8 พ.ค. 2020 เวลา 21:32 • ประวัติศาสตร์
เรื่องเล่า "ปราสาทหินไปรบัด"
หนึ่งในกว่า 60 ปราสาทหินในจ.บุรีรัมย์ และเป็นสถานที่ที่เคยเป็นข่าวโด่งดังในเรื่องของการทวงคืนศิลปะวัตถุโบราณกลับมาสู่ชาติไทย หลังจากมีการพบว่าวัตถุโบราณหลายชิ้นที่ถูกจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน(The MET)ในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น เป็นศิลปะวัตถุโบราณที่เคยถูกลักลอบขโมยไปจากปราสาทหินไปรบัด2 จ.บุรีรัมย์ เมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว
ปราสาทหินไปรบัด1 ตั้งอยู่บนยอดเขาปลายบัดหรือไปรบัด ซึ่งเป็นภูเขาไฟเก่า สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 289 เมตร เป็นปรางค์ก่อด้วยอิฐหินทรายประกอบ 1 หลัง สร้างในรัชกาลของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 (พ.ศ. 1545-1593 หรือ ค.ศ.1002-1050)
ตั้งอยู่ห่างจากปราสาทเมืองต่ำไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นระยะทางประมาณ 1.4 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ในเขตบ้านโคกเมือง ตำบลจรเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ห่างจากจังหวัดบุรีรัมย์ประมาณ 62 กิโลเมตร
ตัวปราสาทเหลือแค่ฐานกรอบประตู และผนังด้านหนึ่งของปรางค์ประธาน ภายในส่วนของห้องปรางค์เป็นหลุมลึก เหลือเพียงผนังด้านเดียว ยังมีช่องหน้าต่าง ช่องลม มีร่องรอยการขุดค้นหาสมบัติ นอกจากนี้ยังมีชิ้นส่วนของโบราณสถานแตกกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป (สมมาตร์ ผลเกิด, 2536)
ปราสาทหินไปรบัด2 อยู่ห่างจากปราสาทหินไปรบัด1 ประมาณ 1 กิโลเมตร ทางด้านทิศตะวันตก ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างรอยต่อในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอประโคนชัย อำเภอละหานทราย และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ
ลักษณะปราสาทเป็นศาสนสถานตั้งอยู่บนสันเขาตามความเชื่อศาสนาฮินดู มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 15-16 ในรัชกาลของพระเจ้าหรรษวรมันที่ 1 (พ.ศ.1443-1456 หรือ ค.ศ.900-913) ตามที่ปรากฏในศิลาจารึก ปราสาทประธานสร้างด้วยอิฐ (ชูชาติ ราชจันทร์, 2559)
ส่วนกำแพงก่อสร้างจากหินภูเขาไฟ มีความงดงามในศิลปะเขมรแบบเกาะแกร์ มีประตูอยู่ทางด้านทิศตะวันออก อีกสามด้านเป็นประตูหลอก กรอบประตูและทับหลังสร้างด้วยหินทราย ลักษณะปราสาทสามหลังตั้งตระหง่านอยู่บนฐานเดียวกัน มีรูปครุฑประดับ ส่วนอิฐก่อเป็นแนวผนังข้างหน้าบันผนังด้านในมีทับหลังหินทรายโกลนเป็นรูปไว้ ขอบประตูมีลวดลาย ปัจจุบันพังทลายเหลือเพียงผนังด้านทิศเหนือ และทิศตะวันออก เนื่องจากถูกนักล่าของเก่าระเบิดทำลายเพื่อขุดหาโบราณวัตถุ
ซึ่งกล่าวกันว่าได้ประติมากรรมรูปเคารพในพุทธศาสนาลัทธิมหายานไปจำนวนมาก ทางด้านหน้าปราสาทมีบรรณาลัยก่อด้วยศิลาแลง เสาและกรอบประตูเป็นหินทราย ปัจจุบันคงเหลือผนังเพียงข้างเดียวจากการสำรวจพบทับหลังหินทรายจำหลักรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ริมขอบบนเป็นรูปโยคีขัดสมาธิประนมมือ
นอกจากนี้ยังมีแผ่นศิลาจารึกจากปราสาทไปรบัด 2 หลงเหลืออยู่ โดยมีประชาชนบ้านย้ายแย้ม ตำบลยายแย้มวัฒนา อำเภอเฉลิมพระเกียรติ (ชื่อนายพูน เลื่อยคลัง) เก็บมาเมื่อครั้งมีการระเบิดปราสาทและได้นำมามอบให้กรมศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญการอ่านจารึกของกรมศิลปากร ได้อ่านแปลจารึกหลักนี้ได้ความว่า เป็นจารึกอักษรของโบราณภาษาเขมร-สันสกฤต ระบุศักราชตรงกับ พ.ศ. 1486 ซึ่งข้อความบนจารึกเป็นรายนามบุคคล (กรมศิลปากร, 2510)
นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าอาถรรพ์เกี่ยวกับสมบัติเขาปลายบัด 2 อีกด้วยว่าหากใครหรือผู้ใดนำไปขายหรือซื้อต่อจะต้องมีอันเป็นไปแทบทุกราย อย่างเช่น อดีตนายอำเภอถูกยิงเสียชีวิตหลังจากนำพระออกไป 1 เดือน หรือ พ่อค้าพระที่ตกรถเสียชีวิตหลังจากที่ขายพระออกไปแล้ว ไม่เว้นแม้ครอบครัวตระกูลดังของอเมริกาที่ครอบครองพระเขาปลายบัด 2 ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตทั้งสามีและภรรยา
และนับว่าเป็นโชคดีที่คุณตาของไกด์ ซึ่งเป็นคนในพื้นที่จ.บุรีรัมย์ แม้จะเคยขุดค้นพบวัตถุโบราณอย่างเช่น ถ้วย ชาม และภาชนะต่างๆ แต่ก็ไม่คิดจะนำไปเก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตัวหรือนำไปขาย ทว่าได้ส่งมอบของทั้งหมดที่ขุดพบให้กับทางจังหวัดได้เข้ามาตรวจสอบและนำไปเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติต่อไป
อ้างอิง : สมมาตร์ ผลเกิด. (2536). ท่องเที่ยวอีสานใต้ อู่อารยธรรมขอมในประเทศไทย. สมบัติอีสานใต้ (ฉบับพิเศษ). วิทยาลัยครูบุรีรัมย์. เรวัตการพิมพ์.
โฆษณา