15 พ.ค. 2020 เวลา 06:46
แกะเปลือก..ประกันสังคม : เงินบำนาญชราภาพ
การลงทุนของกองทุนชราภาพ และ ผลตอบแทนบำเหน็จบำนาญ
ทราบหรือเปล่าครับว่า.....
เงินประกันสังคมที่เราถูกหักไปทุกเดือนนั้น เรามีสิทธิอะไรบ้าง และเขาเอาเงินนี้ไปทำยังไง?
"รู้ว่ามีสิทธิรักษาพยาบาลประกันสังคม"
"รู้ว่าเบิกค่าคลอดได้ และเบิกค่าบุตรได้"
"รู้ว่าถ้าว่างงานเพราะถูกเลิกจ้าง สามารถรับเงินทดแทนจากประกันสังคมได้"
ประกันสังคมยังมีอีกหลายสิทธิ ที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ หรืออาจจะรู้แต่ไม่ได้ใช้
ปัจจุบันเราถูกหักเงินสมทบเดือนละ 5% ให้ประกันสังคม และฐานเงินเดือนสูงสุดที่ประกันสังคมใช้คำนวณคือเดือนละ 15,000 บาท จำนวนเงินสูงสุดที่ถูกหักแต่ละเดือนจึงเท่ากับ 750 บาท
ทราบหรือไม่ครับว่า...เงินประกันสังคมที่เราถูกหักไปทุกเดือนนั้น 60% คือเงินที่หักเพื่อความคุ้มครองกรณีชราภาพ หรือ บำนาญชราภาพ
1
ประกันสังคมได้เคยแจงไว้ว่าเงิน 750 บาท หรือ 5% นี้ จะถูกแยกเป็นความคุ้มครองต่างๆ (ตามภาพ)
สำหรับเงินสมทบ 3% กรณีชราภาพนี้ เท่ากับ 60% ของเงินสมทบประกันสังคมที่เราถูกหักทุกเดือน และเป็นสิทธิที่เราควรจะใช้เป็นอย่างยิ่งครับ
คนอ่านส่วนใหญ่ อาจรู้สึกว่าเรื่องเกษียณ เรื่องบำนาญ เป็นเรื่องที่ไกลตัว กว่าทุกคนจะได้ใช้สิทธินี้ บทความนี้ก็คงจะหายไปแล้ว จึงไม่แปลกที่คนส่วนมากไม่พูดและไม่ได้ให้ความสนใจสิทธิความคุ้มคองกรณีชราภาพ แต่สนใจเพียงว่าเราถูกหักเงินประกันสังคมหลายร้อยต่อเดือน
2
สำหรับผม....สิทธิความคุ้มครองกรณีชราภาพเป็นสิ่งที่ดีที่สุดของระบบประกันสังคมของเราเลยล่ะครับ
สิทธินี้จะได้รับเมื่อเราเกษียณอายุตามเงื่อนไขคือ ออกจากประกันสังคมเมื่อชำระเงินสมทบ 180 เดือนขึ้นไป และมีอายุ 55 ปีบริบูรณ์ ถ้าไม่เข้าข่ายนี้เราก็จะได้รับเป้นบำเหน็จแทน
เงินสมทบ 3% นี้ คือ "เบี้ยประกันบำนาญ" ไม่ใช่ "เงินออม"
เราจะได้รับบำนาญหรือได้รับบำเหน็จขึ้นกับว่าเราอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับอะไร และจำนวนเงินบำนาญที่จะได้รับคำนวณตามจำนวนปีที่เราส่งเงินสมทบ ปียิ่งมากก็ได้รับมาก
1
ประกันสังคมจะจ่ายเงินบำนาญให้กับเราตั้งแต่เริ่มเกษียณอายุไปจนเราเสียชีวิต แม้จำนวนเงินที่ได้รับแต่ละเดือนจะคงที่แต่จำนวนเงินรวมสะสมที่เราจะได้รับแปรจะตามความยืนยาวของอายุของเรา
1
คนเรามีอายุไม่เท่ากันระยะเวลาการจ่ายเงินของแต่ละคนจึงต่างกัน ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวแปรที่ใช้คำนวณเบี้ยประกันด้วยค่าสถิติอัตราการมีชีวิตของคนไทย เราจึงอาจได้รับจำนวนเงินสะสมรวม มากกว่าเงิน(เบี้ย)ที่เราจ่ายสมทบทั้งหมด
1
มาลองคำนวณกันดูว่า ถ้าเราเกษียณเมื่ออายุ 60 ปี และเรามีอายุหลังเกษียณ 15 ปี 20 ปี 25 ปี เราจะได้รับเงินบำนาญรวมเป็นเงินเท่าไหร่
1
ยกตัวอย่างจาก นายเอ ที่เริ่มจ่ายเงินสมทบเมื่ออายุ 25 ปี ที่ฐานเงินเดือน 15,000 บาท ซึ่งนายเอจะจ่ายเงินสมทบกรณีชราภาพเดือนละ 450 บาท รวม 35 ปี เป็นเงิน (450บาท x 12 เดือน x 35 ปี) เท่ากับ 189,000 บาท
1
และนายเอจะได้รับเงินบำนาญหลังเกษียณอายุเดือนละ 7,500 บาท
จำนวนเงินบำนาญสะสมที่นายเอได้รับ เมื่อผ่านไป 10 ปี 15 ปี 20 ปี 25 ปี จะเป็นตามภาพ อยู่อายุของนายเอ
2
ตัวอย่างนายเอนี้เป็นตัวอย่างที่ส่งเงินสมทบเกือบเต็มอายุทำงานจนเกษียณครับ ถ้านายเอได้รับเงินบำนาญเป็นระยะเวลา 20 ปีหลังเกษียณ จำนวนเงินบำนาญรวมสะสมที่นายเอได้รับก็คือ 1.8 ล้านบาท และจะเป็น 2.25 ล้านบาทถ้ายังรับต่อไปจนถึง 25ปี
 
สำหรับคนที่มีจำนวนปีที่ส่งเงินสมทบน้อยกว่านี้ บำนาญแต่ละเดือนก็จะลดลงนะครับ ทำให้ตัวเลขสะสมเมื่อเวลาผ่านไปน้อยกว่านี้ ตามภาพข้างล่าง ใครที่มีจำนวนปีแตกต่างก็รบกวนคำนวณเองนะครับ
5
เห็นจำนวนเงินรับสะสมแล้ว ก็ได้แต่บอกว่า เมื่อเกษียณอายุอย่าลืมทำเรื่องรับเงินบำนาญด้วยนะครับ เพราะถ้าเราไม่ไปทำเรื่องรับเงิน เงินก้อนนี้ก็จะอยู่เป็นเงินกองกลางในกองทุนชราภาพต่อไปโดยเราจะไม่ได้รับอะไรเลย
ประกันสังคมจะบริหารเงินเพื่อจ่ายเงินบำนาญให้เราได้อย่างไร
ประกันสังคมเริ่มจ่ายเงินบำนาญเป็นปีแรกเมื่อปี 2557 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มมีผู้จ่ายสมทบจ่ายครบ 180 เดือนตามข้อกำหนดการรับบำนาญ ดังนั้นคนที่จะเริ่มรับบำนาญในปี 2563 นี้ก็จะมีจำนวนปีที่ส่งเงินสมทบประมาณ 21-22ปี จำนวนเงินก็จะใกล้เคียงกับเส้นที่ส้มในภาพ (เส้นที่สองจากล่าง)
และในอนาคตอีก 10 ปีก็จะมีคนที่รับบำนาญที่ต้องคิดเงินบำนาญจากอายุงาน 30 ปี (เส้นสีเหลืองในภาพ)
เราจะเห็นได้ว่าจำนวนเงินบำนาญชราภาพที่สำนักงานประกันสังคมต้องจ่ายจะมากขึ้นและมากขึ้นไปเรื่อยๆ ทั้งจากการที่มีจำนวนผู้เกษียณอายุที่มากขึ้น และจากจำนวนเงินบำนาญต่อเดือนของแต่ละคนที่สูงขึ้นจากจำนวนปีที่ส่งเงินสมทบตามสูตรคำนวณเงินบำนาญ
ถ้าใช้หลักการเงินแบบง่ายๆ คือ เมื่อสำนักงานประกันสังคมได้รับเงินสมทบจากเรา 450 บาท ก็จะได้รับอีก 450 บาทจากนายจ้าง และยังมีเงินสมทบจากรัฐอีก 150 บาท ประกันสังคมต้องนำเงินทั้งหมดนี้ไปลงทุนเพื่อให้มีเงินกลับมาจ่ายบำนาญให้เราเมื่อเกษียณไปตลอดชีวิต
1
ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ได้รับจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้มีเงินพอจ่ายบำนาญ
3
ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ประกันสังคมต้องได้รับจากการลงทุนเพื่อให้เพียงพอสำหรับจ่ายเงินบำนาญให้เราในระยะเวลา 15ปี 20ปี 25ปี และดูจากช่วงการส่งเงินสมทบเป็นเวลา 20ปี - 35 ปี (ปัจจุบันใกล้เคียง 20ปี และ ในอีก 10 ปีข้างหน้าจะใกล้เคียงกับ 35ปี) ช่วงอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยที่กองทุนต้องการคืออยู่ระหว่างต่ำสุดไปถึงสูงสุดเท่ากับ 4.20% - 7.32% ตามภาพ
ซึ่งตัวเลขถัวเฉลี่่ยของกองทุนโดยรวมไม่ได้มีการเปิดเผยออกมา เราจึงต้องใช้ช่วงอัตราผลตอบแทนนี้เพื่อให้เห็นภาพที่กองทุนต้องทำให้ได้แทน
เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ตอนนี้ประกันสังคมนำเงินเราไปลงทุนได้ผลตอบแทนเพียงพอหรือไม่?
1
เป็นเรื่องที่ค่อนข้างหาข้อมูลได้ยาก เพราะประกันสังคมไม่ได้อยู่ในหลักเกณณ์เดียวกับบริษัทประกันต่างๆ ที่ต้องเปิดเผยข้อมูลที่แสดงถึงความมั่นคงของเงินกองทุนที่เป็นเงินเบี้ยประกันที่นำไปลงทุนเทียบกับเกณฑ์มาตราฐานขั้นต่ำที่เพียงพอเพียงต่อพันธะสัญญากรมธรรม์ และไมมีการเปิดเผยส่วนเกินมูลค่าของตราสารลงทุนที่ยังไม่แปรเป็นกำไรในงบ (Unrealized gain/loss)
แต่หากเราจะลองเทียบโดยใช้สมมุติฐานคือ ดูเฉพาะกำไรที่ได้รับ (realized gain/loss เท่านั้น) ซึ่งมีการเปิดเผยในงบการเงินที่อยู่ในส่วนของผลตอบแทนสะสมของตราสารหนี้ที่ได้รับ รวมกับ ส่วนเกินทุนจากการขายตราสารทุน และมูลค่ากองทุนโดยรวม
1
เราอาจคำนวณผลตอบแทนโดยประมาณได้ว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กองทุนประกันสังคมมีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 4.0% (ย้ำว่าไม่ได้รวม unrealized gain/loss และไม่ได้แยกผลตอบแทนตามวัตถุประสงค์การลงทุน แต่กองทุนชราภาพมีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 85% ของจำนวนเงินกองทุนทั้งหมด) ซึ่งผมเชื่อว่าอัตราผลอตแทนเฉลี่ยจริงน่าจะสูงกว่า 4.0%
1
หากดูจากอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยในงบการเงินนี้ คือ 4.0% ในขณะที่กองทุนต้องการผลตอบแทนเฉลี่ยในช่วงระหว่าง 4.20%-7.32% หลายคนคงจะตั้งธงคิดคำตอบไว้ในใจว่าประกันสังคมจะจ่ายเงินให้เราได้ตลอดหรือไม่ แต่ต้องย้ำว่าอาจจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องก็ได้ครับ
คนที่จะรู้ก็คือคนที่บริหารจัดการกองทุนนี้ซึ่งจะทราบผลตอบแทนเฉลี่ยจริงๆ
ที่เรารู้แน่ๆ คือ จำนวนปีที่ส่งเงินสมทบก่อนเกษียณของแต่ละคนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และจำนวนปีที่รับเงินบำนาญจะเพิ่มขึ้นเช่นกันจากแนวโน้มการมีอายุที่ยืนขึ้น
ที่สำคัญประเทศเราจะเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มตัวในอีกไม่กี่มีที่จะมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปถึง 20% ของประชากร ดังนั้นกองทุนต้องการจำนวนเงินหรือผลตอบแทนที่มากขึ้นเพื่อรองรับจำนวนเงินบำนาญที่จะต้องเพิ่มขึ้นในอนาคตแน่ๆ
Credit : www.boi.go.th
ในขณะที่จะมีคนรับบำนาญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่จำนวนคนส่งเงินสมทบอาจไม่เพิ่มขึ้นและอาจจะลดลงตามโครงสร้างประชากรที่เราทราบกัน
1
การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของผู้จ่ายเงินสมทบนี้ยิ่งนานไปก็จะทำให้สมมุติฐานที่ใช้กำหนดเบี้ยประกันสังคม ซึ่งใช้อัตรา 3% มาตลอดระยะเวลา 20กว่าปี อาจไม่ตรงกับสภาพความจริงที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน
ระหว่างที่ผมกำลังเขียนบทความนี้ ก็ได้ข่าวเรื่องที่มีแนวคิดจะปรับปรุงระบบประกันสังคมใหม่ (บทความที่ลงใน Blockdit) ซึ่งคงหากได้อ่านมาถึงตรงนี้ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยครับ
อย่างไรก็ตาม กองทุนประกันสังคมก็มีความพยายามในการปรับกลยุทธการลงทุนมาตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า มีการเพิ่มสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยงจาก 9% ในปี 2557 ขึ้นจนเป็น 20% ในปี 2561 เพื่อทำให้อัตราผลตอบแทนโดยรวมดีขึ้น
และเราเห็นการลดลงของอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์มั่นคงที่ลดลงจาก 3.5% ในปี 2557 เป็น 2.8% ในปี 2561 และในปี 2562 กองทุนฯ สามารถสร้างอัตราผลตอบแทนที่ 4.37%
แต่แม้ว่ากองทุนประกันสังคมจะเพิ่มสัดส่วนของสินทรัยพ์เสี่ยงเป็น 20% ก็ยังต่ำกว่าสัดส่วนตามนโยบายการลงทุนค่อนข้างมาก จึงอาจเป็นเรื่องที่ผู้บริหารกองทุนฯ ต้องทำการบ้านในเรื่องนี้ต่อไป
ขอจบบทความนี้ไว้ตรงนี้นะครับ ไม่ขอลงลึกไปกว่านี้ เป็นหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องที่ต้องนำข้อดีข้อเสียของแต่ละทางเลือกมาพิจารณาต่อไป
บทความนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะบอกว่ากองทุนชราภาพมีความมั่นคงแค่ไหน แต่ต้องการสะท้อนภาพให้เห็นสถานะของกองทุนชราภาพจากข้อมูลเบื้องต้นที่เผยแพร่อยู่
และที่สำคัญต้องการย้ำให้ผู้ที่ส่งเงินสมทบประกันสังคม มาตรา 33 และ มาตรา 39 ที่มีการส่งเบี้ยบำนาญนี้ ให้ทำเรื่องรับเงินบำนาญของเราเมื่อเราเกษียณอายุครับ
บำนาญชราภาพจากประกันสังคม เป็นส่วนหนึ่งในการวางแผนการเงินสำหรับหลังเกษียณอายุนะครับ และมีความสำคัญไม่แพ้เงินออมเพื่อการเกษียณประเภทอื่นๆ แม้จำนวนเงินที่ได้ต่อเดือนอาจจะไม่มาก แต่เมื่อรวมกันก็กลายเป็นเงินก้อนใหญ่ทีเดียว
เพียงแต่กองทุนนี้ไม่ได้นำปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อที่จะลดอำนาจซื้อของเงินในอนาคตมาใช้ จึงอาจทำให้ในอนาคตเงินก้อนนี้จะมีบทบาทด้านการเงินหลังเกษียณน้อยลงไปเรื่อยๆ เป็นปัญหาที่ผู้บริหารประกันสังคมต้องนำไปพิจารณาด้วยเช่นกัน
Credit : th.depositphotos.com
ขอบคุณที่อ่านมาถึงช่วงท้ายของบทความครับ บทความนี้เป็นทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน ไม่สามารถใช้อ้างอิงได้ครับ
หากพบข้อมูลส่วนไหนคลาดเคลื่อนไม่ถูกต้องสามารถแจ้งได้ครับ และหากมีความเห็นอะไรก็สามารถแชร์เพื่อแลกเปลี่ยนครับ ขอบคุณครับ
ที่มาของข้อมูล
1
- สำนักงานประกันสังคม : รายงานต่างๆ ใน https://www.sso.go.th/wpr/
- ข่าวเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างระบบประกันสังคม https://www.blockdit.com/articles/5ebd278941ccb1156bd2ecee
ที่มาของบทความนี้
ขอบคุณคุณหมูน้อย เพจพื้นฐานการลงทุนหมูน้อยออมสิน สำหรับบทความเรื่องประกันสังคม https://www.blockdit.com/articles/5e9e6933f0d0b41bb15354ef และความเห็นที่แลกเปลี่ยนในบทความ จนสร้างคำถามที่เป็นที่มาของบทความนี้
โฆษณา