28 เม.ย. 2020 เวลา 13:52 • ท่องเที่ยว
ชุมชนกุฎีจีน รวมมิตนพหุวัฒนธรรม
เมื่อวันหยุดมาถึง... ทริปนานาก็ผุดขึ้นมาในหัว หากใครเคยดูละครเรื่อง 'กาหลมหรทึก' อาจจะได้ยินชื่อชุมชนกุฎีจีน อันเป็นหนึ่งในจุดเกิดเหตุของเรื่อง รอบนี้เราจึงเลือกทริปครึ่งวันเดินเที่ยวกุฎีจีน และหากใครสายมูเตลูู มีโอกาสมาที่นี่ นอกจากเที่ยวครบจบขอพรหลากศาสนาภายในวันแน่นอน
การเดินทาง
สำหรับคนไม่มีรถส่วนตัว : ให้นั่งรถเมล์สาย 8 ในตำนานมาลงที่ปากคลองตลาด และนั่งเรือข้ามฟากที่สถานีอัษฎางค์ (โครงการยอดพิมาน ริเวอร์วอร์ค) เพื่อมาลงที่ท่าเรือวัดกัลยาณมิตร จากนั้นเดินเท้าบนทางเดินเลียบริมแม่น้ำเจ้าพระยาไปจะเจอสถานที่เที่ยวต่าง ๆ
สำหรับเราสองคนเลือกเดินทางด้วยรถส่วนตัว โดยจอดรถไว้ที่ลานจอดรถของวัดกัลยาณมิตร ส่วนใหญ่คนไทยเชื้อสายจีนหรือคนจีนแท้ ๆ มักจะมาไหว้ขอพรซำปอกง หรือ หลวงพ่อโต ซึ่งมีเรื่องเล่าถึงความศักดิ์สิทธิ์ว่าในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีเครื่องบินมาทิ้งระเบิด ชาวบ้านแถวนั้นต่างพากันหลบอยู่ภายในวิหาร และทุกคนปลอดภัยดี จึงเชื่อกันว่าด้วยบารมีของหลวงพ่อโตที่เอามือรับระเบิดแล้วเหวี่ยงระเบิดไปยังสะพานพุทธ ฯ นั่นเอง
จากนั้นเราเดินเท้าออกจากวัดกัลยาณมิตร โดยลัดเลาะทางเดินเลียบริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใช้เวลาเดินเพียงชั่วอึดใจ จะมองเห็นป้ายไม้ด้านขวามือเขียนข้อความว่า 'ศาลเจ้าเทียนอันเกง' มองเข้าไปด้านในเป็นอาคารไม้เก่าแก่ ซึ่งมีอายุมากกว่าหนึ่งร้อยปี และหลังคามุงด้วยกระเบื้องโค้งตามแบบจีนแท้ เราจึงเดินเข้าไป ซึ่งจะพบว่าด้านในศาลเจ้ามีเจ้าแม่กวนอิมเป็นองค์ประธาน ฝาผนังประดับด้วยไม้แกะสลัก และภาพจิตกรรมฝาผนังที่รังสรรค์อย่างปราณีต แม้เวลาล่วงเลยมานานแค่ไหนยังคงความสวยงาม คู่ควรแก่การอนุรักษ์ไว้ให้ชนรุ่นหลังได้พบเห็น เราจึงถือโอกาสสักการะเจ้าแม่กวนอิม เพื่อขอพรซะเลย...
ข้อควรระวัง : ระหว่างทางเดินเลียบริมแม่น้ำจะมีขอทานเยอะมาก
หลังจากขอพรเจ้าแม่กวนอิมที่ศาลเจ้าเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงเดินย้อนออกมาทางเดินเลียบแม่น้ำอีกครั้ง ท่ามกลางแดดร้อนอบอ้าว ลมแม่น้ำปะทะใบหน้าที่ชุ่มเหงื่อ ช่วยคลายร้อนได้บ้าง วิวด้านหน้า คือ สะพานพุทธ เป็นสะพานเหล็กข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมกรุงรัตนโกสินทร์กับกรุงธนบุรี นอกจากนี้มีเรื่องเล่าว่าสร้างขึ้นเพื่อแก้อาถรรพ์ของพิธีฝังเสาหลักเมืองของกรุงเทพมหานครด้วย เราเดินเท้าไปเรื่อย ๆ สักพักก็จะเห็นอาคารโดมโดดเด่นเป็นสง่าอยู่ทางด้านขวามือ "โบสถ์ซางตาครู้ส" นั่นเอง
บริเวณรอบโบสถ์แห่งนี้มีชุมชนชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสที่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยาเมื่อคราวการเสียกรุงครั้งที่ 2 อาศัยอยู่ ซึ่งพระเจ้าตากเป็นผู้พระราชทานที่ดินเพื่อให้สร้างโบสถ์หลังนี้ขึ้น และคนส่วนมากมักจะเรียกกันว่าวัดกุฎีจีน
เราโชคดีที่เดินไปแล้ว มองซ้ายมองขวาสักประเดี๋ยว ไม่รู้จะไปทางไหน เผอิญมีคุณป้าท่านหนึ่งเดินผ่านมา แกเห็นท่าทีเราไม่ใช่คนแถวนี้จึงได้ถามไถ่ และอาสาพาไป
คุณป้าเริ่มพาเดินลึกเข้าไปในชุมชน สำหรับผู้มาเยือนอย่างเราถือว่าที่นี่มีความสลับซับซ้อนเล็กน้อย และป้าก็พาเรามาหยุดอยู่หน้าพิพิธภัณฑ์กุฎีจีน แถมยังแนะนำด้วยว่าเมื่อมาถึงแล้ว... อย่าลืมชิมอาหารโปรตุเกส และขนมฝรั่งด้วยนะ
เราทั้งคู่กล่าวขอบคุณ แกส่งยิ้มให้เราก่อนที่จะค่อย ๆ เดินหายลับไปตามตรอกซอกซอย
ชุมชมกุฎีจีนนั้นมีแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจได้แก่ พิพิภัณฑ์กุฎีจีน ร้านอาหารโปรตุเกสร้านขนมฝรั่ง นอกจากนี้ในวันคริสต์มาสจะมีการเฉลิมฉลอง พร้อมประดับประดาโบสถ์ด้วยหลอดไฟหลากสี
เราเดินเท้ามาถึงหน้าบ้านไม้หลังหนึ่ง มีสองชั้น ด้านล่างเป็นร้านอาหารโปรตุเกส และป้ายบอกว่าด้านบนจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ เราเลือกเดินขึ้นชั้นสองเพื่อศึกษาก่อน สิ่งจัดแสดงภายในเล่าเรื่องความเป็นมาของชุมชน วิถีชีวิตและวัฒนธรรมได้อย่างน่าสนใจ จากนั้นเราเดินลงมาชิมอาหารโปรตุเกส ซื้อโปสการ์ดเก็บไว้เป็นที่ระลึก
ก่อนจะเดินเท้าไปต่อที่บ้านขนมฝรั่ง "ธนูสิงห์" ชิมขนมฝรั่ง จิบโกโก้ปั่น เอนหลังพิงโซฟาฟังคนขายเล่าว่าหากเดินออกจากย่านกุฎีจีนไป ข้ามไปอีกฝั่งของถนนก็จะเจอกุฎีขาว ซึ่งเป็นที่พักอาศัยของพี่น้องชาวมุสลิมอีกด้วย
สำหรับเราคงนั่งหย่อนใจที่นี่แล้ว เหนื่อยมาทั้งวันในย่านกุฎีจีน การเดินทางครั้งนี้มีสิ่งหนึ่งมี่เราเห็นได้ชัดเลยว่าชุมชนที่นี่หลากหลายศาสนาและวัฒนธรรม ทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม และครั้งหนึ่งเราเคยได้ร่วมงานประจำปีที่วัดประยูร บนเวทีเสวนามีผู้นำทุกศาสนากำลังพูดคุยเรื่องชุมชนอย่างตั้งอกตั้งใจกันเลยทีเดียว
"ไม่อยากเชื่อเลยว่า ชุมชนที่แตกต่างกันขนาดนี้ แต่อยู่ร่วมกันได้ จนวันนี้เห็นกับตาตัวเอง..."
ไว้เจอกันใหม่ทริปหน้าครับผม...

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา