6 พ.ค. 2020 เวลา 03:46 • ศิลปะ & ออกแบบ
การขออนุญาตก่อสร้างอาคาร
เคยไปขออนุญาตก่อสร้างกับทางเขตหรือเทศบาลไหมครับ ?
ใครที่เคยไปจะรู้ว่า มันยุ่งและเหนื้อยเหนื่อย
วันนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังว่า ต้องทำยังไง ?และมีขั้นตอนอย่างไรกันบ้าง ?
Cr.thaiengineering.com
1.เราต้องรู้ว่าอาคารที่่เรายื่นขอนั้น เป็นอาคารประเภทอะไร ?
เนื่องจากกฎหมายที่ใช้กับแต่ละชนิดอาคารนั้นไม่เหมือนกัน
ทั้งทาวน์เฮ้าส์ ตึกแถว บ้านเดี่ยว บ้านแฝด สำนักงาน โรงงาน ต่างมีกฎข้อบังคับไม่เหมือนกัน
Cr. siam safety
บางครั้งความไม่ชัดเจนในประเภทอาคารจะทำให้การขออนุญาตไม่ผ่าน เช่น เจ้าของอยากทำอาคารขึ้นมาหนึ่งหลัง ด้านล่างให้เช่าทำเป็นร้านค้าได้ ชั้นสองทำเป็นออฟฟิทส่วนตัว ชั้นบนสุดเป็นที่พักอาศัย
แล้วจะเลือกขออนุญาตเป็นอาคารแบบไหนดีล่ะ ?
จะขอเป็นบ้าน ?  หรือออฟฟิท ?
หรือ อาคารพาณิชย์ดี ???
แบบนี้ต้องคุยกับผู้ออกแบบแต่แรกเลยครับ เพื่อจะได้ออกแบบวางแผนได้ถูก
และที่สำคัญที่สุดคือ อย่าลืมเช็คผังเมืองตรงนั้นก่อนเริ่มโครงการเลยว่า อยู่ผังสีอะไร รหัสพื้นที่เป็นรหัสอะไร(ดูได้จากแผนที่ของผังเมือง) เพราะบางบริเวณให้สร้างได้เฉพาะบ้านเดี่ยว ห้ามสร้างตึกแถว หรือบางพื้นที่ให้สร้างอาคารได้ไม่เกิน 3 ชั้นเป็นต้น
2.การออกแบบ
เมื่อรู้ประเภทอาคารแล้ว ผู้ออกแบบทั้งสถาปนิกและวิศวกรก็จะทำการออกแบบตามข้อกำหนดกฎหมายเพื่อขออนุญาตก่อสร้าง
ซึ่งกฎหมายอาคารจะมีลงรายละเอียดยิบย่อยว่า ส่วนประกอบของอาคารแต่ละประเภทต้องเป็นอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น ขั้นบันไดของบ้านพักอาศัยต้องมีขนาดเท่าไร ? ห้ามแคบเกินเท่าไร ? ห้องไหนต้องมีหน้าต่างบ้าง ? ดาดฟ้าต้องมีลักษณะอย่างไร ? เป็นต้น
โดยประเด็นหลักที่ต้องเช็คให้รอบคอบก็คือ ระยะถอยร่นจากเขตที่ดิน เพราะเป็นเรื่องที่กระทบกับขนาดและพื้นที่ใช้สอยอาคารโดยตรง เรียกว่าถ้าเช็คพลาด แบบที่ทำมาต้องรื้อทำใหม่กันทีเดียว
ส่วนประเด็นอื่นๆ ส่วนมากกฎหมายจะเน้นไปที่เรื่องความแข็งแรงปลอดภัย คุณภาพชีวิตในการใช้งานอาคาร รวมถึงไม่สร้างปัญหาให้กับพื้นที่ส่วนรวม
ซึ่งถ้ามีจุดใดจุดหนึ่งเพียงข้อเดียว ไม่ตรงกับข้อกฎหมาย แบบชุดนั้นก็จะไม่ผ่านการขออนุญาต  ผ่าง!!
3.ผู้ออกแบบ
ในข้อกำหนดทั้งกฎหมายและมาตรฐานวิชาชีพจะต้องให้ผู้ออกแบบเซ็นรับรองในแบบที่ยื่นขออนุญาตและต้องแนบสำเนาบัตรประกอบวิชาชีพมาด้วย
ซึ่งถ้าเป็นอาคารขนาดไม่ใหญ่ เช่นบ้านพักอาศัยทั่วไป ก็จะมี สถาปนิกและวิศวกรโยธา
แต่ถ้าเป็นอาคารขนาดใหญ่ อาคารสูง ก็จะต้องมีวิศวกรงานระบบ (ไฟฟ้า สุขาภิบาล เครื่องกล )เพิ่มเข้ามาด้วย
Cr.Parkard
** ยกเว้น บ้านที่มีพื้นที่ไม่เกิน 150 ตารางเมตร ไม่ต้องมีสถาปนิกและวิศวกรเซ็นรับรอง (ดังนั้นชาวบ้านทั่วไปจะสร้างบ้านเองไม่ต้องกังวลเรื่องนี้)
4.เอกสารในการยื่น
ตามใบนี้เลยครับ
แบบฟอร์มเอกสารแต่ละข้อสามารถดาวน์โหลดได้ทางอินเตอร์เนต
5.ขั้นตอนการยื่น
เมื่อทุกอย่างพร้อมทั้งเอกสารและแบบ ถ้าไม่ใช่อาคารขนาดใหญ่เราจะยื่นขอที่ฝ่ายโยธาของสำนักงานเขตหรือเทศบาล ที่อาคารของเราจะสร้าง แต่ถ้าเป็นอาคารขนาดใหญ่ต้องไปยื่นขออนุญาตที่ฝ่ายโยธาของจังหวัด
เจ้าหน้าที่จะออกใบรับเรื่องไว้และจะใช้เวลาในการตรวจแบบและเอกสารไม่เกิน 45 วัน ซึ่งถ้ามีปัญหาหรือข้อสงสัย เจ้าหน้าที่จะออกเอกสารแจ้งให้เราเข้าไปชี้แจงหรือทำแบบเพิ่มเติมภายในระยะเวลาที่กำหนด (ถ้าเกินก็ต้องยื่นขอใหม่) จากนั้น เจ้าหน้าที่จะต้องอนุมัติให้เราภายในเวลาไม่เกิน 45 วัน (ไม่มีการออกเอกสารเรียกรอบสองอีกแล้ว)
ซึ่งถ้าเป็นไปตามหลักตามขั้นตอนแบบนี้ ก็จะใช้เวลารวมๆแล้วก็ 3เดือน ++
จะเห็นได้ว่าใช้เวลามาก ขั้นตอนและเอกสารค่อนข้างเยอะ กว่าจะได้ใบอนุญาตออกมา
ยังไม่นับถึงเรื่องแบบที่มีรายละเอียดมาก บางจุดกฎหมายไม่ได้ระบุครอบคลุม ก็ต้องใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจ
บางคนให้ผ่าน บางคนก็ไม่
ดังนั้น การยื่นแบบขออนุญาตก่อสร้างอาคาร จึงเหนื้อยเหนื่อยอย่างที่เกริ่นไว้
Cr. jobsDB
บทความหน้า จะมาเล่าให้ฟังถึงกลเม็ดเคล็บลับในการยื่นขอฯ ว่ามีอย่างไรบ้างนะครับ
ใครเคยยื่นหรือมีข้อสงสัยสอบถามกันมาได้นะครับ
***********************************
สำหรับเพื่อนๆ Blockdit ที่สนใจแนวอื่น ผมเขียนลงอีก 2 เพจคือ
๏ 'Bear's Books'  = ข้อคิดดีๆที่ได้จากหนังสือ
๏ 'Bear's Blog'  = มุมมองกับชีวิต
ขอเชิญชวนให้เข้าไปชมดูนะครับ
เผื่อจะมีบางข้อเขียนที่อาจถูกใจ
หรือใครสนใจเฉพาะภาพถ่าย
ลองเข้าไปดูและกดติดตามได้ใน
ig : khanaad_photo นะครับ
แล้วพบกันครับ
โฆษณา