8 พ.ค. 2020 เวลา 09:12 • การศึกษา
การศึกษาออนไลน์ มีความเหลื่อมล้ำไหม ใครไม่ทำคุณจะตกเทรนไหม
ปัจจุบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยอยู่ในช่วงเปิดเทอมของภาคการศึกษาที่สอง อาจารย์ท่านใดพอจะสามารถสอน ออนไลน์ได้ก็เริ่มปรับตัวกันไป และมีการเลื่อนการสอบปลายภาค การส่งงาน การฝึกงานออกไป เริ่มมีการสำรวจความพร้อมด้านต่างๆ ล่าสุดนักศึกษาได้แสดงความเห็นและมีคำถามมายังผู้บริหาร เช่น
1. การเรียนออนไลน์ที่ทุกฝ่ายสนับสนุนให้ปริมาณเน็ตเพิ่มต้องขอขอบคุณอย่างมาก แต่ปริมาณเน็ตที่มากไม่ได้หมายถึงเน็ตที่ไว การเรียนออนไลน์บางทีทำให้เสียงขาดหายไปสี่ห้านาที เท่ากับหนูไปต่อบทนั้นไม่ได้เลย
2. การอัดวีดีโอให้ไปศึกษาก่อนจะขอขอบคุณอย่างยิ่ง ส่วนการใช้โปรแกรมประชุม เช่น Zoom หรือ Google Meet อยากให้ใช้แค่ถามข้อสงสัย หรือเพิ่มเติมบางส่วน
3. อาจารย์มักให้ Power Point หรือเอกสารการเรียนตอนเรียนออนไลน์ขณะนั้นเลย ถ้าเพื่อนมีไอแพดไว้เขียน อีกจอดูจากโน้ตบุค คือดีมาก แต่สำหรับบางคนมีแค่มือถือหน้าจอเล็กๆ จดก็ไม่ทัน อยากให้ส่งเอกสารก่อน เพื่อบางคนจะได้ไปปริ้นออกมาหรือศึกษาก่อน
4. การสอบบางวิชาเข้าใจอย่างมากเรื่องกลัวการลอกกัน แต่ถ้าสอบออนไลน์ยังไงก็ไม่พ้นจริงๆ อาจารย์ให้นักศึกษาเปิดกล้องใน Zoom หรือโปรแกรมอื่น และกำหนดเวลาว่าข้อละสิบนาทีเมื่อหมดเวลาให้โหลดลงระบบ ปล่อยข้อใหม่ คือแค่โหลดก็ใช้เวลาสามนาทีแล้ว และเราไม่สามารถกลับไปแก้ไข ซึ่งที่จริงแก้ปัญหาการโกงข้อสอบได้จริงหรือไม่
นี่เป็นเพียงปัญหาส่วนหนึ่ง ที่ทุกฝ่ายก็พร้อมจะแก้ไข ก็ยังดีที่เป็นเด็กโต เรื่องความตั้งใจคงไม่สงสัย แต่การขาดเครื่องมือ อินเตอร์เน็ต และปัญหากังวลทางใจเพียบ
ส่วนการทำแลป การเขียนแบบ คงจะต้องเลื่อนการสอนไปเลย เพราะคงไม่สามารถให้นักศึกษาใช้จินตนาการแทนการลงมือปฏิบัติได้
ส่วนระดับประถมและมัธยม อยู่ในช่วงปิดภาคการศึกษาพอดี และจะเปิดต้นกรกฎาคม แต่ตอนนี้ทางผู้ใหญ่มีการออกมาให้จัดการเรียนการสอนออนไลน์เช่นกัน (ขอออกตัวก่อนว่าเราเคยเป็นเด็กโรงเรียนเล็ก และสอบเข้ามาเป็นเด็กโรงเรียนดังแต่ไม่ได้ฐานะดีอะไร และแสดงความเห็นตามสิ่งที่เห็นจริงในปัจจุบัน ฟังจากเด็กและครูที่เล่าให้ฟัง)
1. ผู้ใหญ่ระดับประเทศอยากให้ทุกโรงเรียนเริ่มสอนออนไลน์ในวันที่ 18 พฤษภาคม เป็นต้นไป ไม่ได้ระบุว่าบังคับหรือไม่ มีผลอย่างไร แต่ครูและนักเรียนเริ่มกังวล สำหรับนักเรียนมัธยมปลายหลายคนได้ออกไปหางานจ้างเหมาทำแล้ว แบกของก่อสร้าง รับจ้างทั่วไป หรือไปช่วยญาติจังหวัดอื่นแล้ว เพื่อหาเงินมาจุนเจือครอบครัวที่ลำบาก เพราะเข้าใจว่าเปิดเทอมกรกฎา และเขาจะทดลองเรียนออนไลน์ได้หรือไม่
2. เช่นเดียวกับเด็กมหาวิทยาลัย เรื่องอินเตอร์เน็ต และมีแค่มือถือเท่านั้น
3. นักเรียนบางคน บ้านหนึ่งห้องนอนสี่คน คือมีแค่ห้องโถงและใช้ห้องโถงนอน จะเรียนอย่างไร
4. บางคนอยู่กับย่าและยายเป็นหลัก พ่อแม่ทำงานที่อื่นเพื่อส่งเงินมาให้ การอยู่กับหน้าจอมือถือตลอดเวลา เรียกแล้วไม่มาช่วยงาน ไม่ออกไปทำสวน คือเหลวไหล ท่านไม่ได้เข้าใจเด็กยุคดิจิตอล แต่แกต้องการให้หลานขยัน และทำงานเป็นตอนปิดเทอม
5. เด็กบางคนทั้งบ้านเขาพูดไทยได้แค่คนเดียว การเข้าระบบสมัคร ติดตั้ง เข้าเรียน แทบจะไม่มีใครแนะนำเขาได้
6. ต่อให้เป็นโรงเรียนใหญ่ ก็ใช่ว่านักเรียนทุกคนจะมีเงินมากพอ (เราคงเป็นหนึ่งในนี้ ไม่มีเงินซื้อเน็ตโหลดดูกี่วิชากี่บทนะ และถ้าอยู่บ้านต้องช่วยขายของ)
ที่ต้องการจะสื่อคือ ทุกโรงเรียนไม่จำเป็นต้องใช้หลักการเดียวกัน จะเอานโยบายออนไลน์ที่คนอื่นทำได้ดีแต่ไม่ดูบริบทของตัวเองคงไม่ได้ โรงเรียนรอบนอกบริบทคือ คนน้อยแต่พื้นที่ช่างกว้างขวาง นำงบประมาณจากการซื้อคอม ซื้อกล้อง ไปจัดการสถานที่ และระบบรักษาความสะอาดดีไหม
โรงเรียนดังๆใหญ่ๆ พ่อแม่ที่กังวล มีงบประมาณมากพอก็ส่งเสริมให้เรียนออนไลน์ที่บ้านได้ แต่ควรมีห้องที่จัดไว้ให้นักเรียนที่ขาดแคลนเข้ามาใช้เรียน โดยดูเรื่องระยะห่าง จำนวนคอมต่อห้อง และระบบทำความสะอาด
บางโรงเรียนสลับชั้นมาเรียนบ้าง เช้าบ่าย หรือวันเว้นวัน ที่เหลืออยู่บ้านให้การบ้านในรูปแบบเอกสารก็จะพอได้
ทั้งหมดนี้จะทำได้โดยวิธีไหน สิ่งสำคัญที่สุดคือการตรวจสอบข้อมูล มีครูนักเรียนกี่คนที่พร้อมไม่พร้อม เพราะอะไร ในเมื่อคิดว่าจะจัดการเรียนออนไลน์ได้ทั้งระบบ การตรวจสอบข้อมูลรายคนจากครูที่ปรึกษาคงไม่ยากในการจะได้ข้อมูล แต่การให้ทุกโรงเรียนทำเหมือนกันหมดคงง่ายกว่าและไม่ซับซ้อน?
หยิบนโยบายที่เหมาะสมไปใช้ให้ถูกที่ อย่าเสียเวลาและเงินไปกับนโยบายที่รู้อยู่แล้วว่าไม่เหมาะสมกับบางที่ แค่บอกว่า ”ทุกคนนี่คือ New Normal”
โฆษณา