12 พ.ค. 2020 เวลา 06:23 • ประวัติศาสตร์
วัดกุฎิ ซากอิฐมีเรื่องเล่า
ในบรรดาวัดร้างที่กระจายอยู่ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีทั้งที่ยังปรากฏอาคารที่ยังเป็นรูปเป็นร่าง ให้ใครหลายๆ คนได้จินตนาการถึงสภาพของวัดที่ยังสมบูรณ์ในห้วงเวลาที่กรุงเก่าของเรายังคงรุ่งเรือง แต่ในขณะเดียวกัน วัดร้างอีกหลายแห่งก็มีสภาพที่เป็นเพียงซากผุพัง ไม่อาจที่จะจินตภาพถึงรูปร่างอันแท้จริง บ้างก็ซุกซ่อนอยู่ตามโคกตามทุ่ง บ้างก็ผุดขึ้นเหนือดินในขอบเขตรั้วบ้านของผู้คน และมีหลายแห่งที่ถูกแทงบัญชีสูญหายไปแล้ว
วัดกุฎิ (อ่านว่า วัดกุด) เป็นหนึ่งในวัดร้างที่เกือบจะแทงสูญหายไปจากแผ่นดิน เมื่อได้สำรวจและเห็นสภาพวัดร้างแห่งนี้ก็คงต้องตกใจ เพราะสิ่งที่เหลืออยู่นั้นถ้าไม่สังเกตให้ดีเราก็คงทำได้แค่เดินผ่านเลยไปอย่างไม่ใยดี
วัดกุฎิ ครั้งหนึ่งเคยเป็นจุดรวมพลเพื่อวางแผนพลิกแผ่นดิน
วัดกุฎิ มีความสำคัญอย่างไร ทำไมจึงต้องออกสำรวจหา ที่มาที่ไปของมันก็คือ วัดกุฎิ เป็นวัดสำคัญในประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา เป็นสถานที่จุดเริ่มต้นของการก้าวขึ้นสู่บัลลังก์กษัตริย์ของขุนนางที่ส่งผลให้กรุงศรีอยุธยาเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
การรวมตัวของเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เล่าเหตุการณ์ไว้ว่า หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมสิ้นพระชนม์ ทรงปรารถนาที่จะยกพระเชษฐาธิราช พระราชโอรสองค์ใหญ่ซึ่งยังทรงพระเยาว์ขึ้นครองราชสมบัติ โดยมีเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ขุนนางผู้ใหญ่เป็นผู้สำเร็จราชการ(๑)
อยู่มาสี่เดือนเศษ มารดาของเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ถึงแก่กรรม ได้ทำพิธีปลงศพ ณ วัดกุฎิ มีข้าราชการฝ่ายทหาร พลเรือนทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อยออกไปนอนค้างร่วมงานศพเป็นจำนวนมาก การที่ข้าราชการใหญ่น้อยทั้งหลายพากันไปร่วมงานศพกันที่วัดกุฎนั้น สร้างความแคลงใจให้แก่ข้าหลวงของสมเด็จพระเชษฐาธิราชเป็นอย่างยิ่ง จึงนำความทั้งปวงไปกราบทูลยุยงว่าเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ทำการครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก หากเอาการศพเข้ามาบังไว้ เห็นทีจะคิดประทุษร้ายต่อพระเจ้าแผ่นดินเป็นแน่แท้
สมเด็จพระเชษฐาธิราช ซึ่งพระชันษาแค่ ๑๕ ก็หลงเชื่อข้าหลวงผู้นั้น ตรัสสั่งให้ชาวป้อม กรมกองทหารล้อมวัง เข้าประจำซองพร้อมรบเต็มอัตราศึก แล้วดำรัสสั่งให้หาตัวเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์มาเข้าเฝ้า ขณะนั้น จมื่นสรรเพชญ์ภักดี ข้าราชการในวังสอดหนังสือเป็นรหัสลับไปบอกเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ว่า มีพระราชโองการเข้ามาดูมวย เมื่อมาถึงก็ให้คาดเชือกเข้ามาด้วยเลย
2
เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์อ่านหนังสือฉบับนั้นก็รู้รหัสลับนั้นทันที จึงหว่านล้อมข้าราชการที่มาช่วยงานศพว่าพระเจ้าแผ่นดินกล่าวหาเราว่าเป็นกบฎเยี่ยงนี้ พวกท่านที่มาร่วมงานค้างคืนกับเราจะไม่พลอยถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฎด้วยหรอกหรือ
เพียงเท่านี้ ข้าราชการทั้งหมดก็เข้าร่วมกับเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ จนสามารถรวบรวมไพร่พลเป็นจำนวนถึง ๓,๐๐๐ คน จัดหาเรือได้ ๑๐๐ ลำ พร้อมด้วยศาสตราวุธครบมือ ประชุมพลกันที่วัดกุฎิ ก่อนที่จะแล่นเรือเข้าสู่ใจกลางกรุงศรีอยุธยา และยกพลทั้งหมดเข้าโจมตีพระราชวัง สมเด็จพระเชษฐาธิราช เห็นว่าทหารของพระองค์สู้ไม่ได้จึงลงเรือพระที่นั่งหนีไปในเวลากลางคืน
แต่สุดท้าย พระยาเดโช พระยาท้ายน้ำ ลงเรือไล่ตามไปก่อนที่จะล้อมจับพระเจ้าแผ่นดินได้ที่ป่าโมกน้อย เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์จึงสั่งให้นำตัวไปสำเร็จโทษ สมเด็จพระเชษฐาธิราชอยู่ในราชสมบัติ ๑ ปีอีก ๗ เดือน(๒)
สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงสงสัย เป็นเล่ห์กลของเจ้าพระยากลาโหม
หากอ่านในพระราชพงศาวดารเพียงฉบับเดียว เราอาจจะเห็นใจเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ว่าแค่ปลงศพมารดาเพียงอย่างเดียว แต่ดันมีข้าราชการใหญ่น้อยมากมายมาร่วมงาน เพียงเท่านี้ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฎ ท่านจึงต้องกบฎไปอย่างคนจวนตัว อีกทั้งเมื่อปลงพระชนม์สมเด็จพระเชษฐาธิราชแล้ว ท่านก็ยกพระอาทิตยวงศ์ พระอนุชาของพระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อนขึ้นครองราช มิได้ขึ้นเป็นกษัตริย์เสียเอง
3
แต่เมื่ออ่านบทพระราชวิจารณ์สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเห็นว่าทรงสงสัยถึงพฤติกรรมบางอย่างของเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ว่าเป็นเล่ห์กล สร้างอุบายให้พระเจ้าแผ่นดินตกใจคิดว่าซ่องสุมผู้คนเพื่อก่อกบฎ และตัวท่านเองเมื่อถูกกล่าวหาก็ถือโอกาสก่อกบฎเลยจริงๆ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงบันทึกไว้ว่า
“แกล้งทำการศพให้คึกคัก แต่งคนให้ลือให้เจ้าแผ่นดินตกใจ ผู้ที่ลือนั้นก็คือจมื่นสรรเพชญ์ ซึ่งเป็นผู้ส่งข่าวนั้นเอง เข้ามาเป็นไส้ศึก พอหลอกให้ตกใจ ให้รับสั่งให้หา ก็เลยพาลเป็นขบถ หาว่าพระเจ้าแผ่นดินตระเตรียมให้คนขึ้นป้อมวัง ความนี้ก็ไม่จริง ปรากฏเมื่อยกมาแต่เวลาบ่ายสามโมง อยู่จนสองทุ่มเข้าไปฟันประตู ไม่มีใครทันรู้สึก ไม่ได้ต่อสู้กันเลย” (๓)
วัน วลิต ก็ว่า เป็นแผนการชิงสมบัติ
เป็นพระปรีชาสามารถยิ่งขององค์สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ที่ทรงอ่านใจความในพระราชพงศาวดารตอนนี้ ก็ทรงระแคะระคายว่าเป็นอุบายมารยาของเจ้าพระยากลาโหม ซึ่งก็คงจะจริง เพราะบันทึกของเยเรมีร์ ฟอน ฟลีต หรือ วัน วลิต พ่อค้าชาวฮอลันดาที่เข้ามาช่วงรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง ได้บันทึกเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ว่า ออกญากลาโหมผู้นี้ มีแผนการที่จะชิงราชสมบัติตั้งแต่ต้น
1
นายวัน วลิต เล่าว่า ออกญากลาโหมมีอำนาจสิทธิขาดในฐานะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินก็มีใจคิดกำเริบ ต้องการกำจัดกษัตริย์เชื้อสายของพระเจ้าทรงธรรมให้หมดไปเพื่อที่ตนจะได้ขึ้นครองบัลลังก์ จึงค่อยๆ วางแผนไว้อย่างแยบยล ดังเช่น การจัดงานปลงศพ เป็นต้น
ภาพลายมือของเยเรมีร์ ฟอน ฟลีต หรือ วัน วลิต ในบันทึกจดหมายเหตุวันวลิต ฉบับสมบูรณ์
จากบันทึกของวัน วลิต จะเห็นว่า จุดเริ่มต้นของการล้มล้างสมเด็จพระเชษฐาธิราช นั้นเริ่มจากงานศพเหมือนกัน แต่วัน วลิต ซึ่งมีชีวิตอยู่ใกล้กับเหตุการณ์ที่สุดบันทึกไว้ต่างกับพงศาวดารของไทยตรงที่ว่า เป็นงานศพของน้องชายออกญากลาโหม ทั้งยังนำอัฐิของออกญาศรีธรรมาธิราชผู้เป็นบิดา ซึ่งทำพิธีฌาปนกิจแล้วขึ้นมาเผาใหม่อีกครั้ง งานศพนี้จัดขึ้นอย่างเอิกเกริก ขุนนาง ข้าราชการ แทบจะทั้งพระนครได้ไปร่วมงานนี้อย่างคับคั่ง จนกระทั่งเมื่อถึงเวลาที่พระเจ้าแผ่นดินออกว่าราชการ กลับไม่มีขุนนางเข้าเฝ้าแม้แต่คนเดียว พระราชมารดาของสมเด็จพระเชษฐาธิราช จึงยุยงว่าออกญากลาโหมจัดงานศพเกินหน้าเกินตา ทั้งยังเพ็ดทูลถึงความชั่วร้ายของออกญากลาโหมอีกเป็นการใหญ่ สุดท้าย พระเจ้าแผ่นดินอายุ ๑๕ จึงประกาศทันทีว่าออกญากลาโหมเป็นกบฎ
3
เรื่องที่วัน วลิต เล่าไว้ก็มีบทสรุปแบบเดียวกับในพระราชพงศาวดารของไทย คือมีการรวบรวมทหาร ไพร่พล ยกโจมตีพระราชวัง จนสมเด็จพระเชษฐาธิราช ทรงขึ้นช้างหนีไปหลบซ่อนที่วัดมเหยงค์ ก่อนที่จะถูกทหารของออกญากลาโหมค้นหาจนพบ และนำตัวมาประหารชีวิตที่วัดพระเมรุโคกพระยา (๔)
หลังจากนั้น ออกญากลาโหมก็ยังไม่ขึ้นครองราชสมบัติทันที ท่านได้สถาปนาพระอาทิตยวงศ์ พระอนุชาของสมเด็จพระเชษฐาธิราชขึ้นเป็นกษัตริย์ แต่ภายหลังด้วยความที่พระองค์ทรงเป็นเด็กที่ไม่สามารถนำพาราชการแผ่นดินได้ พระองค์ก็ถูกออกญากลาโหมปลดจากบัลลังก์ ขุนนาง ข้าราชการต่างพร้อมใจกันยกให้ออกญากลาโหมขึ้นครองราชสมบัติ ทรงพระนาม “สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง” สมดังแผนการที่วางไว้ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา ที่ขุนนาง สามารถขึ้นสู่จุดสูงสุดทางการเมืองโดยการขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ครองแผ่นดิน
3
ซากวัดกุฎิ ในรั้วบ้าน
จากเหตุการณ์ใหญ่ที่เล่ามานั้น จะเห็นว่า วัดกุฎิ เมื่อครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา คงเป็นวัดที่มีอาณาเขตใหญ่โตพอสมควร ซึ่งมากพอที่จะเป็นใช้พื้นที่ของวัดทำการรวบรวมผู้คนทั้งทหารและจัดแจงเรือลำเลียงทหารได้มากมาย
เมื่อพิจารณาดูถึงที่ตั้งของวัดกุฎิ ตามแผนที่พระนครศรีอยุธยาของพระยาโบราณราชธานินทร์ ที่จัดทำขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๖๙ (๕) จะเห็นว่า วัดนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เลยนิวาสสถานเดิมของมารดาเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ซึ่งเป็นตำแหน่งของวัดไชยวัฒนารามในปัจจุบันลงมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ดังนั้น งานปลงศพที่วัดกุฎิครั้งนั้น ก็สอดคล้องกับตำแหน่งที่อยู่ใกล้กับบ้านที่ออกญากลาโหมน่าจะคุ้นเคยกันดี และสามารถล่องเรือมาถึงได้อย่างสะดวก
ในแผนที่ของพระยาโบราณราชธานินทร์ ระบุไว้ชัดเจนว่า เลยวัดไชยวัฒนาราม เป็นที่ตั้งของวัดสนามไชย ถัดจากวัดสนามไชยมาไม่ไกลก็เป็นที่ตั้งของวัดกุฎินั้นเอง
เมื่อรู้ตำแหน่ง เราจึงตามหาวัดกุฎิ โดยเดินทางเข้ามายังวัดสนามไชย ในตำบลบ้านป้อม ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะเมือง เมื่อเข้ามายังวัดสนามไชย ตรงเข้าไปทางขวามือมีซอยเล็กๆ เข้าไปในย่านบ้านเรือนของผู้คน เดินสอบถามชาวบ้านผู้เฒ่าผู้แก่ ก็ได้ความว่า โคกวัดกุฎิ ตั้งอยู่ตรงปากทางเข้าซอยเล็กๆ ทางขวามือของกุฏิวัดสนามไชยนั้นเอง
ด้วยที่ตั้งของทั้งสองวัดที่ใกล้เคียงกัน ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า เมื่อออกญากลาโหมรวมพลกันที่วัดกุฎิแห่งนี้แล้ว ท่านจะข้ามมาทำพิธีตัดไม้ข่มนามที่วัดสนามไชยนี้ด้วยหรือไม่เราก็ไม่อาจทราบได้ (วัดสนามไชยได้ชื่อว่าเป็นวัดที่ใช้ทำพิธีตัดไม้ข่มนามมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา) เพราะพงศาวดารก็ไม่ได้ระบุไว้ชัดเจน แต่ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนระหว่างสองวัดนี้ คือวัดสนามไชยยังได้รับการบูรณะไว้อย่างสมบูรณ์ใหญ่โต แต่สำหรับวัดกุฎินั้น...
เหลือเพียงแค่ซากอิฐบนเนินเล็กๆ ภายในรั้วบ้านหลังหนึ่งข้างวัดสนามไชยเท่านั้น..!!
เนินบโรารสถานวัดกุฎิ ที่เหลือเพียงโคกเล็กๆ ภายในรั้วบ้าน
เมื่อได้รับอนุญาตจากเจ้าของบ้าน ผมก็เข้าไปดูซากที่เหลืออยู่ของวัดกุฎิ นั่นคือโคกอิฐบนเนินดินเล็กๆ ที่เจ้าของบ้านได้ตั้งศาลพระภูมิเอาไว้ เนินดินนี้สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นอุโบสถที่ไม่เหลือสภาพแล้ว บนเนินนั้นมีหน้าอกของพระพุทธรูปหินทรายขนาดย่อมวางไว้ติดกับรั้วไม้ หันหน้าอกออกไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งอาจจะเป็นพระประธานของวัดหรือไม่เราก็ไม่สามารถระบุไว้ได้แน่ชัด
1
ถัดจากรั้วไม้เป็นเนินดินที่พูนสูงขึ้นมา เต็มไปด้วยวัชพืชรกเรื้อมากมายปกคลุม ดูแล้วชวนคิดว่าน่าจะเป็นฐานของเจดีย์ ซึ่งน่าจะอยู่ด้านหลังของพระอุโบสถหลังนี้ และเมื่อเดินเลาะรั้วด้านนอกไปอีกก็ไม่พบชิ้นส่วนใดๆ ของวัดอีกต่อไป เพราะบ้านเรือนของผู้คนปลูกทับไปบนพื้นที่ๆ สันนิษฐานว่าเป็นอาณาบริเวณของวัดกุฎินั้นเอง
ร่องรอยซากที่อาจเคยเป็นฐานเจดีย์หรือพระปรางค์
วัดกุฎิ จึงเหลือเพียงซากอิฐเล็กๆ ที่หลุดหายไปจากความทรงจำ ทิ้งเรื่องเล่าจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของการพลิกแผ่นดินอยุธยา โดยขุนนางผู้ยิ่งใหญ่อย่างเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ที่สามารถพาตัวเองให้ผงาดขึ้นครองบัลลังก์กรุงศรีอยุธยา ไม่ว่าพระองค์จะได้ชื่อว่าเป็นขุนนางผู้มักใหญ่ใฝ่สูง, ทรราชย์ผู้เหี้ยมโหด หรือขุนนางผู้แย่งชิงราชสมบัติก็ตาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือจุดเริ่มต้นความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา
อ้างอิง
๑. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๔ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
๒. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๔ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
๓. พระราชกระทู้ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และคำสนองพระราชกระทู้ของพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ว่าด้วย พระเจ้าปราสาททอง
๔. จดหมายเหตุวันวลิต : รายงานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสงครามสืบราชสมบัติ หลังการสวรรคคของสมเด็จพระอินทรราชา พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๒๒ แห่งกรุงศรีอยุธยา
๖. แผนที่พระนครศรีอยุธยาของพระยาโบราณราชธานินทร์ พ.ศ.๒๔๖๙
1
ตีพิมพ์แล้วใน วารสารเมืองโบราณ
ปีที่ 41 ฉบับที่ 2 เมษายน-มิถุนายน 2558
โฆษณา