4 พ.ค. 2020 เวลา 03:36 • ธุรกิจ
แบงก์ชาติไทยกับกระแส Thai Baht Digital
ตามกระแสข่าวว่าจีนจะเริ่มทดลองใช้แอปพลิเคชั่นมือถือ สำหรับใช้จัดเก็บและแลกเปลี่ยนเงินหยวนดิจิทัล ผ่านการทดลองจ่ายเงินเดือนบางส่วนและเบี้ยเลี้ยงเป็น digital Yuan ให้เจ้าหน้าที่จีนในเมืองเซิ่นเจิ้น, ซูโจว, เฉิงตู และ สงอัน
โดยจ่ายผ่าน 4 ธนาคารใหญ่ของจีน ได้แก่ China Construction Bank, ธนาคารเพื่อการเกษตรแห่งประเทศจีน, ธนาคารแห่งประเทศจีนและธนาคารเพื่อการอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ของจีน รวมถึงบริษัทโทรคมนาคมที่กำลังทดสอบเช่น China Mobile, China Telecom และ China Unicom
นอกจากนั้น นอกจากนี้ก็ยังมีธนาคารของรัฐอื่น ๆ ทั้งหมด ที่เชื่อมโยงกับหยวนดิจิตอล รวมทั้งยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่าง Alipay และอีก 22 บริษัท เช่น Tencent, Huawei และ China Merchants Bank โดยได้ช่วยในการวิจัยและการดำเนินการ
เป็นปรากฎการณ์ทางการเงินที่จีนจะเริ่มระบบไฮบริดทางการเงินก่อนคือทั้งเงินสด และเงินดิจิตอล แต่อนาคตจีนตั้งเป้าหมายไว้แล้วที่จะเป็น Cashless Society เต็มระบบ และจะเป็น New Normal หลัง COVID-19 ด้วย
ก่อนหน้านี้ธนาคารกลางสาธารณะรัฐประชาชนจีน (PBoC) ได้ชี้แจงถึงโครงการสกุลเงินดิจิทัลแห่งชาติ Digital Currency Electronic Payment หรือ DECP รูปแบบของเงินหยวนดิจิทัล จะแตกต่างจาก Bitcoin(BTC) และ Stablecoins โดยสกุลเงินดิจิทัลของจีนจะเป็นเงินหยวนในรูปแบบดิจิทัล ไม่มีการเปิดช่องให้เก็งกำไรในมูลค่าเหรียญ และไม่มีตะกร้าเงินหนุนหลัง
หากประเมินสถานการณ์แล้วแนวโน้มของสกุลเงินดิจิตอลโมเดลแบบจีนจะเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย และมีนัยยะในการสร้างอิทธิพลทางการเงินโลกท่ามกลางสถานการณ์เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ง่อนแง่น
 
ก่อนจะเข้าถึงว่าไทยพร้อมที่จะมีเงินบาทดิจิตอล หรือไม่นั้น ต้องทำความเข้าใจระบบเงินแบบนี้จะไม่ใช่ cryptocurrency หรือ Bitcoin แต่เป็น stable digital currency มาเสริมเงินสกุลหยวนที่เป็นธนบัตร เพื่อรองรับวิถีชีวิตในยุคดิจิทัล โดยใช้ชื่อว่า DCEP : Digital Currency Electronic Payment
รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนระบุว่า digital Yuan เป็น stable currency เพราะออกโดยธนาคารกลางจีน PBOC มีสำรองหนุนค่าเงินเหมือนเงินหยวนปกติทั่วไป ด้วยการผูกค่า digital Yuan กับ RMB แบบ 1: 1 จึงแตกต่างจาก cryptocurrency ทั่วไป
ดังที่มีการเผยแพร่ภาพหน้าจอกระเป๋าเงิน DCEP พบว่ามีการรองรับฟังก์ชั่นที่สำคัญหลายอย่าง เช่น การแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิตอล , การจัดการกระเป๋าเงิน , การค้นหาธุรกรรมที่ผ่านมาในอดีต และฟังก์ชั่นอื่น ๆ รวมถึงการชำระเงินผ่านรหัส QR , การโอนเงินและรองรับ NFC
เมื่อมามองความพร้อมของไทยถือว่าธนาคารแห่งประเทศไทยได้ขยับตัวมาระยะหนึ่งแล้วแต่ยังไม่ได้ประกาศชัดเจนเรื่องการขับเคลื่อนนโยบายสกุลเงินบาทดิจิทัล เนื่องจากมีความละเอียดอ่อน กระทบกับภาคการเงินในภาพรวม ซึ่งมีการประเมินว่าหากไทยมีการนำระบบ Thai Baht Digital มาใช้ก็จะส่งผลให้ผู้ใช้ไม่ต้องพึ่งพาโมบายแบงก์กิ้งในการใช้แลกเปลี่ยนกันด้านเดียว แต่ทางแบงก์ชาติก็ได้นำสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC) มาใช้เชื่อมต่อระหว่างระดับธนาคาร ก็จะช่วยลดต้นทุนให้เฉพาะธนาคาร แต่ไม่ช่วยลดต้นทุนให้ประชาชน
บทความของนางสาวฐิติมา ชูเชิด ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เขียนทัศนะเครื่อง 'สกุลเงินดิจิทัล' ใกล้ตัวเราแค่ไหน? ได้สรุปว่าปัจจุบันการใช้คริปโทเคอเรนซีในไทยเพื่อธุรกรรมชำระเงินยังมีจำกัด และเริ่มมีคนไทยที่ผลิตคริปโทสัญชาติไทยได้ เช่น Zcoin ส่วนนักลงทุนไทยเริ่มรู้จักคริปโทที่เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้ พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 โดยมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) กำกับดูแลการขึ้นทะเบียนของผู้ประกอบการซื้อขายคริปโทในไทย และเตือนผู้สนใจลงทุนในคริปโทว่ามีความเสี่ยงสูง ต้องมีความรู้และรับความเสี่ยงที่อาจสูญเงินลงทุนได้
นอกจากนี้ ธปท. ได้เปิดตัวโครงการอินทนนท์ที่เป็นการทดสอบระบบการโอนเงินระหว่างสถาบันการเงินโดยใช้ CBDC จำลอง (wholesale CBDC) ภายใต้ชื่อโครงการอินทนนท์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงิน ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ 8 แห่งในการโอนเงินระหว่างกันและการบริหารสภาพคล่อง พบว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนมีศักยภาพในการเพิ่มประสิทธิภาพระบบการชำระเงินของไทย แต่การจะนำระบบนี้มาใช้งานจริงต้องใช้เวลาทดสอบขีดความสามารถและศึกษาผลกระทบเพิ่มเติม
 
เป้าหมายสูงสุดของโครงการอินทนนท์ไม่จำกัดแค่การพัฒนาระบบต้นแบบอยู่ในห้องทดลองเท่านั้น ในอนาคตอันใกล้ หาก Distributed Ledger Technology (DLT) ได้รับการพัฒนาไปถึงระดับที่สามารถนำมาใช้ขยายออกไปในวงกว้างด้วยต้นทุนที่เหมาะสม โครงการอินทนนท์นี้ จะถือเป็นรากฐานสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศที่นำมาใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ ซึ่งจะช่วยยกระดับประสิทธิภาพการให้บริการทางการเงินแก่ประชาชน ทั้งในแง่ของความเร็วและความสะดวกที่จะมีเพิ่มขึ้น ต้นทุนและค่าใช้จ่ายจะต่ำลง ช่วยลดข้อผิดพลาดจากการดำเนินธุรกรรมหลายขั้นตอนและเพิ่มความสามารถในการตรวจสอบติดตามที่ดีขึ้น รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการเชื่อมต่อการบริการทางการเงินระหว่างไทยและโลกให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น สามารถรองรับธุรกรรมทางการเงินครบวงจรได้แบบ Anywhere Anytime และ Seamless มีความปลอดภัยสูง สอดรับกับชีวิตในยุคดิจิทัลได้อย่างแท้จริง
ด้านนายปรมินทร์ อินโสม ผู้ก่อตั้ง Zcion เเละ TDAX Crypto Currency Exchange กล่าวว่า การทำเงินบาทดิจิทัลจะช่วยสอดส่องพฤติกรรมที่นำไปสู่อาชญากรรมโลกทางการเงินได้ ซึ่ง ธปท.จะรับรู้พฤติกรรมของผู้ใช้งานทั้งหมด ถือเป็นเรื่องที่ดีกว่าการใช้งานจากระบบพร้อมเพย์ เนื่องจากยังมีข้อมูลบางส่วนอยู่ข้างหลัง ไม่ได้อยู่ที่คนกลางทั้งหมด เเต่หากเป็นเงินบาทดิจิทัล จะตอบโจทย์เรื่องบิ๊กดาต้า หน่วยงานต่าง ๆ สามารถนำข้อมูลไปติดต่อเพิ่มเติมได้
น่าจะถึงเวลาแล้วที่แบงก์ชาติของไทยพร้อมที่จะทดลองนำระบบ Thai Baht Digital ลงสู่ภาคประชาชน นอกจากจะเป็นทางเลือกการใช้ผ่านธนาคารพาณิชย์ หรือระบบพร้อมเพย์ที่ยังคงมีความเสี่ยงอยู่ อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าภารกิจของแบงก์ชาติไทยจะเพิ่มขึ้น ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะแนวโน้มการเงินโลกอันใกล้ไปทางนี้ ดังที่จึนได้ขยับตัวแล้วและจะมีอิทธิพลสูงในระยะ 1-2 ปีนี้ หากไทยขยับตัวช้า ไม่เริ่มทดลองก็จะทำให้ตกขบวนการเงินดิจิตอลโลกก็เป็นได้
อ้างอิง :
โฆษณา