28 เม.ย. 2020 เวลา 02:30 • ประวัติศาสตร์
Paper-bag Masks ‘หน้ากากถุงกระดาษ’ เทรนด์แฟชั่นรุ่นพ่อใช้ซ่อนตัวตน
พาย้อนวันวานไปหาจุดเริ่มต้นของ ‘หน้ากากถุงกระดาษ’ เทรนด์แฟชั่นรุ่นพ่อ ซึ่งไม่ได้เอาไว้ใส่ป้องกันเชื้อโรค แต่นี่คือสัญลักษณ์ในการใช้ซ่อนตัวตนของคนยุค 60 พร้อมทำความรู้จักกับ ‘Saul Steinberg’ นักเขียนและนักวาดภาพประกอบชาวโรมาเนีย ผู้ประดิษฐ์และคิดค้นหน้ากากกระดาษที่ไม่ว่าเด็กคนไหนก็ต้องเคยใส่ !
‘Saul Steinberg’ นักเขียนและนักวาดภาพประกอบชาวโรมาเนีย
‘Saul Steinberg’ คือนักเขียน และนักวาดภาพประกอบชาวโรมาเนีย ที่โด่งดังเป็นพลุแตกจากฝีมือการวาดภาพปกให้กับนิตยสารชั้นนำรายสัปดาห์ของอเมริกาที่เรารู้จักกันดี อย่าง ‘The New Yorker’ ฉบับวันที่ 9 มีนาคม ค.ศ.1976
Steinberg เกิดเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ.1914 ในครอบครัวชาวยิว ที่ประเทศโรมาเนีย เขาเลือกเรียนที่มหาวิทยาลัยบูคาเรสต์ ประเทศโรมาเนีย (Politehnica University of Buchares) และในปีต่อมาไปสมัครเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคแห่งมิลาน ประเทศอิตาลี (Polytechnic University of Milan) เพื่อศึกษาต่อด้านสถาปัตยกรรม
Steinberg เริ่มเข้าวงการนักเขียนและนักวาดภาพประกอบเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.1936 ด้วยการทำงานเป็นนักเขียนการ์ตูนให้กับ ‘Bertoldo’ นิตยสารอารมณ์ขันรายปักษ์ของมิลาน หลังจากนั้นสองปีต่อมารัฐบาลที่ควบคุมโดยกลุ่มลัทธิฟาสซิสต์ในประเทศอิตาลีออกกฎหมายต่อต้านชาวยิว จึงทำให้ Steinberg ต้องลี้ภัยไปประเทศอื่น
ในปี ค.ศ.1941 เขาย้ายไปยังสาธารณรัฐโดมินิกัน ประเทศหนึ่งในทวีปอเมริกาเหนือ ก่อน Steinberg จะขอเข้าลี้ภัยที่สหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ.1942 โดยการสนับสนุนของนิตยสาร The New Yorker ซึ่งในขณะนั้นสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง
ชีวิตหลังจากนั้น เขาได้เริ่มงานเขียนและวาดภาพประกอบให้กับนิตยสารหลายฉบับ เช่น Fortune, Vogue, Mademoiselle และ Bazaar ของ Harpe รวมถึง The New Yorker นิตยสารชั้นนำรายสัปดาห์ของอเมริกา
‘The Start of Paper-Bag Masks’ จุดเริ่มต้นหน้ากากถุงกระดาษ
Saul Steinberg แต่งงานกับจิตรกรสาว Hedda Sterne ในปี ค.ศ.1944 ในระหว่างนั้น Steinberg ก็โลดแล่นแสดงฝีไม้ลายมือในฐานะนักเขียนและนักวาดภาพประกอบอย่างจริงจัง เขาได้สร้างผลงานมากกว่า 90 หน้าปกหนังสือ และภาพประกอบมากกว่า 1,200 ภาพใน 60 ปีต่อมา หลังจากนั้นเขาเริ่มสร้างสรรค์จิตรกรรมฝาผนังจากการตัดปะที่มีชื่อว่า ‘The Americans’ เพื่อจัดแสดงในงานมหกรรมโลก ‘Brussels World’s’ ปี ค.ศ. 1958 กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม และผลงานชิ้นนี้เองที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
“The mask,” Steinberg wrote, “is a protection against revelation.”
โดยยุคทองของ Steinberg คือช่วง ค.ศ.1959 - 1963 ที่เขาหันมาสนใจสร้างหน้ากากจากถุงกระดาษสีน้ำตาล เพราะเขานึกถึงการปิดบังหรือการปลอมตัวของคนในสังคม ที่ทุกคนมักสวมหน้ากากเข้าหากัน พยายามสร้างตัวตนใหม่ๆ ให้คนอื่นเห็นผ่านการแต่งหน้า การแสดงออกทางสีหน้า นานวันเข้าใบหน้าที่สร้างขึ้นมาปิดบังเหล่านั้นก็กลายเป็นตัวตนของพวกเขาไปในที่สุด นั่นจึงเป็นเหตุผลที่หน้ากากถุงกระดาษเวอร์ชั่น Steinberg จะมีสัญลักษณ์เป็นลวดลายแปลกๆ ออกมามากมาย จนกลายเป็นเทรนด์ที่คนในยุคนั้นฮิตใส่กัน
‘The Mask Series’ เซ็ตภาพถ่ายคนและถุงกระดาษ
จากไอเดียหน้ากากถุงกระดาษของเขา สู่เซ็ทภาพถ่ายที่ผู้คนทั่วโลกพูดถึง ซึ่งเกิดจากวันหนึ่ง Steinberg ได้ไปร่วมงานปาร์ตี้ค็อกเทลที่อพาร์ทเมนต์ของเพื่อนในนิวยอร์ก แล้วบังเอิญได้พบกับ ‘Inge Morath’ ช่างภาพหญิงชาวอเมริกัน หลังจากได้พูดคุย ทั้งสองจึงปิ้งไอเดียจับมือกันสร้างภาพถ่าย ‘The Mask Series’ ในชื่อโปรเจกต์ที่ชื่อว่า ‘Masquerade’ โดยเชิญเพื่อนๆ มาใส่หน้ากากถุงกระดาษและโพสต์ท่าให้ Morath ถ่าย
ภาพในหนังสือ ‘Saul Steinberg Masquerade’ #1
หลังจากภาพซีรีส์นี้ถูกปล่อยออกไป ก็กลายเป็นตำนาน และสัญลักษณ์เชิงวรรณกรรมสำหรับผู้คนที่ขี้อาย ไม่กล้าเข้าสังคม รวมถึงการซ่อนตัวตนของผู้คน ก่อนที่ Morath จะรวบรวมเซ็ตภาพนี้จัดพิมพ์เป็นโฟโต้บุ้กชื่อ ‘Saul Steinberg Masquerade’ ซึ่งรวมไฮไลต์คอลเลกชันภาพ ‘หน้ากากถุงกระดาษ’ ในช่วงทศวรรษ 1950 และ 1960 ตีพิมพ์ครั้งแรกปี ค.ศ. 2000 หลัง Steinberg เสียชีวิตได้ 1 ปี
ไม่น่าเชื่อเลยว่า ถุงกระดาษที่เราใช้ใส่ของ หรือบางถุงกระดาษก็กลายเป็นสัญญะอวดรสนิยมการใช้ของแบรนด์ของคนยุคนี้ จะเคยเป็นตัวแทนของคนขี้อาย และไม่กล้าเข้าสังคมมาก่อน
ภาพในหนังสือ ‘Saul Steinberg Masquerade’ #2
ภาพในหนังสือ ‘Saul Steinberg Masquerade’ #3
Sources :
Magnum Photos | https://bit.ly/3eJccAL
Hint Fashion Magazine | https://bit.ly/3at28ss
Content Writer : Patcharee B.
Graphic Designer : Jirayu P.
#UrbanCreature #UrbanTales #PaperbagMasks #SaulSteinberg #หน้ากากถุงกระดาษ
โฆษณา