28 เม.ย. 2020 เวลา 09:09 • การศึกษา
ภาวะ Multitasking คุ้นหูกันไหมครับ?
เรื่องของการทำงานหลายๆ อย่างพร้อมกัน
มีเวลาไม่เยอะอยากอ่านสั้นๆ
1.สมองของคนเราถูกออกแบบมาให้สามารถ “ทำ” อะไรหลายๆ อย่างได้พร้อมกัน แต่ไม่สามารถ “โฟกัส” อะไรหลายๆ อย่างพร้อมกันได้
2.เราเสียเวลาเกือบ 28% ในเวลางานไปกับการ “Switch task” หรือสลับไปมาเพื่อทำอะไรหลายอย่างพร้อมกัน และคนที่ทำอะไรหลายอย่างพร้อมกันมักทำผิดพลาดและตัดสินใจได้แย่กว่า
คุณเคยสังเกตไหม? ว่ามีหลายคนที่ชอบทำอะไร หลายๆ อย่าง พร้อมๆ กัน คุณเคยสังเกตเห็นคนที่ชอบทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมกันไหมครับ เช่น ทำ Excel ไปด้วย ตอบเมลไปด้วย ในขณะที่อีกหน้าจอก็ LINE สั่งงานไปด้วย หรือที่เราเรียกกันว่า Multitasking
แล้วเคยสงสัยไหมว่า การทำอะไรหลายอย่างพร้อมกัน ตกลงแล้วมันมีประสิทธิภาพจริงๆหรือเปล่า? ว่ากันตามตำราก่อนนะครับ
ในหนังสือ ได้ทุกสิ่งด้วยสิ่งเดียว (The One Thing) ของ แกรี่ เคลเลอร์ ได้เขียนเล่าถึงเบื้องหลังของความคิดเรื่องการทำหลายสิ่งพร้อมๆ กันว่า คนหลายคนมักมีความเชื่อว่าพวกก็สามารถทำอะไรได้หลายอย่างพร้อมกันนี่ เช่น เดินไปคุยไป ฟังเพลงไปทำงานไปด้วย หรือบางคนทำงานไปคุยโทรศัพท์กับแฟนไปด้วย
แต่จริงๆ แล้ว เรื่องที่ต้องขยายให้ชัดเจนคือ คนเรานั้นทำอะไรได้พร้อมกันครับ เพราะสมองของเรานั้นมีหลายส่วนที่ช่วยควบคุมร่างกายและการคิดของเรา
เราถูกออกแบบมาให้ทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมกันใช่ไหม?
ในหนังสือ สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้วยนิสัยแค่ 1% (The Power of Habit) ที่เล่าถึง เบซัล แกงเกลีย (Basal Ganglia) เซลล์สมองที่อยู่ในระบบประสาทของคนเรา ทำหน้าที่ควบคุมพฤติกรรมที่เราทำโดยอัตโนมัติ ยกตัวอย่างเช่น ตอนที่เราหัดขับรถใหม่ๆ เราต้องใช้สมาธิมากในการเปลี่ยนเกียร์ เหยียบคันเร่งหรือเหยียบเบรค แต่พอเราทำบ่อยๆ นานๆ เข้า เซลล์สมองส่วนนี้ก็จะทำหน้าที่ช่วยควบคุมให้เราทำได้อย่างอัตโนมัติ เพื่อผ่อนแรงไม่ให้เราต้องทุ่มเทสมาธิไปกับทุกเรื่องในชีวิต
ดังนั้น การทำอะไรพร้อมๆ กัน จึงเป็นสิ่งที่ทำได้ เพราะเรามีสมองหลายส่วนที่เข้ามาช่วย
สรุปคือสมองเรานั้นออกแบบมาให้ “สามารถ” ทำอะไรได้หลายๆ อย่างพร้อมกันจริงๆ ครับ
รูปภาพจาก Number 24 x Shutterstock.com
มนุษย์สามารถ “โฟกัส” ได้ทีละอย่าง
แม้ว่าเราจะสามารถทำอะไรได้หลายๆ อย่าง พร้อมๆ กัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนเรามีได้แค่ “โฟกัส” เดียวครับ ลองนึกตามดูว่า เวลาที่เราฟังวิทยุไปทำงานไป เอาจริงๆ เราไม่สามารถนั่งพิมพ์งาน พร้อมกับฟังสิ่งที่พิธีกรหรือดีเจพูดตอนนั้นได้จริงๆ เอาแบบให้เข้าใจสิ่งที่ดีเจกำลังพูดแบบลึกซึ้งเลยนะครับ
สิ่งที่เราทำจริงๆ มันคือการ “Switch Task” หรือการหยุดทำสิ่งหนึ่งไปทำอีกสิ่งหนึ่งแบบเร็วๆ
ในหนังสือ ได้ทุกสิ่งด้วยสิ่งเดียว (The One Thing) ได้เล่าถึงผลศึกษาในงานวิจัย ที่พบว่า โดยทั่วไป คนเราเสียเวลาเกือบ 28% ในเวลางาน หมดไปกับการ switch task หรือการ กลับไป-กลับมา ของการทำหลายอย่างพร้อมๆ กัน และยังพบอีกว่า คนที่ทำหลายอย่างพร้อมๆ กัน ทำผิดพลาดบ่อยกว่าคนที่ไม่ได้ทำหลายอย่างพร้อมกัน และยังตัดสินใจได้แย่กว่าอีกด้วย (poorer decision)
อย่างในบทความ Driven to Distraction ที่พบตัวเลขว่า กว่า 16% ของอุบัติเหตุบนถนนมาจากการ ถูกรบกวนสมาธิ (Distraction) หรือการทำอย่างอื่นไปด้วยเวลาขับรถ อย่างเช่นการคุยโทรศัพท์นั้นขโมยโฟกัสของเราไปกว่า 40% ซึ่งนั่นมีผลพอๆ กับการเมาแล้วขับเลยทีเดียว
จึงเห็นได้ว่าเกือบทุกประเทศจะมีการรณรงค์เรื่องการงดใช้โทรศัพท์ในตอนขับรถเป็นอย่างมาก โดยส่วนตัวแล้วผมเคยมีคนใกล้ตัวโดนรถชนเพราะคนขับเล่นมือถือ ผมจึงค่อนข้างมั่นใจว่าคนที่เล่นมือถือตอนขับรถนี่อันตรายทั้งกับตัวเองและผู้ร่วมใช้ถนนคนอื่นด้วยครับ
กลับมาที่การทำงาน ผมเห็นหลายคนเวลาประชุมมักจะทำนู่นทำนี่ เช่น เช็คเมล คุยงาน พร้อมกับประชุมไปด้วย และหลายครั้ง ก็ต้องมาเสียเวลาอธิบายเรื่องใหม่อีกครั้ง เพราะคนนั้นไม่ได้ฟังสิ่งที่เราคุยกันในที่ประชุม เพราะมัวแต่ยุ่งกับหน้าคอมอยู่ สุดท้ายแทนที่จะได้ประชุมสั้นๆ จบเร็ว กลายว่าต้องช้ากว่าเดิม และไม่แน่ใจด้วยว่าอีกฝ่ายได้ฟังและตัดสินใจได้อย่างดีจริงๆ รึเปล่า หลายคนชอบคิดว่าดูหน้าจอคอมไปก็คิดงานไปด้วยได้ แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวของผม เวลาผมเรียกคนที่กำลังจดจ่อกับหน้าจอคอมหรือหน้าจอมือถืออยู่ ร้อยทั้งร้อยต้องเงยหน้าขึ้นมาแล้วถามผมว่า “ผมขอคำถามอีกครั้งได้ไหมครับพี่” ตลอด
ดีที่สุดคือ “ควรทำทีละอย่าง”
ดังนั้น ทางที่ดี ควรทำทีละอย่างจะดีกว่า ซึ่งถ้าเราทำทีละอย่างและทำรวดเดียวไปเลย มันจะช่วยให้เราทำงานได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่า เพราะสิ่งที่ได้คือการมีโฟกัส และไม่ต้องเสียเวลาสลับไปสลับมา ซึ่งการสลับไปสลับมาก็ยังต้องเสียเวลาปรับความคิดเราให้เข้ากับอีก งานหนึ่ง
อย่าลืม กด like
กด share
กด follow กันด้วยนะครับ
ขอบคุณครับ
โฆษณา