10 พ.ค. 2020 เวลา 14:23
พระมหากัสสปเถระ (๑)
เวลาแห่งการประพฤติปฏิบัติธรรม เป็นเวลาที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง เพราะเราจะได้ประพฤติปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสัจธรรมที่นำพาชีวิตให้เข้าถึงความสุข หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งมวล และไม่ต้องวนเวียนอยู่ในกระแสแห่งความทุกข์อีกต่อไป ดังนั้น เวลาที่เราได้ฝึกฝนอบรมใจให้หยุดนิ่งนี้ จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดต่อตัวของเราเอง เมื่อเรารักตัวเองห่วงใยตัวเอง ก็ควรทำตนให้หลุดพ้นจากความทุกข์ มุ่งแสวงหาความสุข แสวงหาสาระที่แท้จริงของชีวิต คือพระรัตนตรัยภายในตัวให้ได้เร็วที่สุด ชีวิตเราจะได้ปลอดภัยทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสพุทธพจน์ใน อิฏฐสูตร ว่า
“ชนผู้ปรารถนาอายุ วรรณะ ยศ เกียรติ สวรรค์ ความเกิดในตระกูลสูง และความเพลินใจ พึงทำความไม่ประมาทให้มากยิ่งขึ้น บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญความไม่ประมาทในการทำบุญ บัณฑิตผู้ไม่ประมาทแล้ว ย่อมยึดถือประโยชน์ทั้งสองไว้ได้ คือประโยชน์ในปัจจุบัน และประโยชน์ในสัมปรายภพ”
ความหวังและความปรารถนาทั้งมวลจะกลายเป็นจริงได้ ต้องอาศัยบุญช่วย ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยากให้มีอยากให้เป็นนั้น ลำพังการสวดอ้อนวอนอย่างเดียว ไม่สามารถช่วยให้ความปรารถนาของเราสำเร็จได้เลย ต้องประกอบเหตุคือทำบุญไว้ เพราะบุญเป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความสุขและความสำเร็จทุกอย่าง ผลบุญที่ได้ทำไว้อย่างดีแล้วในอดีต จะส่งผลเป็นความสุขในปัจจุบัน เมื่ออยากให้ปัจจุบันเป็นอดีตที่ดีของอนาคต ต้องหมั่นสั่งสมบุญไว้ให้มากๆ
เพราะฉะนั้น เมื่ออธิษฐานจิต คิดปรารถนาสิ่งใดๆ ไว้ ต้องทุ่มเทสั่งสมบุญควบคู่กันไปด้วย เหมือนเรื่องราวการสร้างบารมีของพระมหากัสสปเถระ ผู้ปรารถนาอยากได้บรรลุมรรคผลนิพพาน พร้อมกับให้ได้ความเป็นเลิศในหมู่ภิกษุสงฆ์ผู้ทรงธุดงค์คุณ ๑๓ ท่านได้ทุ่มเทสร้างบุญทุกอย่างเพื่อต่อเติมความปรารถนาที่ตั้งใจไว้ให้กลายเป็นจริง กว่าความปรารถนานั้นจะสำเร็จ ต้องใช้เวลายาวนานผ่านไปถึงหนึ่งแสนกัป
เรื่องมีอยู่ว่า ในสมัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ได้มีกุฏุมพีท่านหนึ่งชื่อ เวเทหะ มีทรัพย์สมบัติ ๘๐ โกฏิ อาศัยอยู่ในนครหงสวดี กุฏุมพีท่านนี้ เป็นอุบาสกผู้นับถือพระรัตนตรัย ยึดเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งที่ระลึก ตามปกติช่วงสายท่านจะไปถวายภัตตาหารที่วัด เวลาเย็นก็ถือของหอม และดอกไม้เพื่อไปฟังธรรม ท่านมีจิตเลื่อมใสสักการบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นประจำ
มีอยู่วันหนึ่งท่านได้นิมนต์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จำนวนหนึ่งไปฉันภัตตาหารที่บ้าน ในระหว่างนั้นพระมหานิสภเถระได้เดินบิณฑบาตผ่านไปบริเวณหน้าบ้านของเวเทหะอุบาสกพอดี อุบาสกเห็นเข้า จึงลุกไปกล่าวเชื้อเชิญให้ท่านเข้ามาฉันภัตตาหารในบ้านร่วมกับพระบรมศาสดาและเหล่าภิกษุสงฆ์ แต่พระเถระเป็นผู้ประพฤติธุดงค์คุณข้อบิณฑบาตเป็นวัตร เพราะฉะนั้นท่านจึงตอบปฏิเสธอุบาสก และเมื่อท่านได้รับอาหารแล้วก็ออกเดินจากไป
ครั้นอุบาสกส่งพระเถระไปแล้ว ก็เข้าไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระมหานิสภเถระ แม้เมื่อข้าพระองค์เชื้อเชิญให้มาฉันภัตตาหาร ร่วมกับพระพุทธองค์ ก็ไม่ปรารถนาจะเข้ามา พระเถระนี้มีคุณยิ่งกว่าพระองค์หรือ พระเจ้าข้า” ธรรมดาการตระหนี่คุณความดี ไม่มีกับพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นพระองค์จึงตรัสว่า “ดูก่อนอุบาสก พวกเรานั่งคอยรับภิกษาอยู่ในบ้าน แต่ภิกษุนั้นไม่รอคอยรับอาหารจากใคร พวกเราอยู่เสนาสนะใกล้บ้าน ส่วนภิกษุนั้นอยู่เฉพาะในป่าเท่านั้น พวกเราอยู่ในที่มุงบัง แต่ภิกษุนั้นอยู่เฉพาะกลางแจ้งเท่านั้น” จากนั้นพระองค์ก็พรรณนาคุณของพระนิสภเถระประหนึ่งจะทำมหาสมุทรให้เต็ม
พระเถระท่านเป็นผู้ถือธุดงควัตร ๑๓ อย่าง เรามาศึกษาดูว่าคืออะไร และมีอะไรบ้าง ธุดงค์คือองค์คุณหรือข้อวัตรปฏิบัติสำหรับเป็นอุบายขัดเกลากิเลส เป็นจริยาวัตรพิเศษสำหรับภิกษุ ที่ช่วยส่งเสริมให้เป็นผู้มีความมักน้อยสันโดษ จะมีใครสมัครใจสมาทานก็ได้ ไม่ได้บังคับว่าจะต้องปฏิบัติทุกรูป มี ๑๓ ข้อคือ ปังสุกูลิกังคะ ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร หมายถึงไม่รับจีวรที่เขาถวาย แต่จะเที่ยวแสวงหา และใช้เฉพาะผ้าบังสุกุลเท่านั้น
เตจีวริกังคะ ถือการใช้เฉพาะผ้าไตรจีวรเป็นวัตร คือใช้ผ้าเพียง ๓ ผืนเท่านั้น ท่านจะไม่มีจีวรมากไปกว่านี้ ปิณฑปาติกังคะ ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร คือเมื่อออกบิณฑบาตยามเช้าได้อาหารมาเท่าไร ก็จะฉันเฉพาะที่ได้มาเท่านั้น ไม่ยินดีที่จะหามาเพิ่ม หรือญาติโยมจะถวายเพิ่มอีกท่านก็ไม่รับ
สปทานจาริกังคะ ถือการเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับตรอกเป็นวัตร ไม่เจาะจงว่าจะไปรับบาตรหลังใดหลังหนึ่ง ถึงบ้านหลังไหนก่อนก็รับหลังนั้น ไม่จำแนกว่าเป็นอาหารประณีตหรือไม่ประณีต
เอกาสนิกังคะ ถือการนั่งฉันครั้งเดียวเป็นวัตร หมายถึงฉันวันละครั้งหรือมื้อเดียวเท่านั้น ถ้าลุกจากอาสนะและจะไม่ฉันอาหารอีก ปัตตปิณฑิกังคะ ถือการฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร ไม่ใช้ภาชนะอย่างอื่น ซึ่งพวกเราคงเคยเห็นพระป่าหรือพระธุดงค์ ท่านมักจะฉันเฉพาะในบาตร แสดงว่าท่านกำลังประพฤติธุดงควัตรข้อนี้อยู่
ขลุปัจฉาภัตติกังคะ ถือการไม่รับภัตที่เขานำมาถวายภายหลัง หมายถึง เมื่อตั้งใจลงมือฉันแล้ว แม้จะมีคนนำอาหารอย่างดีมาถวายอีกก็จะไม่รับเพิ่ม มีเท่าไรก็ฉันเท่านั้น อารัญญิกังคะ ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร อยู่ตามป่าตามถํ้า ไม่พักในบ้านหรือในเมืองที่มีผู้คนอาศัยอยู่ รุกขมูลิกังคะ ถือการอยู่โคนต้นไม้เป็นวัตร คือจะปฏิบัติธรรมอยู่ตามโคนต้นไม้เป็นวัตร ไม่เข้าไปอาศัยอยู่ตามกุฏิวิหาร แม้ฝนจะตกแดดจะออกก็ตาม ท่านจะอาศัยเพียงกลดเป็นเครื่องมุงบัง
อัพโภกาสิกังคะ ถือการอยู่ในที่โล่งแจ้งเป็นวัตร โสสานิกังคะ ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร ยถาสันถติกังคะ ถือการอยู่ในเสนาสนะแล้วแต่เจ้าหน้าที่จัดให้ ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี ก็จะพักอาศัยและใช้สอยตามที่ได้รับมา ไม่เป็นคนเลือกมาก และประการสุดท้ายคือ เนสัชชิกังคะ ถือการนั่งเป็นวัตร หมายถึงการอยู่ด้วยอริยาบถ ๓ คือ การเดิน การยืน การนั่ง เว้นการนอน
นี่เป็นธุดงควัตร ๑๓ ข้อโดยย่อ ฝ่ายอุบาสกได้ฟังแล้ว ก็บังเกิดความเลื่อมใสในท่านพระมหานิสภเถระมากยิ่งขึ้น จึงปรารถนาอยากได้เป็นผู้มีคุณธรรมสูงส่งอย่างนั้นบ้าง และตั้งความปรารถนาอยากจะเป็นผู้เลิศแห่งภิกษุทั้งหลายผู้ทรงธุดงค์ และกล่าวสอนธุดงค์ ในศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในอนาคตกาล
ก่อนที่พระบรมศาสดาจะเสด็จกลับวัด อุบาสกได้นิมนต์พระบรมศาสดามาฉันภัตตาหารที่บ้านอีกครั้ง พระพุทธองค์ตรัสถามว่า “อุบาสก ภิกษุสงฆ์สาวกของตถาคต มีจำนวนมากถึงหกล้านแปดแสนรูป เธอจะนิมนต์มาฉันกี่รูปล่ะ” อุบาสกผู้มีใจกว้างใหญ่กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอภิกษุสงฆ์ทุกรูป จงรับภิกษาของข้าพระองค์ อย่าให้เหลือแม้สามเณรรูปเดียวไว้ในวิหาร พระเจ้าข้า” อุบาสกเมื่อรู้ว่า พระบรมศาสดาทรงรับนิมนต์แล้ว จึงได้เที่ยวชักชวนญาติมิตรสหาย และสัมพันธชน ให้มาร่วมกันเอาบุญใหญ่ ช่วยกันถวายภัตตาหารเป็นมหาสังฆทานร่วมกัน
1
ลองนึกดูว่า การมีโอกาสได้ถวายทานกับพระภิกษุสงฆ์มากถึง ๖,๘๐๐,๐๐๐ รูป แล้วยังไม่รวมถึงสามเณรซึ่งไม่รู้ว่าจะมีเท่าไร การสร้างบุญในสมัยนั้นจะก่อให้เกิดมหาปีติขนาดไหน ผู้ที่สามารถจะเลี้ยงพระได้มากขนาดนั้น แสดงว่าต้องมีกำลังบุญมาก มีกำลังทรัพย์ และกำลังหมู่ญาติพวกพ้องบริวารมาก
ส่วนว่าท่านจะเลี้ยงพระได้อย่างไร และอานิสงส์แห่งการถวายมหาสังฆทานในครั้งนั้น จะส่งผลอันยิ่งใหญ่ต่ออุบาสกท่านนี้อย่างไรบ้าง คงต้องมาติดตามกันในครั้งต่อไป ครั้งนี้ก็ให้ทุกคนนั่งธรรมะกันอย่างมีความสุข ให้รักในการสั่งสมบุญกุศลให้มากๆ ให้เก็บเกี่ยวเอาบุญเป็นเสบียงในการเดินทางไกลข้ามวัฏสงสารไปให้ได้มากที่สุด เราจะได้ไปถึงจุดหมายปลายทางคือ ที่สุดแห่งธรรมพร้อมๆ กัน
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับพุทธสาวก-พุทธสาวิกา หน้า ๓๗ - ๔๕
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ
(ภาษาไทย) เล่มที่ ๓๒ หน้า ๒๗๘
โฆษณา