27 เม.ย. 2020 เวลา 12:04
“CPTPP” คืออะไร อธิบายแบบภาษาบ้านๆ
กับผลลัพธ์ที่ตามมาหากไทยเข้าร่วม
บทความนี้จะไม่ชี้นำว่าการเข้าร่วมในข้อตกลงเศรฐกิจฉบับนี้จะดีหรือไม่ดี ให้ไปพิจารณากันดู แต่จะเผยให้รู้จักว่า CPTPP และจะเกี่ยวข้องกับคนไทยอย่างไรบ้าง และยอมรับว่าเป็นการเขียนอธิบายที่ยากมากในการเขียนให้เป็นกลางที่สุด เพราะเงื่อนไขต่างๆ ที่อ่านข้อมูลมาค่อนข้าง Negative List ฉะนั้นผมทำใจกลางๆ อยู่นานพอสมควรที่จะเขียนให้ได้เนื้อมากที่สุด และให้ข้อมูลจากทั้ง 2 ฝั่ง
CPTPP ย่อมาจาก Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership ชื่อเดิมคือ Trans-Pacific Partnership (TPP) เริ่มความตกลงนี้มาตั้งแต่ปี 2006 มันคือ ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก โดยเป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมในเรื่องการค้า การบริการ และการลงทุนเพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งในประเด็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ
แต่เดิมสมาชิกทั้งหมด 12 ประเทศ แต่หลังจากสหรัฐฯ ถอนตัวออกไปเมื่อต้นปี 2017 ปัจจุบัน เลยเหลือสมาชิก CPTPP 11 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม
**จะเกิดอะไรถ้าไทยเข้าร่วม CPTPP โดยเฉพาะผลกระทบกับคนไทยโดยตรง** ซึ่งตรงนี้เป็นการอ้างอิงข้อมูลจาก การจัดเสวนาวิชาการในหัวข้อ ‘วิเคราะห์ CPTPP หลังสหรัฐอเมริกาถอนตัว ประเทศไทยควรเข้าร่วมเป็นภาคีหรือไม่’ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา โดยมีนักวิชาการจากหลากหลายสาขาร่วมวิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสีย โดยศูนย์วิจัยและควบคุมการบริโภคยาสูบ (ศจย.) มหาวิทยาลัยมหิดล, ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จุฬาฯ และ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ได้เคยวิเคราะห์เอาไว้ดังนี้
- ด้านการเกษตร
พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช 2542 ห้ามเฉพาะส่วนขยายพันธุ์ เช่น เมล็ด กิ่ง หน่อและส่วนอื่นๆ ที่ขยายพันธุ์ได้ แต่ UPOV 1991 ห้ามรวมไปถึงการผลิตและผลิตภัณฑ์ ไม่สามารถเอาผลผลิตไปขายหรือแปรรูปแล้วขายโดยไม่แบ่งผลกำไรแก่เจ้าของพันธุ์
ระยะเวลาการคุ้มครอง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช ให้เวลาคุ้มครอง 12 ปี สำหรับพันธุ์พืชที่ให้ผลหลังปลูกไม่เกินสองปี เช่นพืชล้มลุกซึ่งเป็นพืชส่วนใหญ่ที่คนไทยรับประทาน แต่ UPOV 1991 ขยายเป็น 20 ปี นักพัฒนาพันธุ์คนไทยที่อยากเอาไปพัฒนาสายพันธุ์ต่อก็ทำไม่ได้เพราะมีระยะเวลาคุ้มครองยาวนาน
พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช ให้สิทธิเกษตรกรเก็บส่วนขยายพันธุ์ของพืชไว้เพื่อขยายพันธุ์ต่อไปได้ แต่ UPOV 1991 ไม่สามารถทำได้ ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์จากเจ้าของพันธุ์ทุกฤดูเพาะปลูก
การนำเข้าส่งออก พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช สามารถนำเข้าส่งออกเพื่อขยายพันธุ์ได้ แต่ UPOV 1991 ทำไม่ได้ รวมถึงการนำเข้าส่งออกที่ไม่ใช่เพื่อการขยายพันธุ์ก็ต้องแบ่งผลประโยชน์ให้เจ้าของสายพันธุ์ด้วย
ในสถานการณ์พิเศษ เช่น การขาดแคลนอาหาร พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช เปิดช่องให้รัฐสามารถออกมาตรการเพื่อจำกัดสิทธิของเจ้าของพันธุ์ได้ แต่ UPOV 1991 ไม่มีข้อยกเว้นสิทธิใดๆ เลย
พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช ไม่รองรับพืชตัดต่อพันธุกรรม แต่ UPOV 1991 กำหนดให้ขอจดทะเบียนคุ้มครองพืชตัดต่อพันธุกรรมได้ อาจทำให้ไทยสูญเสียจุดเด่นด้านเกษตรอินทรีย์ไปได้เพราะข้อตกลงนี้การตัดสินใจนำเข้าพืช GMO หรือไม่กำหนดให้วิเคราะห์ความเสี่ยงด้านวิทยาศาสตร์เท่านั้นไม่มีบริบทอื่น ทำให้ไทยเสี่ยงที่จะมีพืช GMO ทะลักเข้าสู่ตลาดสินค้าเกษตรได้
- อุตาสหกรรมยาและเวชภัณฑ์
ยกเลิกการให้สิทธิประโยชน์แก่องค์การเภสัชกรรมในการจัดซื้อยาของภาครัฐ และต้องให้รัฐวิสาหกิจด้านการซื้อหรือขายสินค้าและบริการโดยไม่เลือกปฏิบัติและเป็นไปตามกลไกตลาด ยกเลิกการอุดหนุน/ให้ความช่วยเหลือรัฐวิสาหกิจที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อรัฐวิสาหกิจ ธุรกิจ และอุตสาหกรรมของต่างประเทศ โดยไม่สนใจว่า รัฐวิสาหกิจมีพันธกิจทางสังคม เช่น น้ำประปา ไฟฟ้า ยารักษาโรค สินค้าและบริการเหล่านี้ไม่ใช่สินค้าปกติ แต่ต้องดูแลสังคมให้ประชาชนเข้าถึงด้วย จะทำอย่างไร ถ้าไม่สามารถทำหน้าที่ทางสังคมได้ จะกลายเป็นว่า เฉพาะคนที่มีเงินเท่านั้นจึงจะสามารถเข้าถึงน้ำประปา ไฟฟ้า และยารักษาโรค และราคายาจะสูงขึ้น
ภูมิปัญญาท้องถิ่น การแพทย์แผนไทย และสมุนไพร ในตัวข้อตกลง CPTPP ยังมีเรื่องอนุสัญญา UPOV 1991 ซึ่งจะมีผลกดดันต่อ Value chain ทั้งหมดหรือมีผลต่อการปรับปรุงพันธุ์พืชสมุนไพรเพื่อให้ได้สารเคมีที่ต้องการ และเมื่อมีการเข้าสู่กระบวนการวิจัยและพัฒนา ก็จะมีเรื่องการจดสิทธิบัตรมาเป็นตัวกระทบ เนื่องจาก TPP เดิมอนุญาตให้มีการจดสิทธิบัตรของพืชและจุลชีพได้ แต่ใน CPTPP มีการชะลอการบังคับใช้ ขณะที่ไทยมีจุดเด่นเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพก็จะถูกจำกัดด้วยเรื่องนี้ หรือด้วยข้อจำกัดในด้านขีดความสามารถของไทยที่อาจพัฒนาหรือจดสิทธิบัตรไม่ทันกับต่างประเทศจนกระทบต่อการพัฒนายาใหม่ไปด้วย
- ด้านเครื่องมือแพทย์
CPTPP เปิดโอกาสให้ “เครื่องเก่าที่ทำเป็นของใหม่” Re - Manufactured โดยนำเข้าหรือส่งออกได้แบบไม่เสียภาษี ถ้าจัดการไม่ดีอาจจะเกิดขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมหาศาลในประเทศได้ เพราะขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีระบบที่ชัดเจน ทั้งเรื่องการติดตามและกำกับดูแล อันนี้จะเท่ากับเอาขยะเครื่องมือแพทย์มาทิ้งที่ประเทศไทย เพราะในความตกลงฯ ระบุว่า "ห้ามปฏิบัติต่อสินค้าดังกล่าวเหมือนสินค้าใช้แล้ว" เพราะถ้ารับมาแล้วใช้ได้ไม่นานก็ไม่ต่างกับรับซากเครื่องมือเหล่านี้มาทิ้งที่ประเทศไทย
เครื่องสำอางประเด็นสำคัญของ CPTPP อยู่ที่การเปิดเสรีและลดการกำกับควบคุมก่อนเข้าสู่ตลาด แปลว่าประเทศไทยต้องมีการเฝ้าระวังหรือมีมาตรการหลังออกสู่ตลาดที่เข้มแข็งออกมารองรับ จะตัดเลขที่จดแจ้งบนฉลากออกเวลานำเข้าหรือส่งออกทำให้เวลาตรวจสอบจากหน่วยงาน เช่น อย. หรือตรวจสอบย้อนหลังยากขึ้น
ยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประเด็นสำคัญคือต้องลดภาษีลง แต่ตัวภาษีนี้เป็นมาตรการสำคัญในการควบคุมการบริโภคยาสูบ ดังนั้นหากภาษีนำเข้าลดลงแปลว่าภาษีอื่นๆ ในประเทศต้องเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องฉลากก็จะถูกกำกับด้วย เพราะประเด็นเรื่องการจำกัดไม่ให้ใช้เครื่องหมายการค้า คำ หรือวลีที่เกี่ยวกับการแสดงคุณภาพของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างๆ ยังไม่ได้รับการยกเว้นใน CPTPP โดยเฉพาะเรื่องรูปภาพคำเตือนบนฉลาก นี่เป็นเรื่องใหญ่มาก แม้จะเป็นแค่การปรับแก้ประกาศที่เรื่องรูปภาพคำเตือนบนฉลากเครื่องดื่ม แต่จริงๆ แล้วส่งนัยยะต่อไปการออกกฎหมาย ระเบียบและกำหนดนโยบายเพื่อคุ้มครองประชาชน คุ้มครองสุขภาพหรือสิ่งแวดล้อม ไม่สามารถทำได้ หากมันเกินขอบเขตที่ CPTPP กำหนด
- ด้านทรัพย์สินทางปัญญา
CPTPP กำหนดขอบเขตสิทธิการยกเว้นให้แคบลงอาจจะส่งผลกระทบต่อการประกาศสิทธิเหนือสิทธิบัตรหรือ CL ได้ โดยเฉพาะยาที่ไทยใช้สิทธินี้เพื่อนำเข้าในราคาถูกเช่นยาต้านเชื้อ HIV ที่นำมารักษาผู้ติดเชื้อ covid-19 เป็นต้น ซึ่งอาจส่งผลให้ยาเหล่านี้ที่จำเป็นต่อผู้ป่วยจะแพงขึ้น
จริงๆ มันยังมีอีกหลายเรื่องที่จะได้รับผลกระทบต่อรัฐ ทั้งการคุ้มครองการลงทุน และการให้เอกชนฟ้องร้องภาครัฐ หรือที่เรียกว่า กลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งที่ผ่านมานโยบายของประเทศไทยชัดเจนว่าคุ้มครองการลงทุน ที่เป็นการลงทุนโดยตรงหรือลงทุนจริงเท่านั้น แต่สิ่งที่ไทยต้องยอมรับหากจะเข้า CPTPP คือ การลงทุนใน portfolio หรือการลงทุนโดยการซื้อหุ้น ซึ่งเป็นการลงทุนที่ไม่ได้รับอนุมัติคุ้มครองเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งตอนนี้คดีของวอลเตอร์ บาวกับทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ ก็เป็นแบบนี้เพราะนักลงทุนไม่ได้รับการอนุมัติการคุ้มครองที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่มาอ้างขอรับการคุ้มครองการลงทุน อาจเป็นการลักลั่นในกระบวนการที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับรัฐได้ หากเอกชนเล่นแง่ขึ้นมา
1
ยังไม่รวมการตัดขั้นตอนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในสัญญาต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและความมั่นคง ซึ่งนับเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตย และประชาชนต้องมีส่วนรับรู้ว่าผลได้ผลเสียที่เกิดขึ้นมันจะเกิดอะไรบ้างกับสัญญาทางการค้าต่างๆ ซึ่งมันอาจทำให้ประชาชนต้องรับผลกระทบโดยที่ตัวเองไม่รู้เลยว่ามันมาถึงได้ยังไง
.
ส่วนข้อดีถามว่ามีหรือไม่สำหรับ CPTPP มันก็มี เช่น เพิ่มโอกาสการส่งออกของไทยไปยังประเทศสมาชิก CPTPP โดยเฉพาะตลาดแคนาดาและเม็กซิโก ซึ่งไทยยังไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีด้วย ในปี 2017 มูลค่าส่งออกไทยไปยังกลุ่มประเทศ CPTPP มีสัดส่วน 30% ของการส่งออกทั้งหมดจากไทย และมีอัตราการเติบโต 9% เทียบกับปีก่อนหน้า สำหรับแคนาดากับเม็กซิโกมีสัดส่วนการส่งออกรวมกัน 2%
ช่วยดึงดูดการลงทุนที่ต้องการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศสมาชิก CPTPP ซึ่งหากไทยไม่เข้าร่วม เราอาจจะเสียโอกาสตรงนี้ให้มาเลเซียกับเวียดนามไป
เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทย จากการปรับปรุงกฎระเบียบภายในประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ CPTPP ที่ได้ชื่อว่าเป็นความตกลงทางการค้าคุณภาพสูง ตัวอย่างกฎเกณฑ์ที่ CPTPP สนับสนุน ได้แก่ กฎหมายสิทธิแรงงาน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การสนับสนุนการแข่งขันอย่างเท่าเทียมระหว่างธุรกิจชาวท้องถิ่นและชาวต่างชาติ เป็นต้น
แต่เอาเข้าจริงเรื่องการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ ไทยมีการทำข้อตกลงทางการค้าหรือ FTA กับประเทศคู่ค่าต่างๆ อยู่แล้ว รวมทั้งประเทศในสัญญา CPTPP จำนวน 9 ประเทศ และสามารถเจรจาขยับขยายความร่วมมือภาคการค้า การบริการและการลงทุนใน FTA เดิมได้โดยไม่ทับซ้อนกับสัญญาใน CPTPP ซึ่งมีเงื่อนไขที่ค่อนข้าง Negative List หรือแม้แต่การทำ FTA กับทั้งประเทศที่มีขนาดตลาดใหญ่อื่นๆ ไทยก็ทำไว้แล้ว ซึ่งตรงนี้อาจจะไม่จำเป็นเลยที่ไทยจะต้องเสียประโยชน์ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความมั่นคงทางอาหารและยา ที่นับเป็นสิ่งอ่อนไหวต่อกระบวนการอยู่รอดของประชาชนในประเทศ
แต่มันก็มีข้อมูลอีกฝั่งจาก นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้ข้อมูลเรื่องของ UPOV 1991 ไว้ว่า ความตกลง CPTPP จะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยา การคุ้มครองพันธุ์พืช และการเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของไทย ผลการศึกษาข้อในบทความตกลง CPTPP และข้อผูกพันของประเทศสมาชิก CPTPP
โดยขอยกข้อมูลมาเป็นข้อๆ ดังนี้
1. ข้อกังวลเรื่องการห้ามเกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไปปลูกต่อ และต้องขยายสิทธิผูกขาดไปที่ผลผลิต และผลิตภัณฑ์
- การห้ามเก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อนั้น ไม่เป็นความจริง เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชในกลุ่มพันธุ์พื้นเมือง พันธุ์ดั้งเดิม พันธุ์ป่าของพืชทุกชนิดรวมถึงสมุนไพร และพันธุ์การค้าที่ไม่ได้รับการคุ้มครองไปปลูกต่อได้เหมือนเดิม
- สำหรับพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับการจดทะเบียนคุ้มครอง ก็มีข้อยกเว้นที่อนุญาตให้เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่ไว้ใช้เพาะปลูกต่อในพื้นที่ของตนได้ และยังสามารถนำพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับการคุ้มครองไปพัฒนาต่อยอดโดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าของพันธุ์ (ตาม UPOV 1991 Article 15)
- เมื่อซื้อเมล็ดพันธุ์หรือได้พันธุ์คุ้มครองมาอย่างถูกต้อง เกษตรกรมีสิทธิเพาะปลูกและจำหน่ายผลผลิตและผลิตภัณฑ์ที่เกิดได้โดยไม่ผิดกฎหมายและไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าของพันธุ์
2. ข้อกังวลเรื่องการผูกขาดเมล็ดพันธุ์แก่บริษัทเอกชน
- การผูกขาดเมล็ดพันธุ์ให้แก่บริษัทเอกชนนั้น ไม่เป็นความจริง เนื่องจาก UPOV 1991 ให้การคุ้มครองสิทธิแก่ผู้พัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ทั้งหมด โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นเฉพาะบริษัทเอกชนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงนักวิจัยภาครัฐ นักปรับปรุงพันธุ์พืชอิสระ นักศึกษา เกษตรกร หรือบุคคลทั่วไป ก็สามารถยื่นจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ได้
- ทำให้นักปรับปรุงพันธุ์ทั้งหลายมีความมั่นใจเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยพัฒนาพันธุ์พืชมากขึ้น ทำให้มีพันธุ์พืชใหม่ๆ ชนิดพืชที่หลากหลายออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง เกิดการแข่งขันด้วยเรื่องความดีเด่นของพันธุ์และคุณภาพเมล็ดพันธุ์ ซึ่งจะช่วยลดการผูกขาดด้านการค้าเมล็ดพันธุ์ไม่ให้จำกัดอยู่เฉพาะรายใหญ่เพียงไม่กี่บริษัท
3. ข้อกังวลว่าจะลดทอนกลไกการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ
- UPOV 1991 ไม่มีข้อใดที่ห้ามหรือลดทอนกลไกการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์ (Access and Benefit-Sharing: ABS) และไทยก็เป็นสมาชิกของอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity: CBD) ซึ่งไทยก็มีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์ ทั้งนี้ หลายประเทศก็เป็นสมาชิกทั้งอนุสัญญา UPOV1991 และอนุสัญญา CBD เช่น ญี่ปุ่น แคนาดา และประเทศในยุโรป
4. ข้อกังวลว่าเกษตรจะซื้อเมล็ดพันธุ์แพงขึ้น
- ราคาเมล็ดพันธุ์พืชในประเทศจะแพงขึ้น เป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว เนื่องจาก ราคาเมล็ดพันธุ์ที่อาจจะเพิ่มขึ้น ก็อาจจะจำกัดเฉพาะในกลุ่มพันธุ์พืชใหม่ที่จดทะเบียนคุ้มครองเท่านั้น ไม่มีผลกระทบต่อพันธุ์พืชพื้นเมือง พันธุ์พืชป่า หรือพันธุ์การค้าที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง โดยราคาเมล็ดพันธุ์ในตลาดจะถูกกำหนดด้วยความดีเด่นหรือคุณค่าของพันธุ์และคุณภาพเมล็ดพันธุ์ และการได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป ซึ่งหากเกษตรกรเห็นว่าแพงไป ขายผลผลิตแล้วไม่คุ้มกับเงินที่ลงทุน เกษตรกรก็สามารถเลือกที่จะไม่ซื้อ แล้วไปซื้อพันธุ์อื่นที่ถูกกว่าได้ นอกจากนี้ เกษตรกรยังสามารถเลือกใช้พันธุ์ของหน่วยงานรัฐได้เช่นกัน
- ทั้งนี้ การมีพันธุ์พืชใหม่ที่หลากหลายออกสู่ตลาดมากขึ้นอย่างต่อเนื่องถือเป็นข้อดี ให้เกษตรกรได้มีทางเลือกมากขึ้น เลือกซื้อพันธุ์ที่มีลักษณะตามความต้องการของตลาด ขายผลผลิตได้ราคา
5. ข้อกังวลเรื่อง GMO
- การต้องเปิดให้สินค้า GMO เข้าในประเทศนั้น ไม่เป็นความจริง เนื่องจาก ความตกลง CPTPP ไม่ได้กำหนดให้สมาชิกต้องปรับกฎหมายภายในประเทศในเรื่องสินค้าเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ (Modern Biotechnology) แต่อย่างใด และปัจจุบันไทยยังไม่อนุญาตให้ปลูกหรือทำการค้าพืช GMOs ได้อย่างเสรี โดยพืช GMOs เป็นสิ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ. กักพืช พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
6. ข้อกังวลเรื่อง CL
- การอ้างว่าเข้าร่วมความตกลง CPTPP จำกัดการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (CL) หรือมีผลให้ใช้ CL ได้ยากขึ้นนั้น ไม่เป็นความจริง เนื่องจากความตกลง CPTPP ข้อ 18.41 กำหนดไว้ชัดว่าไม่มีข้อบทใดจำกัดสิทธิของสมาชิกในการใช้มาตรการ CL ตามความตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลก (WTO) อีกทั้ง ข้อ 18.6 ยังยืนยันสิทธิของประเทศสมาชิกในการใช้มาตรการเพื่อปกป้องการสาธารณสุขและการเข้าถึงยาของประชาชน
- การที่ความตกลง CPTPP กล่าวถึงสิทธิของสมาชิกในการประเมินสถานการณ์ฉุกเฉินของประเทศ โดยมิได้กล่าวคำว่า “การใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะที่ไม่ใช่เพื่อการค้า” (Public Non-Commercial Use) จะแปลเอาเองว่า สมาชิก CPTPP ไม่มีสิทธิใช้มาตรการ CL เพื่อประโยชน์สาธารณะที่ไม่ใช่เพื่อการค้า นั้น ไม่ถูกต้อง แท้จริงแล้วข้อความในส่วนที่มีการกล่าวอ้างนี้เพียงแนวทางการพิจารณาสถานการณ์ฉุกเฉินของประเทศ ซึ่งเป็นถ้อยคำที่นำมาจากปฏิญญาโดฮาว่าด้วยความตกลงทริปส์และการสาธารณสุข (Doha Declaration on TRIPS and Public Health ย่อหน้าที่ 4 และ 5(c))
- การกล่าวอ้างว่าแม้สมาชิก CPTPP จะสามารถใช้มาตรการ CL ได้ แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้อง โดยนักลงทุน ตามข้อบทการลงทุน (Investment) นั้น ไม่เป็นความจริง ข้อบทการลงทุน ข้อ 9.8 เรื่องการเวนคืน (Expropriation) ย่อหน้าที่ 5 กำหนดไว้ชัดเจนว่าไม่ให้นำเรื่องนักลงทุนฟ้องรัฐมาใช้กับกรณีการใช้มาตรการ CL ที่สอดคล้องกับข้อบททรัพย์สินทางปัญญาและความตกลงทริปส์
- นอกจากนี้ ข้อบทเรื่องการระงับข้อพิพาท (Dispute Settlement) ในข้อ 28.3.1.(c) เกี่ยวกับ non-violation complaint ก็ยังไม่ได้รวมถึงประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา
- จากการศึกษาข้อบท CPTPP ในทุกประเด็นอย่างละเอียดแล้ว ยืนยันได้ว่า หากไทยเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ไทยจะยังมีสิทธิบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (CL) ตามกรอบความตกลงทริปส์ของ WTO ดังเช่นที่ไทยมีอยู่ในปัจจุบันทุกประการ และจะไม่ทำให้ไทยถูกกล่าวหาว่าละเมิดความตกลง CPTPP และไม่เป็นเหตุให้ประเทศไทยถูกฟ้องร้องแต่อย่างใด
7. ข้อกังวลเรื่องการผลิตยาสามัญ
- การเข้าร่วม CPTPP จะทำให้การเข้าถึงยาสามัญช้าลงนั้น ไม่เป็นความจริง เนื่องจากข้อบทเรื่องการเชื่อมโยงระบบสิทธิบัตรและระบบการขึ้นทะเบียนยา (Patent Linkage) เป็นข้อบทที่มีความยืดหยุ่น ที่ให้สมาชิกมีทางเลือกเชิงนโยบายสำหรับจัดตั้งระบบดังกล่าวในลักษณะที่จะเป็นประโยชน์กับแต่ละประเทศได้
- ความตกลง CPTPP ให้สมาชิกสามารถเลือกรูปแบบที่มีความยืดหยุ่นได้ โดยระบุไว้ 2 ทางเลือก คือ
(1) ให้ขึ้นทะเบียนตำรับยาสามัญได้แม้ยาต้นแบบจะยังไม่หมดอายุการคุ้มครองสิทธิบัตร เพียงแต่ต้องแจ้งให้เจ้าของสิทธิบัตรทราบ และมีการเยียวยาที่เหมาะสมหากมีการการละเมิด หรือ
(2) ไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนตำรับยาสามัญ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากเจ้าของสิทธิบัตร
- ในเบื้องต้น ไทยอาจพิจารณาทางเลือกที่ (1) เพราะมีความยืดหยุ่นมากกว่า โดยยังคงทำให้ไทยสามารถขึ้นทะเบียนตำรับยาสามัญได้แม้ยาต้นแบบยังไม่หมดอายุการคุ้มครองสิทธิบัตร ซึ่งจะไม่ทำให้ยาสามัญเข้าสู่ตลาดได้ช้าลง ซึ่งสอดคล้องกับแนวปฏิบัติของประเทศสมาชิก CPTPP บางประเทศ เช่น นิวซีแลนด์ ที่ใช้เพียงการนำรายชื่อผู้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนตำรับยาขึ้นเผยแพร่บน website เท่านั้น ซึ่งไม่เป็นการสร้างภาระให้กับหน่วยงานภาครัฐ
8. ข้อกังวลเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ
- ความตกลง CPTPP ยังให้สมาชิกสามารถกำหนดมูลค่าขั้นต่ำของการเข้ามาแข่งขันในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐได้ ถ้ามูลค่าโครงการต่ำกว่าที่กำหนดไว้ ก็ไม่ต้องเปิดให้เข้ามาแข่งขัน และยังมีระยะเวลาการปรับตัว
- ตัวอย่างเช่น มาเลเซีย ขอระยะเวลาปรับตัวนานถึง 20 ปี เวียดนาม ขอระยะเวลาปรับตัวนานถึง 25 ปี โดยมาเลเซีย และเวียดนาม กำหนดมูลค่าขั้นต่ำการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการในช่วงแรกที่ 65-86 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างที่ 2,700 – 2,800 ล้านบาท โดยมีเวลาปรับตัว 7-25 ปี ในการทยอยลดมูลค่าขั้นต่ำในการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการเหลือ 5.6 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างเหลือ 367-605 ล้านบาท
9. ข้อกังวลเรื่องเครื่องมือแพทย์มือสอง
- ไทยต้องเปิดให้สินค้า Remanufactured goods ซึ่งรวมถึงเครื่องมือแพทย์มือสอง และสินค้าขยะเข้ามาในไทยได้นั้น ไม่เป็นความจริง เนื่องจาก ความตกลง CPTPP ระบุนิยามของสินค้า Remanufactured goods ว่าต้องมีอายุการใช้งานและคุณภาพใช้งานเช่นเดียวกับสินค้าใหม่ และต้องได้รับการรับรองจากโรงงานว่าสามารถใช้ได้เช่นเดียวกันกับสินค้าใหม่ ดังนั้น สินค้า Remanufactured goods จึงไม่ใช่สินค้ามือสอง และเป็นคนละประเด็นกับการนำเข้าขยะมาในประเทศ ทั้งนี้ หากเป็นสินค้าเครื่องมือแพทย์มือสอง ไทยยังคงห้ามนำเข้าได้ตาม พรบ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 (หมวด 6 การควบคุมเครื่องมือแพทย์)
10. ข้อกังวลเรื่อง เครื่องสำอาง
- แม้ความตกลง CPTPP จะห้ามการระบุเลขที่จดแจ้งบนฉลากเครื่องสำอาง แต่ไทยก็อาจพิจารณาใช้เครื่องมืออื่นทดแทนการระบุเลขที่จดแจ้งบนฉลาก เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงสามารถตรวจสอบความถูกต้องและสืบค้นผลิตภัณฑ์ได้
อย่างไรก็ตามทุกสัญญาการค้าย่อมมีข้อดีข้อเสีย มีได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ซึ่งบางอย่างรัฐก็ให้ข้อมูลกระประชาชนไม่หมด ไม่เคลียร์ ให้ข้อมูลแต่ด้านดี แต่ด้านผลกระทบกลับไม่ค่อยพูดถึง ซึ่งก็ต้องเป็นหน้าที่ขององค์กรและหน่วยงานต่างๆ ต้องตรวจสอบกันและให้ข้อมูลที่กระจ่างชัดเจน ไม่ใช่แค่ห่วงตัวเลขส่งออกและลงทุน
ส่วนประเด็นอื่นๆ หากอยากศึกษาเพิ่มเติมก็ลองไปศึกษาหาข้อมูลดูเพราะตอนนี้เป็นกระแสค่อนข้างแรง มีข้อมูลมากมายเยอะแยะ ในมุมต่างๆ ที่นอกเหนือจากที่ผมอธิบายไป ซึ่งคงจะหยิบมาอธิบายได้ไม่หมด ดังนั้นแนะนำว่าเราต้องศึกษาทำความเข้าใจเรื่องนี้ เพราะมันไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย และมันมีผลกระทบกับทุกคน ไม่เว้นแต่ชาวไร่ชาวนา เกษตรกรที่ไม่เล่นโซเชียลก็ตาม
.
เข้าใจ-cptpp-อย่างถูกต้อง-ไขคำตอบทุกข้อกังวล?cate=5cff753c1ac9ee073b7bd1c5&fbclid=IwAR1nYVtFXJo0uCEt0TRrBwwmuYPzaOxa3ud5pxa1YtbAkcTsDuKTgSK9l9k
โฆษณา