13 พ.ค. 2020 เวลา 03:31 • ประวัติศาสตร์
วัดแม่นางปลื้ม กับตำนาน "แม่ปลื้ม" ที่แฝงมากับการตลาด
พระนครศรีอยุธยา เมืองประวัติศาสตร์และมรดกโลกของเรา มีอะไรให้น่ากังวลอยู่เสมอนะครับ
ถ้าเป็นเมื่อหลายสิบปีก่อน เราจะกลัวกับปัญหาการทำลายโบราณสถานให้ได้รับความเสียหาย ทั้งโดยตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ
แต่มาคราวนี้ เราจะได้เห็นปัญหาที่แฝงมาเงียบๆ ในรูปแบบของ "ประวัติศาสตร์" ที่มีบางกลุ่มบางคณะนำมาบิดเบือนและสวมรอยเข้าไปกับสถานที่บางแห่งกันอย่างเนียนๆ สร้างความเชื่อขึ้นใหม่ ป้อนข้อมูลอันเป็นเท็จให้กับคนที่ไม่รู้ และนานวันเข้า เรื่องโกหกที่ถูกพูดกรอกหูซ้ำๆ สักวัน มันก็กลายเป็นเรื่องที่คิดว่าจริง....
ดังเช่นกรณีที่เกิดขึ้นกับวัดแม่นางปลื้ม ในปัจจุบัน...!!
สิงห์ บนฐานเจดีย์ประธานของวัดแม่นางปลื้ม
จากโบราณสถานและโบราณวัตถุที่ขุดพบ ทำให้สามารถที่จะกำหนดอายุของวัดแม่นางปลื้มว่าได้ถูกสร้างในช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนต้น แต่ก็มีร่องรอยการบูรณะมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา กล่าวถึงวัดแม่นางปลื้ม ในช่วงโค้งสุดท้ายของสงครามเสียกรุง ปี พ.ศ.2310 เมื่อพม่าใช้วัดแม่นางปลื้มเป็นฐานทัพให้กำลังพลเข้าขุดอุโมงค์เผารากกำแพงตรงบริเวณทำนบรอ จนทำให้กำแพงทลายลง ทหารพม่าสามารถเข้าเมืองได้สำเร็จ ปิดฉากความรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยานับแต่บัดนั้น
ในวันนี้ วัดแม่นางปลื้ม ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ พร้อมกับเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งหนึ่งของอยุธยา เมื่อกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม จู่ๆ ก็ปรากฏสิ่งแปลกปลอมบางอย่างขึ้นมา นั่นก็คือป้ายบอกเล่าถึงประวัติศาสตร์ที่มาของวัดแม่นางปลื้ม โดยโยงไปถึงเรื่องที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช คราวที่ได้เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค ไปพบยายแก่คนหนึ่งที่ชื่อ “แม่ปลื้ม” (ดังภาพ)**
ป้ายบอกประวัติและตำนานของวัดแม่นางปลื้ม
เรื่องสมเด็จพระนเรศวร กับคุณยายท่านนี้ ปรากฏในหลักฐานชั้นต้นมาจากพงศาวดารฉบับวัน วลิต เพียงฉบับเดียว เมื่ออ่านรายละเอียดที่วัน วลิต บันทึกจากปากคำของคนอยุธยาที่เล่าเรื่องนี้ให้ฟัง จะพบว่าไม่มีการเอ่ยชื่อคุณยายรวมทั้งสถานที่เกิดเหตุแต่อย่างใด....
เมื่อไม่มีชื่อคุณยาย ทั้งยังไม่ได้ระบุชื่อวัดอย่างชัดเจน แล้วคนที่เขียนประวัติของวัดไว้บนป้ายนี้ รู้ได้อย่างไร ว่าพระนเรศวร เสด็จฯ มาบูรณะวัดนี้และพระราชทานนามว่า “วัดแม่นางปลื้ม”
ถ้าจะให้เดา ก็อาจเป็นเพราะเหตุการณ์นั้นถูกนำมาแพร่หลายเมื่อปรากฏอยู่ในฉากภาพยนตร์แห่งสยามประเทศ “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 2” นั่นเอง
ดังนั้น การที่มีคนหัวใส นำชื่อ “แม่นางปลื้ม” มาโยงกับเรื่องราวที่วัน วลิตบันทึกไว้ เพียงเพื่อเพิ่มมูลค่าของการตลาดให้แก่วัด ในช่วงเวลาที่ภาพยนตร์ได้กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาให้ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง
ขอย้ำอีกที ว่าเป็นเพียงแค่หวังผลด้านการตลาดเท่านี้ใช่ไหมครับ ส่วนประวัติศาสตร์จะถูกผิดอย่างไร ช่างหัวมัน และที่น่าตกใจยิ่งกว่านี้ก็คือ ในเว็ปไซต์ข้อมูลที่เกี่ยวกับวัดแม่นางปลื้ม แทบทุกเว็ป ล้วนเผยแพร่ข้อมูลประวัติของวัดตามป้ายที่ขึ้นไว้ตอนนี้แบบเป๊ะๆ เลยทีเดียว...
นี่ไม่ใช่กรณีแรกที่ “ประวัติศาสตร์ตัดต่อพันธุกรรม” ถูกนำมาสวมกับวัดนี้ ก่อนหน้านี้ก็มีอีกหลายวัด ที่นำประวัติศาสตร์แบบ “นั่งทางใน” มาสวมรอยได้อย่างแนบเนียน เป็นวัดไหนบ้างนั้น เราก็ลองไปสืบหากันดู
อย่างที่บอกไว้ว่า “เรื่องโกหก เมื่อพูดซ้ำไปเรื่อยๆ สักวันมันก็จะถูกทำให้เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง” เราอยากให้คนรุ่นหลัง ที่ได้มาเที่ยว อ่านประวัติของวัด แล้วก็ซาบซึ้งตรึงใจกับเรื่องมโนทางประวัติศาสตร์แบบที่เป็นอยู่กันจริงๆ หรือ....!?
โฆษณา