1 พ.ค. 2020 เวลา 09:27 • ประวัติศาสตร์
ชาติไทยเราเป็นชาติที่มีประเพณีอันดีงาม ที่สืบทอดต่อกันมาตั้งแต่สมัยโบราณอย่างไม่สิ้นสุด
ระบบการศึกษาไทยมีวิวัฒนาการที่น่าสนใจเช่นกัน
จนมาถึงในยุคปัจจุบัน ยุคที่พวกเราดำรงอยู่ การศึกษาก็แตกแขนงสาขาวิชาที่หลากหลายมากขึ้น จนบางวิชาเราก็ไม่รู้จัก ซึ่งกว่าจะมาเป็นวันนี้ บรรพบุรุษของเราผ่านอะไรกันมาบ้าง
ในวันนี้ขอนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การศึกษาของชาติไทย มาเริ่มกันเลยค่ะ
การศึกษาไทยสมัยโบราณ (พ.ศ.๑๗๘๑-๒๔๑๑)
เริ่มต้นตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
การศึกษาในยุคนี้ เป็นการศึกษาแบบสืบทอดตามประเพณีที่มีมาแต่เดิม คนไทยในสมัยนั้น หากต้องการมีความรู้ จักต้องขวนขวายหาความรู้ด้วยตนเองจากผู้รู้ในชุมชน โดยมี บ้าน และ วัด เป็นศูนย์กลางของการศึกษาสำหรับคนทั่วไป
ส่วน วัง และสำนักราชบัณฑิต เป็นสถานที่รวมเหล่าผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เรียกว่านักปราชญ์ โดยจัดเป็นสถานศึกษาสำหรับพระราชวงศ์ และ ลูกหลานของขุนนาง
โดยทั้ง ๓ สถาบัน บ้าน วัด วัง ล้วนมีบทบาทสำคัญกับคนไทยในสมัยนั้น
🏡บ้าน เป็นสถาบันพื้นฐานของการศึกษาสมัยนั้น เพราะมีการสืบทอดความรู้ ตั้งแต่บรรพบุรุษสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ส่วนใหญ่จะเป็นวิชาชีพ เช่น หากเป็นผู้ชายจะเรียน ช่างไม้ ศิลปะหัตถกรรม แพทย์แผนโบราณ ส่วนผู้หญิง จะเรียนวิชาสตรี เย็บ ปัก ถักร้อย ย้อมผ้า ทอผ้า รวมไปถึงการอบรมบ่มนิสัย กิริยามารยาท การทำอาหาร เพื่อเตรียมตัวเป็นแม่บ้านแม่เรือนต่อไป
การเรียนที่บ้านในแต่ละสมัยก็แตกต่างกันไปตามการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง เช่น ในสมัยสุโขทัย ผู้หญิงยังไม่ได้เรียนเขียนอ่าน จึงเรียนอยู่กับบ้าน แต่พอเข้าสู่สมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ผู้หญิงก็ได้เรียนเขียนอ่านและวิชาแบบตะวันตกมากขึ้น ส่วนผู้ชายในสมัยสุโขทัยจะเรียน งานช่าง หรือศิลปหัตถกรรม อีกส่วนจะได้เรียนทหารตามตำราพิชัยยุทธ พอเข้าสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ผู้ชายหากมีความรู้เชี่ยวชาญในวิชาแขนงต่างๆก็สามารถสอบเป็นข้าราชการได้
ภาพจากละครบุพเพสันนิวาส ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวในสมัยกรุงศรีอยุธยา
🛕วัด คือต้นกำเนิดของโรงเรียน เป็นสถานศึกษาสำหรับประชาชนทั่วไป มีพระภิกษุสงฆ์เป็นครู อบรมสั่งสอนขัดเกลาจิตใจ ให้คนมีจริยธรรม และทำนุบำรุงศาสนา
การเรียนอ่านเขียนในสมัยสุโขทัยตอนต้นนั้น สันนิษฐานว่าใช้ภาษา บาลี และสันสกฤษ
ต่อมา เมื่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ประดิษฐ์อักษรไทยขึ้น มีการสลักบนแท่นศิลาจารึก และเริ่มมีการเรียนภาษาไทย หนังสือที่มีความสำคัญในยุคนี้คือ ไตรภูมิพระร่วง ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ของพระมหาธรรมราชาที่๑ (พระเจ้าลิไทย) เนื้อหาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนากล่าวถึงการทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
ภาพสลักลายเส้นสมัยสุโขทัย บนผนังอุโมงค์วัดศรีชุม
ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
อนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
พอถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีวิชาเรียนหลากหลายขึ้น วิชาสามัญจะเน้น อ่าน เขียน เรียนเลข ในสมัยนี้เกิดแบบเรียนภาษาไทยเล่มแรก แต่งโดยพระโหราธิบดี ถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ชื่อหนังสือ "จินดามณี"
ในสมัยนั้นอโยธยามีการติดต่อค้าขายกับคนหลากหลายเชื้อชาติ นอกจากวัดแล้ว ยังเกิดโรงเรียนมิชชันนารีขึ้น เพื่อสอนหนังสือและเผยแพร่ศาสนา
🕌 วัง และสำนักราชบัณฑิต เป็นสถานศึกษาสำหรับพระราชวงศ์ และลูกหลานของขุนนาง โดยมีนักปราชญ์ พราหมณ์ ราชบัณฑิต หรือผู้ที่แตกฉานในแขนงต่างๆ เป็นผู้สอน
พระมหากษัตริย์ทรงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการศึกษาไทยในทุกยุคสมัย
สมัยสุโขทัย มีพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และพระมหาธรรมราชาที่๑(พระเจ้าลิไท) ทรงมีบทบาทสำคัญในการศึกษา โดยประดิษฐ์อักษรไทย และพระราชนิพนธ์หนังสือ
ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งดำรงเป็นราชธาณีอย่างยาวนาน ๔๑๗ ปี และมีพระมหากษัตริย์ถึง ๓๓ พระองค์ ได้มีการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษามากมาย โดยในสมัยพระนารายณ์มหาราช มีความเจริญรุ่งเรื่องด้านการศึกษาเป็นอย่างมาก จนเกิดตำราเรียนภาษาไทย "จินดามณี" เล่มแรกขึ้น และพัฒนาเป็นหนังสือเรียน "ประถม ก กา" ในภายหลัง
อนุสาวรีย์พระนารายณ์มหาราช
ต่อมาในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงส่งเสริมด้านศาสนาโดยให้ผู้ชายต้องมีการบวชเรียน จึงจะสามารถแต่งตั้งเป็นข้าราชการได้ โดยในสมัยนี้จนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติ จึงได้รับอิทธิพลทางการศึกษาเข้ามาอย่างหลากหลาย ทั้งด้านภาษาต่างประเทศ ดาราศาสตร์ การประปา การทำปืน การพาณิชย์ แพทย์ศาสตร์ ตำรายา และการก่อสร้าง ซึ่งเป็นวิชาชีพที่ได้เรียนเฉพาะชนชั้นสูง
จะเห็นว่าในยุคนี้ ประชาชนยังมีการแบ่งชนชั้นวรรณะ การศึกษาจึงไม่ทัดเทียม ประชนธรรมดา อาจได้เรียนที่บ้าน หรือวัด ส่วนวิชาที่มีวิทยาการใหม่ๆ เฉพาะชนชั้นสูงเท่านั้นจึงจะได้เรียน สัดส่วนของประชากรที่ช่วยบริหารประเทศชาติจึงมีจำนวนน้อย และยังดำเนินในลักษณะเช่นนี้ จนถึง รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ขอจบตอนแรกเพียงเท่านี้ (เดี๋ยวจะยาว)
ในตอนต่อไปจะกล่าวถึงการศึกษา สมัยปฏิรูป ซึ่งมุ่งให้คนไทยรับราชการ
และพัฒนาเท่าเทียมกับฝรั่งแต่ไม่ใช่ฝรั่ง เอ๊ะยังไง??
ติดตามตอนต่อไปเร็วๆนี้นะคะ
ข้อมูลอ้างอิง : https://www.kroobannok.com/3345
ภาพ : wikipeadia
ช่องทางติดตามอื่นๆ
โฆษณา