4 พ.ค. 2020 เวลา 02:40 • การศึกษา
นิติบุคคล EP.10
ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงาน เช่น ค่าน้ำมันรถ ค่าทางด่วน ค่าแท็กซี่ ค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทาง ค่าที่พัก เป็นรายจ่ายบริษัทฯ ได้หรือไม่?
ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เช่น ค่าน้ำมันรถ ค่าทางด่วน ค่าแท็กซี่ ค่าโรงแรมที่พัก ค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทาง ฯลฯ ที่บริษัทฯ ได้จ่ายให้แก่พนักงาน
หากค่าใช้จ่ายดังกล่าว เป็นรายจ่ายที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการประกอบกิจการ และเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ
บริษัทฯ สามารถนำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร
โดยบริษัทฯ ต้องดำเนินการ ดังนี้
1. จัดให้มี “ระเบียบสวัสดิการพนักงาน กรณี พนักงานเดินทางไปปฏิบัติงานนอกสถานที่เป็นครั้งคราว” เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายดังกล่าว
2. จัดให้มีเอกสารประกอบการเบิกจ่ายสำหรับพนักงาน เช่น ใบสรุปค่าเดินทางไปปฏิบัติงาน แบบฟอร์มใบสำคัญรับเงิน แบบฟอร์มใบรับรองแทนใบเสร็จรับเงิน เป็นต้น เพื่อให้พนักงานจัดทำรายงานและเอกสารประกอบการเบิกค่าเดินทางในแต่ละคราว
3. ต้องเป็นการเดินทางเพื่อประโยชน์ของกิจการ โดยระบุวัตถุประสงค์ในการเดินทาง และมีลายเซ็นของผู้มีอำนาจ ลงนามอนุมติการเดินทางด้วย
คำถามสำคัญ!!!!
เงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงานที่บริษัทฯ ได้จ่ายให้กับพนักงาน
ถือเป็นเงินได้ของพนักงานหรือไม่?
ในกรณีที่บริษัทฯ จ่ายค่าเดินทาง ให้แก่พนักงานของบริษัทฯ ตามข้อเท็จจริงข้างต้น เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ครับ
***แต่****
พนักงาน จะได้รับการยกเว้น ไม่ต้องนำเงินได้ดังกล่าวนี้ ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 42 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร หากเป็นเงินได้ที่เข้าลักษณะ ดังนี้
 
(1) เป็นการจ่ายเงินได้เป็นการจ่ายเนื่องจาก การไปปฏิบัติงานนอกสถานที่เป็นครั้งคราว
(2) ต้องเป็นค่าพาหนะเหมาจ่ายหรือค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทาง ซึ่งบุคคลดังกล่าวได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็น เฉพาะในการที่จะต้องปฏิบัติตามหน้าที่ของตน และได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น
(3) ในกรณีบุคคลดังกล่าวได้รับ ค่าพาหนะเหมาจ่าย หรือ ค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทาง ในอัตราไม่เกินอัตราค่าสูงสุดที่ทางราชการกำหนดจ่ายให้แก่ข้าราชการ ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการในประเทศหรือต่างประเทศ แล้วแต่กรณี ตามหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายในลักษณะเหมาจ่าย
ให้ถือว่า ค่าพาหนะเหมาจ่าย หรือ ค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทาง ดังกล่าว เป็นค่าพาหนะเหมาจ่ายหรือค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทาง ซึ่งบุคคลดังกล่าวได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่จะต้องปฏิบัติตามหน้าที่ของตน และได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น โดยไม่ต้องมีหลักฐานการจ่ายเงินมาพิสูจน์
- ค่าเบี้ยเลี้ยงในประเทศ เบิกได้สูงสุดไม่เกินวันละ 270 บาท
- ค่าเบี้ยเลี้ยงต่างประเทศ เบิกได้สูงสุดไม่เกินวันละ 3,100 บาท
- ค่าเดินทาง โดยรถยนต์ กิโลเมตรละ 4 บาท
(4) ในกรณีบุคคลดังกล่าวได้รับค่าพาหนะเหมาจ่าย หรือค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทาง ในอัตราเกินกว่าอัตราตาม (3) และบุคคลดังกล่าวไม่มีหลักฐานมาพิสูจน์ว่า ได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็น เฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติงานตามหน้าที่ของตนและได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น
ให้ถือว่าค่าพาหนะเหมาจ่ายหรือค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางดังกล่าว เป็นค่าพาหนะเหมาจ่ายหรือค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางซึ่งบุคคลนั้นได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็น เพียงเฉพาะในส่วนที่ไม่เกินอัตราตาม (3)
(5) การเดินทางไปปฏิบัติงานตามหน้าที่ ตามความข้างต้น ต้องมีหลักฐานการได้รับอนุมัติให้เดินทางไปปฏิบัติงานนอกสำนักงานหรือนอกสถานที่ จากนายจ้างหรือผู้จ่ายเงินได้ โดยต้องระบุลักษณะงานที่ทำและระยะเวลาปฏิบัติงานตามหน้าที่แล้วแต่กรณีด้วย
ครูต๊ะ
4 พฤษภาคม 2563
หากชื่นชอบบทความนี้ ช่วยกด "ติดตาม" เพจ"ภาษีอีซี่ Easy" เพื่อเป็นกำลังใจด้วยนะครับ
โฆษณา