7 พ.ค. 2020 เวลา 11:57 • การศึกษา
สัญญาก่อสร้าง กับปัญหาการส่งมอบพื้นที่ไม่ได้ ต้องดำเนินการกับสัญญาอย่างไร
ตามสัญญาก่อสร้าง ผู้ว่าจ้างมีหน้าที่ต้องส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับจ้าง เพื่อดำเนินการก่อสร้างตามสัญญา
ถ้าผู้ว่าจ้างส่งมอบพื้นที่ล่าช้า หรือส่งมอบพื้นที่ไม่ได้ ผลทางกฎหมายและการดำเนินการตามสัญญาแตกต่างกัน
1. กรณีส่งมอบพื้นที่ล่าช้า
ในกรณีที่ผู้ว่าจ้างส่งมอบพื้นที่ล่าช้า การดำเนินงานในส่วนนี้ ผู้ว่าจ้างจะขยายระยะเวลาการส่งมอบงานให้ เท่ากับระยะเวลาที่ส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ผู้รับจ้างยังคงมีหน้าที่ในการที่จะต้องก่อสร้างตามสัญญาให้แล้วเสร็จต่อไป
2. กรณีส่งมอบพื้นที่ไม่ได้เลย
 
ในทางกฎหมายถือว่าการชำระหนี้ตามสัญญากลายเป็นพ้นวิสัย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 219
การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยคือการที่ผู้รับจ้างไม่สามารถเข้าไปดำเนินการก่อสร้างภายหลังที่ได้ลงนามในสัญญา โดยไม่ใช่ความผิดของผู้รับจ้าง และการที่ไม่สามารถดำเนินการได้นั้น ต้องมีมีลักษณะความเป็นไม่ได้แบบถาวร (ไม่ใช่เกิดชั่วคราว)
หากมีกรณีนี้ ในทางกฎหมายถือว่าผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิดชอบ และหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญา (คือไม่ต้องทำการก่อสร้างตามสัญญา)
ผลของการหลุดพ้นจากความรับผิดตามที่ว่ามานี้คือ ผู้ว่าจ้างจะเรียกค่าปรับจากผู้รับจ้างไม่ได้
หากในสัญญามีการรับเงินล่วงหน้ามา ทางผู้รับจ้างจะต้องคืนเงินล่วงหน้า แต่ไม่ต้องชำระดอกเบี้ยของเงินล่วงหน้า
หากมีความเสียหายเกิดขึ้นก็ไม่ต้องรับผิด เว้นแต่ผู้รับจ้างจะตกลงยินยอมเอง
ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 893/2492 ได้วางหลักเกี่ยวเรื่องนี้ไว้ว่า กรณีที่เหตุหรือพฤติการณ์ซึ่งทำให้การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยนั้นเป็นเหตุสุดวิสัยย่อมแสดงว่าไม่ใช่กรณีที่ลูกหนี้ต้องรับผิดชอบ ลูกหนี้จึงไม่ต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการไม่ชำระหนี้นั้น เว้นแต่ลูกหนี้จะได้ตกลงยอมรับผิดชดใช้ความเสียในกรณีเหตุสุดวิสัยด้วย ซึ่งการตกลงเช่นนั้นก็ไม่ถือว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ตัวอย่างที่จะนำมาเล่าในวันนี้เป็นสัญญาก่อสร้าง มาจากคำวินิจฉัยอัยการที่ 26/2540
หน่วยงานรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง (ผู้ว่าจ้าง) ได้จ้างผู้รับจ้างก่อสร้างบ่อพักและท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดิน และผู้ว่าจ้างมีหน้าที่ต้องขออนุญาตจากรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่ออนุญาตให้ผู้รับจ้าง ใช้วิธีก่อสร้างแบบขุดเปิด (Open Cut) เมื่อมีความจำเป็น แต่ผู้ว่าจ้างไม่ได้อนุญาต กรณีนี้ถือว่าการชำระหนี้เป็นพ้นวิสัย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 219
หลักกฎหมายและตัวอย่างที่นำมาเล่าวันนี้ คงเป็นแนวทางใน
การแก้ไขปัญหาในการบริหารสัญญาของเพื่อน ๆ ได้บ้างนะคะ
ติดตามกฎหมายเพื่อผู้ประกอบการได้ที่
Facebook – กฎหมายเพื่อผู้ประกอบการ
Reference:
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 219
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 893/2492
คำวินิจฉัยอัยการที่ 26/2540
#กฎหมายเพื่อผู้ประกอบการ
#สัญญาก่อสร้าง #การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย
#การร่างสัญญา #ตรวจร่างสัญญา #บริหารสัญญา
#lawyer #legal #business_law #Contract_Management
โฆษณา