2 พ.ค. 2020 เวลา 05:24 • ประวัติศาสตร์
ตำนาน "มู่หลาน"
รายงานข่าวจาก New Scientist เปิดเผยผลการวิเคราะห์โครงกระดูกนักรบหญิง 2 คนที่ค้นพบซากในพื้นที่มองโกเลียซึ่งอาจเป็นหลักฐานชิ้นหนึ่งที่บ่งชี้ว่า เรื่องราวเกี่ยวกับมู่หลาน อาจได้รับแรงบันดาลใจจากสตรีเผ่าเซียนเป่ย (Xianbei) เผ่าเร่ร่อนทางตอนเหนือของกำแพงเมืองจีน ซึ่งที่ผ่านมา ข้อสันนิษฐานหนึ่งเกี่ยวกับตัวตนของมู่หลาน ปรากฏมานานว่า มู่หลาน อาจเป็นนักรบหญิงชนเผ่าเซียนเป่ย ขณะที่โครงกระดูกของสตรีที่พบยังมีแนวโน้มเป็นผู้ขี่ม้า ใช้ธนู และอาวุธอื่นๆ ซึ่งทิ้งร่องรอยไว้บนซากโครงกระดูก
Katherine J. Wu คอลัมนิสต์เว็บไซต์ Smithsonian บรรยายว่า ซากโครงกระดูกนี้ถือเป็นหลักฐานหายากชิ้นหนึ่ง แต่จนถึงตอนนี้ ซากที่พบยังไม่ได้เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงผู้ที่ใช้ชื่อว่า “มู่หลาน” ตามตำนานแบบเฉพาะเจาะจง เพียงแต่ในแง่บริบทลำดับเวลาทางยุคสมัยในประวัติศาสตร์ คาดว่ายามที่เจ้าของโครงกระดูกมีชีวิตอยู่น่าจะอยู่ในสมัยคริสตศักราชที่ 4 หรือ 5 ใกล้เคียงกับช่วงเวลาในเรื่องราวของมู่หลาน โดยคริสทีน ลี (Christine Lee) และ ยาไฮรา กอนซาเลซ (Yahaira Gonzalez) นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย เชื่อว่า การมีอยู่ของนักรบสตรีอาจเป็นแรงบันดาลใจมาสู่เรื่องราวที่เล่าขานกันต่อมาหลายพันปี
ตลอดหลายปีที่ลี ทำงานในภาคสนาม เธอเก็บข้อมูลจำนวนไม่น้อยจากจีนและมองโกเลีย และจากการร่วมมือกับกอนซาเลซ เธอนำโครงกระดูกกลุ่มหนึ่งที่ขุดค้นได้จากแหล่งฝังศพทางโบราณคดี 29 แห่งในมองโกเลียมาวิเคราะห์ใหม่เพื่อหาหลักฐานเกี่ยวกับภาวะทางกระดูก
กระดูกจากแหล่งฝังศพ 29 แห่ง สามารถจำแนกออกได้เป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ ชนเผ่าซงหนู (Xiongnu) ซึ่งเคยอาศัยครอบครองดินแดนเมื่อ 2,200 ปีก่อน กลุ่มต่อมาคือ ชนเผ่าเซียนเป่ย (Xianbei) ซึ่งขับไล่ชนเผ่าซงหนู เมื่อราว 1,850 ปีก่อน และอีกกลุ่มคือพวก Turkic อันเป็นกลุ่มที่ขับไล่ชนเผ่าเซียนเป่ย เมื่อ 1,470 ปีก่อน
ผลการวิเคราะห์ออกมาว่า ซากโครงกระดูกของบุคคล 3 รายที่เป็นชนเผ่าเซียนเป่ย 2 รายในนั้นพบว่า มีร่องรอยคล้ายคลึงกัน ขณะที่รายหนึ่งมีร่องรอยบ่งชี้ถึงกิจกรรมที่ใช้พละกำลังมากอย่างการขี่ม้า และยิงธนู การสรุปแบบนี้ได้นั้น สืบเนื่องมาจากการศึกษาร่องรอยบนโครงกระดูกที่เคยมีกล้ามเนื้อติดอยู่ด้วย ร่องรอยจะใหญ่ขึ้นหาใช้กล้ามเนื้อมาก และรูปแบบของร่องรอยบนกระดูกของผู้หญิงทั้ง 2 รายบ่งชี้ว่า พวกเธอใช้กล้ามเนื้อเหมือนกับคนที่ขี่ม้าเป็นประจำ อีกทั้งยังมีร่องรอยที่บ่งชี้ว่าพวกเธอใช้ธนู
2
สตรีเผ่าเซียนเป่ย อาจเป็นกลุ่มประชากรที่ต้องปกป้องดินแดนของตัวเองในช่วงยุคโกลาหล และหากโครงกระดูกนี้เป็นไปสตรีเผ่าเซียนเป่ยตามข้อสันนิษฐานจริง พวกเธอน่าจะมีชีวิตอยู่ท่ามกลางยุคแห่งความรุนแรงหลังสมัยราชวงศ์ฮั่นแล้ว ขณะที่โครงกระดูกที่ถูกจำแนกว่าเป็นประชากร Turkic ไม่มีร่องรอยบ่งชี้ถึงการใช้ธนู มีร่องรอยกิจกรรมขี่ม้าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
จากการศึกษาโครงกระดูก ลี ยังไม่พบร่องรอยของอาการบาดเจ็บ หรือเจ็บป่วย สันนิษฐานว่า ซากที่พบอาจเป็นกลุ่มคนชั้นสูง พิจารณาจากลักษณะหลุมฝังศพที่คล้ายสุสานมากกว่า โดยอยู่ลึกลงไป 20-30 ฟุต และแบ่งแยกเป็นหลายห้อง
เรื่องราวเกี่ยวกับ “มู่หลาน” มีรายละเอียดแตกต่างกันออกไปตามเนื้อหาของแต่ละฉบับจากบันทึกโบราณ แต่ชื่อและเรื่องราวของเธอกลายเป็นที่รู้จักจากการปรากฏครั้งแรกในบทกลอนชื่อ “ลำนำมู่หลาน” (Ballad of Mulan) เชื่อกันว่าเป็นบทขับร้องจากยุคราชวงศ์เว่ยเหนือ (คริสต์ศักราช 386-557) อันอยู่ในช่วงที่เรียกว่าประวัติศาสตร์ราชวงศ์เหนือใต้ (คริสต์ศักราช 386-589) เนื้อหาของเรื่อง “ลำนำมู่หลาน” ปรากฏครั้งแรกในเอกสารในศตวรรษที่ 6 แต่เชื่อกันว่า งานต้นฉบับเดิมสูญหายจนไม่มีหลงเหลืออีกแล้ว
ส่วนผลการศึกษาของลี และกอนซาเลซ ยังไม่ได้เผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์ เดิมทีแล้วมีแผนจะนำเสนอในงานประชุมเชิงวิชาการของสมาคมนักมานุษยวิทยาอเมริกัน (American Association of Physical Anthropologists) แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 งานนี้ถูกระงับไปแล้ว
อ้างอิง:
Katherine J. Wu. “Researchers Uncover New Evidence That Warrior Women Inspired Legend of Mulan”. Smithsonian. Online. Published 29 APR 2020. Access 30 APR 2020. <https://www.smithsonianmag.com/smart-news/researchers-uncover-new-evidence-warrior-women-inspired-legend-mulan-180974774/>
JENNIFER OUELLETTE. “Ancient Mongol warrior women may have inspired legend of Mulan”. Ars Technica. Online. Published 25 APR 2020. Access 30 APR 2020. <https://arstechnica.com/science/2020/04/ancient-mongol-warrior-women-may-have-inspired-legend-of-mulan/>
โฆษณา