Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ชมรมนักกฎหมายก่อสร้าง
•
ติดตาม
8 พ.ค. 2020 เวลา 05:08 • ธุรกิจ
ประกันภัยงานก่อสร้าง คุ้มครองผู้บริหารงานก่อสร้าง แค่ไหน อย่างไร ??
ประกันภัยงานก่อสร้าง ที่เรียกว่า CAR (Contractor’s All Risks Insurance) หรือ Contract Works Insurance คุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นกับ “งานก่อสร้าง” (Contract Works) และ “ความรับผิดต่อบุคคลที่สาม” (Third Party Liability)
งานก่อสร้างที่คุ้มครอง แบ่งออกเป็น 2 หมวด คือ หมวดอาคารและงานโยธา (Building and Civil Engineering Works) และงานติดตั้งเครื่องจักร (Machinery Erection) รวมความรับผิดต่อบุคคลที่สามด้วย รวมเป็น 3 หมวด
การคุ้มครองของประกันภัยงานก่อสร้าง เป็นการคุ้มครองความเสียหายที่เกิดภัยทุกชนิด (All Risks) ที่ไม่ได้ยกเว้นไว้โดยเฉพาะเจาะจง (Specifically Excluded) แต่ต้องเป็นความเสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุ (Accident) หรือเหตุที่ไม่อาจคาดหมายได้ (Unforeseen) ไม่ใช่เหตุที่เกิดจากการผิดสัญญา หรือจงใจทำให้เกิดความเสียหาย
ประกันภัยประเภทนี้มียกเว้นความรับผิด ข้อจำกัดความรับผิด เงื่อนไขในการรับผิด อยู่มาก จนกลายเป็นว่าไม่ได้คุ้มครองภัยทุกชนิด ข้อยกเว้นความรับผิด ฯลฯ เหล่านี้จำนวนไม่น้อยอาจขอให้ผู้รับประกันภัยกลับมาคุ้มครองได้ โดยการทำใบสลักหลัง (Endorsements) ให้คุ้มครองเพิ่มเติม การคุ้มครองเพิ่มเติมหลายรายการไม่ต้องเสียเบี้ยประกันภัยเพิ่มขึ้น
ผู้ที่จะได้รับการคุ้มครองตามกรมธรรม์ต้องเป็นผู้มีชื่อเป็นผู้เอาประกันภัย (The Insured) ผู้มีชื่อเป็นผู้เอาประกันภัยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ทำประกันภัยเองเท่านั้น เช่น สัญญากำหนดให้ผู้รับจ้างเป็นผู้ทำประกันภัย ก็ไม่จำเป็นต้องมีเฉพาะชื่อผู้รับจ้างเท่านั้น ส่วนใหญ่จะมีชื่อ ผู้ว่าจ้าง (Principal) ผู้รับจ้างหลัก (Main Contractor) ผู้รับจ้างช่วง (Subcontractor) ฯลฯ อีกหลายราย
กรมธรรม์ประกันภัยงานก่อสร้างจะมีเงื่อนไขในใบสลักหลังเงื่อนไขหนึ่งที่ทุกกรมธรรม์จะมีคือเงื่อนไขที่เรียกว่า “ความรับผิดไขว้” (Cross Liability) เงื่อนไขนี้หมายความว่า หากผู้เอาประกันภัยรายหนึ่ง เช่น ผู้รับจ้างหลัก ทำให้ผู้รับจ้างช่วง ได้รับความเสียหาย ซึ่งต่างก็เป็นผู้มีชื่อเป็นผู้เอาประกันภัยด้วยกันในกรมธรรม์ฉบับเดียวกัน ให้ถือว่าผู้ทำให้เกิดความเสียหายกับผู้ได้รับความเสียหายต่างถือกรมธรรม์ประกันภัยคนละฉบับ ทำให้ได้ผู้รับความเสียหายกลายเป็นบุคคลที่สาม เรียกร้องค่าเสียหายได้อย่างบุคคลที่สาม ตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ ส่วนผู้ทำให้เกิดความเสียหายก็ได้รับความคุ้มครองเพราะเป็นผู้เอาประกันภัย บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้ได้รับความเสียหายภายในกรอบความรับผิดของบุคคลที่สาม
2
🚩ผู้บริหารงานก่อสร้าง หากต้องการให้ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ด้วย ก็ควรต้องระมัดระวังตรวจดูว่า กรมธรรม์ได้ระบุว่า “ผู้บริหารงานก่อสร้าง” (Consult หรือ Engineer หรือเรียกชื่ออย่างอื่น) มีชื่อเป็นผู้เอาประกันภัยด้วย 🚩
🔑เมื่อมีชื่อเป็นผู้เอาประกันภัยแล้ว หากผู้บริหารงานก่อสร้าง บังเอิญไปทำให้งานก่อสร้างเสียหาย บริษัทประกันภัยก็จะมาชดใช้ค่าเสียหายให้ ทั้งนี้ภายในกรอบที่กรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครอง และหากผู้บริหารงานก่อสร้างเป็นผู้ได้รับความเสียหาย ผู้บริหารงานก่อสร้างก็จะเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยชดใช้ค่าเสียหายได้เช่นเดียวกับบุคคลที่สามที่ได้รับความเสียหาย🔑
กรมธรรม์ประกันภัยที่กล่าวกันว่าสัญญาจ้างก่อสร้างต่างประเทศมีการกำหนดให้ทำ Public Liability Insurance และ Workmen Compensation Insurance ด้วยนั้น ประกันภัย Public Liability Insurance คุ้มครองเหมือน ความรับผิดต่อบุคคลที่สาม (Third Party Liability) ในกรมธรรม์ประกันภัยงานก่อสร้าง และ Workmen Compensation Insurance คุ้มครองในทำนองเดียวกันกับประกันสังคมในประเทศไทยอยู่แล้ว สัญญาจ้างก่อสร้างในประเทศไทยจึงมักไม่ได้กำหนดให้มีการทำประกันภัยทั้งสองชนิดดังกล่าวนี้ด้วย
ความเสียหายของงานก่อสร้างที่เกิดจากความประมาทเลินเล่อจากการใช้ความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพของผู้บริหารงานก่อสร้างไม่ได้รับความคุ้มครองจากกรมธรรม์ประกันภัยงานก่อสร้าง หากผู้บริหารงานก่อสร้างต้องการได้รับความคุ้มครอง ผู้บริหารงานก่อสร้างต้องทำประกันภัยอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า ประกันภัยวิชาชีพ (Professional Indemnity Insurance หรือ PII)
3 บันทึก
1
5
3
1
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย