30 เม.ย. 2020 เวลา 08:15 • ท่องเที่ยว
ปีนี้จะมีงานผีตาโขนหรือเปล่าหนอ
เพราะโควิด-19 ระบาด ทำให้หลายๆ คนต้องอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่มีอายุเกิน ๖๐ ปี ซึ่งผู้เขียนก็อยู่ในกลุ่มนั้น จึงต้องพยายามอยู่บ้าน ไม่ออกไปไหนเว้นแต่จำเป็น
ผู้เขียนเป็นคนชอบเที่ยวและชอบเขียน มีความสุขกับการเขียนบทความต่างๆ เขียนโดยไม่มีค่าตอบแทน แต่การนั่งหลังขดหลังแข็งเขียนบทความก็ได้รับความสุขไปอีกแบบหนึ่งครับ
อยู่เฉยๆ ก็เหนื่อย ก็นั่งนึกว่าได้ไปเที่ยวที่ไหนบ้างที่ยังไม่เคยเขียนเป็นบทความท่องเที่ยวไปลงที่ไหนมาก่อน ก็คิดได้ว่าตอนไปชมขบวนแห่งานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขนที่ด่านช้าย จังหวัดเลย เป็นการท่องเที่ยวที่ประทับใจอีกแห่งหนึ่ง
ปัดฝุ่นข้อมูลและภาพเก่าๆ มาเขียนถึงดีกว่า เพราะปีนี้ อำเภอด่านซ้าย จะได้จัดงานผีตาโขนอีกหรือไม่ก็ยังไม่ทราบ ถ้าจัดก็ถือเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ ถ้าไม่ได้จัดก็ได้ถือว่าผู้เขียนได้ช่วยเผยแพร่วัฒนธรรมของชาวด่านซ้ายไปด้วย แม้จะมีผู้เผยแพร่เยอะแล้วก็ตาม ถือว่าเป็นการมองคนละมุมครับ
อ้อ หากแม้นปีนี้อำเภอด่านซ้ายจะไม่ได้จัดขบวนแห่งานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขนก็ตาม แต่ท่านผู้อ่านก็อาจไปชมได้ มีของดีครับ อยู่ตอนท้ายของบทความนี้ครับ
เพราะผู้เขียนเดินทางไปราชการที่จังหวัดเลยบ่อยในระยะหนึ่ง เพราะเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการอำนวยการโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จังหวัดเลย ของ อพท. หรือองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ใน กทม. แต่มีพื้นที่พิเศษอยู่หลายจังหวัดครับ
พูดถึงกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง ผู้เขียนลุ้นมาก เคยเขียนถึงหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายเขียนเรื่อง “กระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง : ไม่ได้หายไปไหนและก้าวหน้าอย่างน่าพอใจ” รายละเอียดที่ http://oknation.nationtv.tv/blog/puthsuptour/2017/08/22/entry-1
หลังจากนั้นก็ไม่ได้เขียนถึงอีกเลยครับ ทราบว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐกำลังเล่นปิงปองกันอยู่ ก็ “โยนกันไปโยนกันมา” ตามประสานั่นแหละครับ เรื่องนี้จะสำเร็จหรือไม่ ก็คอยดูกันต่อไปครับ
แม้ว่าไปเลยหลายครั้ง แต่ผู้เขียนไม่เคยไปชมผีตาโขนที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลยครับ ปีนั้นก็เลยตัดสินใจไปเที่ยว โดยชวนภรรยา คุณสายพิณ มณีศรี ไปเที่ยวด้วย
ถึงเลยเห็นแล้วก็ตกใจ เพราะน้องๆ จาก อพท. พื้นที่พิเศษเลย ยืนคอยต้อนรับเต็มไปหมด ทราบว่ามีราชการที่อื่นแล้วและเฝ้าสำนักงานหนึ่งคนเท่านั้น
อย่าเข้าใจผิดว่ามาต้อนรับผู้เขียน เพราะ อพท. พื้นที่พิเศษเลย เป็นส่วนงานหนึ่งที่สนับสนุนการจัดงาน "ผีตาโขน" ที่ด่านซ้าย จังหวัดเลย ในเดือนมิถุนายนนั้นด้วย จึงต้องไปอำนวยความสะดวกในงานนี้อยู่แล้ว
คุณสายพิณถึงกับกระเซ้าว่าเพราะน้องๆ สวยๆ นี่เอง จึงไปที่จังหวัดเลยบ่อย ก็เชิญชมความสวยของน้องๆ กันได้ครับ แต่เสียดายครับ หลายคนแต่งงานแล้ว แต่อีกหลายคนก็ยังโสดอยู่นะครับ อิอิอิ
เปลี่ยนเสื้อผ้าให้เข้ากับทีม อพท. พื้นที่พิเศษเลย แล้วเดินทางไปถึงงานผีตาโขนก่อนเริ่มขบวนแห่ครับ พบนักข่าวอิสระจากอังกฤษ เลยถือโอกาสประชาสัมพันธ์ อพท (DASTA) ไปด้วย
ชมผีตาโขนตัวน้อยๆ กันก่อนครับ น่ารักไหมครับ แล้วก็นั่งรอก่อนขึ้นนั่งบนเวทีของวีไอพี ไม่ต้องสงสัยว่าทำไมถึงได้นั่งที่นั่งวีไอพี วันนั้นผู้จัดการ อพท. พื้นที่พิเศษเลย ไปราชการต่างประเทศ ผู้เขียนในฐานะเป็นอนุกรรมการของ อพท. จึงได้รับเกียรติให้เป็นผู้แทน อพท.
ขบวนแห่ทั้งหมดในวันนั้นมีทั้งหมด ๑๒ ขบวน ไม่ได้เข้าร่วมแข่งขันทุกขบวนหรอกครับ มีเพียงขบวนที่ ๘-๑๒ เท่านั้นที่เข้าร่วมการแข่งขัน แต่ละขบวนมีชื่อต่างๆ ดังนี้ ครับ
ขบวนที่ ๑ เทิดพระเกียรติ ขบวนที่ ๒ เจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียม ขบวนที่ ๓ ขบวนแห่รุองค์การบริหารพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท) ขบวนที่ ๔ ขบวนรณรงค์ปลอดเหล้าขบวนที่ ๕ มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านช้าง
ขบวนที่ ๖ ขบวนแห่ศูนย์วิทยพัฒนา มสธ อุดรธานี + กศน. ด่านซ้าย ขบวนที่๗ ขบวนแห่บริษัท สายการบินนกแอร์ ขบวนที่ ๘ เทศบาลตำบลศรีสองรัก ขบวนที่ ๙ อบต นาหอ นาดี ปากหมัน ขบวนที่ 10 อบต วังยาว โพนสูง โคกงามขบวนที่ ๑๑ อบต โป่ง อิปุ่ม กกสะทอน ขบวนที่ ๑๒ เทศบาลตำบลด่านซ้าย
คุณวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผวจ. เลย ในขณะนั้น ได้เดินทางไปเปิดงานครับ โดยนายทวี เสริมภักดีกุล นายอำเภอด่านซ้าย ในขณะนั้นเป็นผู้กล่าวรายงาน
กล่าวถึงคุณวิโรจน์ สักนิดครับ ท่านเป็นผู้ว่าที่ติดดินคนหนึ่งครับ นิสัยดีมาก พบกับท่านหลายครั้ง แม้ท่านเกษียณอายุราชการแล้ว ก็ยังติดต่อกันอยู่ ตอนนี้ท่านอยู่ที่จังหวัดเลยนั่นแหละครับ เพราะภรรยาท่านเป็นคนจังหวัดเลย เห็นข่าวท่านเข้าวัดเข้าวา ทำบุญ ก็อนุโมทนาสาธุกับท่านด้วย
วันนั้นมีขบวนแห่งานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขนหลายขบวน ก่อนขบวนต่างๆ เคลื่อน ก็ได้แนะนำผู้มีเกียรติที่มาร่วมงาน เพราะเป็นผู้แทน อพท. ผู้ให้การสนับสนุนงานนี้ ผู้เขียนก็ได้รับการแนะนำตัวด้วย แล้วเข้ารับประกาศนียบัตรการสนับสนุนงานจาก ผวจ. แทน อพท. ด้วย
หลังจากนั้นขบวนแห่งานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน ก็ได้เริ่มขึ้นครับ โดยเริ่มจากขบวนที่ ๑ เป็นต้นไป
ให้ชมภาพไปเรื่อยๆ สลับกับการให้ความเห็นของผู้เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้นะครับ
วันนั้นแดดจัดมาก ผู้ชมหลายท่านก็กางร่มชม เพราะเป็นการเดินขบวนบนถนน ข้างถนนไม่มีอัฒจรรย์ แม้พิธีกรประกาศไม่ให้คนที่ยืนข้างหน้ากางร่ม แต่ก็ไม่วายครับ
ใจผู้เขียนนึกไปถึงขบวนคาร์นิวัลที่นครริโอ เดอจาเนโร บราซิล ครับ ที่นั่นมีอัฒจรรย์อย่างดี ขายที่นั่งราคาแพง ที่ด่านซ้ายควรจัดบ้าง เพราะมีนักท่องเที่ยวไม่ใช่น้อยเลยครับ แม้งานผีตาโขนไม่ยิ่งใหญ่ขนาดนั้น แต่ก็ทำให้ยิ่งใหญ่ในระดับโลกได้ครับ น่าจะลองสร้างอัฒจรรย์ชั่วคราวดูบ้าง
ชมบนเวทีได้เห็นขบวนแห่อย่างชัดเจน แต่ไม่มันครับ สู้ลงไปเดินกับขบวนแห่ข้างล่างบนถนนไม่ได้ ได้เห็นคนสวยๆ และบรรยากาศดีๆ ด้วย ไปร่วมชมงานนี้แล้ว ได้ความจริงอย่างหนึ่งนอกเหนือจากวัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดกันมาช้านานว่าชีวิตเราก็คล้ายๆ ผีตาโขนนั่นแหละ
หน้าตาของผีตาโขนที่หล่อเหลาสวยงามน่าชมนั้น ภายในไม่อาจหยั่งรู้ได้ คนทุกคนที่คบหากันก็มีลักษณะเดียวกัน แต่หน้ากากที่สวมใส่เข้าหากันนั้นจะหนาบางมากน้อยเพียงใด ก็แล้วแต่บุคคลนั้น ๆ จริงไหมครับ
เดินจนเหงื่อไหลไคลย้อยกันเชียวแหละครับ แต่ก็สนุกกันครับ
เย็นนั้น หลังจากกินอาหารเย็นกันแล้ว ก็ออกเดิน ก็บริเวณที่มีขบวนแห่ตอนกลางวันนั่นแหละครับ ได้ถ่ายภาพกับผีตาโขน
มีผีตาโขนปลอมด้วยครับ มีผีตาโขนถูกทอดทิ้ง และได้เห็นผีตาโขนน้อยขี่จักรยาน
ไปร่วมชมงานผีตาโขนได้ทั้งความสนุกและเหนื่อย เพราะได้สัมผัสกับผีตาโขน เห็นขนบธรรมเนียมประเพณีไทยที่มีมาช้านานรวมทั้งเห็นความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านและชุมชน ที่เหนื่อยเพราะอยู่ในท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าว
ขอขอบคุณน้องๆ จาก อพท. เลย ทั้งอัญ ติ๊ก เปรี้ยว กลอย ขวัญ กัน และยอ ที่ให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวก ที่สำคัญคือน้ำใจที่ได้รับ
ยังจบไม่ได้เพราะยังไม่ได้เขียนถึงข่าวที่เกริ่นไว้ตอนต้น ทราบจากนางสาวอัญชลี ศรีสารคาม ผู้ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงให้ความช่วยเหลือในการไปชมผีตาโขนครั้งนั้นว่านางสาวปรางค์สิริ แดงสมบูรณ์ ทั้งคู่เป็นเจ้าหน้าที่พัฒนาพื้นที่พิเศษ อพท. พื้นที่พิเศษเลย ได้จัดโครงการ “จากความเชื่อ สู่ ศรัทธา กลายมาสร้างรายได้” หน้ากากแห่งความศรัทธา "Phi Ta Khon : Mask of faith" ขึ้น
โดยกลุ่มศิลปินช่างศิลป์นักวาดหน้ากากในอำเภอด่านซ้าย ประมาณ ๒๗ กลุ่ม แต่ละกลุ่มรวมตัวกันเพื่อสร้างสรรค์หน้ากากผีตาโขนสำหรับใช้ในขบวนแห่ผีตาโขนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแห่งเดียวในโลก
ต่อมาได้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวที่หลากหลาย และได้พัฒนาเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ให้นักท่องเที่ยวมาเรียนรู้ลายเส้นผ่านกระบวนการลงมือทำทั้งแบบโบราณและตามสมัย โดยใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น เพื่อสร้างและกระจายรายได้ให้แก่ชุมชุน
ผู้ไปเยือนจะได้ลองวาดหน้ากากผีตาโขนที่สามารถเติมแต่งลายได้ตามจินตนาการได้ นอกจากนี้ ผู้ยังได้ถ่ายภาพในสถานที่ไฮไลท์ของชุมชนเป็นที่ระลึก ทั้งยังได้ศึกษาเรียนรู้ประวัติความเป็นมาผ่านหน้ากากโบราณ ถึงปัจจุบัน
 
สนใจก็สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นายวิธัช สุวรรณเกิด (ผู้ใหญ่วุฒิ) ๐๘๖ ๓๕๔ ๘๑๙๒ และนายวิรัตน์ อรรคสูรย์ (ผู้ช่วยนิว) ๐๘๓ ๓๓๕ ๖๒๐๒ ครับ
 
พุธทรัพย์ มณีศรี
โฆษณา