12 พ.ค. 2020 เวลา 03:58 • ประวัติศาสตร์
หำยนต์ งานศิลปะชื่อแปลกบนแผ่นไม้
หำยนต์ (หัมยนต์) ด้านบนแกะสลักลายดอกพุดตานใบเทศ ด้านล่างโค้งเว้า ๒ โค้ง เหนือประตูวิหารวัดพันเตา จ.เชียงใหม่
งานสถาปัตยกรรมล้านนาชื่อแปลกบนแผ่นไม้ ครั้งแรกที่ผู้โพสต์ได้ยินชื่อ ยังนึกว่าคงถูกคนในพื้นที่อำเล่นแล้วล่ะ (ต้องขออภัยคนในพื้นที่ จ.เชียงใหม่) 😊😊😊
ความเป็นจริงแล้ว หาใช่ส่อความหมายไปในทางสัปดนแต่อย่างใด มันกลับเป็นชิ้นงานแกะสลักที่ละเอียด ปราณีตของภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยทำหน้าที่มากกว่าเป็นเครื่องประดับเรือน เลยขอลงรายละเอียดหาความรู้เพิ่มเติม มาเล่าสู่กัน
หำยนต์ (หัมยนต์) คือ แผ่นไม้ติดอยู่เหนือประตูห้องนอน มี ๒ ลักษณะด้วยกันคือ
๑. แบบทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า
๒. แบบด้านบนเรียบ (ฉลุลายหรือแกะสลัก)ด้านล่างโค้งเว้า ตั้งแต่ ๒ โค้ง ทำให้ขอบล่างตรงกลางยื่นแหลม (ที่มีหลายโค้งก็มี)
หำยนต์(หัมยนต์) แบบฉลุลาย ติดเหนือประตูห้องนอน (ขอบคุณภาพจาก Chiangmai News)
นอกจากนี้ ยังมีการใช้หำยนต์ (หัมยนต์) ในศาสนสถานอีกด้วย โดยจะติดใต้ขื่อเหนือทางเข้าวิหารหรืออุโบสถ มักเป็นหำยนต์ (หัมยนต์) ที่ชายด้านล่างโค้งเว้า ซึ่งมีลักษณะคล้ายโก่งคิ้ว หรือรวงผึ้ง
ส่วนที่มาของคำว่า หำยนต์ (หัมยนต์) และจุดมุ่งหมายของการสร้างไว้ สรุปได้ ๒ แนวคิดคือ
แนวคิดที่หนึ่ง หำยนต์ (หัมยนต์) เป็นคําที่สันนิษฐานว่ามาจาก หมมิย+อนุต แปลว่า ส่วนยอดของปราสาทโล้น แต่ทั่วไปเชื่อว่า ประกอบด้วยหำและยนต์เรียก "หำโยน"
"หำ" เป็นศัพท์ไทยวน (โยนก, คําเมือง) แปลว่า อัณฑะ ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งรวมพลังแห่งบุรุษชน "ยนต์" มาจากรากศัพท์สันสกฤตว่า "ยันตร์" มีความหมายว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์สําหรับปกป้องหรือป้องกันรักษา
หำยนต์ (หัมยนต์) ตามทัศนคติของล้านนา มีไว้เพื่อทําหน้าที่เป็น ยันต์อันศักดิ์สิทธิ์ ที่ป้องกันและขับไล่ภยันตรายต่างๆ จากภายนอก มิให้ผ่านประตูเข้าไปในตัวเรือนหรือห้องนอน เป็นการป้องกันอันตรายให้แก่ผู้ที่หลับนอนในห้องนั้น
ทั้งนี้ อาจมีความหมายเชิงนัยยะ ที่ต้องการบอกให้ผู้มาเยือนทราบว่า ห้องที่อยู่หลังประตูหำยนต์ (หัมยนต์) นั้นคือ พื้นที่ส่วนตัวของเจ้าของเรือนและสมาชิกครัวเรือน บุคคลภายนอกห้ามล่วงล้ำเข้าไป เป็นการให้เกียรติและเคารพสิทธิในพื้นที่ของกันและกัน
หำยนต์(หัมยนต์) แบบด้านบนแกะสลักลายก้านขด สิงห์และนกยูง ด้านล่างโค้งเว้า ๔ โค้ง เหนือทางเข้าวิหารวัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่
อีกแนวคิดหนึ่งอธิบายว่า หำยนต์ (หัมยนต์) นี้ทําขึ้นมา เพื่อเป็นการข่มตามพิธีไสยศาสตร์ ตามคติของพุทธศาสนาตันตระมหายานกล่าวว่า ยันต์นี้เป็นลักษณะยันต์ ๘ ทิศของชาวจีน เรียกกันว่า “อรหัมยันตระ” คือยันต์วิเศษหรือยันต์พระอรหันต์ ต่อมาภาษาพูดกร่อนไป จึงเรียกอย่างชาวบ้านล้านนาไทยว่า หำยนต์ (หัมยนต์)
เมื่อหำยนต์ (หัมยนต์) ตามคติล้านนาทำหน้าที่เสมือนยันต์อันศักดิ์สิทธิ์ ในการสร้างบ้านใหม่ จึงมีการทำหำยนต์ (หัมยนต์) พร้อมกับการสร้างบ้านใหม่
ความยาวของหำยนต์ (หัมยันต์) หรือความกว้างของประตู ถูกกำหนดโดยวัดจากความยาวของเท้าเจ้าของบ้าน เช่น ยาวเป็น ๓ หรือ ๔ เท่า บ้างก็กำหนดความยาวของหำยนต์ (หัมยนต์) ตามฐานะของเจ้าบ้านก็มี
เมื่อได้แผ่นไม้ที่ต้องการแล้ว จะนํามาทําพิธีสะเดาะเคราะห์เสียก่อน โดยการรดน้ำมนต์ลงบนไม้ ผู้กระทําคืออาจารย์ผู้มีวิชาหรือพระเถระผู้เฒ่า จากนั้น จึงนํามาผูกติดกับเสาเอกเพื่อทําพิธีถอน เมื่อเสร็จพิธีแล้วจึงเป็นหน้าที่ของช่าง ผู้ที่จะประดิษฐ์ลวดลายตามความต้องการของผู้เป็นเจ้าของบ้าน
หำยนต์(หัมยนต์) แบบสี่เหลี่ยมผืนผ้าฉลุลายและแกะสลัก ในพิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุหริภุญไชย จ.ลำพูน
แผ่นไม้หำยนต์ (หัมยนต์) จะมีทั้งแบบแกะสลัก แบบฉลุลาย และแบบแกะสลักผสมฉลุลาย การแกะสลักนั้น จะใช้ลวดลายแบบธรรมดาพื้นฐาน ที่แสดงออกถึงฐานะชาวบ้านทั่วไปไม่มีความพิเศษ
ต่างจากวัดและวัง ที่จะใช้ลวดลายวิจิตรบรรจง เช่น ลายนาค ลายสิงห์ ลายหงส์ ลวดลายหำยนต์ (หัมยนต์) โบราณ มักจะประกอบด้วย ลายประดิษฐ์จากธรรมชาติ เช่น ลายก้านขด ลายผักกูด ลายดอกพุด ลายสัตว์ ลายเมฆไหลหรือลายมงคล และลายอิทธิพลตะวันตก เป็นต้น
หำยนต์(หัมยนต์) ด้านบนแกะสลักลายก้านขดและประดับกระจกสี รูปทรงโค้งคล้ายโก่งคิ้ว เหนือทางเข้าวิหารวัดทุงยู จ.เชียงใหม่
พอบ้านสร้างเสร็จ ก็นำหำยนต์ (หัมยนต์) ที่แกะสลักแล้ว ไปติดเหนือประตูห้องนอนดังกล่าว โดยก่อนจะนําไปติดจะต้องทําพิธียกขันตั้งหลวง ซึ่งตามพิธีจะต้องมีดอกไม้ ธูปเทียน หมากพลู ผ้าขาว ผ้าแดง และสุราอาหาร ให้ครบถ้วนตามข้อกําหนด โดยมีปู่อาจารย์เป็นผู้ประกอบพิธีอัญเชิญเทวดาอารักษ์ ให้มาปกป้องบ้านเรือน และผู้ที่อาศัยในบ้านหลังนั้น
คติความเชื่อเกี่ยวกับหำยนต์ (หัมยนต์) ว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ป้องกันอันตราย ดังนั้น เมื่อมีการรื้อถอน หรือขายเรือนเหล่านี้ ก่อนย้ายเข้ามาหรือรื้อถอนเรือน เจ้าของบ้านใหม่จะต้องตีหำยนต์ (หัมยนต์) แรงๆ เพื่อทำลายความขลัง
การทุบตีหำยนต์ (หัมยนต์) เปรียบเสมือนการตีลูกอัณฑะวัวควาย ในการทำหมันสมัยก่อน ซึ่งเป็นการทำให้หมดสมรรถภาพ หรือการหมดความศักดิ์สิทธิ์ของหำยนต์ (หัมยนต์) ก็เช่นเดียวกัน
หำยนต์(หัมยนต์) แบบฉลุลายสี่เหลี่ยมผืนผ้า ในพิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุหริภุญไชย จ.ลำพูน
แม้ว่าในยุคปัจจุบัน ความเชื่อเรื่องหำยนต์ (หัมยนต์) จะซาลงไปแล้ว แต่ก็ยังมีบ้านเรือนล้านนาโบราณ ที่มีความเชื่อเช่นนี้อยู่ และอาจสืบทอดไปสู่คนรุ่นหลังบ้างในบางพื้นที่
ตัวผู้โพสต์เองยังไม่แน่ใจว่า เคยเห็นบ้านล้านนาโบราณ ที่ยังคงประดับด้วยหัมยนต์ หรืออาจเคยเห็น แต่ไม่ได้สังเกต ถ้ามีโอกาสได้เห็นอีกสักครั้ง จะนำรูปมาอัพเพิ่มให้ในโพสต์นี้
สำหรับผู้โพสต์แล้ว หำยนต์ (หัมยนต์) นั้น ไม่ว่าจะมาจากไหน มีความหมายอย่างไร แต่นี่คือ สัญลักษณ์ที่ทำให้ตระหนักว่า มนุษย์ล้วนมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีเท่ากัน
แต่ละคนมีพื้นที่ส่วนตัวที่ผู้อื่นต้องเคารพ เช่น พื้นที่ทางความคิด ฯลฯ ที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร โดยต้องอยู่ในกรอบของศีลธรรมด้วย
ที่มาของข้อมูล : สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ เล่มที่ ๑๔  โดยมูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์
ฐาปนีย์ เครือระยา : หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ภาพ/เรียบเรียง : ออมศีล

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา