27 เม.ย. 2020 เวลา 09:08 • การศึกษา
เล่าประสบการณ์ การแปลหนังสือ 1 เล่ม ได้เงินเท่าไหร่ และมีปัญหาอะไรที่ต้องเผชิญบ้าง เป็นแนวทางให้คนที่คิดจะเริ่มต้นแปลหนังสือ
เมื่อกลางปีที่แล้ว ผมได้รับการติดต่อจากสำนักพิมพ์ ให้แปลหนังสือเรื่อง Zonal Marking ของไมเคิล ค็อกซ์ครับ ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับฟุตบอลที่ดังมากในอังกฤษ
นอกจากผมแปลเสร็จแล้ว ก็ยังสั่งหนังสือจากสำนักพิมพ์มาขายเองด้วย เป็นจำนวน 1,000 เล่ม เพื่อแจกลายเซ็นให้กับนักอ่าน ที่ชื่นชอบผมงานของผมครับ
ตอนนี้ผมแจกลายเซ็นครบหมดแล้ว ส่งหนังสือถึงผู้อ่านครบทุกคนแล้ว จึงอยากจะมาเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับการแปล และความยากในการจัดส่งหนังสือด้วยตัวเองให้ฟังนะครับ
แต่ว่า อันนี้เป็นกรณีของผมเท่านั้นนะครับ กับคนอื่นและสำนักพิมพ์อื่น อาจเป็นต่างกรรมต่างวาระนะครับผม
[ 1- การแปลหนังสือ กับ การเขียนหนังสือของตัวเอง ได้เงินไม่เท่ากัน ]
การเขียนหนังสือของตัวเอง กับสำนักพิมพ์ส่วนใหญ่ คุณจะได้เงิน 10% ของหน้าปก พิมพ์กี่ครั้ง ก็ได้เงินคูณไปเรื่อยๆ อย่างตอนผมเขียนหนังสือของตัวเองชื่อ Sportlight กับสำนักพิมพ์แซลม่อน พิมพ์ครั้งแรก 4,000 เล่ม หน้าปกราคา 285 บาท ผมก็จะได้เงิน 10% ของราคาเล่ม (28.5 บาท) คูณ กับ 4,000 เข้าไป
ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ผมได้เงินจากสำนักพิมพ์ 4000 x 28.5 = 114,000 บาทครับ หักภาษีตามกฎหมาย ก็เหลือแสนนิดๆครับ
จากนั้นพอพิมพ์ครั้งที่ 2 อีก 2,400 เล่ม ก็ได้เงินอีกรอบ 2400 x 28.5 = 68,400 บาท
พิมพ์ครั้งที่ 3 - 4 - 5 - 6 ถ้ามี ก็ได้เงิน 10% ของหน้าปกต่อไปเรื่อยๆ ดังนั้นเราจะเห็นว่า นักเขียนที่สร้างผลงานระดับ Best Seller ออกมา พวกเขาจะได้รายได้ไปตลอด พิมพ์ซ้ำกี่รอบก็ได้เงินเท่านั้น
1
อย่างเช่น ความสุขของกะทิ หนังสือซีไรท์ ของคุณงามพรรณ เวชชาชีวะ ตีพิมพ์ไปแล้วเกิน 100 ครั้ง ก็ได้เงินคูณไปเรื่อยๆ
แต่สำหรับ การแปลหนังสือนั้นรูปแบบจะต่างกัน ตอนแรกผมก็เข้าใจว่า จะได้ 10% ในทุกการพิมพ์เหมือนกัน แต่จริงๆไม่ใช่แบบนั้นครับ สำนักพิมพ์จะจ่ายให้ผู้แปล แค่ 1 ครั้ง เท่านั้น ต่อให้พิมพ์เพิ่มกี่รอบ ผู้แปลก็ไม่มีส่วนได้เสียแล้ว เงินก็จะเข้าที่สำนักพิมพ์โดยตรงครับ
คำที่สำนักพิมพ์ใช้คือการ "จ้างแปล"
จริงๆ ก็เข้าใจได้นะ เพราะหนังสือดังๆของต่างประเทศ บางเล่มคือการันตียอดขายอยู่แล้ว ไม่ว่าผู้แปลจะเป็นใคร แบบแฮร์รี่ พอตเตอร์อย่างเงี้ยะ จะต้องมาจ่ายเงินให้คนแปลซ้ำหลายๆรอบ มันก็กระไรอยู่ แล้วอย่าลืมว่าสำนักพิมพ์ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์หนังสือมาด้วย เขาก็ต้องลงทุนเหมือนกัน
รายได้เท่าไหร่? ตัวเลข ก็ตามแต่ตกลงกัน นักแปลบางคนได้ 7-8% ของหน้าปกในการพิมพ์ครั้งแรก บางคนได้ถึง 12-15% ครับ ก็แล้วแต่ชื่อเสียง และฝีมือของผู้แปลครับ
สำหรับผม ได้เงิน 10% จากการตีพิมพ์ครั้งแรก 3,000 เล่มครับ ราคาหน้าปก 490 ดังนั้น ก็เอา 49 x 3000 = 147,000 บาทครับ
สำหรับ The Mixer หรือ Zonal Marking ผมก็จะได้รายได้แค่ค่าแปลครั้งเดียวครับ ต่อจากนี้จะพิมพ์เพิ่มอีกกี่ครั้ง ผมก็จะไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับสำนักพิมพ์แล้วครับ (แต่ก็อวยพรให้เขาขายดีนะ)
[ 2- หนังสือ ไม่มีแก้ไขออนไลน์ ]
ใน Zonal Marking เล่มนี้ มีจุดที่ผิดประมาณ 7-8 จุดครับ ที่ผมเขียนผิดเองนะ คือไม่ใช่ว่าตัวเองแปลผิดหรอก แต่ด้วยความเบลอ มันเลยพิมพ์พลาดไป
ตัวอย่างเช่น มีประโยคนึงผมเขียนว่า บาเยิร์น กระชากมาริโอ เกิตเซ่ มาจากบาเยิร์น คือผมเบลอขั้นสุดละ มันจะย้ายมาจากทีมเดียวกันได้ไง จริงๆ เกิตเซ่ต้องมาจากดอร์ทมุนด์สิ ซึ่งถ้าเป็นใน Facebook ผมก็แค่ เออ เผลอพิมพ์ผิดว่ะ กดเข้า Edit แล้วก็เปลี่ยนเป็นดอร์ทมุนด์แล้วก็จบ แต่ในหนังสือเป็นเล่ม มันทำแบบนั้นไม่ได้ไง
มันเป็นข้อควรระวังของผมมากเลย ในการจะทำสิ่งพิมพ์ต่อไปในอนาคต ว่า มันไม่สามารถแก้ได้แล้ว ต้องละเอียดมากกว่านี้อีก อย่าไปหวังว่า พิสูจน์อักษรเขาจะช่วยเรา เพราะเขาเองก็อาจมองข้ามได้เหมือนกัน คือหน้าที่ของพิสูจน์อักษร ก็แก้อักษรผิด แต่ถ้าให้แก้ความหมายเลย บางทีเขาก็ไม่รู้
1
สำหรับผู้อ่าน ใครสังเกตเห็นจุดผิดตรงไหน บอกผมได้เลยนะครับ ผมเห็นหลายจุดเหมือนกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพราะความเบลอของผมเองครับ ต้องขอโทษผู้ซื้อ มา ณ ที่นี้ แต่ก็เป็นแค่ส่วนน้อยนะครับ ไม่ถึง 1% อีก 99% ของเล่ม ยังโอเคอยู่ครับ ปกติดีนะ
[ 3- ระวังโดนแก้จากผิดเป็นถูก ]
หลังจากส่งหนังสือต้นฉบับให้กับสำนักพิมพ์เรียบร้อยแล้ว หน้าที่ของผู้แปลก็จะสิ้นสุดลง สำนักพิมพ์ ก็จะเอาสิ่งที่เราส่งไป นำไปให้พิสูจน์อักษร และให้กองบรรณาธิการ ปรับแต่งคำต่อไป ให้มันดูดีที่สุด
แต่ปัญหาคือ ถ้าเป็นเรื่องเฉพาะทาง กองบรรณาธิการมีสิทธิ์ที่จะแก้จากถูกเป็นผิดได้ เนื่องด้วยความไม่เข้าใจในบริบทของเนื้อหา จริงๆผมเน้นย้ำไปแล้วนะ ว่าถ้าแก้ตัวเนื้อเรื่อง ต้องบอกกันก่อน เพราะทุกตัวอักษรของผม มั่นใจว่าร้อยเรียงมาเป็นอย่างดีแล้ว ดังนั้นถ้าคิดว่าผมพิมพ์ผิดหรือเปล่าควรมาถามก่อนเสมอ
ตัวอย่างที่ผม Sad มากเลย คือ หน้า 226 ผมเขียนว่า "แทนที่นักเตะจะได้พัก ก็ต้องมาลงแข่งขัน ... ทำให้นักเตะกรอบ และส่งผลถึงอาการบาดเจ็บ" อย่างเคสนี้ Editor หวังดี ใส่ "ต.เต่า" ลงหน้าคำว่า กรอบ กลายเป็นคำว่า "ตกรอบ" แทน
1
ประโยคเลยเปลี่ยนเป็นคำว่า "แทนที่นักเตะจะได้พัก ก็ต้องมาลงแข่งขัน ทำให้นักเตะตกรอบ และส่งผลถึงอาการบาดเจ็บ" คือความหมายมันไปคนละทิศละทางเลย
1
หรืออย่างหน้า 386 ตอนแรกผมเขียนว่า "ในเวลาต่อมา โค้ชของทีมบาร์ซ่า เบ โจเซป มาเรีย กอนซาลโว่"
แต่ทีมงานก็อาจจะหวังดี ไปสลับตำแหน่งของคำ เป็นคำว่า "ในเวลาต่อมา เบ โจเซป มาเรีย กอนซาลโว่ โค้ชของทีมบาร์ซ่า" กลายเป็นว่า เปลี่ยนชื่อทีมไปเลย จากบาร์ซ่า เบ เป็น บาร์ซ่าเฉยๆ
ถามว่าเป็นความผิดของเขาไหม ก็ส่วนหนึ่ง แต่สำหรับผมเองมองว่าตัวเองผิดมากกว่า ที่น่าจะตรวจทานมากกว่านี้ เราน่าจะเช็กแบบให้ละเอียดจริงๆ คือเราพลาดเอง ไม่คาดคิดว่าเขาจะแก้ตรงเนื้อเรื่องด้วย
ก็เป็นบทเรียนให้ผมต่อไปครับ ว่าหนังสือเล่มหนึ่ง มันไม่ได้จบแค่ที่ผู้แปล แต่มันยังต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจทานอีกหลายอย่าง และเวลามันพลาดแล้ว คนไม่ได้สนใจหรอกว่า พิสูจน์อักษรชื่ออะไร แต่มันเป็นความผิดของคนแปลต่างหากล่ะ เพราะชื่ออยู่บนหน้าปกหนังสือ
[ 4- การเซ็นชื่อ 1,000 เล่ม ไม่ใช่เรื่องง่าย ]
ตอนแรกผมคิดว่า การจัดส่งหนังสือ 1,000 เล่ม เราน่าจะทำได้นะ คือเป็นธรรมเนียมตั้งแต่ Sportlight และ The Mixer แล้วครับ ที่ผมจะเซ็นชื่อ เขียนอะไรเล็กน้อยถึงลูกเพจโดยตรง
1
ตอนแรก Sportlight ผมเซ็น 300 เล่ม พอ The Mixer เซ็น 500 เล่ม แล้วทีนี้ พอ Zonal Marking ตอนแรกผมว่าจะเซ็นสัก 500 แต่ไปๆมาๆ คนสั่งเยอะมาก เลยเปิดรับสัก 1,000 เล่มละกัน คิดในใจว่า เซ็นไหวอยู่นา
แต่ในความจริงแล้ว มันยากกว่าที่ผมคิดเยอะมากครับ
1- หนังสือ 1,000 เล่ม เราจะเก็บที่ไหนต้องมีสถานที่ชัดเจน อันนี้ไม่ยากเท่าไหร่
2- ลูกเพจส่งข้อความมาพร้อมกัน 1,000 คนในวันเดียว จะจัดการตอบอย่างไร
3- การแพ็กหนังสือ จัดลำดับก่อนหลัง แล้วคนไหน ขอให้เซ็นชื่อแบบพิเศษ เราจะทำอย่างไรไม่ให้ลืม
4- มีพัสดุ 1,000 ชิ้น จะส่งไปรษณีย์อย่างไร จะขนย้ายอย่างไร ต้องไปส่งไปรษณีย์ไหม หรือว่า เรียกเขามารับที่บ้านได้
5- Tracking ถ้าลูกเพจถาม จะตรวจสอบอย่างไร ถ้าส่งไปรษณีย์ก็ต้องนั่งคลี่ใบเสร็จงั้นหรือ
และจุดที่ยากที่สุดคือ "การเซ็น" นี่ล่ะครับ ผมเซ็นหนังสือ 1 เล่ม ใช้เวลาประมาณ 1.30-2.00 นาที ต่อเล่ม ตีกลมๆว่า 2 นาที 1000 x 2 = 2000
2,000 นาที คือ 33 ชั่วโมง ผมต้องใช้เวลาถึง 33 ชั่วโมงในการเซ็นหนังสือทั้งหมด ซึ่งก็คือลุยเซ็นกันจนนิ้วขยับไม่ได้เลย ปากกาหมึกหมดไปหลายแท่ง
ช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมต้องจัดสรรเวลาอย่างมาก คือ เพจก็ต้องเขียน ลูกก็ต้องเลี้ยง งานประจำก็ต้องทำ และต้องเซ็นหนังสือ กับตอบลูกเพจในไลน์ด้วย มันเลยวุ่นวายมากจริงๆ
ครั้งนี้เป็นบทเรียนให้ผมว่า อย่าซ่าเกิน เซ็นหนังสือเขาเซ็นกันได้ แต่ 1,000 เล่มนี่มันใช้พลังของมนุษย์เกินไปหน่อยครับ ในเล่มที่ 4 ถ้ามี ผมก็จะวางแผน และจัดสรรให้ดีกว่านี้ครับ
ส่วนหนนี้ ต้องขอบคุณลูกเพจทุกคนที่รอจริงๆครับ ผมซึ้งใจมากเลย
นี่คือ 4 เรื่อง ที่ผมได้เรียนรู้จาก การแปลหนังสือ Zonal Marking เล่มนี้ครับ ต้องขอบคุณสำนักพิมพ์ Live Rich อย่างมาก ที่ให้โอกาสผมได้แปลงานยอดเยี่ยมของ Michael Cox เล่มนี้
เรื่องที่เล่ามานี้ เป็นจริงทุกบรรทัด และหวังว่าจะเป็นประโยชน์ และเป็นแนวทางให้กับคนที่จะเริ่มต้นแปลหนังสือได้ไม่มากก็น้อยครับ
#วิเคราะห์บอลจริงจัง
โฆษณา