6 พ.ค. 2020 เวลา 08:48 • ธุรกิจ
ความสำเร็จสร้างได้ด้วยสมาธิ
(Top 1% NO HITO DAKE GA JISSEN SHITEIRU SHUCHURYOKU METHOD)
ภาพปกหนังสือ
อะไรคือสิ่งที่มีร่วมกันของคนระดับท็อป 1% ผู้เขียนซึ่งเป็นนักวิเคราะห์การสร้างผลิตภาพทางปัญญา (intellectual productivity analyst) และเป็นเจ้าของงานเขียนมากมายเกี่ยวกับการเพิ่มผลิตภาพ ได้ทำการศึกษา ค้นคว้า และพบว่า สิ่งนั้นคือ "พลังสมาธิ"
สำหรับพวกเราส่วนใหญ่ที่นับถือศาสนาพุทธ น่าจะคุ้นเคยกับคำว่า "สมาธิ" ในแง่มุมของการเจริญสติภาวนา (และดูจะเป็นเรื่องของผู้ทรงศีลเท่านั้น) แต่สำหรับคุณ Nagata ผู้เขียน คำว่า "สมาธิ" กลับเป็นเคล็ดลับของคนระดับสุดยอด หรือระดับท็อป 1% และทุกคนสามารถนำเทคนิคเคล็บลับนี้มาใช้ได้ทั้งในเรื่องการเรียนและการทำงาน
ผู้เขียนได้ค้นคว้าประวัติของผู้ที่ประสบความสำเร็จหลายๆ คน (เช่น มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้ง facebook, เจฟฟ์ เบซอส ผู้ก่อตั้ง amazon, แลร์รี เพจ และเซอร์เกย์ บริน ผู้ก่อตั้ง google, บารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา, ปีเตอร์ ดรักเกอร์ ปรมาจารย์ด้านการบริหารจัดการ) และค้นพบว่าพวกเขาเหล่านั้น มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน นั่นคือ พวกเขาเคยผ่านหลักสูตรของมอนเตสเซอรี (Montessori)
บุคคลระดับท๊อปของโลก
แล้วหลักสูตรมอนเตสเซอรี เกี่ยวข้องกับ "พลังสมาธิ" อย่างไร? หลักสูตรมอนเตสเซอรีเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนเด็กปฐมวัย ซึ่งคิดค้นโดย มาเรีย มอนเตสซอรี (Maria Montessori) จิตแพทย์หญิงชาวอิตาลีคนแรกที่ทำงานในโรงพยาบาลจิตเวชในอิตาลีในช่วงต้นศตวรรษที่ 20
โดยมีหลักการสำคัญคือ
การเสริมสร้างความเป็นอิสระ (autonomy) และ
พลังแห่งสมาธิ (power of concentration) ให้แก่เด็ก
โดยส่งเสริมให้เด็กเลือก "งาน" ที่อยากทำด้วยตัวเอง และให้ทุ่มเททำ "งาน" นั้นจนถึงที่สุด จนตัวเองพอใจ
1
"งาน" ในหลักสูตรของมอนเตสซอรี จึงหมายถึงการทำอะไรง่ายๆ ตามลำดับ เช่น ใช้กรรไกรตัด วางสิ่งของเรียงตามขนาด ครูจะไม่อธิบายวิธีการใดๆ ให้เด็กฟังทั้งสิ้น แต่จะค่อยๆ สาธิตให้เด็กดูทีละอย่าง แล้วให้เด็กทำตามด้วยตัวเอง
การเลือกที่จะทำหรือไม่ทำด้วยตัวเอง มุ่งมั่นจดจ่อ และทำจนถึงที่สุด ทำให้เกิดแรงผลักดันภายในที่รุนแรง ประสาททั้งหมดมีสมาธิจดจ่อกับการแก้ปัญหา สภาวะนี้เองที่ทางจิตวิทยาเรียกว่า "สภาวะไหลลื่น" (flow)
"สภาวะไหลลื่น" คือ สถาวะที่รู้สึกอิ่มเอิบ เป็นความปิติยินดีที่เกิดขึ้นเมื่อเรามีสมาธิจดจ่ออย่างแน่วแน่
โดยสภาวะนี้จะเกิดเมื่อ "ระดับความยากง่ายของความท้าทาย (challenge)" สมดุลกับ "ทักษะความสามารถ (skill)" ถ้าระดับความท้าทายต่ำเกินไปก็จะ "เบื่อหน่าย" แต่ถ้าระดับความท้าทายสูงจนเกินกว่าทักษะความสามารถก็จะเกิดภาวะกดดัน "วิตกกังวัล" ทำให้ไม่มีสมาธิ
สภาวะไหลลื่น (flow)
แล้วจะทำอย่างไรถึงจะมี "สภาวะไหลลื่น" หรือ "สมาธิ" ในการทำงานและการเรียน คำตอบคือ การสร้าง "วัฎจักรแห่งสมาธิ" ซึ่งประกอบไปด้วยสี่กระบวนการที่เมื่อดำเนินการจนครบและวนกลับไปที่จุดเริ่มต้นในกระบวนการแรกอีกครั้ง กลายเป็นวัฎจักรที่ดำเนินต่อไปสู่ระดับที่สูงขึ้นกว่าเดิม
วัฎจักรแห่งสมาธิ
กระบวนการทั้งสี่ ได้แก่
1. การค้นพบโอกาสที่ท้าทาย คือ การตั้งเป้าหมายที่มีสมดุลระหว่างระดับความยากง่ายและทักษะความสามารถที่จะทำให้เกิดสภาวะไหลลื่น ถ้าเป็นไปได้ควรจะเป็นเป้าหมายที่เรากำหนดเอง รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนเป้าหมายใหญ่และแบ่งให้เป็นเป้าหมายเล็กๆ ที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายใหญ่ในที่สุด
2. ประสบการณ์ความเป็นอิสระและสมาธิ คือ การมีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำ เลือกเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่งเพียงอย่างเดียวในขณะหนึ่ง เพราะหากทำอะไรหลายอย่างพร้อมกันในเวลาเดียวกันก็จะขาดสมาธิ
3. ความอิ่มเอมเป็นสุขเพราะความสำเร็จ คือ การที่สนุกและมีความสุขกับงานที่ทำจนสำเร็จ จนเกิดความรู้สึกว่า "อยากทำอีก" ซึ่งเรียกร้องให้เราลองทำสิ่งใหม่ๆ ที่ท้าทายกว่าเดิม
4. การพัฒนาจิตใจและทักษะชีวิต คือ การพัฒนาตัวเอง แม้จะเป็นการพัฒนาขึ้นแค่เพียง 1% ก็ตาม แต่ถ้าเราพยายามพัฒนาตัวเองให้ดีกว่าคนเดิมในทุกๆ วัน การค่อยๆ ปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นทีละเล็กทีละน้อยนี้ ก็จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยิ่งใหญ่
นอกจากนั้น เราควรจะต้องรู้เทคนิคการพัฒนา "พลังแห่งสมาธิ"
ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใครๆ ก็ทำได้ไม่ใช่พรสวรรค์ที่มีแต่กำเนิดและไม่ใช่เรื่องบังเอิญ
"พลังแห่งสมาธิ" คือ ความสามารถที่จะขจัดสิ่งรบกวนอื่นออกไปและจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ในชิวิตประจำวันของเรา สามารถแบ่งลักษณะสมาธิออกมาได้ 2 แบบ คือ
"สมาธิรวมศูนย์" จะเกิดขึ้นเมื่อจิตใจจดจ่อมุ่งมั่นอยู่กับสิ่งใดเพียงสิ่งเดียว
"สมาธิกระจายศูนย์" คือการกระจายสมาธิออกไปโดยรอบและทำความเข้าใจสถานการณ์โดยรวม
การมีสมาธิทั้งแบบรวมศูนย์กับสมาธิแบบกระจายศูนย์ควบคู่กันคือการทำสองสิ่งที่ดูเหมือนจะขัดแย้งกัน เช่นเดียวกับ การมีมุมมองทั้งระดับจุลภาค (micro) และระดับมหภาค (macro) พิจารณาทั้งรายละเอียดและภาพรวม ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการทำธุรกิจ
ทว่าหากทำ 2 สิ่งพร้อมกันก็อาจจะไม่มีสมาธิจดจ่อ ฉะนั้นการหมั่นสลับสวิตซ์ เพื่อให้ทำ 2 สิ่งที่ขัดแย้งกันควบคู่กันได้ จึงเป็นเรื่องสำคัญ
+ใส่ใจกับ 5S เพื่อเพิ่มพลังสมาธิ+
หากเรียนรู้วิธีการสร้างสมาธิ เราจะสลับสวิตซ์สมาธิในหัวได้ทันที ดังนั้นก่อนอื่นเราต้องรู้จัก "การละทิ้ง" ซึ่งเป็นการละทิ้งสิ่งที่เกินความจำเป็น พยายามไม่ยุ่งเกี่ยว ไม่ยึดติดสิ่งเหล่านั้น โดยการ
Simple ละทิ้งสิ่งที่เกินความจำเป็นและทำให้เรียบง่าย
Small ตั้งเป้าหมายเล็กและทำสำเร็จได้ง่าย
Single ทำครั้งละ 1 เรื่องเท่านั้น
Short ทำในช่วงเวลาสั้นๆ
Smile สนุกกับสิ่งที่ทำและมีทัศคติคิดบวก
1
5S เพื่อเพิ่มพลังสมาธิ
เมื่อเพิ่มพลังสมาธิได้แล้ว เราก็ควร
+ใส่ใจ "4R" เพื่อรักษาพลังแห่งสมาธิให้คงอยู่ต่อเนื่อง+
Rhythm จังหวะ คือการรู้จักระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับตัวเราเอง แบ่งเวลาเป็นหน่วยย่อยๆ ที่ตัวเองมีสมาธิจดจ่อได้ง่าย
Relax การผ่อนคลาย คือการหยุดพักเป็นช่วงๆ เพื่อไม่ต้องใช้สมาธิติดต่อกันต่อเนื่องจนเกินขีดจำกัด
1
Reward การให้รางวัล คือการให้รางวัลตอบแทนผลสำเร็จของตัวเอง และรางวัลนั้นไม่ควรเป็นเงินทองหรือสิ่งของ แต่ควรเป็นสิ่งที่สร้างความอิ่มใจสร้างกำลังใจให้เกิดแรงฮึดมากขึ้นอีก
Repeat การทำซ้ำอย่างต่อเนื่อง หมั่นทำให้เป็นนิสัยเพื่อรักษาพลังแห่งสมาธิในระยะยาว
4R เพื่อรักษาพลังสมาธิ
นอกจากนั้นผู้เขียนยังได้พูดถึงการใช้ลมหายใจเพื่อเพิ่มพลังสมาธิ ซึ่งเป็นการทำสมาธิโดยการกำหนดลมหายใจที่พวกเราคุ้นเคยกันดี
ในบทสุดท้ายผู้เขียนได้แน่นย้ำอีกครั้งถึงบทบาทของ "พลังสมาธิ" ที่มีต่อการประสบความสำเร็จทั้งในการทำธุรกิจ และวงการกีฬา (เช่น กำเนิดกระดาษ post-it, การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เปลี่ยนโลกของ สตีฟ จ็อบ) โดยองค์กรที่ถูกผลักดันด้วยพลังสมาธิของพนักงานจะเป็นองค์กรที่เติบโตพัฒนาได้สูงสุด
+ความรู้สึกหลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้+
เปิดมุมมองใหม่ของ "พลังแห่งสมาธิ" ที่มีต่อการใช้ชีวิตประจำวันทั้งการทำงานและการเรียน ซึ่งอาจจะแตกต่างจากที่เราคุ้นเคยว่า เป็นเรื่องของการเจริญสติตามแนวทางปฎิบัติธรรมในศาสนา
ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างผู้ที่ประสบความสำเร็จมากมายหลากหลายวงการทั้งในต่างประเทศและในประเทศญี่ปุ่นเอง และเชื่อมโยงคุณลักษณะที่คล้ายคลึงกันของบุคคลเหล่านั้นว่าเกิดมาจาก "พลังสมาธิ"
ที่น่าสนใจที่สุดในหนังสือ น่าจะเป็นเทคนิคง่ายๆ ในการสร้างสมาธิในการทำงานหรือการเรียน อย่าง 5S และ 4R ซึ่งเชื่อว่าทุกคนสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันของตัวเองได้
+รายละเอียดหนังสือ+
ผู้เขียน TOYOSHI NAGATA
แปลโดย ดร. ศิริลักษณ์ ศิริมาจันทร์
ISBN 978-974-443-623-8
สำนักพิมพ์ ส.ส.ท. (สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น)
195 หน้า
ราคา 200 บาท
โฆษณา