เมื่อเวลาผ่านไปหลายเดือน พระมเหสีซึ่งเป็นหญิงรุ่นสาว มีความยินดีและพอใจในเบญจกามคุณ ได้ประพฤติออกนอกลู่นอกทางกับอำมาตย์ เมื่อข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทราบเข้า จึงกราบทูลพระราชาให้ทรงสำเร็จโทษเสีย แต่พระราชาผู้ประกอบด้วยมหากรุณา ตรัสว่า “ถ้าหากเราฆ่าหรือทรมานอำมาตย์ชั่วนี้ ก็จะเป็นการทำปาณาติบาต หากแม้นอายัดทรัพย์ทั้งหมด ก็จะเป็นอทินนาทาน” จึงทรงลงโทษสถานเบา ด้วยการเนรเทศอำมาตย์ไปอยู่เมืองอื่น
เนื่องจากอำมาตย์คนนี้ เป็นคนมีใจบาปอกตัญญู มีความอาฆาตแค้นต่อพระราชา ทั้งๆ ที่ตนเองเป็นผู้ทำความผิด เมื่อหลบหนีไปอยู่เมืองอื่น ก็ไปยุยงพระราชาให้มารบกับพระเจ้าพรหมทัต เพราะตนเองรู้เรื่องภายในพระราชวังของพระเจ้าพรหมทัตเป็นอย่างดี ครั้งแรกๆ พระราชาเมืองนั้นไม่มั่นใจ ตรัสถามไปว่า “เธอประสงค์จะนำฉันไปตายหรือ ได้ยินข่าวว่าพระเจ้าพรหมทัตเป็นผู้มีอานุภาพมาก สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้เหมือนนกบินไปในอากาศ”
อำมาตย์ทูลให้สบายพระทัยว่า “พระองค์อย่าได้ตรัสอย่างนี้ ถ้าไม่ทรงเชื่อ ก็จงทรงส่งสายสืบไปดูเถิด”
พระราชาส่งสายสืบไปตรวจดู โดยให้ขุดซุ้มประตูทางขึ้นพระตำหนักบรรทมของพระเจ้าพรหมทัต เมื่อพระเจ้าพรหมทัตทรงเห็นแล้ว ตรัสถามว่า “พวกเจ้ามาเพื่ออะไรกันหรือ”
พวกสายสืบทูลว่า “พวกข้าพระองค์เป็นโจร”
พระราชาจึงรับสั่งให้ประทานทรัพย์แก่พวกโจร แล้วให้โอวาทว่า “อย่าได้ทำอย่างนี้อีก”
จากนั้น จึงปล่อยไป พวกสายสืบกลับมาทูลให้พระราชาของตนทราบหลายครั้ง จนสามารถทำให้พระองค์เชื่อว่าพระเจ้าพรหมทัตเป็นผู้มีศีล ไม่ยินดีในการฆ่าหรือทำร้ายคนอื่น
อำมาตย์ผู้มากไปด้วยความพยาบาท ทูลยุยงว่า “ถึงเวลาแล้วที่พระองค์จะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในชมพูทวีป”
ฝ่ายพระราชาหลงเชื่อในคำยุยง จึงจัดกองทัพเพื่อออกรบกับพระเจ้าพรหมทัต อำมาตย์ของพระเจ้าพรหมทัตแต่ละนาย ล้วนเป็นผู้มีอานุภาพที่ไม่มีใครสามารถต้านทานได้ ครั้นได้ฟังพระบรมราชโองการว่า “ถ้ารบกัน ปาณาติบาตก็พึงมีแม้แก่พวกเรา พวกท่านจงออกไปจับพระราชาผู้เป็นปฏิปักษ์ โดยไม่ให้เสียเลือดเสียเนื้อมาให้เราก็พอแล้ว”