3 พ.ค. 2020 เวลา 04:18 • การศึกษา
นิติบุคคล EP.9
ค่าเช่ารถยนต์ เป็นรายจ่ายบริษัทฯได้ไหม?
เรื่องการเช่ารถยนต์ มาใช้ในกิจการของบริษัทฯ นั้น ผมขอแยกออกเป็น 2 กรณี คือ
1. บริษัทเช่ารถยนต์จากบุคคลธรรมดา และ
2. บริษัทเช่ารถยนต์กับนิติบุคคลโดยทำสัญญาแบบลิสซิ่ง (Leasing)
กรณีแรก.... คือ บริษัทเช่ารถยนต์จากบุคคลธรรมดา
ในกรณีที่บริษัทฯ มีความจำเป็นต้องเช่ารถยนต์เพื่อมาใช้ในกิจการ ค่าเช่าดังกล่าวถือเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับกิจการโดยตรง ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากรครับ
ซึ่งในการเช่า "รถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารส่วนบุคคลไม่เกิน 10 ที่นั่ง" นั้น กิจการสามารถนำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของกิจการ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ตามจริง สูงสุดคันละไม่เกิน 36,000 บาทต่อเดือน หรือไม่เกิน คันละ 1,200 บาทต่อวัน นะครับ
ส่วนคำถามที่ว่า...บริษัทเช่ารถยนต์จากกรรมการได้หรือไม่?
คำตอบคือ...หากบริษัทฯ สามารถนำพิสูจน์ให้เห็นโดยชัดแจ้งว่า ค่าเช่าดังกล่าวนั้น เป็นไปเพื่อประโยชน์ในการหารายได้ หรือใช้ในการประกอบธุรกิจของบริษัทฯ โดยตรง บริษัทฯ ก็มีสิทธินำค่าเช่านั้น ไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อดีของการเช่า
(1) กิจการไม่ต้องจ่ายเงินสดก้อนใหญ่ เหมือนการซื้อรถยนต์ด้วยเงินสดในนามของบริษัท ทำให้กิจการคงเหลือเงินสดในมือเพื่อใช้หมุนเวียนในกิจการมากขึ้น
(2) การเช่านั้นไม่เป็นภาระผูกพันระยะยาว เหมือนการเช่าซื้อ (Hire Purchase) ในนามบริษัทฯ เพราะเมื่อกิจการหมดความจำเป็นต้องใช้รถยนต์ดังกล่าวแล้ว กิจการสามารถคืนรถยนต์ที่เช่ามานั้นได้ ซึ่งการเช่าซื้อไม่สามารถทำได้
กรณีที่ 2 บริษัทเช่ารถยนต์กับนิติบุคคลโดยทำสัญญาแบบลิสซิ่ง (Leasing)
สัญญาแบบลิสซิ่ง
เป็นรูปแบบที่นำมาจากต่างประเทศ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องเอกเทศสัญญา ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับลิสซิ่งไว้เป็นการเฉพาะ สัญญาลิสซิ่งคือ สัญญาที่ "เจ้าของทรัพย์สิน" (Leasor) ตกลงให้บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า "ผู้เช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่ง" (Leasee) ใช้ประโยชน์จากทรัพย์นั้นได้ โดยมีเงื่อนไขและข้อจำกัดตามที่ระบุในสัญญา และต้องชำระราคาตามที่กำหนดไว้
โดย "เจ้าของทรัพย์สิน" ตกลงจะขายทรัพย์สินที่ให้ลิสซิ่งนั้นให้แก่ "ผู้เช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่ง" เมื่อครบกำหนดตามสัญญา
การให้เช่าแบบลิสซิ่งนั้น ราคาค่าเช่าแต่ละงวดจะมิได้รวมราคาทรัพย์สินด้วย แต่จะมีการระบุไว้ต่างหากในสัญญานั้น และกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ให้เช่านั้นจะไม่ได้โอนไปยังผู้เช่าโดยทันทีดังเช่น "สัญญาเช่าซื้อ"
หาก "ผู้เช่า" ประสงค์จะซื้อ หรือรับโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น ต้องแสดงเจตนาสนองรับคำมั่นของผู้ให้เช่า และชำระราคาซื้อทรัพย์สินตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญาก่อน กรรมสิทธิ์จึงจะโอนมาเป็นของผู้เช่า
สัญญาลิสซิ่งส่วนมากจะมีข้อกำหนดว่า หากบอกเลิกสัญญาก่อนจะเสียค่าปรับ ยิ่งบอกเลิกเร็วค่าปรับก็จะสูง และเมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่า "ผู้เช่าแบบลิสซิ่ง" จะซื้อทรัพย์สินหรือไม่ก็ได้
ซึ่งในการเช่าแบบลิสซิ่งนั้น กรณี "รถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารส่วนบุคคลไม่เกิน 10 ที่นั่ง" นั้นจะเหมือนกับกรณีแรก คือ กิจการสามารถนำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของกิจการ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ตามจริง สูงสุดคันละไม่เกิน 36,000 บาทต่อเดือน หรือไม่เกิน คันละ 1,200 บาทต่อวัน เช่นกันครับ
กรณีที่กิจการทำสัญญาเช่าแบบลิสซิ่ง แล้วในตอนสิ้นสุดสัญญา บริษัทตกลงซื้อรถยนต์คันดังกล่าว และโอนกรรมสิทธิมาเป็นของบริษัทฯ จะถือเป็นสินทรัพย์ลงทุน ที่กิจการสามารถนำมาหักค่าเสื่อมราคาได้ตามกฎหมายครับ
สรุปง่าย ๆ กับการเป็น "รายจ่าย" สำหรับการทำสัญญาแบบลิสซิ่ง คือ...
ตอนผ่อนถือเป็น "ค่าเช่า" ตอนซื้อถือเป็น "ค่าเสื่อม" ครับ
สำหรับ EP. นี้ขอเพียงแค่นี้ก่อนนะครับ ครั้งหน้าเราจะมาพูดคุยกันในเรื่อง ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงานนอกสถานที่ของพนักงาน เช่น ค่าน้ำมัน ค่าทางด่วน ค่าที่พัก ค่าเบี้ยเลี้ยง ฯลฯ กันนะครับ
ครูต๊ะ
3 พฤษภาคม 2563
ถ้าคุณชื่นชอบบทความนี้ ช่วยกด "ติดตาม" เพื่อเป็นกำลังใจให้กับเพจนี้ด้วยนะครับ
โฆษณา