8 พ.ค. 2020 เวลา 12:01
อัครสาวก ซ้าย-ขวา
อัครสาวก ซ้าย-ขวา
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ชื่อว่าเป็นศาสดาเอกของโลก ไม่มีใครทั้งในโลกนี้ ทั้งเทวโลกและพรหมโลกที่จะยอดเยี่ยมกว่าพระองค์ได้ ทรงเป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ความรู้ทั้งหมดที่พระองค์ทรงนำมาแสดงนั้นกลั่นออกมาจากกลางของพระธรรมกาย ซึ่งเกิดจากการได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณใต้ควงไม้พระศรีมหาโพธิ์ เป็นความรู้ที่บริสุทธิ์ เป็นไปเพื่อความขจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไป ผู้ที่ปฏิบัติตามพุทธโอวาท จึงเป็นผู้ดำเนินชีวิตไปสู่ความบริสุทธิ์หลุดพ้นตามพระองค์ไปด้วย
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า
“ชนเหล่าใด มีปกติรู้ในสิ่งที่ไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระ และเห็นในสิ่งที่เป็นสาระว่าไม่เป็นสาระ ชนเหล่านั้น มีความดำริผิดเป็นอารมณ์ ย่อมไม่ประสบสิ่งที่เป็นสาระ ชนเหล่าใด รู้สิ่งที่เป็นสาระโดยความเป็นสาระ และสิ่งไม่เป็นสาระโดยความไม่เป็นสาระ ชนเหล่านั้น มีความดำริชอบเป็นอารมณ์ ย่อมประสบแต่สิ่งที่เป็นสาระแก่นสาร”
ชีวิตเราจะมีสาระหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่ที่การปฏิบัติตน ถ้าปฏิบัติถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ปฏิบัติตามหลักไตรสิกขา คือทำศีล สมาธิ ปัญญา ให้เกิดขึ้นมา และปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ โดยเริ่มตั้งแต่ความเห็นถูกเรื่อยไปจนถึงทำสมาธิถูกต้อง รวมทั้งไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่นให้ได้รับความเดือดเนื้อร้อนใจ การดำเนินชีวิตอย่างนี้นับว่าเป็นชีวิตที่มีคุณค่าสมกับที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาแล้วได้ทำความดีได้สร้างบารมี บุญบารมีก็เพิ่มขึ้น
สิ่งใดที่ไม่ดีเป็นบาปอกุศล เราก็ลด ละ เลิกเสีย อะไรที่เป็นข้อบกพร่องก็ปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น สิ่งใดที่ไม่เป็นสาระก็เลิกทำ ทำแต่สิ่งที่เป็นสาระ เมื่อรู้ว่าอะไรเป็นสาระแก่นสารของชีวิต ก็ดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง ไม่อาศัยทิฐิมานะที่ทำให้ไม่สามารถพัฒนาตนเองให้เจริญขึ้นได้ ควรเปิดใจให้กว้างเพื่อรับสิ่งที่ดีงามเข้ามาในชีวิต ไม่หลงติดอยู่กับการปฏิบัติผิดๆ ที่สืบต่อๆ กันมา
ในช่วงเริ่มต้นการเผยแผ่พระพุทธศาสนา สมัยนั้น ชมพูทวีปนับว่าเป็นศูนย์รวมของเจ้าลัทธิต่างๆ มากมาย ในจำนวนนี้สัญชัยปริพาชกถือเป็นเจ้าลัทธิผู้หนึ่งที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก แม้แต่พระสารีบุตรกับพระมหาโมคคัลลานะสมัยที่เริ่มแสวงหาโมกขธรรม เคยมาเป็นศิษย์ และเนื่องจากท่านทั้งสองเป็นผู้มีปัญญามาก เพียงศึกษาเล่าเรียนได้ไม่กี่วัน ก็แทงตลอดในความรู้ของอาจารย์จนหมดสิ้น จนอาจารย์เอ่ยปากให้มาช่วยกันสอนคนอื่นๆ ด้วย
แต่ท่านทั้งสองได้สั่งสมสาวกบารมีญาณมาเต็มเปี่ยมบริบูรณ์แล้ว รู้ว่าความรู้ที่ศึกษามาไม่มีอะไรเป็นแก่นสาร ถึงปฏิบัติต่อไปก็ไม่ทำให้พ้นทุกข์ จึงออกเดินทางเพื่อแสวงหาความรู้จากท่านผู้รู้อื่นๆ ที่จะสามารถบอกหนทางแห่งความหลุดพ้นได้ ท่านทั้งสองจึงเดินทางไปทั่วชมพูทวีป จนกระทั่งวันหนึ่งอุปติสสะได้มาพบกับพระอัสสชิเถระ ซึ่งกำลังเดินบิณฑบาตอยู่ แค่เห็นเท่านั้นก็เกิดความเลื่อมใสในอากัปกิริยาของท่าน จึงได้ถามว่า
“ท่านผู้เจริญ อินทรีย์ของท่านผ่องใสยิ่งนัก อิริยาบถของท่านก็งดงาม ท่านบวชเพราะใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน ท่านชอบใจธรรมของใคร” พระเถระตอบว่า “พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาของเรา เราชอบใจธรรมของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น” อุปติสสะมาณพถามต่อไปว่า “ก็ศาสดาของท่านมีปกติสอนว่าอย่างไร”
พระเถระคิดว่า “ธรรมดาปริพาชกทั้งหลายเป็นปฏิปักษ์ต่อพระพุทธศาสนา เราจักแสดงความลึกซึ้งในพระศาสนาให้ปริพาชกนี้ได้ทราบ” เนื่องจากท่านเป็นผู้ถ่อมตนจึงกล่าวว่า “เราเป็นผู้บวชใหม่ยังไม่นานเพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้ เราไม่อาจจะแสดงธรรมโดยพิสดารได้” อุปติสสะจึงคะยั้นคะยอว่า “ขอท่านจงกล่าวธรรมตามความพอใจเถิด จะน้อยหรือมากก็ตาม การแทงตลอดธรรมนั้นเป็นภาระของข้าพเจ้าเอง” พระเถระจึงได้กล่าวสอนว่า
“เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุ ํ ตถาคโต
เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํวาที มหาสมโณ”
“ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตเจ้ามีปกติตรัสเหตุแห่งธรรมนั้น และความดับแห่งธรรมนั้น พระมหาสมณะมีปกติกล่าวสอนอย่างนี้”
เมื่อจบคาถา อุปติสสะปริพาชกสามารถพิจารณาเนื้อความอันลึกซึ้งนั้นได้ เนื่องจากท่านได้สั่งสมบุญเก่ามาดี จึงแทงตลอดในคำสอนนั้น ซึ่งคนธรรมดาไม่สามารถจะเข้าใจได้ง่ายๆ เพราะเป็นการกล่าวถึงทุกข์ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ เมื่อรู้ที่เกิดทุกข์แล้วก็ดับทุกข์เสีย เป็นธรรมเพียงบทสั้นๆ แต่อุปติสสะก็มีดวงตาเห็นธรรมได้บรรลุเป็นพระโสดาบันทันที
จากนั้น ท่านได้อำลาพระเถระเพื่อไปหาสหาย และได้กล่าวคาถาที่ตนฟังมาทั้งหมดให้โกลิตะผู้เป็นสหายฟัง พอจบคาถา โกลิตะมีดวงตาเห็นธรรมตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลเช่นกัน ทั้งสองท่านเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทิตาอยู่ในใจ จึงคิดว่า เราจะบอกอมตธรรมที่ได้บรรลุนี้แก่อาจารย์สัญชัยบ้าง เมื่อท่านรู้แล้วจะแทงตลอด แต่ถ้าไม่แทงตลอดก็จะเชื่อพวกเรา แล้วจะตามไปเฝ้าพระบรมศาสดาพร้อมๆ กัน
เมื่อทั้งสองมาถึงสำนักของสัญชัยก็กล่าวเชิญชวนว่า “ท่านอาจารย์ พระรัตนตรัยได้บังเกิดขึ้นแล้วในโลก เชิญท่านอาจารย์ไปเฝ้าพระศาสดากันเถิด” สัญชัยปริพาชกแม้จะรู้ว่าตนเองไม่มีคุณวิเศษอะไร แต่เป็นเพราะทิฐิมานะที่เป็นอาจารย์ใหญ่ มีบริวารมาก จึงไม่ยอมไปเป็นลูกศิษย์ ได้กล่าวว่า “เธอทั้งสองไปกันเถิด เราไม่อาจจะเป็นศิษย์ของใครได้ การอยู่เป็นศิษย์ของบุคคลอื่น เป็นเช่นกับจระเข้ที่เขาขังไว้ในตุ่มน้ำ”
เมื่อสัญชัยถูกลูกศิษย์เอกทั้งสองคะยั้นคะยอจะให้ไปให้ได้ จึงถามสองสหายว่า “ในโลกนี้คนโง่กับคนฉลาดอย่างไหนมีมากกว่ากัน” ท่านทั้งสองจึงตอบว่า “คนโง่มีจำนวนมากกว่า ส่วนคนฉลาดมีน้อย” สัญชัยจึงกล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้น พวกคนโง่จงมาสู่สำนักของเรา ส่วนคนฉลาดจงไปสู่สำนักของพระสมณโคดม พวกเธอจงไปกันเถิด” เมื่อท่านชวนอาจารย์ไม่สำเร็จ จึงพากันออกเดินทางจากมา และยังมีบริวารอีก ๕๐๐ คนตามมาด้วย
ทั้งสองสหายเมื่อมาถึงวัดพระเชตวันแล้ว ได้กราบทูลเรื่องราวทั้งหมดให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบ พระพุทธองค์ตรัสว่า “สัญชัยถือเอาสิ่งที่ไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระ ถือเอาสิ่งที่เป็นสาระว่าไม่เป็นสาระ เพราะเป็นมิจฉาทิฏฐิ ส่วนพวกเธอรู้สิ่งที่เป็นสาระว่าเป็นสาระ รู้สิ่งที่ไม่เป็นสาระว่าไม่เป็นสาระ จึงนับว่าเป็นบัณฑิตที่แท้จริง”
ต่อมาท่านทั้งสองทั้งสองก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ซึ่งต่อมาพระสารีบุตรเถระได้รับแต่งตั้งเป็นอัครสาวกเบื้องขวา ผู้เลิศทางด้านมีปัญญา ส่วนพระโมคคัลลานะเถระได้รับแต่งตั้งเป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย ผู้เลิศทางด้านมีฤทธิ์ ตั้งแต่นั้นมาก็ได้ทำหน้าที่เผยแผ่คำสอนของพระบรมศาสดาให้กว้างไกลออกไป ทำให้พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมากยิ่งขึ้น
ดังนั้น ผู้มีปัญญาต้องพิจารณาให้ดีว่า สิ่งใดเป็นสาระหรือไม่เป็นสาระ เพื่อจะได้เลือกปฏิบัติให้ถูกต้อง ชีวิตจะได้ปลอดภัย เพราะถ้าปฏิบัติผิดๆ เนื่องจากมีความเห็นผิด จะเป็นอันตรายต่อชีวิตอย่างยิ่ง ความเห็นผิดนำไปสู่อบาย ทุคติ วินิบาต นรก แต่ถ้ารู้ตัวว่าตนเองเห็นผิดไปแล้ว และรีบกลับตัวกลับใจ ลงมือปรังปรุงแก้ไขตนเองเสียใหม่ อย่างนี้ก็จะสามารถกลับมาเป็นบัณฑิตได้
ปัจจุบันนี้ มีบัณฑิตทางโลกที่จบปริญญาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่น้อยคนนักที่จะเป็นบัณฑิตที่สมบูรณ์ทั้งทางโลกและทางธรรม ถ้าได้ศึกษาพระธรรมคำสอนควบคู่ไปด้วย จะมีทั้งความรู้และคุณธรรม จะได้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและต่อโลก ชาวโลกจะได้หันมาทำแต่สิ่งที่เป็นสาระ เป็นเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต มาสร้างบุญสร้างบารมี มุ่งปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงพระธรรมกายภายในตน เพื่อเข้าถึงความเต็มเปี่ยมของชีวิต
เพราะฉะนั้น วิถีชีวิตที่ถูกต้อง จะต้องดำเนินตามรอยบาทพระบรมศาสดา ปฏิบัติตามแบบอย่างของบัณฑิตในกาลก่อน คือ ทิ้งสิ่งที่ไม่เป็นสาระ แล้วหันมาปฏิบัติในสิ่งที่เป็นสาระ เร่งปรารภความเพียร ทำพระนิพพานให้แจ้ง อย่าเกียจคร้านในการปฏิบัติธรรม ให้หมั่นฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งทุกๆ วัน แล้วเราจะได้สมปรารถนากันทุกๆ คน
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับพุทธสาวก-พุทธสาวิกา หน้า ๒๗ - ๓๗
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ
(ภาษาไทย) เล่มที่ ๓๒ หน้า ๒๖๙
โฆษณา