10 พ.ค. 2020 เวลา 09:38 • การศึกษา
หลักเรื่องสัญญาต้องเป็นสัญญาคืออะไร (ไม่ใช่เพลงของพี่เบิร์ด ธงไชย นะ) วันนี้มาคุยกันเรื่องประวัติศาสตร์รากเง้าวิธีคิดของเรื่องนี้กัน
สัญญาต้องเป็นสัญญา ในภาษาอังกฤษคือ agreements must be kept ส่วนในละตินคือ pacta sunt servanda (อ่านว่า “พักตาซุนต์เซอร์วันดา”) เป็นภาษิตภาษาละตินทางกฎหมาย
หลักนี้เป็นหลักกฎหมายพื้นฐานสำหรับระบบซีวิลลอว์ (civil law system) และสำหรับวงการกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งเข้าใจว่านักเรียนกฎหมายทุกคนได้เรียนหลักนี้กัน และมั่นใจว่าทุกคนก็ลืมไปแล้วเช่นกัน (พี่ก็ลืม)
ในความเข้าใจส่วนใหญ่ หลักกฎหมายดังกล่าวหมายควบคุมสัญญาของเอกชน โดยเน้นว่าข้อสัญญาที่ตกลงกันไว้นั้นเป็นประดุจกฎเหล็กเหนือคู่กรณีทั้งสองฝ่าย คู่สัญญาต้องกระทำการโดยสุจริตซึ่งกันและกันตามหลักสุจริต (good faith; BONA FIDE) และการที่คู่สัญญาฝ่ายใดไม่ชำระหนี้ (obligation) ให้ลุล่วงไปนั้นชื่อว่า "ผิดสัญญา" (breach of the pact)
โดยความคิดเรื่องนี้ในสมัยโบราณและสมัยกลางเป็นความคิดที่ตั้งอยู่บนฐานความคิดว่าความผูกพันระหว่างมนุษย์เป็นผลมาจากสถานภาพ หรือ จารีตประเพณี หรือการกระทำตามแบบแผนที่ตกทอดมาแต่โบราณ และหากจะยอมให้ผูกพันกันตามใจสมัครก็เป็นเพียงข้อยกเว้นซึ่งมีได้เพียง 4 กรณีคือเรื่องซื้อขาย (emptio), เช่า (locatio conductio), ห้างหุ้นส่วน (societas) และการมอบอำนาจ (mandatum) ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองความตกลงที่ทำขึ้นตามหลักความสุจริตเท่านั้น
ส่วนในวงการกฎหมายระหว่างประเทศนั้น ถือกันดังที่บัญญัติไว้ในข้อ 26 แห่งอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา (Vienna Convention on the Law of Treaties) และข้อ 26 แห่ง อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญาระหว่างรัฐกับองค์การระหว่างประเทศหรือระหว่างองค์การระหว่างประเทศ (Vienna Convention on the Law of Treaties between States and International Organizations or between International Organizations) ซึ่งมีข้อความเดียวกันว่า "สนธิสัญญาทุกรายที่มีผลใช้บังคับแล้ว ย่อมผูกพันภาคีแห่งสนธิสัญญารายนั้น และต้องได้รับการปฏิบัติโดยภาคีนั้นอย่างสุจริต" (Every treaty in force is binding upon the parties to it and must be performed by them in good faith.)
โดยหลัก "สัญญาต้องเป็นสัญญา" นี้ส่งผลให้รัฐมีหน้าที่ต้องปฏิบัติการชำระหนี้ของตนโดยสุจริตและโดยไม่บกพร่อง
.
.
ยาวมาก ไม่รู้มีใครอ่านมาถึงตรงบรรทัดนี้หรือเปล่า
ทฤษฎีอาจจะไม่ได้นำมาใช้ในการร่างสัญญา แต่การร่างสัญญาก็จำเป็นต้องเข้าใจว่าที่เราเขียน ๆ ไป มันคืออะไรและมีที่มาอย่างไร
หลักนี้ ถ้าแปลตรงๆ ตัว สำหรับสัญญาคือ สัญญาอะไรไว้ ก็ต้องรักษาสัญญา อะไรที่ทำให้รักษาสัญญาไม่ได้ ก็ต้องมีหนังสือแจ้งคู่สัญญา เราจะได้ไม่ผิดสัญญา
สุดท้ายนี้ ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องทำให้ได้ตามสัญญา ถ้าสัญญาแล้วก็ทำให้ดีกว่าที่สัญญาไว้ ซึ่งเราจะได้ทั้ง output และ outcome ตามที่ลูกค้าคาดหวัง
.
.
ติดตามกฎหมายเพื่อผู้ประกอบการได้ที่
Reference:
#กฎหมายเพื่อผู้ประกอบการ
#สัญญาต้องเป็นสัญญา
#การร่างสัญญา #ตรวจร่างสัญญา #บริหารสัญญา #Project_Management
#lawyer #legal #business_law #Contract_Management
โฆษณา