12 พ.ค. 2020 เวลา 12:47 • การศึกษา
ทำสัญญากู้เงินเพราะถูกข่มขู่!
การทำสัญญา หรือทำนิติกรรมประเภทใด ๆ ก็ตามจะต้องเกิดขึ้นด้วยความสมัครใจของทุกฝ่ายจึงจะสมบูรณ์ และมีผลผูกพันตามกฎหมาย
ในทางกลับกัน ถ้านิติกรรมสัญญานั้นไม่ได้เกิดขึ้นด้วยความสมัครใจ แต่เกิดขึ้นเพราะถูกข่มขู่ล่ะ สัญญาดังกล่าวจะยังคงมีผลผูกพันตามกฎหมายหรือไม่
เรื่องนี้คงต้องพิจารณาว่า การข่มขู่นั้น...
1. เป็นการข่มขู่ว่าจะเกิดอันตรายอันใกล้หรือไม่ และ
2. ร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่ต้องกลัวหรือไม่
เช่น A ยกปืนขึ้นจ่อที่ศีรษะของ B โดยขู่ว่าถ้า B ไม่ยอมเซ็นชื่อยกที่ดินให้จะถูกยิงทันที
ถ้าการทำนิติกรรมสัญญาได้เกิดขึ้นจากเหตุผลทั้ง 2 ข้อนี้แล้ว จะมีผลทำให้สัญญาดังกล่าวมีผลเป็น “โมฆียะ” หรือแปลเป็นภาษาคนทั่วไปก็คือ สัญญานั้นยังคงมีผลสมบูรณ์จนกว่าคนที่ถูกข่มขู่ (หรือทายาท) ได้บอกล้างโมฆียะกับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งแล้ว
ผลของการบอกล้างโมฆียะก็คือ ทำให้สัญญานั้นเสียเปล่า หรือที่เรียกว่าเป็น “โมฆะ” มาแต่เริ่มแรก และให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม แต่ถ้าพ้นวิสัยจะกลับคืนได้ ก็ให้ได้รับค่าเสียหายชดใช้แทน
แต่บางครั้ง การข่มขู่ก็ไม่ได้มีผลทำให้นิติกรรมสัญญานั้นเป็นโมฆียะเสมอไป เพราะกฎหมายไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่ ถ้าเป็นการใช้สิทธิตามปกติที่คนส่วนใหญ่มักจะนิยมใช้กัน
ลองมาดูตัวอย่างจากคดีนี้ครับ...
จำเลยเช่ารถยนต์จากโจทก์ แต่กลับเอารถไปจำนำกับคนอื่นแล้วไม่สามารถนำมาคืนได้ เพราะไม่มีเงินค่าไถ่รถที่จำนำไว้
โจทก์จึงแจ้งความเพื่อดำเนินคดี
ต่อมาโจทก์และจำเลยเจรจากัน โดยโจทก์ให้จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงิน “โดยข่มขู่จำเลยว่าถ้าไม่ยอมทำสัญญากู้ยืมเงินจะดำเนินคดีอาญา”
จำเลยจึงยอมทำสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์
กรณีนี้ ศาลได้วินิจฉัยว่า การกระทำของโจทก์เป็นการขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยม ไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่ตามกฎหมายอันจะมีผลทำให้สัญญากู้ยืมเงินเป็นโมฆียะ
สัญญากู้เงินจึงมีผลใช้บังคับได้
(อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5426/2553)
References:
- กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 “การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่เป็นโมฆียะ ...การข่มขู่ที่จะทำให้เป็นโมฆียะนั้น จะต้องเป็นการข่มขู่ที่จะให้เกิดภัยอันใกล้จะถึงและร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว...”
- กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 “การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยม ไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่..”
ยังมีช่องทางอื่น ๆ ให้ติดตามกัน 😉
- สำหรับเอาไว้อ่านบทความดีๆ facebook.com/Nataratlaw
- สำหรับเอาไว้ดูรูปสวย ๆ กับอินโฟกราฟิก
- สำหรับสายย่อ เอาไว้รับข่าวหรือข้อกฎหมายแบบกระชับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา