้วยพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม อันเป็นลักษณะของการฉ้อฉล ขาดความจริงใจ ขาดความซื่อตรง พูดอย่างหนึ่งคิดอย่างหนึ่ง เสแสร้างแกล้งทำต่างๆ มีลักษณะซ่อนเร้นทำนองปากปราศรัยน้ำใจเชือดคอ เป็นต้น ล้วนแต่เป็นอาการของความคดโกงในลักษณะต่างๆ.
คนที่คดโกงนั้น เริ่มมาจากใจที่คดโกง ใจที่ไม่สุจริต ใจที่ถูกปรุงด้วยกิเลส อาจเป็นความโลภ อาจเป็นความหลง อาจเป็นความริษยาอาฆาต เป็นต้น.
คนคดโกงไม่มีใครปรารถนา ไม้คดยังเป็นที่ต้องการของคน แต่คนคดนั้นไม่มีใครต้องการ แม้แต่ลูกก็ไม่เป็นที่พึงใจของพ่อแม่ เป็นสามีภรรยาก็ไม่เป็นที่พอใจของอีกฝ่ายหนึ่ง จะมีตำแหน่งฐานะในระดับใดก็ตามในสังคม ย่อมเป็นบุคคลที่ไม่พึงประสงค์ในสังคมนั้นๆ.
เมื่อต้องการความเจริญในธรรมะ จะต้องไม่คดโกง ต้องไม่หลอกลวงตนเอง ไม่หลอกลวงบุคคลอื่น มีความซื่อตรงต่อตนเอง ต่อผู้อื่น ต่อหน้าที่การงาน ต่อภารกิจที่ตนรับผิดชอบอยู่.
๒.นิลลาปา – การไม่พูดเพ้อเจ้อ
ท่านที่สนใจในหลักธรรมในพระพุทธศาสนา คงจะสังเกตได้ว่า วจีทุจริตทั้ง ๔ ประการนั้น ข้อแรกเรียกว่า มุสาวาทา ข้อที่สองเรียกว่า ปิสุณวาจา ข้อที่สามเรียกว่า ผรุสวาจา คือ เป็นคำพูดแต่พอถึงข้อที่สี่ท่านใช้ คำว่า สัมผัปปลาป ไม่ถือว่าเป็นคำพูด แต่เป็นการเหลวไหลไร้สาระ
 
โบราณท่านแปลว่า สำรอกเพ้อเจ้อ เป็นความที่ไม่ควรพูด และไม่ควรฟัง ชีวิตของคนเรานั้น เวลาเป็นสิ่งที่มีค่า เป็นเงินเป็นทอง ใครใช้ชีวิตสูญเสียไป เพราะการพูดเพ้อเจ้อ หรือฟังแต่สิ่งที่เพ้อเจ้อ ชื่อว่าเป็นศัตรูต่อตนเอง ทำจิตวิญญาณให้ตกต่ำและยังนำความไร้สาระแก่นสารไปสู่ผู้อื่นอีกด้วย
ดังนั้น บุคคลต้องการความเจริญ จึงต้องงดเว้นคำพูดที่เพ้อเจ้อ ปัญหาจึงเกิดขึ้นว่า เมื่อเป็นเช่นนี้จะให้ใช้คำพูดในลักษณะใด ทรงสอนให้พูดด้วยคำพูดที่มีสารประโยชน์ ข้อนี้เราจะสังเกตได้จากข่าวสารบ้านเมือง เรื่องบางเรื่อง ต่างคนต่างพูด ต่างคนต่างแสดงความคิดเห็น แสดงความเป็นรอบรู้ไปเสียทุกอย่าง จนต้องมีการขอร้องให้คนที่ไม่มีส่วนรับผิดชอบหยุดพูด เพราะพูดแล้วสร้างความสับสนวุ่นวายให้เกิดขึ้น
ฉะนั้น หลักการพูดของสัตบุรุษ คือ คนดีจะต้องพูดเรื่องจริง เรื่องที่เป็นธรรม เรื่องที่เป็นประโยชน์ บางครั้งคนฟังไม่ชอบหรืออาจชอบใจ แต่เห็นว่าถึงเวลาที่ควรจะพูดก็พูดเรื่องนั้น เพราะการพูดดี ต้องพูดสิ่งที่เป็นประโยชน์ ผู้ฟังได้ประโยชน์ อันเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ
๓. ธีรา – ผู้มีความรอบรู้เฉลียวฉลาด
เป็นผู้รอบรู้เฉลียวฉลาด ในสิ่งทั้งปวงตามความเป็นจริง เพราะสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ มีการปรุงแต่งประดับประดา มีการโฆษณาชวนเชื่อในรูปแบบต่างๆ ของกลุ่มผลประโยชน์ทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคของข้อมูลข่าวสาร การสื่อสารทั้งหลายกระทำในลักษณะธุรกิจ มีการลงทุนมหาศาล จึงต้องมีการพูดโน้มน้าวจิตใจบุคคลอื่นให้เห็นตามคล้อยตาม เพื่อสนองตอบความประสงค์ของตน
ฉะนั้น การวินิจฉัยข่าวสารจึงต้องฟังหูไว้หู ถือว่าเป็นข้อมูลที่ควรรับฟังในระดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่เป็นความถูกต้อง สมบูรณ์ เพราะในแง่ของความเป็นข่าวแล้ว มีทั้งข่าวลือ ข่าวเท็จปนจริง และข่าวกรอง บางทีแม้จะเป็นข่าวกรองก็ยังขาดความถูกต้อง ขาดความสมบูรณ์อยู่มิใช่น้อย บุคคลผู้มีปัญญาในการรับฟังข่าวสารควรวินิจฉัยตัดสิน ทุกเรื่องจะต้องใช้ความรอบคอบ ความเฉลียวฉลาดในการพิจารณา ในแง่ของการยกย่อง การตำหนิคน ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องมีความรับผิดชอบอย่างสูงในกระบวนการยุติธรรม มีลำดับ มีขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด
ฉะนั้น การวินิจฉัยตัดสินคนในเรื่องอะไรก็ตาม พระพุทธเจ้าทรงใช้คำว่า ใช้ปัญญาพินิจพิจารณาเทียบเคียงโดยรอบคอบแล้ว ตำแหนิคนที่ควรตำหนิ เมื่อเห็นว่าเขามีการกระทำที่ควรตำหนิ พิจารณาเทียบเคียงโดยรอบคอบแล้ว ยกย่องคนที่ควรยกย่อง เมื่อเขามีการกระทำที่ควรยกย่อง
พิจารณาเทียบเคียงโดยรอบคอบแล้ว ให้ความเคารพนับถือแก่คนที่ควรแก่การเคารพนับถือ เมื่อเขามีการกระทำที่ควรแก่การเคารพนับถือ หมายความว่าจะต้องให้ความสำคัญแก่กรรม คือการกระทำ ไม่ใช่มองที่ตัวคน เพราะตามปกติแล้ว การมองคนเรามักจะใช้อารมณ์ของตนเองเป็นหลัก โดย
ปราศจากปัญญาปราศจากเหตุผล ถ้าเป็นอย่างนี้ โอกาสที่จะเป็นความถูกต้อง ความเป็นธรรม ความเที่ยงธรรม ก็จะเกิดขึ้นยาก ดังนั้น การใช้ปัญญาในทุกกรณีเป็นวิธีการของพุทธบุคคล เพราะคุณลักษณะของความเป็นพุทธนั้น คือ ความเป็นผู้รู้ ความเป็นผู้ตื่น ความเป็นผู้เบิกบาน
ชีวิตที่อยู่ด้วยปัญญา ทรงแสดงว่าเป็นชีวิตที่ประเสริฐ สามารถที่จะเลือกเฟ้นสิ่งที่ดีที่งาม และงดเว้นสิ่งที่ไม่เหมาะสมตามสมควร
๔. อสฎฐา – ไม่เป็นคนเย่อหยิ่ง
ในมงคลสูตรมีคุณธรรม ๒ ประการ เกี่ยวกับเรื่องนี้ คือ คารโว จ นิวโต จ และจบลงด้วยคำว่า “เอตมมงคลมุตตม”
คารโว – ความเคารพ นิวาโต – ความอ่อนน้อมถ่อมตน พูดเป็นไทยเห็นจะตรงกับคำว่า ไม่เย่อหยิ่ง เพราะลักษณะการเย่อหยิ่ง การถือตัว การอวดดีนั้น เป็นอาการแข็งกระด้าง สิ่งอะไรก็ตามที่แข็งกระด้างจะมีค่าน้อย
โบราณท่านสอนให้ดูต้นไม้ที่อ่อนนอกแข็งในจะมีค่ามาก แต่ถ้าแข็งอยู่นอก ข้างในมักจะกลวง เช่น ไม้ไผ่ เป็นต้น คุณค่าก็จะน้อย
แสดงให้เห็นว่า คุณลักษณะของสิ่งทั้งหลายที่ดีงามนั้น จะต้องมีลักษณะอ่อนโยนอย่างที่คนโบราณท่านสอนว่า จงเป็นคนอ่อนโยน แต่อย่าเป็นคนอ่อนแอ ความเย่อหยิ่งถือตัว ความอวดดีเป็นลักษณะของคนแข็งกระด้าง สำคัญตนเองว่า ดีเลิศกว่าคนอื่น ทำให้เกิดการติคนอื่น ยกตนเสมอท่าน อาจดูถูกดูหมิ่นบุคคลอื่นได้
๕. สุสมาหิตา – ผู้มีจิตใจมั่นคง
คือ ไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ โดยเฉพาะในยุคของข้อมูลข่าวสาร อารมณ์ที่ถือว่าเป็นอันตรายมากๆ มีอยู่ ๒ อารมณ์ใหญ่ๆ พระพุทธองค์ทรงใช้คำว่า อิฎฐารมณ์ กับ อนิฎฐารมณ์ คืออารมณ์ที่น่าปรารถนา จะก่อให้เกิดความรัก ความใคร่ ความปรารถนา มีการประทุษร้ายกัน เป็นปัญหาใหญ่ในสังคม ในการประพฤติธรรม เป็นปัญหาใหญ่ที่ขัดขวางบุคคลเอาไว้ไม่ให้ประสบความสำเร็จ
คำว่า สุสมาหิต หรือ สุสมาหิตา โดยความหมายจริงๆ หมายถึง จิตระดับสมาธิ แต่การจะเข้าไปถึงจุดนั้น เป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคล บางคนที่ทำได้ ปัญหาสำคัญอย่างยิ่งก็คือ ในชีวิตประจำวันทำอย่างไรจะไม่อ่อนไหวต่อเรื่องราวต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อข่าวลือ เขาว่าอย่างนั้น เขาว่าอย่างนี้ เขาว่าอย่างโน้น พอถามว่าเขาไหนก็ตอบไม่ได้ อ้างว่าเขาว่าเรื่อยไป ไม่ได้มีการพิจารณา
บางครั้งข่าวของทางราชการที่มีข้อมูลมีหลักฐานก็ยังไม่ยอมเชื่อ ได้ยินได้ฟังใครสักคนหนึ่งพูดขึ้นก็ไปเชื่อเขาแล้ว
นี่คือลักษณะของความอ่อนไหว แต่ที่ร้ายยิ่งกว่านั้น บางครั้งหลักธรรมที่เป็นคำสอนในทางพระพุทธศาสนา มีการศึกษา มีการปฏิบัติ มีการเผยแพร่ มีการได้รับผลอย่างต่อเนื่องมายาวนาน พอใครพูดคัดค้านหน่อยเดียวก็เขว
เพราะฉะนั้น ท่ามกลางอารมณ์ที่ผันผวน จะต้องใช้ความสงบเป็นฐานใจ มีปัญญาเป็นเครื่องพินิจพิจารณาสิ่งทั้งหลายทั้งปวง เมื่อปฏิบัติได้ก็จะเป็นไปเพื่อความเจริญในธรรม อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศแสดงไว้ดีแล้ว ตามสมควรแก่การประพฤติปฏิบัติ
โฆษณา