28 เม.ย. 2020 เวลา 06:47
นิติบุคคล EP.6
ค่าเลี้ยงรับรอง ค่ากระเช้าของขวัญ ใช้เป็นค่าใช้จ่ายได้ไหม?
ในกรณีที่บริษัทฯ ต้องพาลูกค้าหรือผู้มุ่งหวังที่จะเป็นลูกค้าไปเลี้ยงรับรอง เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดี โดยมีเป้าหมายให้ลูกค้าตัดสินใจมาร่วมธุรกิจกับเรา หรืออีกกรณีหนึ่งคือ พวกเขามาเยือนบริษัทฯ ของเรา และบริษัทฯมอบ กระเช้า ของขวัญ หรือ ของที่ละลึกให้
กรณีข้างต้นนี้ บริษัทถือเอามาเป็น "ค่าใช้จ่าย" ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้หรือไม่?
คำตอบคือ .... เอามาเป็น "ค่าใช้จ่าย" ได้ครับ แต่...ต้องทำให้ถูกต้อง!!!
ซึ่งสรรพากรมีข้อกำหนดในการยินยอมให้เป็น ค่าใช้จ่าย ได้ดังนี้
1. ค่ารับรอง หรือ ค่าบริการ นั้นต้องเป็นค่ารับรองหรือค่าบริการ อันจำเป็นตามธรรมเนียมประเพณีทางธุรกิจทั่วไป และ บุคคลซึ่งได้รับรองหรือรับบริการ "ต้องมิใช่ลูกจ้าง" ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เว้นแต่ ลูกจ้างดังกล่าว จะมีหน้าที่เข้าร่วมในการรับรองหรือการบริการนั้นด้วย
2. ค่ารับรอง หรือ ค่าบริการ นั้นต้องเป็นค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการรับรอง หรือ การบริการ ที่จะอำนวยประโยชน์แก่กิจการ เช่น ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม ค่าดูมหรสพ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการกีฬา เป็นต้น
3. กรณีที่เป็น "ค่าสิ่งของ" ที่ให้แก่บุคคลซึ่งได้รับการรับรองหรือรับบริการ เช่น กระเช้า ของขวัญ ของที่ละลึก ต้องไม่เกินคนละ 2,000 บาท ในแต่ละคราวที่มีการรับรองหรือการบริการ
4. จำนวนเงินค่ารับรอง และ ค่าบริการ ที่ยินยอมให้นำมาหักเป็นรายจ่ายได้
- เท่ากับจำนวนเท่าที่ต้องจ่าย
- แต่รวมกันต้องไม่เกินร้อยละ 0.3 ของจำนวนเงินยอดรายได้ หรือ ยอดขายที่ต้องนำมารวมหรือคำนวณกำไรสุทธิ ก่อนหักรายจ่ายใดในรอบระยะเวลาบัญชี หรือ ของจำนวนเงินทุนที่ได้รับชำระแล้ว ถึงวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า
- ทั้งนี้ รายจ่ายที่จะนำมาหักได้จะต้องมีจำนวนสูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท
5. ค่ารับรอง หรือ ค่าบริการ นั้นต้องมี กรรมการ หรือ ผู้เป็นหุ้นส่วน หรือ ผู้จัดการ หรือ ผู้ได้รับมอบหมายจากบุคคลดังกล่าว เป็นผู้อนุมัติหรือคำสั่งจ่ายค่ารับรองหรือค่าบริการนั้นด้วย
6. ต้องมีใบรับเงิน หรือ หลักฐานของผู้รับเงิน สำหรับเงินที่จ่ายเป็นค่ารับรองหรือค่าบริการ เว้นแต่ ในกรณีที่ผู้รับเงินไม่มีหน้าที่ต้องออกใบรับตามประมวลรัษฎากร
ข้อควรระวัง
(1) ภาษีซื้อ ที่เกิดจากรายจ่ายเพื่อการรับรองหรือเพื่อการอันมีลักษณะ
ทำ นองเดียวกันนี้ ถือเป็น "ภาษีซื้อต้องห้าม"
หมายถึง กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม กิจการไม่สามารถนำ "ภาษีซื้อ" อันเกิดจากค่ารับรองข้างต้น มาหักออกจาก "ภาษีขาย" ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือนำมาขอคืนภาษีซื้อ อันเข้าลักษณะของ "ภาษีซื้อต้องห้าม" ตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 17)
(2) กรณีนำกระเช้า ของขวัญ ไปแสดงความยินดี เนื่องในโอกาสต่าง ๆ เช่น การเปิดร้านใหม่ ของขวัญปีใหม่ เป็นต้น กรณีดังกล่าว ถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว หรือรายจ่ายให้โดยเสน่หา ตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร
กิจการไม่สามารถนำมาถือเป็น "ค่าใช้จ่าย" ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้นะครับ หรืออาจจำง่าย ๆ ว่า
"เขามาหาเรา "กระเช้า" เป็นค่ารับรอง
เราไปหาเขา "กระเช้า" เป็นรายจ่ายต้องห้าม"
ก็พอได้นะครับ
ไว้ EP.7 เรามาคุยกันเรื่อง "ค่าจัดงานเลี้ยงปีใหม่" กันนะครับ
ครูต๊ะ
28 เมษายน 2563
ถ้าคุณชอบบทความนี้ ช่วยกด "ถูกใจ" เพจ เพื่อเป็นกำลังใจด้วยนะครับ
โฆษณา