22 พ.ค. 2020 เวลา 12:20 • ประวัติศาสตร์
ทำไมเราฉี่ และขี้นกเป็นสีขาว?
ทำไมสัตว์ถึงถ่ายออกมาไม่เหมือนกัน?
จาก 1.7 พันล้านคนในสงครามโลกครั้งแรก(1914)
กลายมาเป็น 7.8 พันล้านคนในสงครามการค้าครั้งล่าสุด(2019)
ถ้าลองตั้งคำถามเล่นๆว่า ทำไมภายในรอบร้อยปี
โลกเราถึงมีสมาชิกเพิ่มขึ้นมาได้ตั้ง 6 พันล้านคน?
ดูๆคำตอบแล้ว ตัวเลือกที่น่ากาลงกระดาษมากที่ก็สุดน่าจะเป็น
การแพทย์ที่ดีขึ้นหรือไม่ก็เทคโนโลยีที่ทันสมัย
แล้วถ้าเกิดตัวเลือกข้อ ง.งู คุณครูดันใส่ข้อความไว้ว่า"ปุ๋ย"
เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกเข้าไป ถ้าเป็นผมไม่ส่ายหน้าแล้วยิ้มมุมปาก
ก็คงรีบพลิกมุมกระดาษเปิดหาข้อ(ยากๆ) ทำต่อไป
แต่เหมือนข้อนี้จะมีเซอร์ไพรส์...
สิ่งที่อยู่เบื้องหลังการเพิ่มขึ้นของประชากรเป็นพันล้านคนในรอบร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ที่ดูเหมือนว่าจะส่งผลมากกว่าสมการของไอน์สไตน์นั่นคือ เจ้าปุ๋ยจากแอมโมเนียครับ
ว่าแต่ปุ๋ยจะมาทำให้คนเพิ่มขึ้นได้ยังไง
คงต้องย้อนกลับไปกันสักหน่อย...
40 ปี ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 (1914)
ถ้าใครตั้งใจฟังครูอังคณาในวิชาสังคมก็น่าจะพอนึกออกว่า
มันคือช่วง"ปลาย"ของการปฏิวัติอุตสาหกรรม
ภาพรวมคร่าวๆของการปฏิวัติก็คือ
มีการเอาเครื่องจักรเข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์
เกิดการบริโภคทรัพยากรมหาศาล จากรถม้าเป็นรถไฟ
จากเรือใบเป็นเรือกล จากถนนเดินดินสู่ยางมะตอย
เมื่อสังคมมีขนาดใหญ่ขึ้น
ผู้คนมากมายก็มีโอกาสได้พบปะกันมากขึ้น
จึงไม่แปลกนักที่หนุ่มสาวจะพบรักและมีครอบครัวได้ง่าย
และสะดวกกว่ายุคก่อนๆ พาให้กราฟประชากรค่อยๆทะยานพุ่งขึ้นเรื่อยๆ
แต่การที่ประชากรเพิ่มขึ้น แล้วทรัพยากรเพิ่มตามไม่ทัน
จะมีปัญหาก้อนใหญ่ตามมา และปัญหาที่ว่านั้นก็เกิดจาก "อาหาร"
ก่อนสงครามโลกไม่นาน นักวิชาการเริ่มเตือนถึงผลกระทบ
ของข้าวยากหมากแพง เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรกำลังโตไม่ทัน
แรกเริ่มเดิมทีคนในยุคนั้นจะหาปุ๋ยที่มีสารอาหารมาให้พืช
จากขี้ของนกทะเล ซึ่งมีไนโตรเจนอัดแน่นอยู่มหาศาล
1
แต่นั่นก็ยังไม่พอ...
ข้าวยากหมากแพง
จึงมีการเรียกร้องให้นักเคมีช่วยกันหาทาง
ดึงเอาเจ้าก๊าซไนโตรเจน(N)กว่า 70%
ในอากาศ มาทำเป็นปุ๋ย
ต้องเล่านิดหนึ่งครับว่า
แร่ธาตุสำคัญๆที่พืชต้องการมีอยู่หลักๆ 3 อย่าง
ก็คือ N P K (ที่แปะอยู่ข้างๆถุงปุ๋ยตรากระต่าย)
ซึ่งคนในยุคนั้นเขาก็รู้แล้วว่า ในอากาศเนี่ย มีเจ้าก๊าซไนโตรเจน(N2) อยู่เยอะ ถ้าหาทางดึงมาใช้ได้ ก็น่าจะเป็นประโยชน์ให้กับภาคเกษตรและสร้างผลผลิต ได้มากมายมหาศาล
แต่ถ้าทำไม่ได้ โลกในยุค 2020 จะรองรับประชากรได้แค่ 66 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น (หายไปประมาณ 2 พันกว่าล้านคน เพราะอาหารที่ผลิตได้จะไม่พอ)
แต่ก็ยังโชคดีที่มีนักเคมีทำตามทฤษฏีที่ว่านี้ได้ แบบเป๊ะๆ...
6 ปี ก่อนสงครามโลก ฟริตซ์ ฮาเบอร์กับคู่หูช่วยกันคิดวิธี
แยกก๊าซไนโตรเจนออกจากกันได้สำเร็จ
โดยให้ไปจับกับกับก๊าซไฮโดรเจน(H2) ที่อุณภูมิเบาๆ
1000 องศา ฟิวชั่นออกมา กลายเป็นแอมโมเนีย(NH3)
และแอมโมเนียนี้ก็จะถูกใช้เป็นส่วนประกอบหลักของปุ๋ยไนโตรเจน ที่จะเป็นแหล่งแร่ธาตุที่พืชโปรดปราน และให้ผลผลิตที่จะหล่อเลี้ยงคนอีกหลายพันล้านในเวลาต่อมา...
ว่าแต่เรื่องทั้งหมดนี้เกี่ยวอะไรกับการที่สัตว์
ขับถ่ายออกมาไม่เหมือนกัน?
เราได้รู้กันไปแล้วว่า ปุ๋ยอะไรก็ตามที่มีธาตุ N P K
เช่นปุ๋ยจากแอมโมเนีย จะเป็นที่โปรดปรานแก่พืชทุกหมู่เหล่า
แต่นั่นไม่ใช่กับร่างกายสัตว์อย่าง หมู หมา กา ไก่ คน
ถ้าเราลองไปย้อนดูเหตุผลที่จิ้งจกขับถ่าย นกขับถ่าย
หรือว่าเราขับถ่าย ส่วนหนึ่งก็เพราะ ร่างกายสัตว์ต้องการขับของเสียอย่าง "แอมโมเนีย(Ammonia)"
พูดถึงของเสีย แปลว่าเป็นของที่ร่างกายไม่ต้องการ
คำถามก็คือ...
ทำไมร่างกายของสัตว์บนโลกใบนี้(รวมถึงเรา)
ถึงไม่ต้องการแอมโมเนีย?...
ทั้งๆที่แอมโมเนียเดียวกันกับที่ช่วยมนุษยชาติเมื่อร้อยกว่าปี
ที่ผ่านมา หรือว่าเจ้าแอมโมเนียที่พืชชอบมากๆนี้ ร่างกายสัตว์จะดึงมาใช้ประโยชน์ไม่ได้?
ซึ่งถ้ามองลึกเข้าไปอีก ก็จะพบว่า...
ทั้งขี้จิ้งจก ขี้นก หรือแม้แต่ฉี่มนุษย์
ล้วนถ่ายออกมามีหน้าตาสีกลิ่น ที่ไม่เหมือนกันเลย
ถ้าเป้าหมายเดียวกันของร่างกายสัตว์
คือต้องการขับแอมโมเนียจริงๆ...
อะไรคือปัจจัยที่ทำให้ของเสียที่ปลายทาง
ออกมาไม่เหมือนกัน?
แถมหน้าตาไม่ใกล้เคียงอีกต่างหาก?
หรือถ้ามองอีกมุมหนึ่งต้องถามว่า...
ทำไมสัตว์แต่ละชนิดถึงเลือกกลยุทธ์
ในการขับแอมโมเนีย ไม่เหมือนกัน?
เพราะขนาดตัวเหรอ? ...ก็น่าคิด
หรือเพราะอาหารที่กิน? ...อันนี้ก็เป็นไปได้
ซึ่งถ้าเราตอบคำถามสองข้อนี้ได้
เราก็จะสามารถย้อนกลับไปตอบได้ว่า...
ทำไมคนถึงฉี่?
ทำไมขี้นกเป็นสีขาว?
แล้วเมล็ดข้าวบนขี้จิ้งจกมาจากไหน?
คำตอบที่แท้จริงจะเป็นอย่างไร
มาหาคำตอบกันครับ...
เรารู้แล้วว่าร่างกายสัตว์ไม่ชอบแอมโมเนีย แต่ไม่รู้สาเหตุว่าเพราะอะไร งั้นคำถามที่น่าถาม เป็นคำถามเริ่มต้นของเรา
ก็คือ...
แอมโมเนียในร่างกายเรามาจากไหน?
แล้วทำไมถึงต้องขับออก?
คำตอบนี้ซ่อนอยู่ในอาหารหลักห้าหมู่ที่เรียนกันมาตั้งแต่ประถม...
ซึ่งผมจะขอโฟกัสแค่สามตัวหลักๆคือ
โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน
เหตุผลที่โฟกัสแค่สามตัวนี้ก็เพราะทั้งสามหมู่นี้
ล้วนแต่เป็นหมู่อาหารที่ "ให้พลังงาน"
ไม่ว่าเราจะกินก๋วยเตี๋ยว ข้าวผัด หรือสลัดโรล หนึ่งในเหตุผลที่เราต้องกิน
ง่ายๆสั้นๆก็คือ เพราะร่างกายต้องการเอาสารอาหารเหล่านี้ไปสร้างเป็นพลังงาน
จากด่านแรกที่ปากผ่านไปด่านสองที่กระเพาะ
และจบที่ด่านสุดท้ายคือลำไส้เล็ก
เมื่อร่างกายย่อยสิ่งที่เรากินเข้าไป จนย่อยให้เล็กกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว
ก็จะจัดการดูดซึมและเอาไปแปลงออกมาเป็นพลังงาน ...พลังงานเหรอ?
ว่าแต่ร่างกายของเราสร้างพลังงานได้ยังไง?
เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น
ขอเปรียบเทียบกับโรงไฟฟ้าถ่านหินครับ
หลักการอย่างย่อของโรงไฟฟ้าถ่านหินก็คือ...
ต้มน้ำหม้อใหญ่ให้เดือดจนเป็นไอ ด้วยถ่านหิน
แล้วให้ไอน้ำลอยไปดันกังหันตัวใหญ่ๆให้เริ่มหมุน
ซึ่งเจ้ากังหันตัวนี้จะต่ออยู่กับเครื่องปั่นไฟ
พอกังหันเริ่มหมุนเมื่อไหร่มันก็จะสร้างไฟฟ้าไปในตัว
ประเด็นสำคัญมันอยู่ตรงที่ ถ่านหินทุกก้อนก่อนจะเข้าเตาเผานั้น
จะต้องผ่านการ"บด"การ"บี้" จนมีขนาดเล็กกว่านิ้วก้อยเสียก่อน
กลับมาดูที่ร่างกาย...
หลังจากโปรตีนตัวใหญ่ๆ ถูกย่อยให้เป็นกรดอะมิโน
ข้าว แป้งกลายเป็นน้ำตาล ส่วนไขมันก็โดนย่อยให้เป็นกรดไขมัน..
เจ้าหน่วยย่อยตัวเล็กๆทั้งหมดนี้ถูกลำเลียงเข้ากระแสเลือด
(ยกเว้นไขมัน) เพื่อวิ่งไปที่เซลล์มากมายที่รอสร้างและใช้พลังงานอยู่
อย่างที่ทราบกันดีว่า ร่างกายเราประกอบขึ้นจากเซลล์เป็นล้านๆเซลล์
เสมือนเป็นเลโก้ชิ้นเล็กๆนับล้านๆชิ้นมาต่อกัน
และเลโก้ทุกชิ้นล้วนมีกิจกรรมที่ต้องทำเพื่อให้ผลสุดท้าย
เรา(ซึ่งไม่ใช่เจ้านาย)ได้อ่าน blockdit หรือคิดงานให้ลูกค้าต่อไป
พอเป็นแบบนั้น ลึกเข้าไปในเลโก้แต่ละชิ้น
เลยจึงจะต้องมี"โรงงาน"เป็นของตัวเอง...
หน้าตาโรงงานของเราจะคล้ายๆกับเม็ดมะม่วงหิมพานต์
ข้างในเก็บสารแปลกๆเอาไว้มากมาย และเมื่อสารอาหารที่ย่อย
แล้วมาถึง ก็จะถูกจัดการแปลงร่างเพื่อเอาเข้าเตาเผาอย่างรวดเร็ว
น้ำตาลและกรดไขมันเปรียบเสมือนถ่านหินที่บดง่ายแตกง่าย
ไม่ต้องทำอะไรมากก็เข้าเตาเผาได้แล้ว ซึ่งต่างจากอีกตัวอย่างสิ้นเชิง
เพราะเรื่องง่ายๆแบบนี้...
จะไม่เกิดขึ้นกับ"กรดอะมิโน (amino acid)"
ถ้าเปรียบเทียบถ่านหินที่เข้าเตาเผาไม่ได้เพราะมีปรอทและตะกั่วปะปนอยู่
เผาไปแล้วจะเป็นอันตราย ลอยปะปนไปกับอากาศ จนพาลให้คนทั้งเมืองเดือดร้อน
กรดอะมิโนก็คงไม่ต่างกัน…
ส่วนหนึ่งของกรดอะมิโนต่ออยู่กับโครงสร้างเล็กๆที่ชื่อว่า เอมีน(amine)
หรือเขียนสูตรเคมีเท่ๆได้ว่า NH2 (เริ่มคุ้นๆไหมครับ) ซึ่งก่อนที่กรดอะมิโน
จะขึ้นเตาเผา มันต้องถอดเจ้าเอมีนนี้ออกเสียก่อน...
และเมื่อถอดออกมาแล้ว มันก็จะหลุดลอยออกมาเป็นสารที่ชื่อว่า
"แอมโมเนีย(NH3)" จัดว่าเป็นหนึ่งในของเสียที่ต้องรีบขับออกนั่นเอง
ว่าแต่ทำไมต้องรีบขับออกด้วยล่ะ? ดึงกลับมาใช้ใหม่ไม่ได้เหรอ?
คำตอบซ่อนอยู่ที่ความเป็นพิษของแอมโมเนีย...
คือเจ้าแอมโมเนียเนี่ย ละลายน้ำดีเยี่ยม แถมมีความเป็นด่างสูงมากๆ
(pH 10 กว่าๆจาก 14)
ถ้าลองย้อนไปดูดินที่เป็นด่างจะเห็นว่ามันปลูกอะไรแทบไม่ได้เลย
เพราะวงจรของอาหารตรงนั้นพัง จุลินทรีย์อยู่ไม่ได้ รากพืชเฉาตาย
ซึ่งดินที่ดีต้องเป็นดินที่มีค่ากรดด่างกลางๆ คือประมาณ 7.0
เลือดของเราก็เช่นกัน...
เลือดของเราทุกคนต้องการความเป็นกรดด่างที่เหมาะสมไม่ต่างจากดิน
เพราะสารเคมีต่างๆในเลือดจะทำงานได้ก็ต่อเมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสม
หนาวไปก็ไม่ดี ร้อนไปก็อยู่ลำบาก แล้วถ้าร่างกายเราไม่ขับแอมโมเนียทิ้งไป
ค่าความเป็นด่างก็จะพุ่งสูงขึ้น ร่างกายแปรปรวน ทุกอย่างรวนเละ
และเราคงจะไม่ได้นั่งอยู่ตรงนี้...
แต่โชคดีที่ร่างกายทั้งเราและสัตว์นั้นรู้ทัน
และหาวิธีขับมันออกไปได้ในที่สุด...
แต่สัตว์แต่ละชนิดกลับคิดวิธีขับออกมาไม่เหมือนกันเลย...
ไม่ว่าจะเป็นจิ้งจก นก รวมทั้งคนเรา และนั่นก็จะเข้าสู่คำถามสุดท้าย
อะไรทำให้สัตว์ขับของเสียออกมาไม่เหมือนกัน??
เรื่องนี้คงต้องย้อนเวลาไปด้วยกันสักหน่อย
เมื่อประมาณ 500 ล้านปีที่แล้ว...
"ในโลกที่สิ่งมีชีวิตยังอยู่แต่ในทะเล
และปลายุคแรกๆเพิ่งถือกำเนิดขึ้นมาไม่นาน"
ในยุคที่สัตว์อาศัยอยู่แต่ในทะเล ไม่มียุง ไม่มีไร
ไม่มีสัตว์ชนิดไหนเลยที่อาศัยอยู่บนบก
ดังนั้นสภาพแวดล้อมหลักๆของสัตว์ในยุคนั้นก็คือ
"โลกใต้น้ำ"
จึงเป็นเรื่องที่ง่ายมากสำหรับสัตว์จำพวกปลาที่จะขับเอาของเสีย
อย่างแอมโมเนีย ทิ้งไปได้โดยไม่ต้องออกแรง
อยากถ่ายก็ถ่ายออกไปธรรมดาๆได้เลย ด้วยขนาดตัวที่ไม่ใหญ่มาก
แอมโมเนียอยู่ในร่างกายไม่นาน และแม้จะอยู่นาน รอบตัวก็มีน้ำมากมาย
พร้อมหยิบมาใช้ทำให้มันเจือจางและเป็นพิษน้อยลง
สัตว์พวกปลาก็เลยขับแอมโมเนียออกมาได้ตรงๆครับ...
แต่เมื่อเวลาผ่านไป โลกใบเดิมก็เริ่มคับแคบ เมื่ออาหาร ที่อยู่
และความปลอดภัย ไม่ได้เพิ่มขึ้นตามระยะเวลา...
และการหาที่อยู่ใหม่น่าจะตอบโจทย์ที่สุด...
ปลาบางส่วนในแหล่งน้ำตื้นเริ่มมีการปรับตัวก่อน
เริ่มมีปอดที่พัฒนามาจากถุงลมที่ช่วยในการลอยตัว
เริ่มมีกระดูกเป็นโครงที่ขาทั้ง 4 ข้าง
และขยับลูกตาจากด้านข้าง ขึ้นมาด้านบน(แบบจระเข้)
เริ่มมีโครงกระดูกที่มารองรับแรงกดบริเวณหน้าท้อง
ซึ่งจะกลายเป็นซี่โครงในรุ่นต่อๆไป
และทั้งหมดนี้ก็จะทำให้มันได้เจอโลกใบใหม่
โลกบนพื้นดิน...
เมื่อสัตว์น้ำขึ้นมาเป็นสัตว์บก
สิ่งแรกที่จะทำแบบเดิมไม่ได้อีกต่อไปก็คือ"การขับถ่าย"
เพราะแอมโมเนียเป็นพิษ บวกกับรอบตัวไม่มีน้ำมากมายเหมือนเมื่อก่อนแล้ว
การมาเก็บไว้ที่ถุงอะไรสักอย่าง แบบที่เราทำกับปัสสาวะทุกวันนี้ อันตรายเกินไป
เปรียบง่ายๆเหมือนมีน้ำยาล้างห้องน้ำ อยู่ในร่างกาย
ดังนั้นสัตว์เลื้อยคลานอย่างจิ้งจกและกิ้งก่า จะต้องหาวิธีที่ต่างออกไป...
ทั้งกิ้งก่าและจิ้งจกเจอกำลังปัญหาเดียวกันคือ "ขนาดตัว"
ซึ่งถ้าขนาดตัวเล็ก น้ำที่อยู่ข้างในก็ย่อมน้อยตามไปด้วย
และเมื่อน้ำคือข้อจำกัด สัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก
จะต้องหาทางขับของเสียออกโดยที่ใช้น้ำให้น้อยที่สุด
ตับของสัตว์กลุ่มนี้ก็เลยเอาแอมโมเนียที่เป็นพิษ
ไปทำการล้างพิษออกกลายเป็น "กรดยูริก(uric acid)"
ที่เป็นก้อนผลึกสีขาวๆ
แล้วเจ้ากรดยูริกนี้ ใช้น้ำน้อยมากๆ และด้วยน้ำที่น้อยมากๆนี้
หน้าตามันก็เลยออกมาเป็นผลึกขาวๆ เหมือนมีเมล็ดข้าวบนขี้จิ้งจกนั่นล่ะครับ
ว่าแต่เหตุผลที่ขี้จิ้งจกมีสองสีล่ะ?
เหตุผลที่ขี้จิ้งจกมีสองสีก็เพราะ "ทวาร-รวม"
สัตว์เลื้อยคลานส่วนใหญ่ไม่มีท่อแยกระหว่าง
กากอาหารกับของเสีย(กรดยูริก)
ทั้งผสมพันธุ์ ทั้งขับทั้งถ่าย ทางเดียวกันทั้งหมด
เหตุผลที่ขับออกทางเดียวกันส่วนหนึ่งเพราะ
สัตว์เลื้อยคลานถือเป็นรุ่นแรกๆของสัตว์บก
ระบบต่างๆยังพัฒนาไม่สูงนัก ยังไม่มีทางแยก
ระหว่างการขับกาก ขับของเสีย และการสืบพันธุ์
แต่พอผ่านมานับล้านปีจนถึงปัจจุบัน ก็เห็นระบบทางเดียวก็ยังใช้ได้
และรุ่นพ่อก็ยังสืบพันธุ์เป็นรุ่นลูกต่อได้เรื่อยๆ จึงยังไม่มีเหตุผล
ที่มันจะต้องแยกสามทางเหมือนกับเรา
อีกอย่างหนึ่งคือมันก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเก็บเจ้าก้อนขาวๆนี้ไว้นานๆอยู่แล้ว
(เพราะไม่ใช่ของเหลว) พอเอาไปรวมกับปัจจัยด้านบน...
ของเสียที่ออกมา ก็เลยออกมาคู่กันนั่นเอง!
ซึ่งเรื่องนี้ยังใช้อธิบายในสัตว์ปีกได้เหมือนกัน...
เหตุผลที่นกถ่ายออกมาเป็นสีขาวๆแต่มีความเละกว่าอยู่หน่อยๆ ก็เพราะบรรพบุรุษของนกเมื่อหลายร้อยล้านปีที่แล้ว เคยมีร่วมกันกับเจ้าไดโนเสาร์ที่เป็นสัตว์เลื้อยคลาน
จึงไม่แปลกที่ทั้งกากอาหารและของเสียจากแอมโมเนีย
จะถูกขับออกมาคล้ายๆกัน คือในรูปของกรดยูริก
แต่นกไม่จำเป็นต้องสงวนน้ำขนาดจิ้งจก มันยังพอหาน้ำกินได้ และเมื่อกินเข้าไปเยอะเกินก็ขับออกทางทวารรวม ของเสียที่ออกมาก็เลยยังมีความเละเทะปนอยู่นั่นล่ะครับ
ตัดสลับกลับมาที่สัตว์เลื้อยคลาน...
จากนั้นไม่กี่ล้านปี สัตว์เลื้อยคลานบางส่วน
ก็วิวัฒน์ตัวเองกลายมาเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
ซึ่งรวมถึงเรา...
เมื่อเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ระบบต่างๆก็ซับซ้อนขึ้นทันตาเห็น...
อย่างแรกเลยคือเราเป็นสัตว์เลือดอุ่น สร้างความร้อนได้เอง
แต่พอเป็นเลือดอุ่น เราต้องกินเยอะ อย่างคนเราก็วันละสามมื้อ
(ไม่เหมือนงู มื้อเดียวทั้งเดือน) น้ำย่อยเอยน้ำลายเอยคือต้นทุน
ดังนั้นร่างกายต้องบังคับให้เราไปหาน้ำอยู่แล้ว
ซึ่งแปลว่าเราไม่จำเป็นต้องสงวนน้ำขนาดจิ้งจกแน่นอน
ของเสียหลักๆที่ออกมา จึงขับออกเป็นของเหลวได้...
แต่จะเหลวแบบไหนล่ะ ถ้าเหลวแบบแอมโมเนียกระเพาะปัสสาวะคงพัง
หรือ(เกือบ)เหลวแบบจิ้งจก อันนั้นก็ขับยากเกินไป จะเป็นนิ่วที่ไตกันเสียก่อน
ระบบขับถ่ายของเราก็เลยอยู่ตรงกลางระหว่างปลา และนกกับจิ้งจก
นั่นเลยออกมาเป็น "ยูเรีย"
ตับของเราเอาแอมโมเนียที่ได้ไปสังเคราะห์กลายเป็นยูเรีย
ซึ่งใช้น้ำปานกลางไม่มากไม่น้อยถ้าเทียบกับอีกสองตัว
แถมยูเรียก็ยังเป็นของเหลวที่ไม่ค่อยมีพิษถ้าเทียบกับแอมโมเนีย
ที่ดีกว่านั้นคือมันเป็นของเหลว ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น(สีเหลืองในฉี่ไม่ได้มาจากยูเรีย)
ขับออกได้ง่าย เก็บไว้เป็นชั่วโมงก็ยังไม่มีปัญหา...
และนั่นคือหนึ่งเหตุผลที่ของเสียของเราออกมาเป็นของเหลวนั่นเองครับ
ว่าแต่อ่านมาถึงตรงนี้กันแล้ว พอจะสรุปได้ไหมครับว่า
อะไรทำให้สัตว์ขับถ่ายมาไม่เหมือนกัน?
ใช่แล้ว!! น้ำนั่นเอง
เดิมทีแอมโมเนียต้องใช้น้ำมาเจือจางมหาศาล จึงไม่เป็นปัญหาเท่าไหร่
สำหรับสัตว์จำพวกปลา เพราะรอบตัวมีน้ำให้ดึงมาใช้ไม่จำกัด
แต่พอเริ่มมีการขยับขยายย้ายขึ้นบก
น้ำที่เคยมีเยอะๆก็หายไป...
บวกกับอากาศบนพื้นดินที่ร้อนแบบไม่บอกเวลา จึงต้องแบ่งน้ำส่วนหนึ่ง
ออกมาดับความร้อน น้ำก็เลยเสียออกมาจากร่างกายได้ง่ายมากสำหรับสัตว์บก
ยิ่งตัวเล็ก น้ำก็ยิ่งน้อย สัตว์เลื้อยคลานรวมถึงสัตว์ปีกตัวเล็กๆ
จึงต้องหาวิธีขับของเสียออกมาด้วยการเสียน้ำให้น้อยที่สุด
และเอาของเสียจากแอมโมเนียออกมาให้มากที่สุด...
ก็เลยเป็นผลึกขาวๆจากกรดยูริกนั่นล่ะครับ
ซึ่งยังย้อนกลับไปตอบด้านบนสุดได้อีกเรื่องหนึ่ง
ถึงเหตุผลที่ทำไมคนเมื่อร้อยกว่าปีก่อนเอาขี้ของนกทะเลมาทำเป็นปุ๋ย
ก็เพราะมันอัดแน่นไปด้วยผลึกกรดยูริกนั่นเอง(N สูงมากๆ พืชชอบ)
ข้ามฝั่งมาที่มนุษย์เรา(เลี้ยงลูกด้วยนม) เราเลือดอุ่นต้องเผาอาหารตลอดเวลา
ซึ่งต้องใช้น้ำในน้ำย่อย น้ำลาย(และน้ำในเลือด)
ดังนั้นมีน้ำที่พอดีจึงสำคัญ เพื่อให้ง่ายและไม่เป็นนิ่วที่ไต
ยูเรียที่เป็นของเหลวจึงเหมาะกับร่างกายเราที่สุด
เข้าสู่ช่วงสุดท้ายของการเดินทาง
หลังเดินทางกันมาซะนาน ผมว่าเรามาสรุปเรื่องราวทั้งหมดกันสักหน่อยดีกว่า
จุดเริ่มต้นของเราก็คือ
แอมโมเนียมาจากไหน?
แอมโมเนียมาจากของเสียจากกรดอะมิโนที่ร่างกายไม่ต้องการ
เหมือนตะกั่วและปรอทในถ่านหิน ดังนั้นร่างกายจึงต้องขับออก
แต่ก็มีคำถามตามมาว่า...
แล้วเก็บมาใช้ต่อเหมือนพืชไม่ได้หรอ?
ที่คำตอบคือไม่ได้ก็เพราะ อย่างแรก
สารต่างๆในระบบนิเวศไม่เคยหายไปไหน
เพียงแต่เปลี่ยนรูปไปเฉยๆ
เลยเป็นเรื่องปกติที่ ของเสียจากเราจะวนไปเป็นของดีสำหรับพืช
และของเสียสำหรับพืชวนมาเป็นของดีสำหรับเรา
อย่างที่สอง
คือตัวแอมโมเนียนั้นเป็นพิษสูง เอามาใช้ไม่ได้อยู่แล้ว
ค่า pH ทะลุเกิน 10 ถ้าเก็บเอาไว้อวัยวะในร่างกายคงพังแน่นอน
สัตว์จึงต้องหาวิธีขับมันออกมา...(คืนธรรมชาติ)
แล้วเรื่องน่าสนใจที่ตามมาอีก คือสัตว์ทุกชนิดทั้งจิ้งจก นก และคนเรา
ล้วนถ่ายออกมาไม่เหมือนกันเลย
ขี้จิ้งจกก็แทบจะเป็นของแข็ง
ขี้นกก็เหลวแฉะ
ส่วนฉี่เราก็เหลวเป็นน้ำ
ทำไมเป้าหมายเดียวกันแต่ผลลัพธ์ถึงต่างกัน?
เหตุผลก็เพราะ "น้ำ"
เดิมทีหลายร้อยล้านปีที่แล้วบรรพบุรุษเรา
เป็นปลาอยู่ในน้ำมาก่อน
ซึ่งเจ้าแอมโมเนียก็ละลายน้ำง่าย ดังนั้นขับทิ้งออกไปดื้อๆเลย
ก็ไม่มีใครว่าอะไร แต่ถ้าอพยพขึ้นบกก็จะทำแบบนี้ไม่ได้อีกแล้ว...
การเก็บแอมโมเนียไว้นานๆร่างกายจะพังเอา
สัตว์น้ำน้อยอย่างจิ้งจกก็เปลี่ยนให้เป็นกรดยูริก
ซึ่งแทบจะเป็นของแข็งและพร้อมจะเป็นของแข็ง(ตลอดเวลา)
ส่วนนกตัวใหญ่ขึ้นมาหน่อย หาน้ำกินง่ายกว่าจิ้งจก
ของเสียที่ออกมาเลยมีน้ำ ส่วนเกินออกมาบ้าง
ก็เลยเละๆแฉะๆอย่างที่เราเห็น
ส่วนมนุษย์เราหาน้ำได้ง่ายสุดๆ จึงไม่ต้องถึงกับสงวนน้ำแบบจิ้งจก
เพื่อให้ง่ายต่อการขนส่ง เมื่อเทียบกับขนาดร่างกาย
ของเหลวที่ไม่ค่อยมีพิษอย่างยูเรีย น่าจะขับออกได้ง่ายที่สุดสำหรับเรา
ฉี่เราก็เลยเป็นของเหลวนั่นล่ะครับ...
จริงๆของเสียที่ขับออกมาไม่ได้ fix นะครับว่า
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจะต้องเป็นยูเรีย
สัตว์ปีกกับเลื้อยคลานต้องเป็นกรดยูริก
หรือสัตว์น้ำอย่างปลาต้องเป็นแอมโมเนีย "แค่อย่างเดียว"
แต่ทั้งหมดทั้งมวลขึ้นกับ น้ำที่มี แล้วก็พลังงานที่ใช้
แล้วร่างกายก็จะดีไซน์ของเสียที่เหมาะสมออกมาเอง
เช่นจระเข้ก็ฉี่เป็นยูเรียออกมาได้ เพราะรอบตัวมีน้ำเยอะ
หรือฉลามที่เป็นสัตว์ก็สร้างยูเรียได้เหมือนกัน
และทั้งหมดนี้ล่ะครับ ก็คือที่มาของคำตอบที่ว่า...
ทำไมสัตว์โลกถึงขับถ่ายไม่เหมือนกัน?
ยังไงขอบคุณทุกคนที่อยู่กันจนถึงตรงนี้นะครับ
พอดีประเด็นที่อยากเล่ามีหลายตัวเลยอาจจะยาวไปสักหน่อย
อาจจะมีบางประเด็นที่ผมไม่ได้ใส่ไว้อย่างโรคเกาต์หรือของเสียของแมลง
หรือสัตว์อื่นๆ พอดีกลัวจะเยอะไปครับ
กลัวว่าถ้าแตกประเด็นมากกว่านี้จะหนักอึ้งไปสักหน่อย
ถ้าใครสนใจผมทิ้งลิ้งค์ไว้เรียบร้อยสามารถอ่านเพิ่มเติมได้เลย
(เป็นภาษาอังกฤษนะครับ)
ยังไงผมจะปรับปรุงการลงบทความให้สม่ำเสมอกว่านี้
ตั้งเป้าไว้อย่างน้อยอาทิตย์ละสักสองบทความ ตอนนี้กำลัง
ทำตามแผนการอ่านกับการเขียนที่วางเอาไว้ให้ได้ตามนั้นครับผม
ขอบคุณที่ติดตามกันมาตลอดนะครับ😁
#WDYMean
ถ้าชอบหรือถูกใจก็ฝาก
#กดไลค์ 👍
#กดติดตาม✋
เป็นกำลังใจให้กันด้วยนะครับบ😆
#ภาพประกอบจาก pixabay และ Wikipedia
#อ้างอิงจาก
▪ปุ๋ยของฮาเบอร์
▪ประชากรโลกโดยประมาณ
▪เหตุผลที่ขี้นกเป็นสีขาว
▪ทำไมน้ำถึงสำคัญ?
▪ทำไมสัตว์ถึงถ่ายไม่เหมือนกัน?
▪ทวารรวมคืออะไร?
▪แมลงฉี่รึเปล่า?
▪เกาต์กับกรดยูริก เกี่ยวข้องกันได้ยังไง?
โฆษณา