29 เม.ย. 2020 เวลา 11:13 • การศึกษา
ศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครอง
รัฐศาสตร์ ในภาษาไทยบางครั้งใช้ว่า“การเมือง”หรือ“การปกครอง” ซึ่งความแตกต่างระหว่างรัฐศาสตร์กับการเมืองที่ใช้ในภาษาไทย คือ“รัฐศาสตร์” เป็นเรื่องวิชาการมีการจัดระบบหมวดหมู่อย่างชัดแจ้งซึ่งคำว่า “การเมือง” (Politics) ใช้ใน 2 ความหมายใหญ่ คือ เป็นกิจกรรมของมนุษย์ และมีความหมายเอนเอียงไปในทำนองเป็นเรื่องขัดแย้งด้วยเรื่องประโยชน์ส่วนตัว
การเมือง มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกว่า “polis” แปลว่า “นครรัฐ” อันเป็นการรวมตัวกันทางการเมืองแบบหนึ่ง ซึ่งใหญ่กว่าระดับครอบครัวหรือเผ่าพันธุ์ นครรัฐในกรีกโบราณ ได้แก่ เอเธนส์ และสปาร์ตา เป็นต้น โดยมีผู้ให้คำนิยามไว้มากมาย เช่น
แฮโรลด์ ลาสเวลล์ (Harold Lasswell) กล่าว่า “การเมือง” เป็นเรื่องของ “อิทธิพล” เขาได้เขียนในหนังสือ ชื่อ “การเมือง” ใครได้อะไร ? เมื่อใดและอย่างไร ซึ่งการได้อะไรหมายถึงวัตถุ หรืออวัตถุเป็นสิ่งที่มีจำกัดและเป็นสิ่งที่คนอยากได้ เช่น ทรัพย์สิน เงินทอง และความมีเกียรติ สวัสดิภาพความปลอดภัย ความมั่นคง ความสะดวกสบาย หรือความสุขกายใจ (สุรพล สุยะพรหม, 2552 : 7)
จิรโชค (บรรพต) วีระสัย กล่าวว่า การเมือง สามารถแจกแจงเป็นรูปธรรมได้ คือ 5 P กับ 1 E หมายถึง 1) Power = อำนาจ, 2) Public = มหาชน, 3) Policy = นโยบาย, 4) Personal = บุคคล 5) Participation = มีความเกี่ยวข้องกับส่วนรวม และ Event = เหตุการณ์ต่างๆ เช่น เหตุการณ์เสื้อเหลืองเสื้อแดงในปัจจุบัน
เชดอล โวลีน (shedol Volin) กล่าวว่าการเมืองประกอบด้วย 3 ประการหลัก ได้แก่ (สุรพล สุยะพรหม, 2552 : 6)
ก) การแข่งขันเพื่อชิงผลประโยชน์ ในระดับบุคคลกับบุคคล กลุ่มต่อกลุ่มบุคคล สังคมต่อสังคม
ข) แสดงให้ปรากฏใน
(1) ภาวะผันผวนเปลี่ยนแปลง คือ สภาพที่ไม่ปกติเป็นเรื่องที่ไม่เหมือนเดิม เช่น ประท้วง หรือการเรียกร้องต่างๆ จนผิดปกติ
(2) ทรัพยากรที่ประสงค์มีจำกัด ได้แก่ ตำแหน่ง และการขาดแคลนด้านต่างๆที่จะช่วยอำนวยความสุขหรือความสะดวกสบายให้แก่พลเมือง จึงต้องมีการแข่งขันกันสูง
(3) เป็นกิจกรรมเกี่ยวกับการแสวงหาผลประโยชน์ซึ่งมีผลกระทบต่อคนหมู่มากไม่ว่าจะเป็นผลบวกหรือผลทางลบ หรือต่อสังคม
ค) มีผลกระทบต่อสาธารณะ หรือต่อส่วนรวม คือการแสวงหาผลประโยชน์ในระดับต่างๆ
เช่น ระดับหมู่บ้าน ในสมาคมหรือองค์กรต่างๆ แต่ถ้ากิจกรรมการนั้นยังไม่เข้าชั้นเป็นสภาพทางการเมืองตราบเท่าที่ยังไม่มีผลกระทบอย่างสำคัญของสังคมหรือของคนส่วนใหญ่ กิจกรรมที่เข้าข่ายที่มีผลกระทบทั้งเลือกตั้งทางตรงหรือทางอ้อม ทั้งบวกหรือลบต่อคนจำนวนมาก
การปกครอง (Government)
มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกว่า “kybernates” ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้ถือหางเสือ” จึงทำให้เกิดการเปรียบเปรียบเทียบว่าการเมืองการปกครอง โดยเฉพาะรัฐบาลเป็นเสมือนเรือที่ไม่หยุดนิ่ง จึงมีคำพูดกล่าวว่า “รัฐนาวา” เป็นคำเปรียบเทียบในการเรียก “รัฐบาล”
รัฐศาสตร์
มุ่งศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ การเมืองคือหัวใจของรัฐศาสตร์ “แก่นแท้ของรัฐศาสตร์คือตัวมนุษย์ การกล่าวถึงการเมืองการปกครองของมนุษย์ ก็คือการกล่าวถึงความเชื่อ การกระทำและค่านิยมของมนุษย์ ดังนั้น รัฐศาสตร์ คือ การศึกษาว่าเพราะเหตุใดมนุษย์จึงคิดสร้างการปกครองของมนุษย์ขึ้น
การเมือง
คือ สถานการณ์และผลที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ถ้าเราแยกคำว่าการเมืองการปกครองออกเป็นส่วนๆ ก็จะพบว่า การ หมายถึง งาน หรือ สิ่งหรือเรื่องที่ทำ, ถ้าอยู่หน้าคำนามจะหมายความว่า เรื่อง, ธุระ, หน้าที่ เมือง เป็นคำเก่าโบราณ หมายถึง แดน หรือ ประเทศ การเมือง คือ กิจการบ้านเมืองทั่วๆไป โดยเริ่มตั้งแต่การก่อตั้งชุมชน การก่อสร้างเมือง เผ่าชนที่มาก่อตั้งเมือง
โดยสรุป การเมืองและการปกครองจึงเป็นการศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการวางระเบียบกฎเกณฑ์ในการบริหารบ้านเมืองของรัฐ โดยใช้อำนาจทางการเมืองเป็นเครื่องมือ เพื่อให้มนุษย์มีทั้งความสุขทั้งในความหมายของวัตถุธรรมและนามธรรมคือ สุขทั้งร่างกายและจิตใจ ผ่านกระบวนการปกครองประเทศชาติ หรือเป็นการปกครองบุคคลที่อยู่อาศัย มีภูมิลำเนาในดินแดนที่ได้กำหนดไว้เป็นอาณาเขตของประเทศ โดยการปกครองประเทศชาติ หมายถึง การปกครองประชาชน การปกครองดินแดนที่กำหนดให้เป็นรัฐอาณาเขตนั้นเป็นเพียงการกำหนดขอบเขตการใช้อำนาจปกครองบุคคลที่ดำรงชีพอยู่บนดินแดนในอาณาเขตของประเทศใดประเทศหนึ่งเรียกว่า “ประชากร” (Population) มีความหมายไม่เหมือนกับพลเมือง (Citizen) ซึ่งพลเมืองมีความหมายแคบกว่า เพราะเป็นบุคคลที่สัญชาติตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติของประเทศนั้น เป็นเจ้าของประเทศโดยตรง มิใช่เป็นเพียงผู้อยู่อาศัย พลเมืองจึงมีสิทธิและหน้าที่มากกว่าประชากรคนอื่นๆ ซึ่งมิได้มีสัญชาติของประเทศนั้น ความเจริญและความเสื่อมของประเทศย่อมกำหนดทิศทางอนาคตของพลเมืองและประชากรทั่วๆไป
โฆษณา