10 พ.ค. 2020 เวลา 14:59 • สุขภาพ
EP 2 ความรุนแรงของโรคเบาหวาน มีผลต่อความรุนแรงของโรคปริทันต์อักเสบด้วยจริงหรือ? เท่านั้นยังไม่พอ โรคปริทันต์อักเสบยังทำให้โรคเบาหวานรุนแรงขึ้นด้วย? มันเกี่ยวข้องกันด้วยหรือ?
ก่อนจะไปหาคำตอบกัน มาทบทวนคร่าวๆเกี่ยวกับโรคปริทันต์อักเสบกันก่อน
โรคปริทันต์อักเสบ คือ การเกิดอักเสบเรื้อรังบริเวณอวัยวะรอบๆฟันแท้ของเรา ได้แก่ เหงือก กระดูก ผิวรากฟัน และเอ็นยึดรากฟันหรือเอ็นยึดปริทันต์ (Periodontal ligament) ปัญหาของโรคนี้คือ พอรอบๆฟันของเราเกิดการอักเสบ กระดูกและเอ็นยึดปริทันต์จะถูกทำลายไป (ปกติมันมีหน้าที่พยุงฟันแท้ของเราให้ไม่เกิดการโยกและใช้งานได้) และเกิดปัญหาอื่นๆตามมา เช่น ฟันโยก ปวดฟันจากการอักเสบ เป็นต้น ใครมองภาพไม่ออก ลองไปอ่าน EP 1 ดูนะครับ หมอจะพาเปรียบเทียบให้เห็นภาพเลย
ตาม Link นี้เลย:
"แล้วโรคเบาหวานเกี่ยวอะไรกันกับโรคปริทันต์อักเสบล่ะ?"
ความสัมพันธ์ของโรคเบาหวานและโรคปริทันต์อักเสบเริ่มชัดเจนมากขึ้นมาตั้งแต่ช่วง 1990s แล้วครับ ซึ่งปัจจุบัน เราสามารถเรียกได้ว่ามันมีความสัมพันธ์กันแบบ "Two-way relationship" หรือสัมพันธ์กันสองทาง หมายความว่า โรคเบาหวานส่งผลให้โรคปริทันต์อักเสบแย่ลงได้ และโรคปริทันต์อักเสบยังทำให้โรคเบาหวานแย่ลงได้ด้วย มันเป็นไปได้ด้วยหรือ? ไปหาคำตอบกัน
เริ่มต้นจากมุมมองของ "โรคเบาหวาน" โรคเบาหวานถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดโรคปริทันต์อักเสบ โดย
1) มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคปริทันต์อักเสบมากกว่าคนไม่เป็นเบาหวานถึง 3 เท่า !!!
2) โรคเบาหวานทำให้การตอบสนองต่อการอักเสบลดลง เนื่องจาก
2.1) เม็ดเลือดขาวทำงานบกพร่อง
2.2) ทำให้เกิดการสร้างสารอนุมูลอิสระมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการอักเสบมากขึ้น
2.3) การซ่อมแซมกระดูกและเหงือกบกพร่อง เนื่องจาก มีสาร Advanced glycation end products (AGEs) มากเกินไป AGEs คือโมเลกุลที่เกิดจากน้ำตาลส่วนเกินในร่างกายของเราไปทำปฏิกิริยากับโปรตีนหรือไขมัน มันจะไปขัดขวางการซ่อมแซมกระดูกรอบฟันของเราได้
2.4) แผลหายช้าลง
2.5) เกิดการอักเสบอย่างต่อเนื่อง
ประเด็นหลักๆของโรคเบาหวาน คือ มันส่งเสริมให้เกิดการอักเสบมากขึ้นนั่นเอง จึงเป็นสาเหตุให้โรคปริทันต์อักเสบมีความรุนแรงมากขึ้น
ในมุมมองของ "โรคปริทันต์อักเสบ" กันบ้าง อย่างที่บอกไป โรคเบาหวานกับโรคปริทันต์อักเสบนั้นมีความสัมพันธ์กันสองทาง เบาหวานทำให้โรคปริทันต์อักเสบรุนแรงขึ้น ในขณะที่โรคปริทันต์อักเสบเองยังทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดแย่ลงได้ด้วย โดย
1) การอักเสบเรื้อรังที่อวัยวะรอบฟัน ส่งผลให้การทำงานของอินซูลิน (Insulin) ในร่างกายผิดปกติไป ทำให้ร่างกายยิ่งดื้อต่ออินซูลินมากขึ้น (อินซูลินมีหน้าที่ลดระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่)
- ดังนั้น หากอวัยวะปริทันต์เราอักเสบเป็นเวลานาน ตลอดเวลา ระดับน้ำตาลในเลือดก็ไม่ลดสักที ควบคุมได้ยาก
2) โรคปริทันต์อักเสบในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ถูกพบว่าเกี่ยวข้องกับสภาวะแทรกซ้อนที่ไต และหลอดเลือดหัวใจอีกด้วย
ความสัมพันธ์ของโรคเบาหวานและโรคปริทันต์อักเสบ
ทุกคนจะเห็นได้ว่า ทั้งโรคเบาหวานและโรคปริทันต์จะเชื่อมต่อกันตรงที่การอักเสบ ดังนั้น เพื่อตัดวงจรอุบาทนี้ เราต้องลดการอักเสบให้มากที่สุด อย่าลืมมาพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากกันนะครับ แล้วก็หากเป็นโรคเบาหวานอยู่แล้วด้วย ให้ไปพบแพทย์ประจำเพื่อตรวจเช็คระดับน้ำตาลในเลือด แล้วก็ต้องควบคุมอาหารกันด้วยนะครับ
ใครจะไปรู้ว่า ช่องปากสะอาด ทำให้สุขภาพแข็งแรงได้เช่นกัน ^^
อย่าลืมกดไลค์ กดติดตามให้หมอด้วยน้า... มีคำถามอะไรถามได้เลยครับ
อ้างอิง:
1. Preshaw, P M et al. “Periodontitis and diabetes: a two-way relationship.” Diabetologia vol. 55,1 (2012): 21-31. doi:10.1007/s00125-011-2342-y
2. Dareen Essam Badr., et al. “Association between Diabetes and Periodontal Disease: A Literature Review”. EC Dental Science 18.10
(2019): 2467-2474.
โฆษณา