13 พ.ค. 2020 เวลา 10:00 • สุขภาพ
ALCOHOL GEL !!!!
ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด จะพบได้ทั้งในรูปแบบยา และเครื่องสำอาง ซึ่งสถานะทางกฎหมายจะขึ้นอยู่กับปริมาณ alcohol และวัตถุประสงค์ในการใช้ จากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กำหนดปริมาณแอลกอฮอล์ที่ใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือชนิดไม่ล้างออก ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของเหลวหรือเจลก็ตาม จะต้องมีปริมาณแอลกอฮอล์ไม่น้อยกว่า 64.8 % w/w
แอลกอฮอล์ที่ใช้ภายนอกในทางการแพทย์ ส่วนใหญ่หมายถึง isopropyl alcohol หรือ ethyl alcohol โดยแอลกอฮอล์ทั้งสองชนิดนี้มีคุณสมบัติเป็น antiseptic/disinfectant (ทำลายเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และ ไวรัสได้) ซึ่งกลไกหลักของแอลกอฮอล์ในการทำลายเชื้อก่อโรค คือ ทำให้สารโปรตีนภายในเซลล์ของเชื้อมีโครงสร้างเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ส่งผลให้โปรตีนเหล่านี้สูญเสียหน้าที่หรือคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับเซลล์ ส่งผลให้เชื้อตายนั่นเอง
Ethyl alcohol (ethanol) เป็นแอลกอฮอล์ที่เป็นที่รู้จักดี เพราะนอกจากจะใช้ภายนอกแล้ว ยังเป็นส่วนประกอบของอาหาร เครื่องดื่ม รวมถึงเป็นส่วนประกอบของตำรับยาหลายชนิดทั้งยาฉีด ยาน้ำสำหรับทาผิว หรือยาน้ำสำหรับรับประทาน
isopropyl alcohol (isopropanol) เป็นแอลกอฮอล์ที่มีวัตถุประสงค์สำหรับการใช้ภายนอกไม่เหมาะแก่การรับประทานเพราะมีความเป็นพิษต่อระบบประสาท ระบบทางเดินอาหารมากกว่า ethyl alcohol
แม้ว่าแอลกอฮอล์ทั้งสองชนิดจะมีกลไกการทำงานเช่นเดียวกัน แต่การศึกษาที่ เปรียบเทียบประสิทธิภาพแอลกอฮอล์ทั้งสองชนิดพบว่า isopropyl alcohol มีประสิทธิภาพดีกว่า ethyl alcohol เมื่อทดสอบกับ E.coli และ S.aureus แต่ ethyl alcohol จะครอบคลุมเชื้อไวรัสได้หลายชนิดมากกว่า isopropyl alcohol
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่มีผลต่อประสิทธิภาพของแอลกอฮอล์ มีหลายปัจจัย ได้แก่ ความเข้มข้นของปริมาณแอลกอฮอล์ ระยะเวลาการสัมผัส ชนิดของเชื้อก่อโรค เทคนิคการใช้ คุณสมบัติหรือส่วนประกอบอื่น ๆ ของตำรับ
ปัจจัยที่ 1 ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ ตามคำแนะนำของ CDC (Centers for Disease Control and Prevention ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ ) ระบุว่าความเข้มข้นที่เหมาะสมที่สุดคือ 60-90 %(V/V) ซึ่งครอบคลุมเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อไวรัส อย่างไรก็ตาม พบว่าหากมีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์สูงกว่า 90%(V/V) ประสิทธิภาพของแอลกอฮอล์จะลดลงอย่างมากเนื่องจากเหตุผลอย่างน้อย 2 ประการ คือ
1) ปริมาณแอลกอฮอล์ในผลิตภัณฑ์มีความเข้มข้นที่สูงจึงเกิดการระเหยได้เร็ว ระยะเวลาที่เชื้อก่อโรคจะถูก alcohol ทำลายจึงไม่เพียงพอ และ
2) เมื่อ %แอลกอฮอล์สูง สัดส่วนของน้ำที่เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์จะลดลง ซึ่งน้ำเป็นส่วนประกอบสำคัญของกระบวนการทำลายเซลล์ของเชื้อก่อโรค
ดังนั้น ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ที่นิยมมากที่สุดในเวชปฏิบัติจะอยู่ที่ 70%(V/V) เนื่องจากเป็นความเข้มข้นที่น้อยที่สุดที่จะได้ผลดีที่สุด
ปัจจัยที่ 2 ที่มีผลต่อประสิทธิภาพของแอลกอฮอล์ คือ ระยะเวลาการสัมผัส โดยอย่างน้อยควรมีเวลาสัมผัสประมาณ 30 วินาที และปริมาณแอลกอฮอล์ที่ใช้ควรเพียงพอด้วย ตามที่ทราบกันดีว่าแอลกอฮอล์สามารถระเหยได้อย่างรวดเร็ว ยิ่งมีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์สูงก็จะยิ่งระเหยเร็วขึ้น ระยะเวลาการสัมผัสกับพื้นผิวก็อาจจะไม่เพียงพอได้ ซึ่งผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือในรูปแบบของเจล อาจช่วยชะลอการระเหยของแอลกอฮอล์ให้ช้าลงได้
ปัจจัยที่ 3 ชนิดของเชื้อก่อโรค เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อประสิทธิภาพ เนื่องจากเชื้อก่อโรคแต่ละชนิดมีความไวต่อแอลกอฮอล์แตกต่างกัน เช่น แบคทีเรียแกรมบวกมีแนวโน้มที่จะทนต่อแอลกอฮอล์ได้ดีกว่าแกรมลบ ไวรัสที่เป็น Lipophilic เช่น herpes, HIV, SARS-COV MERS-COV และ COVID-19 ด้วย จะไวต่อแอลกอฮอล์ แต่ ไวรัส Hydrophilic เช่น enterovirus, rotavirus foot-and-mouth disease virus จะทนต่อแอลกอฮอล์ได้มากกว่าไวรัสที่เป็น Lipophilic
ปัจจัยที่ 4 คุณสมบัติและส่วนประกอบอื่น ๆ ของตำรับ พบว่า แอลกอฮอล์มีฤทธิ์ antiseptic ที่ pH ต่ำได้ดีกว่าที่ pH สูง เล็กน้อย และการใช้สารเคมีอื่น ๆ ที่มีกลไกต่างไปจากแอลกอฮอล์สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อก่อโรคได้ เช่น การเพิ่ม organic acid เช่น citric acid หรือ urea ปริมาณเล็กน้อยในตำรับอาจเพิ่มประสิทธิภาพการเป็น antiseptic/disinfectant ให้ออกฤทธิ์นานขึ้น
ดังนั้น การใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ผลิตภัณฑ์จะต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 70%(V/V) โดยใช้ปริมาตรประมาณ 3 มิลลิลิตร ถูกระจายให้ทั่วมือทั้งด้านหน้า-ด้านหลัง-ซอกนิ้ว-ปลายเล็บ แล้วปล่อยให้แห้งเองโดยมีเวลาสัมผัสอย่างน้อย 25-30 วินาที สำหรับผู้ที่มีเหงื่อออกมากที่มือ หรือ สัมผัสสิ่งสกปรก เลือด หรือ สารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก เสมหะ น้ำตา ควรล้างมือด้วยน้ำและสบู่ และซับให้แห้งก่อนใช้แอลกอฮอล์ เนื่องจากความเหนียว หรือโปรตีนต่างๆในสารคัดหลั่ง ทำให้ประสิทธิภาพของแอลกอฮอล์ลดลง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา