11 พ.ค. 2020 เวลา 10:59 • การศึกษา
ของขวัญชิ้นสำคัญจากท้องทะเล
ข่าวดีที่สุดในรอบหลายปีของทะเลไทย คือการฟื้นฟูธรรมชาติ ของอ่าวมาหยาในเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ และตัวชี้วัดที่สำคัญที่สุด คือฝูงฉลามหูดำ นับร้อยตัวทั้งตัวเด็ก วัยรุ่น ตัวเต็มวัยที่กลับมาแหวกว่ายหากินอย่างสงบสุขในอ่าวอีกครั้ง และยังเริ่มพบกระจายไปยังหมู่เกาะอื่นๆ เช่นเกาะยูง เกาะห้อง
การอนุรักษ์ฉลามในธรรมชาติถือยุทธศาสตร์การฟื้นฟูทะเลที่สำคัญที่สุดประการหนึ่ง เพราะเป็นการฟื้นฟูสมดุลของระบบนิเวศ ที่ฉลามซึ่งเป็นสัตว์ผู้ล่ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาประชากรของสิ่งมีชีวิตกลุ่มต่างๆ
สถานการณ์ในปัจจุบัน ฉลามลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วแทบจะทุกพื้นที่ในโลก รายงานการวิจัยฉบับหนึ่งที่ศึกษาการลดลงของฉลามทั่วโลกระบุว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในบริเวณที่ประชากรฉลามและกระเบนหมดสิ้นไปอย่างรวดเร็วที่สุดในโลก โดยฝั่งอันดามันมีปริมาณฉลามที่จับได้ลดลงกว่าร้อยละ 96 ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
สวนทางกับสถานะของประเทศไทยที่กลายเป็นผู้ส่งออกหูฉลามรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลก แซงหน้าจีนและฮ่องกง ตามข้อมูลระหว่างปี 2000-2011 ขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO
งานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Fish Biology (2018) โดยนักวิจัยคนไทย ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย พบว่าความหลากหลายของปลาฉลามที่จับได้ลดลงจากงานวิจัยเมื่อ 10 ปีที่แล้วอย่างมาก รวมทั้งการลดลงอย่างน่าตกใจของฉลามขนาดใหญ่ชนิดที่โตช้า และใช้เวลานานกว่าจะถึงวัยเจริญพันธุ์​ โดยเฉพาะกลุ่มฉลามหัวค้อน (sphyrinid) และกลุ่มฉลามครีบดำ (carcharhinid)
นอกจากนี้ฉลามที่พบระหว่างการสำรวจยังเป็นฉลามวัยเด็กและตัวอ่อนเป็นส่วนใหญ่ บ่งชี้ปัญหาสำคัญอีกประการว่า มีการทำประมงในแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน แน่นอนว่าฉลามเหล่านี้จะไม่มีโอกาสได้เติบโตขึ้นมาทดแทนรุ่นพ่อรุ่นแม่ สภาพการณ์ดังกล่าวตอกย้ำภาพที่ชัดเจนว่า ประชากรฉลามหลายชนิดในประเทศไทยน่าจะอยู่ในภาวะวิกฤติและเสี่ยงต่อการหมดไปจากทะเลไทยแล้ว
มองไปทั่วโลก สถานการณ์ของฉลามก็อยู่ในภาวะเสี่ยงไม่ต่างกัน ฉลามหลายชนิดมีจำนวนประชากรลดลงถึงร้อยละ 90-95 ภายในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา มีการประเมินว่าทุกปีมีฉลามถูกฆ่าจากการจับทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจมากกว่า 100 ล้านตัว หรือคิดเป็นวันละกว่า 200,000 ตัว ชั่วโมงละ 10,000 ตัว นาทีละ 200 ตัว วินาทีละ 3 ตัว ขณะที่มีสถิติฉลามจู่โจมคนทั่วโลกซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากความเข้าใจผิดปีละประมาณ 80 ครั้งเท่านั้น
การจะอนุรักษ์ฉลามไว้ได้เราจำเป็นต้องสร้างจิตสำนึกใหม่ ทัศนคติใหม่ต่อฉลาม นอกจากงดบริโภคหูฉลามและควบคุมการจำหน่ายมากกว่านี้ เรายังต้องช่วยกันคิดและวางกติการ่วมกันใหม่ว่า เราจะใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกันอย่างไร เราจะจัดการประมงและเครื่องมือประมงอย่างไรให้มีความยั่งยืน เราจะกำหนดและจัดการพื้นที่คุ้มครองทางทะเลกันอย่างไรให้เข้มแข็งจริงจัง
ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศในท้องทะเลเป็นสายใยที่สลับซับซ้อน และฉลามคือหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการควบคุมให้ระบบนิเวศอันเปราะบางนี้ดำเนินต่อไปได้ หากวิวัฒนาการ 400 ล้านปีของฉลามต้องมาพบกับจุดจบในยุคมนุษย์ครองโลก เราน่าจะพอคาดเดาได้ไม่ยากว่า จุดจบของทะเลและสายพันธุ์มนุษย์จะเป็นอย่างไร
คลิปฉลามโดย อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี
โฆษณา