๕. สิ่งที่เป็นเกาะเป็นที่พึ่งของตน
๑๓ กันยายน ๒๔๙๖
นโม...
อตฺตที่ปา อตฺตสรณา....
พระบรมศาสดา แสดงธรรมนี้ เพื่อให้พวกเราทั้งหลาย ได้รู้จักตนว่า เป็นเกาะและที่พึ่ง ซึ่งอันนี้หากไม่ใช่พระบรมศาสดาแล้ว รู้เองไม่ได้
ภาพโปรดภัททวัคคีย์ โดย อาจารย์คำนวณ ชาวันโท
เมื่อพระบรมศาสดา แสดงพระธรรมเทศนา โปรดปัญจวัคคีย์ และพระยสกับสหายสำเร็จแล้ว ทรงเสด็จไปยังเหล่าชฎิล
ในระหว่างทางพบพวกราชกุมารเล่นซ่อนหากันในป่าไร่ฝ้าย ราชกุมารเหล่านั้นต่างก็มีมเหสี แต่องค์หนึ่งไม่มีมเหสี จึงจ้างหญิงแพศยาไปเป็นมเหสีกำมะลอ เมื่อเล่นซ่อนหา ก็ถอดเครื่องประดับใส่ห่อให้มเหสีแต่ละองค์ถือ พระมเหสีกำมะลอพอเห็นของมีค่ามากเช่นนั้น จึงได้หนีไป ทั้งหมดช่วยกันค้นหาหญิงแพศยานั้น จนไปพบพระบรมศาสดาประทับอยู่โคนต้นไม้
ราชกุมารเหล่านั้นจึงทูลถามพระองค์ว่า เห็นหญิงถือห่อผ้าเดินไปทางนี้ไหมพระองค์ทรงรับสั่งว่า “ราชกุมารทั้งหลาย เธอจะหาหญิงถือห่อผ้านั้นดีหรือจะหาตัวดี”
ราชกุมารก็ทูลรับว่า “หาตัวดีพระเจ้าค่ะ”
พระองค์จึงทรงแสดงพระธรรม ในเรื่องสิ่งที่เป็นเกาะ เป็นที่พึ่งของตน
แปลตามพระบาลี
อตฺตที่ปาฯ มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง สิ่งอื่นไม่ใช่
ธมมาที่ปาฯ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง สิ่งอื่นไม่ใช่
คำว่าตนหมายถึงอะไร?
หมายไว้หลายชั้น ตั้งแต่กายมนุษย์ถึงกายอรูปพรหมละเอียด มี ๘ กาย ทั้งหมด อยู่ในภพ ๓ เป็น “ตนในภพ” โดยสมมติชั่วคราว ต้องเวียนว่ายตายเกิดเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรียกว่าโลกีย์
ตั้งแต่กายธรรมถึงกายธรรมอรหัตละเอียดมี ๑๐ กาย เป็น “ตนนอกภพ” โดยวิมุตติไม่ใช่สมมุติ เป็นนิจจัง สุขขัง อัตตา
คำว่าธรรมหมายถึงอะไร?
ธรรม สำหรับให้ตนนั้นเป็นอยู่ ตนนั้นไม่มีธรรมเลยก็เป็นอยู่ไม่ได้ ทั้งกายมนุษย์ถึงกายพระอรหัตละเอียด มีถ้าไม่มีธรรมก็ดับหมด
ธรรมอยู่ที่ไหน?
อยู่กลางกายมนุษย์ เรียกดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ใส เท่าฟองไข่แดงของไก่
"ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ใสเท่าฟองไข่แดงของไก่ ดวงนั้นแหละเรียกว่าธรรม
ธรรมดวงนั้นดับไป กายมนุษย์ก็ดับ
ธรรมดวงนั้นผ่องใส สะอาด สะอ้าน กายมนุษย์ก็รุ่งโรจน์โชตนาการ
ธรรมดวงนั้นซูบซีดเศร้าหมอง กายมนุษย์ก็ไม่ผ่องใส ซอมซ่อ ไม่สวยไม่งามน่าเกลียด น่าชังไป เพราะธรรมดวงนั้นสำคัญนัก ธรรมดวงนั้นแหละเป็นชีวิตของมนุษย์ คือความเป็นอยู่ของมนุษย์ ความเห็น ความจํา ความคิด ความรู้ อยู่กลางดวงนั้น”
ดวงธรรม มีขนาดใหญ่ขึ้นไปเรื่อย ๆ ถ้าเป็นดวงธรรมในภพอย่างใหญ่ก็เพียงแปดเท่า ของฟองไข่แดงของไก่ ถ้าเข้าถึงธรรมกาย ก็เห็นดวงธรรมนอกภพ เป็นดวงใสเหมือนกัน เส้นผ่าศูนย์กลางจะเท่ากับหน้าตักธรรมกาย ซึ่งมีขนาดโตขึ้นไปตามลำดับ จนถึงกายธรรมอรหัตละเอียด หน้าตัก ๒๐ วา จนถึงนับอสงไขยไม่ถ้วน
กายเป็นที่เกาะที่พึ่งได้อย่างไร?
เรือล่มจมลงในมหาสมุทร มนุษย์นั้นก็ต้องพยายามว่ายน้ำไป เมื่อพบเกาะก็ย่อมดีใจ หมดเหนื่อยยาก เพราะได้เกาะเป็นที่พึ่งพา มีผลไม้พอยังอัตภาพ กายมนุษย์ก็มีคุณเปรียบได้ดังเกาะ เป็นที่พึ่งของเรา
เราอาศัย “กายมนุษย์” เป็นเกาะ ถ้าทิ้งกายมนุษย์ กายมนุษย์ละเอียดก็อยู่ไม่ได้ก็ต้องตาย
ส่วนธรรมเป็นเกาะอย่างไร?
ถ้าไม่ได้ดวงธรรม กายต่างๆก็ไม่มีที่อาศัยหรือเป็นที่เกาะ เช่นกายมนุษย์ละเอียด มีกายมนุษย์หยาบเป็นเกาะ ส่วนธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียด ก็เป็นเกาะให้กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ก็มีกายทิพย์กับธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ เข้าถึงไปเป็นลำดับทั้ง ๑๘ กาย ถึงกายธรรมอรหัตละเอียด ได้อาศัยกายธรรมพระอรหัตหยาบ และอาศัยดวงธรรมที่ทำให้เป็นพระอรหัตหยาบ เป็นเกาะเป็นที่พึ่ง
กายมนุษย์และดวงธรรมกายมนุษย์จึงเป็นเกาะเป็นที่พึ่ง เราอาศัยอยู่กับกายมนุษย์เป็นที่พึ่งจริง ๆ ทั้งอาบน้ำ อุจจาระ คนอื่นพึ่งไม่ได้ เราต้องทำเองทุกอย่าง
ส่วนกายมนุษย์ละเอียดที่อาศัยดวงธรรมนั้นอยู่ ก็มีธรรมดวงนั้นเป็นที่อาศัย กายมนุษย์ละเอียดจึงเป็นตัวของตัวเอง และเป็นที่อาศัยด้วย ธรรมก็เป็นตัวของตัวเองและเป็นที่อาศัยด้วย
ธรรมดวงนั้น เป็นที่พึ่งสำคัญ เพราะได้มาด้วยความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ ถ้าธรรมดวงนั้นดับไป กายมนุษย์ละเอียดก็หมดที่พึ่ง กายทิพย์ก็เช่นกัน
ฉะนั้นจะต้องเรียนให้รู้จักกายของตัวเองก่อนว่า กายมนุษย์นี้เป็นตัวโดยสมมติทั้ง ๘ กายที่อยู่ในภพเรียกว่า “อตฺตสมมติ” แปลว่า ตัวโดยสมมติ
จะเอาของจริงต้องเข้าถึง “กายธรรม” ที่เป็นกายนอกภพ เป็นนิจจัง สุขขัง อัตตา
ส่วนธรรมที่ทำให้เป็นกายทั้ง ๘ กายแรก ก็เรียกว่า ธรรมสมมติ เหมือนกัน ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า "สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตาติ” แปลว่า ธรรมทั้งสิ้นไม่ใช่ตัว ตัวทั้งสิ้นไม่ใช่ธรรม ตัวก็เป็นตัว ธรรมก็เป็นธรรม
“จะไปพึ่งสิ่งอื่นเลอะละไม่ได้ ถ้าพึ่งจ้าวพึ่งผี เที่ยวบนบานศาลกล่าว นี่เพราะพวกเหล่านี้ไม่ได้ยินไม่ได้ฟังธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้ศึกษาในธรรมของสัตบุรุษ ความเห็นจึงพิรุธไปเสียแล้ว ไม่ได้ยินไม่ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า ไม่ได้ฝึกฝนใจในธรรมของพระพุทธเจ้า ความเห็นจึงได้เลอะเลือนไปเช่นนั้น ถ้าไม่เลอะเลือนจะต้องมี ๒ อย่างนี้เท่านั้น คือ มีกายกับธรรม ๒ อย่างนี้เท่านั้น”
“มีตัวกับธรรม ๒ อย่างนี้เท่านั้น กายมนุษย์ก็มีตัว กายมนุษย์ก็มีธรรมที่ทำให้เป็นตัวตลอดทุกกาย ทั้ง ๑๘ กายมีตัวกับมีธรรมที่ทำให้เป็นตัว แต่ว่าตัวทั้งหลายเหล่านั้นทั้ง ๘ กายในภพเป็นอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตาหมดไม่เหลือเลย
ทั้ง ๑๐ กายนอกภพเป็นนิจฺจํ สุขํ อตฺตา หมดไม่เหลือเลย ตรงกันข้ามอย่างนี้เป็นของเที่ยงของจริงหมด แต่ว่าในภพแล้วเป็นของไม่เที่ยง ไม่จริงหมด”
"ให้รู้จักหลักพระพุทธศาสนาอย่างนี้ ตามความเป็นจริงของทางมรรคผล ตามความเป็นจริงของกาย ที่เป็นของในภพนอกภพชัดอย่างนี้ละก็ ก็ไม่งมงาย การหาเลี้ยงชีพ หรือการเป็นอยู่ในหมู่มนุษย์ ก็ไม่สับสนอลหม่านกับใคร ให้แต่ความสุขกับตน และบุคคลผู้อื่นเป็นเบื้องหน้า”
อ้างอิง : หนังสือ สาระสำคัญ พระธรรมเทศนา พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หน้า ๒๔ - ๒๖
โฆษณา