12 พ.ค. 2020 เวลา 13:50
ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๒)
1
*** การเทครัวชาวลาวล้านช้างครั้งที่ ๑ ปี พ.ศ.๒๓๒๒
2
มูลเหตุที่แท้จริงแห่งการยกทัพตีล้านช้างและกวาดต้อนผู้คนลงสู่ภาคกลางของสยามในครั้งนี้นั้นคือต้องการผู้คน แรงงาน ทหาร เพื่อเติมเต็มพื้นที่ภาคกลางของสยาม ที่รกร้างผู้คนจากศึกสงครามกับพม่า และเตรียมกำลังไว้รับศึกพม่าในอนาคต
แผนที่แสดงการเดินทัพของสยามในการยกทัพเข้าตีล้านช้าง ระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๑๙-๒๓๒๒
ขณะนั้นอาณาจักรลาวล้านช้างได้แตกออกเป็น ๓ อาณาจักรคือ อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบางและอาณาจักรล้านช้างจำปาสัก โดยที่อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์และล้านช้างหลวงพระบางมีเหตุขัดข้องหมองใจและยกทัพรบรากันอยู่ตลอด
ในขณะที่อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ เจ้าองค์บุญ(สิริบุญสาร)ได้ยกทัพจากเมืองหนองบัวลุ่มภูพร้อมการสนับสนุนจากพระวรราชวงศา(พระวอ)เข้ายึดอำนาจจากเจ้านอง และได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าสิริบุญสาร พระวอในขณะนั้นไม่พอใจที่ตนเองไม่ได้ตำแหน่งอุปราชตามที่ขอไว้ จึงยกทัพอพยพครัวเรือนมาสร้างบ้านเมืองที่เมืองหนองบัวลุ่มภู สถาปนาชื่อใหม่ว่า นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน ภายหลังเรียกว่า กมุทมาต
เจ้าสิริบุญสาร ก็ส่งทัพตามตีจนพระตา(พี่ชายพระวอ)ตายในสนามรบ เจ้าพระวอจึงอพยพผู้คนไปสร้างเมืองใหม่ และพึ่งเจ้าไชยกุมารแห่งอาณาจักรล้านช้างจำปาสัก แต่เจ้าไชยกุมารเกรงจะผิดใจกับล้านช้างเวียงจันทน์ จึงไม่ใคร่ดูแลดีนัก เจ้าพระวอจึงยกทัพและไพร่พลลงมาตั้งบ้านเรือนที่ดอนมดแดง(ต่อมาคือเมืองอุบลราชธานี) และขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ภายหลังเจ้าสิริบุญสารให้กองทัพยกมาตีดอนมดแดง เจ้าพระวอตายในสนามรบ ท้าวก่ำบุตรชายจึงนำความกราบทูลต่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
จึงเป็นเหตุให้สยามได้ใช้โอกาสนี้หาเหตุยกทัพตีอาณาจักรล้านช้าง ซึ่งหากเป็นดังเหตุที่ว่าก็ควรยกทัพทำศึกกับอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ แต่การหาเป็นดังนั้นไม่ สยามยกทัพตีอาณาจักรล้านช้างจำปาสัก อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ และบังคับให้อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง เป็นเมืองประเทศราชด้วย
ศึกในครั้งนั้นสยามแบ่งทัพออกเป็น ๒ สาย คือ
ทัพเจ้าพระยาสุรสีห์(บุญมา) ตามหมายเลข 2 ในแผนที่ ยกทัพไปเกณฑ์ชาวเขมรได้ประมาณสามหมื่นคน แล้วยกทัพขึ้นไปทางจำปาสัก ให้ทหารทะลายช่องสะดำ และช่องสะองเพื่อให้สามารถเล่นเรืออ้อมหลี่ผีได้ จากนั้นล่องน้ำโขงเข้าตีนครจำปาสัก เจ้านครจำปาสักสู้ไม่ได้จึงยอมอ่อนน้อม
ทัพหลวงของสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก(ทองด้วง) ยกทัพจากกรุงธนบุรีตามหมายเลข 1 ไปเมืองนครราชสีมา เมืองหน้าด่านของธนบุรี จากนั้นแยกทัพออกเป็น ๒ สายคือ
ทัพหมายเลข 3 ยกทัพตีเมืองพิมาย นางรอง ขุขันธ์ สุรินทร์ ศรีษะเกษ เมืองเดช(เดชอุดม) แล้วสมทบกับทัพของเจ้าพระยาสุรสีห์ตีเมืองจำปาสักได้ในปี พ.ศ.๒๓๑๙ จากนั้นจึงยกทัพตีเมืองมหาไชยกองแก้ว เมืองศรีโคตรบูร แล้วนัดพบกับทัพเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกตีเมืองเวียงจันทน์
หมายเลข 4 ทัพหลวง ของสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ยกทัพเข้าตีเมืองภูเขียว ภูเวียง หนองหานน้อย เมืองละคร(นครพนม) เมืองปากห้วยหลวง จากนั้นจึงยกทัพตีเมืองหน้าด่านของเวียงจันทน์อันได้แก่ พะโค เวียงคุก พานพร้าว ศรีเชียงใหม่
อีกด้านหนึ่ง คืออาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง เจ้าสุริยะวงศ์ได้ยินข่าวการยกทัพมาตีล้านช้างเวียงจันทน์ของสยาม ก็รู้สึกยินดีว่าจะได้แก้แค้นล้านช้างเวียงจันทน์ และจะได้มีโอกาสเข้าปกครองอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ด้วย จึงยกทัพจากทางเหนือเข้าตีนครเวียงจันทน์ร่วมกับกองทัพสยาม
ขณะนั้นกองทัพเวียงจันทน์บัญชาการรบโดยเจ้าอุปราชนันทเสน ซึ่งบัญชาการรบอย่างเข้มแข็ง กองทัพสยามบุกตีนครเวียงจันทน์หลายครั้งก็ไม่สามารถตีเอาเมืองได้ จึงคิดกลอุบายเพื่อทำให้ทหารเวียงจันทน์เสียขวัญ โดยตัดหัวเชลยคนลาวที่จับได้แล้วให้หญิงสาวชาวลาวพายเรือนำศรีษะของเชลยและทหารลาวไปร้องป่าวประกาศขายยังหน้ากำแพงเมือง ทำให้ทหารที่อยู่ประจำกำแพงเสียขวัญ ที่ได้เห็นความทารุณโหดร้าย เกิดความย่นย่อในการรบ
ภายหลังสยามจึงเข้าตีหักเอาเมืองเวียงจันทน์ได้ เจ้าสิริบุญสาร และพระมเหสีหนีออกจากเมืองไปยังเมืองคำเกิด ก่อนที่เมืองเวียงจันทน์จะแตก สยามได้เข้าไปกวาดเอาทรัพย์สินมีค่าในวังและวัดวาอาราม นอกจากนั้นยังนำพระแก้วมรกต(ปัจจุบันอยู่ที่วัดพระแก้ว กรุงเทพฯ)และพระบาง พระพุทธรูปสำคัญของเวียงจันทน์กลับไปยังกรุงธนบุรีด้วย
สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก จึงจับกุมเอาเจ้าอุปราชนันทเสน เจ้าอินทวงศ์ เจ้าอนุวงศ์ เจ้านางทองสุก ราชโอรสและราชธิดาของพระเจ้าสิริบุญสารไปเป็นองค์ประกันยังกรุงธนบุรี โดยกักและคุมตัวอยู่ที่วังบางยี่ขัน (ตีนสะพานพระราม๘ ในปัจจุบัน)
การที่ทัพของอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง ยกทัพมาช่วยตีกระหนาบนครเวียงจันทน์ แทนที่จะเป็นความชอบ สยามกลับยกกองทัพไปประชิดเมืองหลวงพระบาง และบังคับให้ล้านช้างหลวงพระบางอยู่ใต้อำนาจของสยามเช่นกัน จากนั้นจึงยกกองทัพไปกวาดต้อนผู้คนยังดินแดนสิบสองจุไท เมืองพวนเชียงขวาง แล้วรวบรวมกับเชลยของเวียงจันทน์กวาดต้อนลงไปยังสยาม
พระแก้วมรกต สยามนำมาจากเวียงจันทน์หลังจากเสร็จศึกในปี พ.ศ.๒๓๒๒
*** การเทครัวชาวลาวล้านช้างครั้งที่ ๒ ตลอดสมัยรัชกาลที่ ๑ โดยเฉพาะในปี พ.ศ.๒๓๓๔ และ พ.ศ.๒๓๓๗
หลังจากเสร็จศึกกับล้านช้างในปี พ.ศ.๒๓๒๒ กรุงธนบุรีก็เกิดจลาจลขึ้นในปี พ.ศ.๒๓๒๕ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากพระเจ้าตากสิน และปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์มีพระนามว่าพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก(รัชกาลที่๑) และสถาปนาน้องชายคือ เจ้าพระยาสุรสีห์เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลมหาสุรสิงหนาถ(วังหน้า) และย้ายเมืองหลวงมายังอีกฝั่งของกรุงธนบุรี โดยให้สร้างพระบรมหาราชวังขึ้น จากนั้นก็สร้างวัดพระแก้วเพื่อประดิษฐานพระแก้วมรกตที่นำมาจากเวียงจันทน์ ซึ่งขณะนั้นประดิษฐานที่วัดแจ้ง กรุงธนบุรี
วัดพระแก้วที่สร้างขึ้นนี้ส่วนมากใช้ช่างชาวลาว โดยยึดรูปแบบของวัดพระแก้วที่เวียงจันทน์ ดังนั้นสถาปัตยกรรมและโครงสร้างวัดพระแก้ว กรุงเทพฯจึงคล้ายกับวัดพระแก้วหรือหอพระแก้วเวียงจันทน์
1
หลังจากสร้างวัดพระแก้วแล้วเสร็จจึงย้ายองค์พระแก้วจากวัดแจ้ง มายังวัดพระแก้วอันเป็นวัดในพระบรมมหาราชวังดังเช่นวัดพระศรีสรรเพ็ช กรุงศรีอยุธยา มีชื่ออย่างเป็นทางการว่าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
และในราวปี พ.ศ.๒๓๒๖ รัชกาลที่๑ โปรดให้เจ้านันทเสนกลับไปครองนครเวียงจันทน์ พร้อมกันนั้นพระราชทานพระบางคืนแก่เจ้านครเวียงจันทน์องค์ใหม่ด้วย
ในปี พ.ศ.๒๓๒๘ พม่ายกกองทัพใหญ่เข้าตีกรุงเทพฯ เรียกสงครามครั้งนั้นว่า สงครามเก้าทัพ เพราะยกทัพมาถึง ๙ ทัพ ๙ เส้นทาง ศึกครั้งนั้นสยามเสียไพร่พลไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไพร่พลชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนมา แต่สยามเป็นฝ่ายได้ชัย พม่ายกทัพกลับ
หลังจากเสร็จศึกกับพม่า สยามคงแลเห็นถึงภัยจากพม่าที่จะมาถึงไม่ช้าไม่เร็วในอนาคต จึงรีบสะสมไพร่พล ในราวปี พ.ศ.๒๓๒๙ กองทัพสยามทั้งทัพบกและทัพเรือบุกตีอาณาจักรปัตตานี กวาดต้อนเชลยชาวปัตตานีมาหลายหมื่นคน เชลยปัตตานีนี้ เป็นชาวมุสลิม สยามกวาดต้อนไปไว้ที่อยุธยาจำนวนมาก อีกส่วนหนึ่งแบ่งมาไว้รอบๆพระนคร ซึ่งปรากฏเป็นชุมชนชาวมุสลิมในปัจจุบันจำนวนมากแถบบางกะปิ ราษฎร์บูรณะ ราชเทวี และอีกหลาย ๆ ที่(เรื่องนี้ผมคงจะได้เล่าให้ฟังในโอกาสต่อไป)
ส่วนเชลยจากหัวเมืองลาวนั้นสยามเร่งให้มีการกะเกณฑ์และกวาดต้อนมาไม่ขาดสาย โดยถือเป็นความชอบของนายทัพที่สามารถกวาดต้อนเชลยลาวมาได้
ในราวปี พ.ศ.๒๓๓๐ เจ้านันทเสนที่มีความเคียดแค้นเจ้าสุริยะวงศ์เจ้านครหลวงพระบาง ที่นำกองทัพมาตีเวียงจันทน์ช่วยสยามตั้งแต่ศึกปี ๒๓๒๒ ได้มีใบบอกมายังกรุงเทพว่าเจ้าสุริยะวงศ์คิดการเป็นกบถ รัชกาลที่ ๑ มีบัญชาให้เจ้านนันทเสนนำกองทัพตีหลวงพระบางจับเจ้าสุริยะวงศ์ส่งตัวมายังกรุงเทพ ทัพเวียงจันทน์ตีนครหลวงพระบางแตก และจับตัวเจ้าสุริยะวงศ์ส่งลงไปกรุงเทพเพื่อสอบสวน ภายหลังเจ้าสุริยะวงศ์ถูกปล่อยตัวกลับมาครองเมืองดังเดิม
ศึกครั้งนี้เชลยลาวจากหลวงพระบางถูกส่งไปเป็นส่วยหลายพันครัวเรือน ทั้งนี้อาณาจักรล้านช้างทั้ง ๓ อาณาจักรต้องส่งส่วยแก่สยาม เป็นเครื่องของที่สยามกำหนด รวมทั้งส่วยที่เป็นคนลาว ดังนั้นคนลาวล้านช้างจึงถูกส่งลงไปภาคกลางของสยามเรื่อยมา
ในปี พ.ศ.๒๓๓๒ มีการเกณฑ์คนลาว คนเขมรจำนวนมาก ทั้งที่เป็นเชลยเดิมและที่ส่งมากจากล้านช้างอีกหลายกลุ่ม ขุดคลองพระนครด้านตะวันออก ตั้งแต่วัดเชิงเลนขึ้นมาถึงวัดสะแก (วัดสระเกษในปัจจุบัน) ไปถึงวัดบางลำภูให้ออกบรรจบแม่น้ำทั้งสองข้าง ขุดคลองหลอดจากคูเมืองเดิมสองคลองออกไปบรรจบคูใหม่นอกเมือง แล้วให้ขุดคลองใหญ่เหนือวัดสระเกษ พระราชทานนามว่า คลองมหานาค
ในปี พ.ศ.๒๓๓๔ ทัพเจ้านันทเสนเจ้านครเวียงจันทน์เข้าตีเมืองพวน เมืองแถง (เดียนเบียนฟู ในปัจจุบัน) กวาดต้อนไทพวน ไทดำ ได้จำนวนมาก ส่งลงไปยังกรุงเทพฯ เพื่อขอแลกกับเชลยชาวเวียงจันทน์แถวเมืองสระบุรี แต่คำขอได้รับการปฏิเสธ ชาวไทดำ ไทพวนที่ถูกส่งลงไปครั้งนี้ให้ไปอยู่แถบเฉลิมกรุงที่เคยเรียกว่าถนนบ้านลาว บางส่วนให้ไปอยู่แถบนครนายก
เหตุการณ์ที่เจ้านันทเสนขอแลกเชลยไทพวน ไทดำ กับเชลยชาวเวียงจันทน์นี้ ได้ส่งผลให้ราชสำนักสยามไม่ไว้วางใจเจ้านันทเสน
จนกระทั่งในปี พ.ศ.๒๓๓๗ มีผู้ฟ้องร้องว่าเจ้านันทเสนและพระบรมราชาเจ้าเมืองนครพนมคิดการเป็นกบถ ทัพจากกรุงเทพฯนำกำลังขึนมาตีเวียงจันทน์ จับเจ้านันทเสนและพระบรมราชาส่งตัวลงไปกรุงเทพฯ ทั้งยังกวาดต้อนชาวลาวลงไปกรุงเทพฯอีกครั้ง เจ้านันทเสนถูกคุมขังและไต่สวนที่กรุงเทพฯ ภายหลังสิ้นพระชนม์ในกรุงเทพฯ (นัยว่าถูกประหารชิวิตหรือถูกทรมานจนสิ้นพระชนม์)
ในปี พ.ศ.๒๓๓๘ รัชกาลที่ ๑ จึงแต่งตั้งเจ้าอินทวงศ์ พระอนุชาเจ้านันทเสนขึ้นไปครองเวียงจันทน์
การกวาดต้อนคนลาวครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง คือในปี พ.ศ.๒๓๕๘ และ พ.ศ.๒๓๖๐ ราวสมัยรัชกาลที่ ๒ มีการส่งส่วย และครัวลาวจากแถวเมืองภูครัง หรือภูฆัง(หลวงพระบาง) ชาวลาวกลุ่มนี้เรียกตัวเองว่าลาวครั่ง ชาวลาวครั่งถูกกวาดต้อนมาหลายพันครัวเรือนถูกส่งมาพักแถบเมืองพิษณุโลก เล้วส่งต่อมายังกรุงเทพฯ ครัวลาวจำนวนนี้ถูกส่งไปไว้แถบเมืองนครไชยศรี เมืองราชบุรี อย่างไรก็ตามมีการกวาดต้อนชาวลาวครั่งมาอีกหลายระลอก ดังปรากฏชุมชนลาวครั่งจำนวนมากในหลายจังหวัดเช่น จังหวัดนครปฐม จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดชัยนาท จังหวัดราชบุรี จังหวัดอุทัยธานี เป็นต้น
คงไม่มีการกวาดต้อนชาวลาวล้านช้างครั้งใดจะมากเท่ากับการกวาดต้อนชาวลาวล้านช้างที่เกิดขึ้นระหว่างปี พ.ศ.๒๓๖๙-๒๓๗๑ ในคราวศึกเจ้าอนุวงศ์ ดังที่ผมจะเล่าให้ฟังในคราวต่อไป ...
โฆษณา