29 เม.ย. 2020 เวลา 01:10 • การศึกษา
การพัฒนาทางการเมือง
ตอนที่ 1
ความนำ
การพัฒนาการเมือง (Political Development) เป็นคำที่เริ่มใช้กันในวงวิชาการรัฐศาสตร์เมื่อทศวรรษที่ 1960 โดยพัฒนามาจากการเรียนการสอนวิชาการเมืองเปรียบเทียบ (comparative politics) การพัฒนาการเมืองใช้เป็นมาตรฐานทางความเชื่อในทางการเมืองในเรื่องที่ว่า การเมืองในประเทศต่างๆต่างก็สามารถพัฒนาเข้าสู่สภาวะทางการเมืองที่ “ดีกว่า” แบบหนึ่ง การวัดการพัฒนาการทางการเมืองบางทีก็เรียกว่า “การทำการเมืองให้มีความทันสมัย (political modernization) ” เดเมียน (Damien, 2007 :10) การศึกษาวิชาการพัฒนาการเมืองมี มโนทัศน์หลักที่สำคัญคือเรื่องที่เกี่ยวโยงกับสถาบันทางการเมือง และวัฒนธรรมทางการเมืองนั่นเอง
ภูมิหลังของการศึกษาการพัฒนาการเมือง
หลังการล่มสลายของยุคล่าอาณานิคมในราวปลายศตวรรษที่ 19 เกิดการปลดปล่อยอาณานิคม (decolonized) จนเกิดรัฐ-ชาติที่มีเอกราชที่สมบูรณ์ขึ้นในโลกจำนวนมากในเอเชีย, แอฟริกา และอเมริกาใต้ ทว่าประเทศเจ้าอาณานิคมเดิมยังต้องการคงอำนาจทางการเมืองไว้อยู่ เนื่องจากในเวลานั้นสถานะการเมืองโลกอยู่ในช่วงการต่อสู้ทางอุดมการณ์ระหว่างโลกเสรี กับโลกสังคมนิยม จึงมีการนำเสนอความเชื่อพื้นฐานของแนวคิดการพัฒนาการเมืองจะเชื่อว่าหากรัฐ-ชาติที่เกิดขึ้นใหม่นั้นจะมีความมั่นคงในทางการเมืองจะต้องพัฒนาประเทศไปในแนวทางของประเทศที่พัฒนาแล้ว (developed country) ซึ่งโดยนัยก็คือประเทศใน “โลกตะวันตก” ที่เคยเป็นประเทศเจ้าอาณานิคมอาทิ อังกฤษ, ฝรั่งเศส, สหรัฐอเมริกา, สเปน, ฮอลแลนด์,โปรตุเกส เป็นต้น ดังนั้นวัตถุประสงค์หลักของแนวคิดการพัฒนาการเมืองนั้นสามารถเข้าใจได้ในสองด้าน พิสิษฐิกุล แก้วงาม (2553) คือ
1. เพื่อเป็นการจัดระดับความสัมพันธ์ในระดับของการเมืองระหว่างประเทศ
2. เพื่อเป็นเครื่องเมืองในทางการเมืองเพื่อป้องกันรัฐ-ชาติที่เกิดขึ้นใหม่ไม่ให้ใช้แนวทางในการปกครองในแบบคอมมิวนิสต์
ข้อสังเกตหนึ่งคือในรัฐ-ชาติทีเกิดขึ้นใหม่นั้นมักถูกมองว่ามีความวุ่นวายในทางการเมืองมากเกินไป ในเวลาดังกล่าวรัฐ-ชาติที่เคยเป็นประเทศลูกอาณานิคมประสบปัญหาทางการเมืองต่าง ๆ อันนำไปสู่ฆาตกรรมทางการเมือง, การรัฐประหาร, และความล้มเหลวในการนำเข้าระบอบประชาธิปไตย นักรัฐศาสตร์อเมริกันตีความว่าปรากฏการณ์ความล้มเหลวของการสร้างระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยในรัฐชาติที่เกิดขึ้นใหม่นั้นเกิดจากการขาดการพัฒนาการเมือง การแก้ปัญหาดังกล่าวนักรัฐศาสตร์จึงมุ่งเน้นไปที่การวิเคราะห์การเมืองของประเทศที่เคยเป็นเมืองขึ้นของมหาอำนาจ โดยมองว่าความวุ่นวายในทางการเมืองที่กล่าวมานี้ส่งผลโดยตรงต่อสมรรถภาพในการ “ก้าวหน้า” ในทางการเมือง และยังมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อสมรรถนะในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และสังคมอีกด้วย หรือก็คือแนวคิดพัฒนาการเมืองจะมองว่าการเมืองคือตัวกำหนดสมรรถนะทางเศรษฐกิจ และสังคมซึ่งจะต่างกับรัฐ-ชาติที่มีระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ที่จะใช้เศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดการเมือง และสังคม แนวคิดการพัฒนาการเมืองจะให้ความสำคัญกับรัฐในสถานะที่เป็นสถาบันหลักในการสรรสร้างจิตสำนึกในทางการเมือง และกรอบในการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยเพื่อเป็นรากฐานให้กับการสร้างความเป็นสถาบันให้เกิดขึ้นในรัฐ-ชาติ อย่างไรก็ตามสำหรับในประเทศโลกที่สามนั้นสถาบันที่หากเข้มแข็งแล้วมักส่งผลกระทบในทางลบต่อการพัฒนาการเมืองคือสถาบันกองทัพ อย่างไรเสียวัฒนธรรมทางเมืองที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งก็คือวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมในทางการเมือง ซึ่งรัฐ-ชาติที่เกิดใหม่หรือในภาษาของแนวคิดพัฒนาการเมืองคือประเทศด้อยพัฒนา (underdeveloped country) นั้นมักมีระดับของการมีส่วนร่วมในทางการเมืองที่ต่ำ ผลที่ตามมาก็คือจะมีการโกงกิน (corruption) ในระดับสูง เดเมียน (Damien, 2007 :12)
การศึกษาการพัฒนาการเมืองของนักรัฐศาสตร์
แนวคิดการพัฒนาการเมืองนั้นเป็นวิธีการศึกษาการเมืองที่เกิดขึ้นร่วมสมัยกับการศึกษารัฐศาสตร์ในแนวพฤติกรรมศาสตร์ (behavioralism) ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่วิชารัฐศาสตร์พยายามสร้างงานวิจัยที่เกี่ยวกับประเด็นปัญหาในสังคมจริงๆ ได้มองปัญหาอย่างมีจุดมุ่งหมาย ที่สามารถนำไปแก้ปัญหาได้จริง และทำให้รัฐศาสตร์กลายเป็นศาสตร์บริสุทธิ์ (pure science) มากกว่าที่เป็นอยู่ ในอีกภาษาหนึ่งก็คือเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่นักรัฐศาสตร์พยายามสร้างแนวทางในการศึกษาการเมืองที่ไม่ต้องหยิบยืมวิธีวิทยาแบบวิทยาศาสตร์, การทำสถิติมาใช้ เดวิด (David, 1971 : 372-373)
ในวงวิชาการรัฐศาสตร์แนวคิดพัฒนาการการเมืองมีการเรียนการสอนในระดับกระบวนทฤษฎี หรือในภาษาที่เป็นที่รู้จักมากกว่าคือเป็นวิธีวิเคราะห์การพัฒนาทางการเมือง (political development approaches) ดังกล่าวซึ่งเป็นอิทธิพลทางทฤษฎีของนักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันแกเบรียล อัลมอนด์ (Gabriel and Almond) ที่หยิบยืมวิธีวิเคราะห์มาจากวิธีวิเคราะห์โครงสร้างและหน้าที่ (structural-functional approaches) ที่มองว่าการเมืองโดยรวมนั้น สามารถจะพัฒนาได้หากสมาชิกในสังคมมี “สำนึกพลเมือง (civic culture) ” หรือ “วัฒนธรรมพลเมือง (civic culture” ในการเข้าร่วมทางการเมืองอย่างแข็งขัน (the participant political culture) แต่หากสมาชิกในสังคมการเมืองวางเฉยทางการเมือง (the parochial political culture) หรือรับรู้แต่ไม่เข้าร่วมทางการเมือง (the subject political culture) การเมืองนั้นก็จะด้อยพัฒนา อัลมอนด์ และโพเวล Almond and Powell, 1978)
นักรัฐศาสตร์คนสำคัญอีกคนหนึ่งในแนวคิดเรื่องการพัฒนาการเมืองคือลูเซียน พาย (Lucian W. Pye) มองว่าการพัฒนาทางการเมืองนั้นเป็นโรคระบาดทางการเมืองอย่างหนึ่ง (political syndrome) ที่มนุษย์ต้องการให้เกิดขึ้นกับระบบการเมืองการปกครองของรัฐ-ชาติตน เพราะ สังคมการเมืองที่มีการพัฒนาการเมืองมาก โครงสร้างทางการเมืองจะสลับซับซ้อน มีการแบ่งงานตามความชำนาญเฉพาะด้าน (differentiation of specialization) เป็นหน่วยเล็กๆ ที่ดำเนินการอย่างอิสระ (subsystem autonomy) แต่ยังคงประสานงานกับหน่วยใหญ่หรือรัฐอยู่เสมอ สังคมการเมืองที่มีพัฒนาการในทางการเมืองจะเคารพในความเท่าเทียม (equality) สมาชิกในสังคมการเมืองจะมีมีสิทธิในการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองในลักษณะหรือรูปแบบต่างๆ โดยเท่าเทียมกัน ภายใต้กฎระเบียบที่เป็นการทั่วไป (generally) รวมถึงการเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็นเรื่องของความสามารถของบุคคลไม่ใช่เป็นเรื่องของชาติตระกูล ที่สำคัญที่สุดคือ ระบบการเมืองสามารถที่จะตอบสนองข้อเรียกร้องจากเหล่าสมาชิกในสังคมการเมืองได้มากกว่า (capacity) รวมทั้งสามารถเปลี่ยนแปลงเพื่อสนองตอบต่อความต้องการของระบบโครงสร้างทางสังคม โดยเอื้อต่อเป้าหมายใหม่ๆ ของระบบอีกด้วย พาย (Pye, 1966 : 33-48)
นิยามของคำว่า การพัฒนาทางการเมือง
ลิขิต ธีระเวคิณ ได้กล่าวว่าคำว่า การพัฒนาการเมือง (political development) เป็นศัพท์ทางรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากที่เจ้าอาณานิคมได้ถอนกำลังออกไปจากประเทศที่ตนเคยเป็นเจ้าอาณานิคมมาก่อน ทันทีที่มีการถอนออกจากอดีตอาณานิคมหลายประเทศกลับตกอยู่ในสภาพสงครามกลางเมือง มีการสู้รบกันระหว่างฝ่ายต่างๆ จนแยกออกเป็นหลายประเทศ ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคืออินเดียซึ่งแยกออกเป็นอินเดียและปากีสถาน ต่อมาก็แยกเป็นประเทศบังคลาเทศอีกประเทศหนึ่ง สิ่งซึ่งทำให้เจ้าอาณานิคมหลายประเทศไม่เข้าใจก็คือ ก่อนการถอนออกไปนั้นได้มีการร่างรัฐธรรมนูญและข้อตกลงต่างๆ ไว้เป็นอย่างดี แต่ทันทีที่ถอนกำลังออกไปกลับกลายเป็นการต่อสู้ระหว่างเผ่าพันธุ์ ระหว่างกลุ่มซึ่งมีศาสนาต่างกัน และระหว่างกลุ่มซึ่งมีความขัดแย้งทางการเมืองและอุดมการณ์ เมื่อมีการพยายามหาคำตอบจากปรากฏการณ์ดังกล่าวโดยนักรัฐศาสตร์ก็ได้คำตอบสั้นๆ ว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นสะท้อนให้เห็นถึงการขาดการพัฒนาการเมือง ลิขิต ธีรเวคิน (2552)
โฆษณา