18 พ.ค. 2020 เวลา 16:44 • สุขภาพ
คืนชีพเชื้อปริศนาฆ่าล้างโลก
ตอนที่ 7: คืนชีพมือสังหารร้อยล้านศพ
การกลับมาจากนรกของเชื้อไวรัสฆาตกรรุ่นเดอะที่แม้แต่โควิด-19 ยังต้องกราบ เริ่มขึ้นในปี 1951 เมื่อชายผู้หนึ่งกำลังควักเอาเนื้อปอดออกจากร่างของ 'เด็กหญิงโบว์แดง' ในชุดน้ำเงินที่ถูกขุดขึ้นจากสุสานเยือกแข็งในอลาสก้า
เขาและทีมงานได้ขุดร่างขึ้นมาอีก 4 ร่างเพื่อเก็บเนื้อปอด แล้วนำขึ้นเครื่องบินใบพัดเพื่อเดินทางกลับ
ระหว่างทางเมื่อเครื่องบินต้องแวะจอดเติมน้ำมัน ชายผู้นี้รีบเอาตัวอย่างเนื้อปอดลงมาจากเครื่องบิน
"ฟู่" เสียงอัดอากาศดังขึ้นพร้อมควันพวยพุ่ง ท่ามกลางความงงงวยของผู้โดยสารท่านอื่น เมื่อชายคนนั้นพ่นแก๊สจากถังดับเพลิงใส่กล่องบรรจุชิ้นเนื้อปอดที่ได้มา
1
เมื่อกลับถึงมหาวิทยาลัยไอโอวา (Iowa) อเมริกา เขาก็ได้นำเนื้อปอดนี้มาบดสกัดฉีดเข้าไปในไข่ไก่ที่ผสมแล้ว จากนั้นก็เฝ้ารอการกลับมาของเชื้อมัจจุราชด้วยใจระทึก
1
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
รอต่อไป
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
รออีกหน่อย
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
#$%!@ คุณหลอกดาว!
แต่เดี๋ยวก่อน เรื่องยังไม่จบง่าย ๆ เท่านี้ ชายผู้นี้มีชื่อว่า โยฮัน ฮุลทิน (Johan Hultin) บุรุษผู้ถูกลืมเลือนไปครึ่งศตวรรษ ก่อนจะหวนกลับมาเป็นตำนานอย่างยิ่งใหญ่ เจ้าของสมญานาม "อินเดียนน่าโจนส์แห่งวงการวิทยาศาสตร์" (Indiana Jones of the scientific set)
ดัดแปลงจาก https://www.pinterest.com/pin/332070172503951102/ https://www.hiclipart.com/free-transparent-background-png-clipart-tuthw
คำเตือน: บทความนี้ยาววววววววมาก เกินหนึ่งหมื่นหกพันคำ เพราะมีตัวละครและองค์ความรู้หลายอย่างที่เกี่ยวพันต่อเนื่องกันทั้งเรื่อง ทำให้ถ้าแบ่งเป็นตอน ๆ อาจจะต่อไม่ติดและไม่ได้อรรถรสเต็มที่
เตรียมพร้อมไว้ให้ดี เคลียร์สมองให้โล่งเข้าไว้ หลังจากปูพื้นกันเล็กน้อย ผมจะพาทุกท่านดำดิ่งไปด้วยกันรวดเดียวจนจบกับการผจญภัยไปใน "มหากาพย์คืนชีพไวรัสมฤตยู"
1
เราลองมาปูพื้นเรื่องเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza virus) กันซักหน่อย
ไวรัสไข้หวัดใหญ่มีสารพันธุกรรมเป็นอาร์เอ็นเอเดี่ยวสายลบแบบเป็นท่อน ๆ
ขยายความอีกนิด
อาร์เอ็นเอ (RNA) คล้ายกับดีเอ็นเอ (DNA) ต่างกันที่ตัวน้ำตาลเป็นชนิดไรโบส (ribose) แทนที่จะเป็น ดีออกซีไรโบส (deoxyribose) แบบในดีเอ็นเอ และเบสที่อยู่ใน RNA จะเป็น A U C G ต่างกับ DNA ที่เป็น A T C G
สิ่งมีชีวิตที่เป็นเซลล์ล้วนแต่ใช้สารพันธุกรรมหลัก (genome) เป็น ดีเอ็นเอสายคู่ (double-stranded DNA) แล้วค่อยถอดรหัส (transcription) เป็นอาร์เอ็นเอซึ่งแปล (translation) ออกมาเป็นโปรตีนอีกที
1
ในขณะที่พวกไวรัสเป็นได้สารพัดทั้งดีเอ็นเอ อาร์เอ็นเอ สายเดี่ยว สายคู่ แบบเส้น แบบวงแหวน แบบที่หนีบผม (hairpin) แบบคู่เหมือน (diploid)
ถ้าเป็นอาร์เอ็นเอสายเดี่ยว ก็จะแยกต่อว่าเป็น สายบวก (positive sense) เช่น SARS-CoV-2 คือสายที่เป็นพันธุกรรมหลักสามารถแปลเป็นโปรตีนได้โดยตรง หรือ สายลบ (negative sense) เช่นไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งสายพันธุกรรมหลักที่เป็นสายลบต้องถอดรหัสเป็นสายบวกก่อนเพื่อใช้ในการสร้างโปรตีนอีกที
แต่ลักษณะที่พบน้อยในไวรัสอื่นคือ พันธุกรรมที่เป็นอาร์เอ็นเอเดี่ยวสายลบของมัน มีลักษณะแยกเป็นท่อน ๆ (segmented) ถึง 8 ท่อน (influenza A) แต่ละท่อนจะมียีน 1 หรือ 2 ยีนที่โค้ดรหัสสร้างโปรตีนต่าง ๆ เช่น เอนไซม์ที่ใช้ในการก๊อปเพิ่มจำนวนอาร์เอ็นเอ โปรตีนโครงสร้างต่าง ๆ ของไวรัส
โครงสร้างของไข้หวัดใหญ่ (influenza A) ที่มีจีโนมลักษณะเป็นท่อน ๆ 8 ท่อน ที่มา: Taubenberger et al. Science Translational Medicine 24 Jul 2019
ลักษณะพันธุกรรมหลักหรือจีโนม (genome) ที่เป็นท่อนนี้เอง ทำให้มันสามารถเรียงสับเปลี่ยนกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ต่างสายพันธุ์ได้อย่างง่ายดาย
อาร์เอ็นเอแต่ละท่อนก็เหมือนอินฟินิตี้สโตน (infinity stone) หรือไส้แซนด์วิช ถ้ารวบรวมแต่ละท่อนจากไวรัสแต่ละสายพันธุ์ มาผสมกันได้อย่างเหมาะเจาะลงตัวถูกปากมนุษย์ ก็จะออกอาละวาดลดจำนวนประชากรได้อย่างง่ายดายประหนึ่งดีดนิ้ว
ไข้หวัดใหญ่ 1918 ถือเป็นหนึ่งในสุดยอดผลงานของธรรมชาติที่มีสงครามโลกครั้งที่ 1 ช่วยเร่งให้เกิดขึ้น แน่นอนว่ามนุษย์ไม่สามารถต่อต้านมันได้เลย
เมื่อมันกวาดล้างมนุษย์ไปบางส่วนจนพอใจแล้ว ก็เหมือนที่ธานอสว่าไว้ การจะทำลายอินฟินิตี้สโตนก็ต้องอาศัยอินฟินิตี้สโตนเอง การจะทำลายไข้หวัดใหญ่ 1918 ดั้งเดิมให้สิ้นซาก ก็ต้องอาศัยไวรัสไข้หวัดใหญ่กลายพันธ์ุสายพันธุ์ใหม่ ๆ ตามฤดูกาล มาระบาดแทนที่ในประชากร
ในไม่ช้าไข้หวัดใหญ่ 1918 ก็สาบสูญไปจากโลกใบนี้
อย่างไรก็ตามความร้ายกาจของไข้หวัดใหญ่ 1918 ที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไป 50-100 ล้านคน (โควิด-19 จนถึงตอนนี้ยังตายแค่ประมาณ 3 แสน) ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต่างลุ่มหลงอยากใกล้ชิดสนิทสนมเชื้อเซเลปนี้เป็นการส่วนตัว จะได้สัมภาษณ์ได้ว่าทำไมคุณโหดไม่บันยะบันยัง
น่าเสียดายที่ไม่มีใครเก็บตัวอย่างจากคนไข้ที่มีเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 1918 ไว้ในตู้แช่แข็ง เอ....ไม่มีเลยในโลกนี้จริงหรือเปล่า?
ในปี 1950 สามสิบสองปีหลังการระบาดใหญ่ คุณฮุลทิน (Johan Hultin) นักศึกษาหนุ่มชาวสวีเดนวัย 24 ปี ผู้ซึ่งเป็นคามิโอชิ (แฟนพันธุ์แท้) ของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 1918 ทำงานวิจัยอยู่ที่มหาวิทยาลัยไอโอวา (Iowa) อเมริกา วันหนึ่งเขาไปได้ยินคำพูดลอย ๆ ในวงอาหารมื้อเที่ยงที่จะเปลี่ยนเป้าหมายชีวิตเขาไปตลอดกาล
1
"ทุกอย่างได้ทำไปหมดแล้วเพื่อจะหาสาเหตุของไข้หวัดใหญ่ 1918 แต่เราก็ยังไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมันอยู่ดี สิ่งเดียวที่เหลือ คือใครซักคนต้องขึ้นเหนือไปขุดศพที่ถูกถนอมไว้ในชั้นดินเยือกแข็ง (permafrost) ในนั้นอาจจะมีไวรัสนี้อยู่"
คำพูดนี้กล่าวโดยศาสตราจารย์ วิลเลียม เฮล (William Hale) ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาอันโด่งดังในยุคนั้น
(permafrost คือพื้นดินที่อุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็งตลอดเวลาต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ปี หรือนานกว่านั้น อาจเป็นร้อย ๆ ปี ก็ได้ มันเปรียบเสมือนช่องแช่แข็งของตู้เย็นที่ไม่เคยถอดปลั๊กและไม่เคยกดปุ่มละลายน้ำแข็ง)
ชั้นของ permafrost จะแข็งตลอดปี ในขณะที่ active layer จะมีช่วงที่ละลายกับแข็งสลับไปตามฤดู เครดิตภาพ: Benjamin Jones, USGS. Public domain (modified) ที่มา: https://climatekids.nasa.gov/permafrost/
ลักษณะศพที่ขุดขึ้นมาจาก permafrost ในไซบีเรีย เครดิตภาพ: Theves et al. (2011) ที่มา: https://contagions.wordpress.com/2011/08/03/hunting-pathogens-in-siberian-permafrost-graves/
ฮุลทิน ต้องการจะเป็น 'ใครซักคน' จึงได้เปลี่ยนหัวข้อวิทยานิพนธ์ ของเขาจากทำวิจัยเชื้อไข้หวัดใหญ่ในห้องแลปอย่างเดียวเป็นออกไปตามล่าหาเชื้อในฝันของเขา ซึ่งอาจารย์ที่ปรึกษาของเขา ดร.อัลเบิร์ต แมคกี้ (Albert McKee) ก็อนุญาตและกลายมาเป็นหัวหน้าโครงการสำรวจนี้
ฮุลทินผู้นี้ไม่ใช่หนุ่มเนิร์ดคงแก่เรียนธรรมดา ก่อนหน้านี้ไม่นาน เขาได้ไปช่วยงานนักบรรพชีวินวิทยา (Paleontologist) ชาวเยอรมันนามว่า ออตโต ไกสท์ (Otto Geist) ในการขุดเอางาแมมมอสในอลาสก้ามาแล้ว
ฮุลทินจึงได้ติดต่อไกสท์ให้ช่วยสอบถามนักบวชและคนในพื้นที่เพื่อหาตำแหน่งสุสานของผู้เสียชีวิตด้วยไข้หวัดใหญ่ 1918 ในบริเวณที่เป็นชั้นดินเยือกแข็ง (permafrost) ของอลาสก้า
2
ทางมหาวิทยาลัยก็เอาด้วยกับโครงการสุดโลดโผนนี้ โดยให้ทุนถึง 1 หมื่นดอลล่าร์ เทียบเท่ากับเงินในสมัยนี้ถึงกว่า 3 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเยอะมากสำหรับนักศึกษาจากต่างประเทศอย่างฮุลทิน
ในปี 1951 ฮุลทินขึ้นเครื่องบินใบพัดไปอลาสก้าฝ่าความหนาวเย็นไปยังเมืองโนม (Nome) เพื่อหาสุสานเยือกแข็งเป็นแห่งแรก
ทว่าก่อนหน้านี้แม่น้ำบริเวณนั้นเกิดเปลี่ยนเส้นทางและเกิดน้ำท่วมมาละลายชั้นดินเยือกแข็ง ทำให้ศพบริเวณนี้ไม่สามารถคงสภาพไว้ได้
1
เขาจึงโดยสารเครื่องบินมุ่งขึ้นเหนือไปหมู่บ้าน เวลส์ (Wales) ที่ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ 1918 หลายร้อยคน แม้เขาจะพบสุสานขนาดใหญ่ แต่พื้นที่ฝังศพไม่ได้คงสภาพของการเป็นชั้นดินเยือกแข็งตลอดเวลา
คราวนี้เขาตัดสินใจไปต่อที่หมู่บ้าน เบรวิก มิสชั่น (Brevig Mission) แต่ที่นี่ไม่มีที่ให้เครื่องบินลงจอดได้ นักบินจึงพาไปลงที่ชายฝั่งในหมู่บ้านข้าง ๆ ฮุลทินต้องขึ้นเรือล่าวาฬข้ามน้ำ แล้วเดินเท้าฝ่าความหนาวเย็นอันหฤโหดอีก 6 ไมล์ จึงจะถึงที่หมาย
เบรวิก มิสชั่น (Brevig Mission - ชื่อเดิมคือ Teller Mission) รัฐอลาสก้า (Alaska) ณ ที่แห่งนี้เมื่อ 33 ปีก่อนได้เกิดโศกนาฏกรรม 5 วัน 72 ศพ จากการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 1918 เหลือเพียงเด็กกับวัยรุ่นเพียง 8 คนที่รอดชีวิต (อ่านเพิ่มเติมได้ในตอนที่ 1) และ 3 ใน 8 ที่รอดชีวิตได้มาต้อนรับและให้ความช่วยเหลือฮุลทินที่มาเยือนในอีก 33 ปีต่อมา
ฮุลทินอธิบายว่าหากได้ไวรัสมาจะสามารถผลิตวัคซีนเพื่อป้องกันเชื้อนี้ได้ เหล่าผู้อาวุโสของหมู่บ้านจึงอนุญาตให้ทำการขุดศพ
1
พื้นดินที่แข็งเป็นน้ำแข็ง ขุดได้ยากมาก จนเขาต้องก่อกองไฟเพื่อให้น้ำแข็งละลายบางส่วน เมื่อขุดไปถึงวันที่สองจึงพบศพเด็กสาวโบว์แดง อายุประมาณ 12 ขวบซึ่งอยุ่ในสภาพดี เขาจึงทำการขุดลงไปอีกเพื่อหาศพเพิ่ม
ออตโต ไกสท์ และอาจารย์ที่ปรึกษาของเขาตามมาสบทบ (บางรายงานกล่าวว่าทั้งหมดออกเดินทางมาด้วยกันแต่แรก) เมื่อขุดไปลึกถึง 6 ฟุต เขาก็เจอศพสภาพดีอีก 3 ศพ (บางรายงานบอก 4)
รูปการขุด permafrost ของฮุลทิน (ซ้ายสุด) และทีมงานในปี 1951 เครดิตภาพ: Johan Hultin ที่มา: https://www.cdc.gov/flu/images/pandemic-resources/1951-virus-dig.jpg
ฮุลทินใส่เพียงแค่ถุงมือ กับหน้ากากอนามัยธรรมดาเท่านั้น แบบไม่กลัวเชื้อมรณะนี้เอาซะเลย เขาตัดเก็บเนื้อปอดจากศพดังกล่าวเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่ในขวดฉนวน (Thermos) แช่ในน้ำแข็งแห้ง (dry ice = solid CO2) รักษาความเย็น แล้วขนขึ้นเครื่องบินกลับไอโอวา
ระหว่างทางน้ำแข็งแห้งได้ระเหิดไปหมด เวลาจอดเครื่องบินเติมน้ำมัน ฮุลทิน ต้องใช้ถังดับเพลิงที่บรรจุ CO2 ฉีดพ่นออกมาเพื่อสร้างน้ำแข็งแห้งใหม่เพิ่ม สำหรับใช้ในการรักษาเนื้อปอดให้เย็นจัดตลอดเวลา (ถ้าใครไปทำเล่นที่บ้านต้องระวัง frost bite นะครับ)
ที่มหาวิทยาลัยไอโอวา ฮุลทินบดสกัดเนื้อปอดที่ได้มาไปฉีดเข้าถุงน้ำคร่ำของตัวอ่อนไก่ในฟองไข่ ซึ่งเป็นวิธีที่ไวมากในการเพาะหาเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้นทั้งนั้น
เอาไปฉีดใส่หนู, หนูตะเภา, ตัวเฟอร์เร็ต ก็ไม่มีตัวไหนติดเชื้อหรือเกิดอาการของไข้หวัดใหญ่
ฮุลทินสมัยหนุ่ม การใช้ปากดูดเอาตัวอย่างที่อาจมีไวรัสขึ้นมาในหลอดจัดได้ว่าเป็นการกระทำที่อันตรายสุด ๆ ในยุคนั้น โชคยังดีที่ตัวอย่างของเขาไม่พบไวรัสที่ยังติดต่อได้ เครดิตภาพ: Johan Hultin ที่มา: https://www.cdc.gov/flu/pandemic-resources/reconstruction-1918-virus.html
งานของฮุลทินล้มเหลว ไม่สามารถเพาะเชื้อไข้หวัดใหญ่ 1918 ได้ วิทยานิพนธ์ของเขาไม่สำเร็จ (ถ้าผมเป็นอาจารย์ จะให้ผ่านด้วยเกรด A+++ เกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทอง โครงการท้าทายขนาดที่ว่านักศึกษาอาจเสียชีวิตจากเครื่องบินตกหรือหนาวตาย ให้สอบตกได้ไง!)
1
ผมเชื่อว่าการทำในสิ่งที่ท้าทายที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนด้วยความอุตสาหะ แม้จะล้มเหลวก็ยังได้เรียนรู้มากกว่าความสำเร็จที่ได้จากการทำอย่างเดิมซ้ำ ๆ ตามผู้อื่นโดยที่อาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทำเช่นนั้นไปทำไม
ส่วน ดร.แมคกี้ อาจารย์ของเขา ก็จะต้องฝันร้ายไปอีกนานด้วยการถูกประนามในประเด็นขาดมาตรการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพขณะขุดศพ ที่อาจจะปลดปล่อยเชื้อมรณะออกมาสู่โลก
ถ้ามองด้วยองค์ความรู้ในปัจจุบัน เราก็ทราบได้ทันทีว่าโอกาสสำเร็จของฮุลทินมีน้อยมากตั้งแต่ต้น
ไวรัสไข้หวัดใหญ่เพิ่มจำนวนสูงสุดใน 2 วันแรกของการเจ็บป่วย แล้วลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ตอนที่ผู้ป่วยเสียชีวิตซึ่งส่วนมากเกิดจากปอดบวมในวันท้าย ๆ เชื้อไวรัสที่ยังติดต่อได้แทบไม่มีแล้ว คงเหลือแต่เศษซากไวรัสกับการอักเสบของเนื้อเยื่อ
ไวรัสไข้หวัดใหญ่ มีสารพันธุกรรมเป็นอาร์เอ็นเอสายเดี่ยว ซึ่งสลายตัวได้ง่าย ในเนื้อเยื่อหรือเชื้อโรคที่ปนเปื้อน ต่างก็มีเอนไซม์ (RNase) สำหรับย่อยอาร์เอ็นเอสายเดี่ยวเต็มไปหมด ดังนั้นโอกาสได้ไวรัสที่มีพันธุกรรมสมบูรณ์สามารถก่อโรคได้จึงยากมาก แต่ยังมีโอกาสเจออาร์เอ็นเอที่แตกหักเป็นชิ้น ๆ ได้
ไวรัสไข้หวัดใหญ่ มีเยื่อไขมันหุ้มเหมือนเซลล์มนุษย์ ซึ่งเสียหายง่าย ไม่ทนเท่าพวกไวรัสที่มีแต่เปลือกโปรตีนหุ้มอย่างเดียว
ในระหว่างการเดินทาง มีช่วงที่น้ำแข็งแห้งหมด ต้องคอยเติมเป็นพัก ๆ ด้วยเครื่องดับเพลิง ทำให้เกิดการแกว่งของอุณหภูมิขึ้นลง เป็นลักษณะที่เรียกว่า freeze-thaw cycle คือทำให้เป็นน้ำแข็ง สลับกับละลายซ้ำหลาย ๆ รอบ ซึ่งมีผลทำลายโครงสร้างต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเซลล์ แบคทีเรีย ไวรัส โปรตีน ดีเอ็นเอ อาร์เอ็นเอ ฯลฯ
1
กรณีที่เชื้อที่มีชีวิตโผล่ขึ้นมาจากศพที่ออกมาจากชั้นดินเยือกแข็งจะเป็นไปได้มากขึ้น ถ้าเป็นเชื้อที่มีความอึดถึกอย่างยิ่ง
ตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริง คือการระบาดของโรคแอนแทร็กซ์ (anthrax) ในไซบีเรีย เชื่อว่าเกิดจากโลกร้อนทำให้ชั้นดินเยือกแข็ง (permafrost) ละลาย ศพของกวางเรนเดียร์ใน permafrost ที่ตายจากแอนแทร็กซ์เมื่อหลายทศวรรษก่อนจึงโผล่ขึ้นมา กลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อได้
เชื้อแอนแทร็กซ์ [Bacillus anthracis] สร้างสปอร์ (spore) ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทนทานต่อการฆ่าให้ตายที่สุดที่มนุษย์รู้จัก เวลาเราต้องการฆ่าเชื้อให้เกลี้ยง (sterilization) โดยใช้หม้อความดัน (autoclave) นึ่งด้วยความร้อนเหนือจุดเดือด (อย่างน้อย 121 องศาเซลเซียส) ก็เพื่อทำลายสปอร์ของพวกแบคทีเรียนั่นเอง
ขนาดสภาพแวดล้อมสุดโหด สปอร์ของแบคทีเรียก็ยังทนได้ ยิ่งถ้าถูกเก็บอย่างดีอยู่ในชั้นดินเยือกแข็ง อย่าว่าแต่สิบหรือร้อยปี ถ้ามันจะคงอยู่เป็นพันหรือหมื่นปีแล้วยังก่อโรคได้ก็ไม่แปลก
ว่ากันว่าในปีเดียวกัน มีโครงการลับของกองทัพอเมริกา ชื่อ โปรเจค จอร์จ (Project George) โดยความร่วมมือของมหาลัยชั้นนำอย่าง Havard Univerity, University of Michigan, Walter Reed Army Medical Center
ศพของผู้เสียชีวิตอีก 15 ศพจากหลายแห่งในอลาสก้า ได้ถูกขุดขึ้นมาเก็บเนื้อปอด แต่ศพส่วนใหญ่สภาพไม่ค่อยดี เนื่องด้วยชั้นดินเยือกแข็ง (permafrost) อาจมีช่วงที่ละลายในระหว่าง 33 ปีที่ผ่านมา
เช่นเดียวกับของฮุลทิน ชิ้นเนื้อที่ได้มาไม่มีชิ้นไหนที่แยกไวรัสไข้หวัดใหญ่ 1918 ได้สำเร็จ
น่าเสียดายที่ในปี 1951 เรายังไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องสารพันธุกรรมนัก การตรวจหาลำดับเบสของไวรัสจึงยังทำไม่ได้ อย่าว่าแต่สารพันธุกรรมที่เป็นอาร์เอ็นเอเลย แม้แต่ดีเอ็นเอที่เรารู้จักดีกว่าก็พึ่งมีคนรู้ว่ามันจัดเรียงตัวเป็นเกลียวคู่ในปี 1953 นี่เอง (Watson & Crick)
วีรกรรมของฮุลทินก็ค่อย ๆ เลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ ไม่มีใครพร่ำเพร้อถึงการจะได้ยลโฉมหน้าไวรัสมัจจุราชอีกต่อไป
จนกระทั่ง...
ในปี 1994 เกมการเมืองของอเมริกาจะดึงเอาเชื้อมรณะกลับเข้าสู่วังวนของความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์อีกครั้ง
ตอนนั้นเป็นสมัยของประธานาธิบดี บิล คลินตัน มีการงัดข้อกันระหว่างเดโมแครตกับรีพลับลิกัน ในประเด็นของการตัดงบประมาณต่าง ๆ ลง หนึ่งในนั้นคือข้อเสนอให้ยุบสถาบันพยาธิวิทยากองทัพ (Armed Forces Institute of Pathology - AFIP) ณ วอชิงตันดีซี อเมริกา
เจฟเฟอรี่ ทอเบนเบอร์เกอร์ (Jeffery Taubenberger) เป็นหัวหน้าแผนกพยาธิวิทยาโมเลกุล (Molecular Pathology) ที่เขาพึ่งก่อตั้งขึ้นมาใหม่ได้เพียง 1 ปีในสถาบัน AFIP
เขาต้องหาทางให้นักการเมืองรู้สึกประทับใจ เห็นคุณค่าของ AFIP ให้ได้
ความสามารถของทอเบนเบอร์เกอร์กับแผนกของเขา คือการตรวจทางโมเลกุลเพื่อหาลักษณะของรหัสพันธุกรรมในชิ้นเนื้อด้วยเทคนิคที่พึ่งพัฒนาขึ้นมาได้ไม่กี่ปี ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถตรวจหารหัสดีเอ็นเอในชิ้นเนื้อที่ถูกตรึงด้วยฟอร์มาลินและฝังอยู่ในพาราฟิน (formalin-fixed paraffin embedded tissue - FFPE) จากเดิมที่ตรวจได้เฉพาะจากเนื้อเยื่อสด หรือเนื้อเยื่อที่แช่แข็งเท่านั้น
เกร็ดความรู้ คุณหรือพ่อแม่พี่น้องเคยผ่าตัดส่งชิ้นเนื้อตรวจหรือไม่ แล้วเขาทำกันอย่างไร
FFPE เป็นวิธีการมาตรฐานที่ใช้ในการเตรียมชิ้นเนื้อที่ส่งมาตรวจทางพยาธิวิทยานานนับร้อยปีจนถึงปัจจุบัน
สมมุติผู้ป่วยเป็นก้อนที่ปอดแล้วหมอศัลยกรรมตัดก้อนไปส่งตรวจทางพยาธิวิทยาว่าใช่มะเร็งหรือไม่
ชิ้นเนื้อของมนุษย์ปกติจะนิ่มเกิน ยากที่จะแล่ให้เป็นแผ่นบาง ๆ พอที่เอามาส่องดูบนสไลด์ด้วยกล้องจุลทรรศน์ได้ (ถ้าหนาเกินก็จะทึบแสง มองอะไรไม่เห็น)
ตามปกติได้ชิ้นเนื้อปุ๊บหมอผ่าตัดก็จะโยนมันลงแช่ฟอร์มาลิน (formaldehyde or paraformaldehyde) ซึ่งทำหน้าที่สร้างพันธะโยงใย (cross-link) ระหว่างหมู่เอมีน (-NH2) ของโปรตีนหรือสารพันธุกรรม ทำให้เนื้อเยื่อแข็งตัวคง สภาพ โมเลกุลต่าง ๆ อยู่นิ่งไม่เคลื่อนย้าย รวมทั้งเชื้อโรคทั้งหลายก็จะตายไปด้วย
แล้วจึงทำการดึงน้ำออกจากชิ้นเนื้อด้วยแอลกอฮอล์ที่เข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ ตามด้วย ไซลีน (Xylene หรือ clearing agent อื่น ๆ)
จากนั้นไปแช่ในพาราฟินเหลวที่อุณหภูมิสูงหน่อย พอทิ้งให้เย็นชิ้นเนื้อก็จะถูกฝังในพาราฟินที่เย็นตัวกลายเป็นก้อนแข็ง หมอจะนิยมเรียกว่า
"บล็อคพาราฟิน" (paraffin block) ซึ่งแข็งแรงพอที่จะเอาไปแล่ได้
1
ชิ้นเนื้อฝังอยู่ในบล็อคพาราฟิน (FFPE) ที่มา: https://www.geneticistinc.com/blog/paraffin-embedded-tissue-blocks
จากนั้นเอาบล็อคนี้ไปวาง ฝานด้วยใบมีดบางพิเศษ (microtome) ได้เป็นแผ่นบางเฉียบประมาณ 5-10 ไมครอน (ไม่ถึงหนึ่งใน 100 ของ 1 มิลลิเมตร) ไปแปะบนสไลด์ เพื่อเข้าสู่กระบวนการละลายพาราฟิน เติมน้ำ และทำการย้อมสีสำหรับตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ว่ามีเนื้อร้าย เซลล์ผิดปกติ มีเชื้อโรค ฯลฯ หรือไม่
พาราฟินบล็อคที่มีเนื้อเยื่อฝังอยู่นี้สามารถคงสภาพอยู่ที่อุณหภูมิห้องโดยไม่ต้องแช่เย็นได้นานมาก ๆ ตั้งแต่หลายสิบปี จนถึงเป็นร้อยปี
เมื่อนักวิทยาศาสตร์สามารถหาวิธีสกัดดีเอ็นเอหรืออาร์เอ็นเอจากบล็อคพาราฟินได้ ก็เท่ากับว่าเราสามารถนำชิ้นเนื้อเก่า ๆ ที่เหมือนเป็นไทม์แมชชีนย้อนกลับไปหาผู้ป่วยเมื่อหลายสิบปีก่อน มาใช้ตรวจด้วยเทคนิคชั้นสูงในปัจจุบันได้
กลับมาที่ ทอเบนเบอร์เกอร์ งานถนัดของเขาคือ การตรวจหาความผิดปกติของรหัสดีเอ็นเอในชิ้นเนื้อมะเร็งเพื่อที่จะได้ใช้เป็นฐานในการสร้างยาที่มุ่งทำลายเฉพาะเซลล์มะเร็ง (targeted therapy) โดยไม่ทำอันตรายเซลล์ปกติ
แต่งานแบบนี้ดูไม่เซ็กซี่เร้าใจพอ ยุคไหน ๆ คนก็เป็นมะเร็งกันทั้งนั้น สถาบันใหม่ ๆ ที่พึ่งก่อตั้งก็ทำงานนี้ได้ ไม่จำเป็นต้องมีสถาบันเก่าคร่ำครึนับร้อยปีอย่าง AFIP ที่ ทอเบนเบอร์เกอร์ทำงานอยู่
แม้ว่าตั้งแต่เกิดมาเขาจะไม่เคยลงเรียนวิชาไวรัสเลยก็ตาม แต่เขาก็นึกขึ้นได้ว่าถ้าเขาสามารถหาบล็อคพาราฟินชิ้นเนื้อปอดจากผู้เสียชีวิตด้วยไข้หวัดใหญ่ 1918 แล้วถอดรหัสพันธุกรรมของมันได้เป็นครั้งแรกในโลกจากชิ้นเนื้อที่เก็บไว้ตั้งแต่ 76 ปีก่อน ย่อมเป็นอะไรที่ดูน่าตื่นเต้นไม่น้อย นักการเมืองจะได้เห็นคุณค่าว่าถ้าไม่ใช่สถาบันเก่าแก่อย่าง AFIP ที่มีชิ้นเนื้อเก็บอยู่นับล้านสะสมมาเป็นร้อยปี ไม่มีทางทำอะไรแบบนี้ได้
โชคดีที่ข้อมูลชิ้นเนื้อทั้งหมดถูกบันทึกไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้ ทอเบนเบอร์เกอร์ สามารถใช้คีย์เวิร์ดอย่างไข้หวัดใหญ่ (flu) ค้นเจอชิ้นเนื้อปอดที่อยู่ในช่วงการระบาดจากทหารที่ตายด้วยไข้หวัดใหญ่ 1918
แผนการคือสกัดเอาสารพันธุกรรมอาร์เอ็นเอออกมาจากชิ้นเนื้อที่อยู่ในบล็อคพาราฟิน ทำการเพิ่มจำนวนอาร์เอ็นเอของไวรัสเป็นล้านเท่าด้วยเทคนิค RT-PCR (เทคนิคเดียวกับที่เราป้ายคอหรือหลังโพรงจมูกไปตรวจโควิด-19 นั่นล่ะ) หลังจากนั้นจึงเอาสายพันธุกรรมของไวรัสที่เพิ่มจำนวนมาแล้ว ไปทำการหาลำดับเบส (sequencing)
ผู้ที่มารับหน้าที่นี้ในแลปของทอเบนเบอร์เกอร์ คือ คุณ แอน รี้ด (Ann Reid) หลังจากพยายามอยู่ 1 ปี เธอก็ยังหาสารพันธุกรรมของไวรัสไม่พบ จนต้องไปขอความช่วยเหลือ เอมี่ คราฟ (Amy Krafft) ในแผนกเดียวกัน ซึ่งพึ่งประสบความสำเร็จในการหาสารพันธุกรรมของไวรัสไข้หวัดใหญ่ 1957 (Asian Flu) จากชิ้นเนื้อในบล็อคพาราฟินได้สำเร็จ
Dr. Jeffery Taubenberger and Dr. Ann Reid เครดิตภาพ: National Museum of Health and Medicine Online Exhibit - MIS 377212. ที่มา: https://www.cdc.gov/flu/pandemic-resources/reconstruction-1918-virus.html
ปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งคือ ผู้ป่วยที่ตายจากไข้หวัดใหญ่โดยมากเกิดจากภาวะปอดบวมจากเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนตามหลังการป่วยด้วยไวรัสไข้หวัดใหญ่ในระยะท้าย ซึ่งเป็นช่วงที่ไวรัสไม่เหลืออยู่ในปอดหรือเหลือน้อยมากแล้ว
ตัวอย่างที่ตรวจพบลักษณะปอดบวมจากแบคทีเรียจึงไม่เหมาะที่จะนำมาตรวจหาไวรัส
พบว่าผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ 1918 ที่หาชิ้นเนื้อปอดได้ ทั้งหมด 28 ราย มีภาวะปอดบวมแทรกจากแบคทีเรีย ถึง 27 รายครึ่ง
รายที่เป็นปอดบวมจากแบคทีเรียครึ่งหนึ่ง คือ พลทหาร รอสโค วอห์น (Roscoe Vaughan) ซึ่งเสียชีวิตวันที่ 26 กันยายน 1918 เพียง 6 วันหลังจากเริ่มป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ ขณะที่มีอายุได้ 21 ปี ศพของเขาได้รับการผ่าชันสูตร (autopsy) และชิ้นเนื้อจากปอดทั้งสองข้างถูกฝังผนึกไว้ในบล็อคพาราฟินเมื่อ 76 ปีก่อน
1
ความหวังเดียวของทอเบนเบอร์เกอร์กับรี้ดในตอนนั้นคือ "ปอดข้างขวา" ของพลทหารวอห์น ซึ่งมีลักษณะของการอักเสบจากไวรัส ซึ่งต่างจากปอดข้างซ้ายของเขาที่มีลักษณะของปอดบวมจากแบคทีเรีย เป็นคนเดียวใน 28 รายที่ยังเหลือปอดหนึ่งข้างที่ไม่มีแบคทีเรียมายุ่ง
ไวรัสไข้หวัดใหญ่มีขนาดของพันธุกรรมหลักหรือจีโนม (genome) ทั้งสิ้นประมาณ 13,000 เบส โดยแบ่งเป็นทั้งหมด 8 ท่อน (segment) ดังนั้นแต่ละท่อนมีความยาวเฉลี่ย 1,600 เบสกว่า ๆ ถ้าเป็นชิ้นเนื้อสด ๆ ที่ยังมีไวรัสร่างสมบูรณ์ เป็นไปได้ที่เราจะถอดรหัสไวรัสทั้งท่อนออกมาได้ในคราวเดียว
แต่ด้วยความเก่าของชิ้นเนื้อและฟอร์มาลินที่ทำให้เกิดพันธะโยงใย (cross-link) อีรุงตุงนังยึดเหนี่ยวโมเลกุลของอาร์เอ็นเอ ส่งผลให้อาร์เอ็นเอที่สกัดได้ แตกหักเป็นเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แต่ละชิ้นมักมีขนาดยาวไม่ถึง 150 เบส
ชิ้นส่วนไวรัส 1918 ที่รี้ดกับทอเบนเบอร์เกอร์กู้ขึ้นมาจากปอดขวาของพลทหารวอห์น มีทั้งหมด 9 ชิ้น แต่ละชิ้นมีขนาดสั้นมากตั้งแต่ 39 จนถึง 153 เบส
โดย 9 ชิ้นนี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวของจีโนม 4 ท่อนเท่านั้น (ไวรัสมีทั้งหมด 8 ท่อน) นี่เป็นก้าวเล็ก ๆ ก้าวแรกที่สำคัญของมนุษยชาติ
แต่ก้าวเล็ก ๆ นี้ไม่ได้รับการเหลียวแลจากวารสารอันดับหนึ่งของวงการวิทยาศาสตร์ Nature ซึ่งตอนแรกดูเหมือนให้ความสนใจงานของเขา แต่จู่ ๆ เพียง 2 วันถัดมา บรรณาธิการก็ปฏิเสธงานวิจัยนี้ที่ส่งมาตีพิมพ์โดยไม่ส่งให้ผู้ทรงคุณวุฒิทบทวนด้วยซ้ำ (reviewer)
คนแถวนี้บอกว่าให้เอางานวิจัยไปโยนทิ้งในป่าสิ จะได้มีผลงานอยู่ใน Nature (= ธรรมชาติ รับมุกทันมั้ยครับ)
และเพียง 1 วันหลังจากถูกปฏิเสธไป ก็มีเจ้าพ่อไข้หวัดใหญ่จาก National Institute for Medical Research (สถาบันที่ค้นพบไวรัสไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์เป็นครั้งแรก เมื่อปี 1933 อยู่ที่ Mill Hill ชานเมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ) ติดต่อทอเบนเบอเกอร์เพื่อขอใช้ตัวอย่างของเขา
มีความเป็นไปได้สูงที่เขาจะถูกเจาะยางจากกลุ่มมาเฟียร์ไข้หวัดใหญ่ พยายามสกัดไม่ให้เขาตีพิมพ์ผลงานสะท้านโลก
แต่ฟ้ามีตา ในที่สุดผลงานนี้ได้รับการตอบรับตีพิมพ์ในวารสาร Science ที่ศักดิ์ศรีเทียบเท่า Nature ในเดือน มีนาคม 1997
ลำดับเบสของเศษชิ้นส่วนทั้ง 9 ของไวรัสไข้หวัดใหญ่ 1918. Taubenberger et al. SCIENCE VOL. 275 21 MARCH 1997. ที่มา: https://science.sciencemag.org/content/275/5307/1793/tab-article-info
ท่อนที่มียีนชื่อ Hemagglutinin (HA) ซึ่งไวรัสใช้ในการจับกับผิวเซลล์ เป็นท่อนที่ได้ข้อมูลของลำดับเบสมามากที่สุด แต่ก็ยังคิดเป็นเพียง 15% ของทั้งท่อนเท่านั้น
1
หลังจากนั้นทีมของทอเบนเบอร์เกอร์ก็ใช้ชิ้นเนื้อเดิมในการค้นหาชิ้นส่วนอาร์เอ็นเออีก 85% ที่ขาดหายไปของยีน HA จนในที่สุดก็สามารถปะติดปะต่อได้ท่อนที่มียีน HA ที่สมบูรณ์เป็นท่อนแรกจาก 8 ท่อน แต่ตอนนี้ชิ้นเนื้อชิ้นเดียวที่มีอยู่ของพลทหารวอห์น ถูกใช้ไปจนเหลือไม่ถึงครึ่งแล้ว
แน่นอนว่าพันธุกรรมอีก 7 ท่อนของไวรัสไข้หวัดใหญ่ 1918 ไม่มีทางที่จะค้นหาเจอได้หมด ด้วยชิ้นเนื้อที่เหลือเพียงน้อยนิด โอกาสจะประกอบร่างไวรัสได้ครบทั้ง 8 ท่อน (10+ยีน) ช่างริบหรี่
ทอเบนเบอร์เกอร์ได้กล่าวถึงการค้นพบของเขาว่า มันเหมือน Raiders of the Lost Ark (ชื่อภาคแรกของภาพยนตร์ Indiana Jones) และเขาได้พบหีบพันธสัญญา (Ark of Convenant) แล้ว
หีบพันธสัญญา คือหีบศักดิ์สิทธิ์ในตำนานที่บรรจุแผ่นศิลาโอวาท 2 แผ่นที่จารึกบัญญัติ 10 ประการ (Ten Commandments) ที่โมเสสได้รับมาจากพระผู้เป็นเจ้า
ในเรื่อง Indiana Jones and the Raiders of the Lost Ark พวกนาซีเชื่อว่า หีบพันธสัญญา (Ark of Convenant) จะทำให้ผู้ครอบครองไม่มีวันพ่ายแพ้ (invincible) แต่เมื่อเปิดหีบขึ้นมากลับกลายเป็นหายนะแก่ผู้บังอาจลืมตามองสิ่งที่อยู่ภายใน
หายนะยังไง ดูเอาเองใน VDO คลิปครับ
น่าสนใจว่า ทอเบนเบอร์เกอร์ เปรียบเทียบการค้นพบของเขากับหีบพันธสัญญาในภาพยนตร์นี้ ที่ผู้เปิดต้องมีอันเป็นไปจากเทพมรณะ (Angel of Death)
หรือเขาก็ไม่แน่ใจในการกระทำของตัวเอง ว่าการแอบดูรหัส (พันธุกรรม) ของเทพมรณะไข้หวัดใหญ่ 1918 อาจจะนำมาซึ่งจุดจบของมวลมนุษยชาติ
ไม่ว่าเขาจะคิดยังไง หนังผจญภัยตามล่าเชื้อสุดขอบฟ้ายังต้องฉายต่อ และแน่นอนว่า ทอเบนเบอร์เกอร์ ไม่ใช่พระเอกของเรื่องนี้
~~~~
ได้เวลาเปิดเพลงธีม อินเดียนน่า โจนส์
คุณ โยฮัน ฮุลทิน (Johan Hultin) เจ้าเก่าของเรานั่นเอง ที่จะมาเดินเรื่องต่อกับภาคสองของการ "ล่าข้าม (ครึ่ง) ศตวรรษ"
หลังจากล้มเหลวกับการคืนชีพไวรัสไข้หวัดใหญ่ 1918 ฮุลทินที่จบหมอและเป็นนักนิติพยาธิวิทยา ก็ตระเวนทำงานตามโรงพยาบาลต่าง ๆ และมีงานศึกษาด้านเชื้อแอนแทรกซ์ ด้วยความกลัวที่จะมีผู้นำเชื้อพวกนี้มาใข้ก่อการร้ายด้วยอาวุธชีวภาพ (bioterrorism)
เขาทำนายเรื่องการใช้อาวุธเชื้อโรคล่วงหน้าไว้เกือบ 50 ปี ใคร ๆ ก็ว่าเขาอ่านนิยายวิทยาศตร์ (Science fiction) มากเกินไป จนกระทั่งมันถูกใช้งานจริงในปี 2001 ในเหตุการณ์ซองจดหมายใส่สปอร์แอนแทรกซ์นั่นเอง
1
จากการเห็นคนไข้ตายจากอุบัติเหตุรถยนต์ เขาก็หมกมุ่นกับความปลอดภัยรถยนต์ ติดตั้งตาข่าย แผ่นกันกระแทก ไปจนถึงกันชนไฮโดรลิก จนเขาได้รับรางวัลด้านความปลอดภัยในปี 1964
ระบบรักษาความปลอดภัยในรถของฮุลทิน ที่มา: Popular Mechanics May 1958
นอกจากนี้เขายังชื่นชอบการปีนเขา และเป็นผู้ที่มีอายุมากสุด (57 ปีในตอนนั้น) ที่ไปสกีที่ยอดเขา Mustagh Ata ของจีนในปี 1982 ขณะสกีลงจากยอดสูง 25,000 ฟุต เขาพลัดหลงกับเพื่อน ๆ จนมืดค่ำ แต่เขาก็คลำทางกลับถึงแคมป์ได้เองตอนตีสอง
ปี 1985 ฮุลทินอายุ 60 ปี แต่งงานใหม่! กับภรรยาคนที่สอง เอลลีน (Eileen) เขาสัญญากับภรรยาว่าหลังจากนี้เขาจะเลิกปีนเขา แต่ขอทิ้งทวนเป็นครั้งสุดท้ายด้วยการพิชิตภูเขาในปากีสถานชื่อ Karakoram ซึ่งไม่เคยมีใครปีนมาก่อนได้สำเร็จเป็นคนแรก
เอลลีนเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า เธอรู้ว่าชายชราที่เธอแต่งงานด้วย มีความปรารถนาที่ออกผจญภัยตลอดเวลา แต่นั้นมาชีวิตเธอก็เต็มไปด้วยความตื่นเต้น ไม่อาจคาดเดาได้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้นเมื่ออยู่กับเขา
หลังเกษียณในปี 1988 พอมีเวลาว่าง ฮุลทินก็ไปจบงานสร้างบ้านพักไม้ที่ถอดแบบ (replica) มาจากบ้านไม้สไตล์ Vastveit Loftet ของนอร์เวย์ในศตวรรษที่ 14 ที่เขาชื่นชอบมาตั้งแต่อายุ 10 ขวบ
Vastveit Loftet ที่มา:https://www.wikidata.org/wiki/Q20656072
ฮุลทินค่อย ๆ สร้างบ้านพักนี้มาเรื่อย ๆ ด้วยมือตัวเองล้วน ๆ เป็นเวลาถึง 32 ปี ทั้งตัดไม้เอง เดินท่อประปาเอง แก้ในส่วนปล่องไฟไป 3 รอบ ประตูอีก 4 รอบ กว่าจะพอใจ เขาคาดว่าบ้านไม้หลังนี้ของเขาจะอยู่ได้ประมาณ 800 ปี จากการศึกษาศาสตร์เรื่อง การสึกกร่อนของไม้ (wood erosion)
เขาได้กล่าวไว้ว่า "ความสุข" ไม่ได้อยู่ที่การได้เป็น "เจ้าของ" หรือได้ "ใช้สอย" [บ้าน] แต่อยู่ในตัว "กระบวนการ" ที่ได้เห็น [บ้าน] ค่อย ๆ พัฒนาขึ้นมาจากความพยายามของเขา
1
เป็นแนวคิดที่น่าสนใจว่าความสุขไม่ได้อยู่ที่ผลลัพธ์หรือเส้นชัย แต่อยู่ที่ตัวกระบวนการหรือระหว่างทางไปสู่จุดมุ่งหมายนั้น ถ้าเราแทนคำว่า [บ้าน] ด้วยคำอื่น ๆ เช่น [ต้นไม้] [สัตว์เลี้ยง] [ลูก] [นักเรียน] [เพื่อน] [แฟน] [ความสัมพันธ์] หรือ [ความรัก] ก็จะได้มุมมองที่น่าสนใจไปอีกแบบ
ในปี 1997 ด้วยวัย 72 ปี คุณปู่สุดเฟี้ยวของเรายังคงอ่านวารสาร Science ประเทืองรอยหยักสมองตัวเองเป็นกิจวัตร แล้วเขาได้เห็นงานวิจัยของทอเบนเบอร์เกอร์ ที่ลงตีพิมพ์เมื่อ 4 เดือนก่อน เชื้อไอดอลในดวงใจคุณปู่ฮุลทินได้ถูกนำมาต่อจิ๊กซอว์ขึ้นโครงแล้ว แต่ตอนนี้ยังเห็นแต่ติ่งหูขวา แน่นอนว่าเขาอยากเห็นภาพสมบูรณ์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 1918
กรกฎาคม 1997 ฮุลทินได้ติดต่อไปหาทอเบนเบอร์เกอร์และเล่าเรื่องการไปเก็บเนื้อปอดจากศพที่อยู่ในชั้นดินเยือกแข็ง (permafrost) ของอลาสก้า ซึ่งชิ้นเนื้อที่แสนสำคัญนี้ ไม่รู้หายไปไหนแล้ว
ในขณะที่สถานการณ์ดูเหมือนจะสิ้นหวัง...คุณปู่ก็เสนอตัวว่าเขาจะกลับไปสานต่อภารกิจที่เขาเริ่มต้นไว้!
1
1 สัปดาห์หลังจากนั้น คุณปู่ก็ออกจากซานฟรานซิสโกไปถึงอลาสก้าเพื่อเตรียมขุดศพอีกครั้งตามลำพัง (ผมไปภูเก็ตยังเตรียมตัวนานกว่านี้เลย เดาว่าเที่ยวบินไปอลาสก้าคงมีไม่ถี่นัก นี่คงเป็นเที่ยวบินที่ออกเดินทางเร็วสุดที่เขาหาได้) นั่นคงเพราะเขารู้ว่ามีคู่แข่ง!
เขาออกเงินค่าเดินทางเอง 3,200 ดอลล่าร์ (น้อยกว่าทุนที่เขาใช้เมื่อปี 1951 ถึง 20 เท่า ตอนนั้นเขาได้ทุน 10,000 ดอลล่าร์ ซึ่งเทียบเท่า 60,000 ดอลล่าร์ในปี 1997)
เขาพกไปแค่กล้องถ่ายรูป ถุงนอน และถุงเครื่องมือ 2 ถุง พร้อมทั้งฉกกรรไกรตัดกิ่ง (pruning shears) สำหรับแต่งสวนของเอลลีนไปด้วย เนื่องจากคุณปู่เกษียณแล้ว จึงไม่สามารถเอาชุดเครื่องมือชันสูตรศพที่แกเคยใช้ตอนเป็นหมอได้
ที่สำคัญเขาเอากรรไกรตัดกิ่งของภรรยาไปโดยไม่ขออนุญาตเธอ ช่างกล้า! (ไวรัสล้างโลกยังไม่น่ากลัวเท่าเมียที่โกรธเกรี้ยว)
ทว่าภารกิจนี้ คุณปู่อินเดียน่า โจนส์ ผู้โดดเดี่ยวของเราต้องดวลฝีมือกับทีมอเวนเจอร์ส!
ดัดแปลงจาก https://sites.psu.edu/endgame/2019/03/27/the-avengers/ https://www.hiclipart.com/free-transparent-background-png-clipart-tuthw
ปี 1992 (5 ปีก่อนที่คุณปู่ฮุลทินจะไปอลาสก้าเป็นครั้งที่สอง) นักภูมิศาสตร์สาว (geographer) วัย 26 ปี จากมหาวิทยาลัยวินเซอร์ (Windsor) และมหาวิทยาลัยโตรอนโต (Toronto) ประเทศแคนาดา นามว่า เคิร์สตี้ ดันแคน (Kirsty Duncan) เกิดสนใจในเรื่องภูมิอากาศกับไข้หวัดใหญ่
Kirsty Duncan ที่มา: https://issuu.com/dovetailcommunications6/docs/lab_janfeb16
เธอได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับไข้หวัดใหญ่ซึ่งเชื่อว่าการระบาดใหญ่ (pandemic) จะกลับมาอีกแน่ ๆ และเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 1918 น่าจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เราเตรียมพร้อมหรือป้องกันการระบาดใหญ่ครั้งต่อไปได้
นั่นทำให้เธอหมกมุ่นกับการตามหาตัวอย่างที่น่าจะมีเชื้อไข้หวัดใหญ่ 1918 แต่เธอไม่มีความรู้ด้านไวรัสโดยสิ้นเชิง เธอจึงค้นคว้าหาความรู้ด้วยตัวเองอยู่ 6 เดือนจนเธอมั่นใจว่าจะสามารถคุยกับเหล่าผู้เชี่ยวชาญได้
เธอเริ่มต้นจากการโทรหานักไวรัสวิทยา (virologist) ทั้งหลายเพื่อสอบถามว่ามีบล็อคพาราฟินของผู้ติดเชื้อในปี 1918 บ้างไหม ไม่ต้องเดาก็บอกได้ว่าทุกที่ปฏิเสธการมีอยู่ของชิ้นเนื้อดังกล่าว รวมถึงสถาบัน AFIP ของทอเบนเบอร์เกอร์ที่มีบล็อคพาราฟินปี 1918 อยู่เพียบ
(ดีไม่ดีนี่อาจจะเป็นการกระตุ้นให้ทอเบนเบอร์เกอร์เลือกที่จะค้นหาไวรัสไข้หวัดใหญ่ในบล็อคพาราฟินก็เป็นได้ ใครจะไปรู้)
ดันแคนติดต่อ ดร.แมคกี้ อาจารย์ที่ปรึกษาของปู่ฮุลทินด้วย และก็ได้รับแจ้งว่าชิ้นเนื้อที่ได้จากการขุดศพที่อลาสก้าหายสาบสูญไปแล้ว
ซึ่งจริง ๆ แล้วชิ้นเนื้อจากปี 1918 ยังมีเก็บไว้อีกหลายที่และมันจะปรากฏขึ้นมาในภายหลัง แต่เวลาคนภายนอกมาถามหา ยากมากที่จะมีสถาบันไหนยอมบอกว่ามีอยู่เท่านั้นเท่านี้ชิ้น เชิญมาเอาได้เลยค่ะ
บางที่อาจปฏิเสธว่าไม่มีโดยไม่ไปตรวจสอบด้วยซ้ำ บางที่ก็มั่วไปว่านานขนาดนั้นถูกทำลายไปแล้วทั้งที่มันยังอยู่ หรือบางที่ก็ตั้งใจโกหก ใครจะไปยอมเอาชิ้นเนื้อให้นักภูมิศาสตร์ที่ไม่รู้หัวนอนปลายเท้า
ดันแคนจึงเบนเข็มไปหาศพผู้เสียชีวิตที่อยู่ในชั้นดินเยือกแข็ง (permafrost)
อลาสก้าคือเป้าหมายแรก เพราะนั่นคือสถานที่ที่ฮุลทินเคยไปขุดศพรอบแรก เธอขอคัดลอกสำเนาใบมรณบัตรในช่วงปี 1918-1924 นอกจากไข้หวัดใหญ่เธอยังสนใจโรคปริศนา sleeping sickness หรือ encephalitis lethargica ที่เกิดตามหลังการระบาดของไข้หวัดใหญ่ด้วย
น่าแปลกมากที่ดันแคนไม่เลือกที่จะไป เบรวิก มิสชั่น ตั้งแต่ต้น ทั้งที่เธอรู้อยู่แล้วว่าศพผู้เสียชีวิตมีมากถึง 72 ศพ ที่ฝังอยู่ใน permafrost และฮุลทินพึ่งขุดไปเพียง 4-5 ศพเท่านั้น
แต่เธอกลับเลือกที่จะเสียเวลาหาตำแหน่งศพที่ฝังใน permafrost กันใหม่ จะว่าเป็นเพราะฮุลทินเพาะไวรัสจากศพที่นั่นไม่เจอก็ไม่น่าใช่ เพราะเป้าหมายของเธอคือการค้นหารหัสพันธุกรรมของไวรัสไม่ใช่ไวรัสตัวเป็น ๆ และเธอยังถามหาบล็อคชิ้นเนื้อของศพจากอาจารย์ของฮุลทินอยู่เลย ซึ่งในนั้นไม่มีทางมีไวรัสที่ยังมีชีวิตอยู่แล้ว
1
หรือเธอคิดว่าฮุลทินไปรบกวนสุสานนั้นแล้ว ศพที่เหลือจะเสียสภาพไปแล้ว? หรือจะเป็นเรื่องการเมือง เพราะอลาสก้าเป็นเขตของอเมริกา เธอเลยไม่อยากเข้าไป เพราะเป็นไปได้สูงมากที่โครงการของเธอจะถูกเทคโอเวอร์โดยเหล่าเสือสิงห์กระทิงแรดในอเมริกา
ดันแคนจะคิดอย่างไรก็สุดจะคาดเดา เธอยอมเสียค่าธรรมเนียม 2,000 ดอลล่าร์ในการคัดลอกสำเนาใบมรณบัตรของชาวอลาสก้าจำนวนมาก และใช้เวลาไปครึ่งปีในการค้นหาข้อมูล แน่นอนว่าว่ามีผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ 1918 มากมาย
แต่ปัญหาคือเธอไม่มีข้อมูลเรื่องตำแหน่งของชั้นดินเยือกแข็งว่าอยู่ตรงไหนบ้าง (กว่าจะมีแผนที่ของตำแหน่ง permafrost ในอลาสก้า ก็ปาเข้าไปปี 1997)
1
ดันแคนจึงต้องพิจารณาทางเลือกอื่น ๆ
ไอซ์แลนด์ (Iceland) ล่ะ เป็นไปไม่ได้เพราะใต้พื้นมีความร้อนสูง
รัสเซีย (Russia) มีพื้นที่ที่เป็นน้ำแข็งกว้างใหญ่ แต่ติดต่อทางการแล้ว ไม่มีใครยอมตอบคำถามดันแคน อีกอย่างช่วงปี 1918 เป็นช่วงสงความกลางเมืองในรัสเซีย โอกาสที่จะมีบันทึกสมบูรณ์ถึงสาเหตุการตายและตำแหน่งฝังศพเป็นเรื่องยาก
ผ่านไปสองปี ดันแคนก็ถึงทางตัน
อยู่มาวันนึงเพื่อนนักภูมิศาสตร์เล่าให้เธอฟังถึงการไปเที่ยวเกาะ สปิตส์เบอร์เกน (Spitsbergen) ทางตอนเหนือของนอร์เวย์
ดันแคนหูผึ่งทันทีที่เขาพูดถึงชั้นดินเยือกแข็งที่นี่ แน่นอนว่านอร์เวย์ก็โดนไข้หวัดใหญ่ 1918 เล่นงาน เป็นไปได้มั้ยว่าบนเกาะแห่งนี้จะมีศพผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ 1918 ฝังอยู่ใต้ชั้นดินเยือกแข็ง
เธอจึงรีบติดต่อไปที่ Norse Polar Institute บนเกาะนั้นทันที หลายสัปดาห์ถัดมาเธอก็ได้จดหมายตอบกลับว่า...
ไม่มีบันทึกของทางราชการ เพราะตอนนั้นเกาะนี้ยังไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของนอร์เวย์
ไม่มีบันทึกของโรงพยาบาล เพราะโดนถล่มเละไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
ไม่มีบันทึกของโบสถ์เพราะกว่าจะมีบาทหลวงก็ปี 1920
แต่มี "ไดอารี่" บันทึกเหตุการณ์ของบริษัทเหมืองถ่านหิน
ดันแคนรีบติดต่อไปที่บริษัท ได้รับคำตอบว่าไม่มี "ไดอารี่" ตัวจริงแล้ว แต่มีสำเนาอยู่ที่ครูคนหนึ่งซึ่งเป็นหัวหน้าพิพิธภัณฑ์
ครูคนนั้นลงทุนแปลไดอารี่ให้ดันแคนด้วยตัวเอง ทำให้เธอทราบว่า
ตุลาคม 1918 ได้มีคนงานเหมือง 7 คนเสียชีวิตด้วยไข้หวัดใหญ่และถูกฝังอยู่ที่หมู่บ้านชาวเหมืองชื่อ ลองเยียร์เบียน (Longyearbyen) ในเกาะสปิตส์เบอร์เกน (Spitsbergen) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะสวาลบาร์ด (Svalbard) ตั้งอยู่ระหว่างนอร์เวย์กับขั้วโลกเหนือ และเป็นชุมชนที่อยู่ใกล้ขั้วโลกเหนือมากที่สุดในโลก
1
archipelago of Svalbard ที่มา: http://www.geocurrents.info/geopolitics/the-oddities-and-anomalies-of-svalbard
ดันแคนติดต่อบาทหลวงบนเกาะและได้รับข้อมูลว่า ศพถูกฝังอยู่ใกล้โบสถ์และทราบตำแหน่งชัดเจนเพราะมีไม้กางเขนปักอยู่ด้านบน และไม่เคยมีใครไปรบกวนหรือเคลื่อนย้านศพในกว่า 70 ปีที่ผ่านมา
จากการสอบถามผู้เกี่ยวข้องได้ความว่าศพน่าจะถูกฝังไปทั้งอย่างนั้นเลย ไม่มีธรรมเนียมการใช้น้ำยารักษาศพ (embalming) หรือเผาศพ (cremation) โดยตามกฎหมายนอร์เวย์ ศพต้องฝังลึกอย่างน้อย 2 เมตร ซึ่งยิ่งลึกก็ยิ่งมีโอกาสอยู่ในชั้นดินเยือกแข็ง (permafrost)
จากการสอบถามผู้เชี่ยวชาญพบว่าที่ระดับลึก 1-1.5 เมตร อุณหภูมิจะอยู่ที่ ลบ 10 ถึง ลบ 4 องศาเซลเซียส ตลอด 70 ปีที่ผ่านมา
ในที่สุดหลังจากเริ่มต้นมาได้ 2 ปีครึ่ง ดันแคนก็พบเป้าหมายของเธอแล้ว 7 ศพที่ลองเยียร์เบียน แต่นั่นเป็นแค่จุดเริ่มต้นของความโกลาหล
ได้เวลาที่ ดันแคน ฟูรี่ จะฟอร์มทีมอเวนเจอร์ส (Avengers = ผู้ล้างแค้น!) ในการตามหาอินฟินิตี้ไวรัสกันแล้ว
เธอใช้เวลาไปหลายปีในการติดต่อประสานงานกับนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำระดับโลกหลายร้อยคน จัดเวิร์คชอปประชุมนานาชาติอีกหลายต่อหลายครั้ง ซักซ้อมกระบวนการและต่อรองเรื่องผลประโยชน์ของแต่ละคน เพื่อฟอร์มทีมในฝัน (ร้าย) ได้แก่
นักภูมิศาสตร์ (geographer) ในการสำรวจศึกษาภูมิประเทศ และตำแหน่งที่ทำการขุด
นักธรณีวิทยา (geologist) เพื่อสำรวจชั้นดินและชั้นดินเยือกแข็ง และกำกับการขุดศพ
นักพยาธิวิทยา (pathologist) เป็นคนลงมือตัดชิ้นเนื้อจากศพเพี่อทำการเก็บรักษา
นักไวรัสวิทยา (virologist) ที่จะมาทำการวิเคราะห์หาไวรัส
CDC (Center of Disease Control) ซึ่งช่วยเรื่องทุน การดูแลเรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพ (biosafety) และมีห้องปฏิบัติการระดับความปลอดภัยสูงสุด (biosafety level 4 - จะพูดถึงในส่วนต่อไป) สำหรับการทำงานกับชิ้นเนื้อที่อาจมีเชื้อมรณะ
บริษัทขุดศพ (Necropolis) รับจ้างขุดศพโดยเฉพาะ
เหล่าอเวนเจอร์สแบ่งได้เป็น 4 ชาติ
ทีมแคนาดาของคุณดันแคน
ทีมนอร์เวย์ ที่รัฐบาลนอร์เวย์เจ้าของพื้นที่ขอให้มีอยู่ในทีมด้วย
ทีมอเมริกา ได้ทุนจาก NIH
1
ทีมอังกฤษ ได้ทุนจากบริษัทยา Roche
2 ทีมหลังจะสร้างความปวดหัวให้กับดันแคน ตอนแรกอ้างว่ามีบล็อคพาราฟินปี 1918 แบบเดียวกับของทอเบนเบอร์เกอร์ โดยทีมอเมริกามีชิ้นเนื้อของ คลินิกเมโย (Mayo Clinic) กับ รพ.จอห์นส์ ฮอปกินส์ (Johns Hopkins) ส่วนทีมอังกฤษมีชิ้นเนื้อจาก Royal Hospital London และยินดีจะแบ่งให้ทีมเอาไปใช้ได้ แลกกับการขอเป็นสมาชิกทีมที่จะไปขุด permafrost ที่ Longyearbyen
แต่พอรับเข้าเป็นสมาชิกทีมแล้ว ก็ไม่ยอมแบ่งบล็อคพาราฟินตามที่สัญญา ซ้ำร้ายสองทีมนี้เป็นผู้กุมเงินของทั้งโครงการ ทำให้มีอำนาจต่อรองกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ตัวเองเป็นฝ่ายได้เปรียบ โดยใช้ทุนวิจัยเป็นตัวประกัน ไม่ยอมทำตามก็ไม่ให้เงิน
1
(รายละเอียดความร้ายกาจของแต่ละคน มาจากหนังสือของดันแคนแต่เพียงฝ่ายเดียว อาจไม่ใช่ความจริงทั้งหมด)
ดันแคนเขียนในหนังสือของเธอว่า เธอไม่สามารถหาทุนมาครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดได้ ถึงจุดนี้เธอต้องควักกระเป๋าตัวเองไปกับการเดินทาง เอกสาร และการประชุม ถึง 23,000 ดอลล่าร์
1
ในช่วงเวลาหลายปีที่เธอฟอร์มทีม ก็มีปัญหาทางด้านกฏหมายที่เธอต้องสะสาง เวลาอันยาวนานหมดไปกับ การขออนุญาตจากนอร์เวย์อย่างเป็นทางการ การลงพื้นที่เพื่อขออนุญาตชุมชน และโบสถ์เจ้าของพื้นที่ ขอคำยินยอมจากญาติ ๆ คนงานเหมืองผู้ล่วงลับทั้งเจ็ด การจัดทำ MOU (Memorandum of Understanding) แล้วยังต้องต่อกรกับสื่อทั้งหลายที่พยายามขุดคุ้ย
อย่างไรก็ตาม การที่ทอเบนเบอร์เกอร์ตีพิมพ์ผลงานพบชิ้นส่วนของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 1918 ในปอดของพลทหารวอห์นเมื่อ มีนาคม 1997 ส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อแผนการของดันแคน
เมื่อสามารถตรวจเจอจากชิ้นเนื้อเก่า ๆ ในบล็อคพาราฟิน แล้วยังมีความจำเป็นต้องลงทุนไปเอาชิ้นเนื้อแช่แข็งอีกหรือ แล้วถ้าเชื้อไวรัสมรณะมันหลุดออกมาจากศพแล้วกระจายไปทั่วโลกล่ะจะทำอย่างไร
CDC (Center of Disease Control) ได้ขอถอนตัวและระงับเงินทุนที่เคยสัญญา โดยอ้างว่าปีนั้นโดนตัดงบกันถ้วนหน้าไม่ต่างจากสถาบัน AFIP ของทอเบนเบอร์เกอร์
แต่ทีมดันแคนยังคงได้รับเงินทุนจาก NIH (Naitonal Institutes of Health) และบริษัทยา โรช (Roche) รวมเป็น 150,000 ดอลล่าร์ มากกว่าทุนส่วนตัวของฮุลทินเกือบ 50 เท่า หรือคิดเป็นเงินในยุคปัจจุบัน 7 ล้านกว่าบาท เพียงพอที่เธอจะไม่ต้องล้มเลิกแผนการ
ในปี 1997 ทีมของดันแคนยังมุ่งมั่นที่จะดำเนินการต่อและได้เชิญทอเบนเบอร์เกอร์เข้าร่วมเป็นสมาชิกด้วย และเขาตอบตกลง อย่างไรก็ตามในหนังสือของดันแคน ทอเบนเบอร์เกอร์ไม่ไว้ใจสมาชิกทีมซักคน โดยบอกว่าเป็นพวกมาเฟียร์ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งน่าจะมีส่วนขัดขวางไม่ให้วารสาร Nature ตีพิมพ์ผลงานของเขานั่นเอง
ดันแคนหารู้ไม่ว่าลับหลังเธอ ทอเบนเบอร์เกอร์ที่เป็นสมาชิกของทีมจะไปตกลงกับปู่ฮุลทินอย่างลับ ๆ
1
ย้อนกลับมาที่คุณปู่ฮุลทิน เมื่อไปถึง เบรวิก มิสชั่น ซึ่งตอนนี้เจริญขึ้นแล้ว มีไปรษณีย์ (post office) มีนายกเทศมนตรี (mayor) ประจำ
เขาได้พบกับเด็ก ๆ ที่เขาเคยพบเมื่อ 46 ปีก่อน ซึ่งตอนนี้กลายเป็นผู้อาวุโส ไปแล้ว หลายคนยังจำคุณปู่ได้ บางคนก็ได้ยินวีรกรรมของเขาผ่านการเล่าจากปากพ่อแม่
เขาได้รับอนุญาตให้ทำภารกิจเดิมอีกครั้งจากสภาหมู่บ้าน แถมยังได้หนุ่ม ๆ วัยฉกรรจ์จากหมู่บ้านอีก 4 คนมาช่วยกันขุดสุสานเยือกแข็งแห่งเดิม
ช่วงแรกเขาเจอแต่โครงกระดูก (ไม่รู้ว่าเป็นของร่างที่เขาเคยขุดครั้งก่อนหรือเปล่า) แต่เมื่อผ่านไป 4 วัน การขุดชั้นดินเยือกแข็งได้ความลึกถึง 7 ฟุต เขาก็พบหญิงชาวอินูอิต (Inuit) ร่างท้วมสภาพค่อนข้างดีอายุประมาณ 25 ปี
คุณปู่ตั้งชื่อให้เธอว่า ลูซี่ (Lucy) ตามชื่อเจ้าของโครงกระดูกอายุ 3.2 ล้านปี ที่ขุดพบที่เอธิโอเปียในปี 1974 สปีชี่ส์ [Australopithecus afarensis] ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์
คุณปู่ใช้กรรไกรตัดกิ่งที่จิ๊กมาจากภรรยา ตัดเลาะซี่โครงของลูซี่ เปิดออกดูปอดที่อยู่ภายใน โดยที่มีเครื่องป้องกันตัวเพียงถุงมือบาง ๆ เท่านั้น ไม่มีมาตรการป้องกันอย่างอื่นเลย (รูปที่แกถ่ายมามีทั้งที่ใส่และไม่ใส่ถุงมือ)
มือเปล่าเลยเหรอคุณปู่! (มีใครเห็นกรรไกรตัดกิ่งบ้าง) เครดิตภาพ: Johan Hultin ที่มา: https://www.cdc.gov/flu/pandemic-resources/reconstruction-1918-virus.html
(ทอเบนเบอร์เกอร์ ได้ขอให้ปู่ฮุลทินเขียนจดหมายระบุว่าตัวเขาไม่ได้มีส่วนร่วมในแผนการขุดศพอันบ้าบิ่นของคุณปู่ เป็นแค่ผู้รับชิ้นเนื้อเท่านั้น แม้เขาจะเป็นคนจัดหาน้ำยาสำหรับแช่ขิ้นเนื้อที่ฆ่าไวรัสได้ให้ปู่ฮุลทินก็ตาม)
ชั้นไขมันที่หนาเป็นพิเศษทำหน้าที่เป็นฉนวนความร้อน ช่วยปกป้องอวัยวะภายในของลูซี่จากการแกว่งขึ้นลงของอุณหภูมิภายนอก ทำให้ปอดของเธอมีสภาพค่อนข้างดี ยังมีเลือดอยู่เต็มไปหมด แม้เธอจะเสียชีวิตมาเกือบ 80 ปีแล้วก็ตาม
(ใครที่อยากเก็บฟัน...เอ้ย พันธุกรรมไว้ให้ลูกหลานศึกษากันนาน ๆ จงรีบสะสมไขมันแต่วันนี้)
คูณปู่ตัดแบ่งเนื้อปอดแช่ลงในน้ำยาสกัดและรักษาสภาพอาร์เอ็นเอ (formalin+alcohol+RNAzol) ซึ่งทอเบนเบอร์เกอร์ให้มา สามารถทำลายไวรัส แต่ช่วยถนอมสารพันธุกรรม RNA ไม่ให้ถูกทำลายในระหว่างการขนส่ง
สารในน้ำยานี้ (guanidinium thiocyanate) รบกวนพันธะไฮโดรเจน (hydrogen bond) ทำให้เอนไซม์ที่ย่อยสลายสารพันธุกรรม (RNase) หมดสภาพ (denatured)
นั่นแปลว่าหนนี้เขาไม่หวังว่าจะได้ไวรัสตัวเป็น ๆ เขาจะเอาแต่รหัสพันธุกรรมของมันเท่านั้น เมื่อมีน้ำยาแช่ถนอม ก็ไม่ต้องวุ่นวายคอยเติมน้ำแข็งแห้งรักษาอุณหภูมิเย็นจัดด้วยเครื่องดับเพลิงแบบคราวที่แล้วอีก
1
นอกจากลูซี่แล้วเขายังเก็บเนื้อปอดจากอีก 3 ศพที่สภาพไม่ได้ดีเท่ามาด้วย
และแทนที่เขาจะต้องขนมันกลับเองทางเครื่องบินแบบทุลักทุเลอย่างคราวก่อน เขาใช้ประโยชน์จากความเจริญที่มาถึง ใช่แล้ว...ที่นี่มีไปรษณีย์!
คุณปู่แบ่งเนื้อปอดเป็น 4 ชุดเหมือน ๆ กัน แบ่งส่งเป็นพัสดุทางไปรษณีย์ วันละชุด ติดกัน 4 วัน โดยแต่ละวันใช้บริการคนละบริษัท ได้แก่ UPS, FedEx, และ US Postal Service ประมาณว่าต่อให้ฟ้าถล่มดินทลาย ก็ต้องมีซักชิ้นไปถึงมือ ทอเบนเบอร์เกอร์ แน่ ๆ
(แต่บางเอกสารว่าเขาขนเนื้อปอดใส่ตู้แช่เย็นกลับมาซานฟรานซิสโกก่อน แล้วมานั่งแบ่งขวดชิ้นเนื้ออยู่ในครัวบ้านตัวเอง ก่อนส่งพัสดุผ่านบริษัททั้งสาม)
ไม่รู้เหมือนกันว่าถ้าคุณปู่ไม่ใส่น้ำยารักษาสภาพให้ไวรัสตายชัวร์ บริษัททั้งหลายจะยอมส่งเนื้อปอดที่อาจมีไวรัสมรณะให้หรือเปล่า หรือคุณปู่ไม่ได้บอกด้วยซ้ำว่ามันคืออะไร
คุณปู่บอกงานนี้ชิลล์มาก เขาผ่านสถานการณ์ที่น่าสะพรึงมาแล้วมากมาย การมาขุดสุสานหาเนื้อปอดที่อลาสก้านี่เปรียบได้กับการปิกนิกในหน้าร้อน (summer picnic) ประหนึ่งวิ่งเล่นอยู่ในทุ่งลาร์เวนเดอร์ (ประโยคหลังสุดนี่ผมเพิ่มเอง)
หลังจากกลบหลุมเสร็จ มีบางสิ่งที่ขาดหายไปจากความทรงจำของเขา เมื่อ 46 ปีที่แล้ว สุสานแห่งนี้เคยมีไม้กางเขนสีขาว 2 อัน ขนาบอยู่อยู่สองข้าง แต่ตอนนี้มันหายไปแล้ว
เชื้อไวรัสในความทรงจำเขาก็กู้มันออกมาแล้ว บ้านไม้ในความทรงจำทั้งหลังเขาก็สร้างขึ้นมาใหม่ด้วยมือตัวเองมาแล้ว ดังนั้นไม้กางเขนในความทรงจำนี้จะปล่อยให้ขาดหายไปได้อย่างไร
คุณปู่ไปขอใช้ห้องเวิร์คชอปของโรงเรียนในหมู่บ้าน โชว์ทักษะสร้างไม้กางเขนเลียนแบบอันที่อยู่ในความทรงจำขึ้นมา 2 อัน อันนึงสูง 7 ฟุต อีกอัน 11 ฟุต เอาไปปักขนาบสุสานแห่งความทรงจำนี้เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ล่วงลับ ต่อด้วยสอนเลคเชอร์นักเรียนในหมู่บ้านถึงสิ่งที่เขาทำอีกหน่อย ก่อนที่จะขึ้นเครื่องบินกลับบ้าน
คุณปู่ฮุลทิน ติดตั้งไม้กางเขนที่เบรวิก มิสชั่น เครดิตภาพ: Johan Hultin ที่มา: https://www.cdc.gov/flu/pandemic-resources/reconstruction-1918-virus.html
เพียง 10 วันหลังจากนั้น ฮุลทินก็ได้รับการติดต่อกลับมาว่า ปอดของลูซี่ มีเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 1918 จริง ๆ ในขณะที่ปอดจากอีก 3 ศพไม่พบอะไร
คุณปู่ฮุลทินได้ให้สัมภาษณ์ว่าโชคดีที่ครั้งแรกเขาขุดไม่เจอลูซี่ ไม่อย่างนั้นปอดของเธอก็คงสูญเปล่าไปด้วย เพราะในตอนนั้นยังไม่มีเทคโนโลยีในการตรวจหาหรือเพิ่มจำนวนสารพันธุกรรม
และยังบอกอีกว่าโชคดีที่เขาล้มเหลวในการหาไวรัสตอนหนุ่ม เขาจึงมีอิสระในการทำสิ่งที่อยากทำต่าง ๆ มากมาย ถ้าเขาคืนชีพไวรัสได้สำเร็จในตอนนั้น เขาจะกลายเป็นผู้มีชื่อเสียง แนวทางในการใช้ชีวิตจะถูกบีบแคบลงทันที
....
หีบแพนโดร่าแห่งสุสานแช่แข็งได้ถูกเปิดขึ้นแล้ว ตามตำนานเล่าว่าเมื่อหีบของแพนโดร่าถูกเปิดขึ้น สิ่งเลวร้ายทั้งปวง ความเจ็บป่วย ความตาย ก็ถูกปลดปล่อยมาสู่โลกของเรา เมื่อแพนโดร่าตกใจรีบปิดมันลง คงมีสิ่งเดียวที่เหลืออยู่ในหีบ นั่นคือ "ความหวัง"
แล้วการล่าขุมทรัพย์สุดขอบฟ้าโดยคุณปู่ อินเดียน่า โจนส์ ของเราจะนำพาความเลวร้ายหรือความหวังมาให้เรากันแน่...
กลับมาที่ทีมอเวนเจอร์ ดันแคนแบ่งระยะของการสำรวจเธอเป็น 3 ระยะ
ระยะที่ 1 สำรวจสุสานที่ลองเยียร์เบียนด้วยเรดาร์ (GPR - ground-penetrating radar) เพื่อระบุว่ามีศพถูกฝังอยู่ใต้สุสานจริงหรือไม่ ที่ความลึกเท่าไหร่ และอยู่ลึกพอที่จะอยู่ในชั้นดินเยือกแข็ง (permafrost) หรือไม่ ถ้าไม่ก็จะไม่ทำการขุดเลย จะได้ไม่ต้องรบกวนผู้ตาย
ระยะที่ 2 ขุดศพเพื่อเก็บชิ้นเนื้อ ซึ่งทางการนอร์เวย์ อนุญาตให้ขุดได้ 6 จากทั้งหมด 7 ศพ และให้ใช้วิธีเจาะเอาอวัยวะไปเป็นชิ้นเล็ก ๆ (core) เท่านั้น ไม่ให้เอาอวัยวะออกทั้งยวงแบบการชันสูตรเต็มรูปแบบ (full-scale autopsy)
ระยะที่ 3 วิเคราะห์ชิ้นเนื้อที่ได้มา
ธันวาคม 1997 ก็ได้ฤกษ์ออกสำรวจระยะที่ 1 ทีมของดันแคนไปที่ลองเยียร์เบียน (Longyearbyen) เพื่อสำรวจสุสานของคนงานเหมืองทั้ง 7 ตามแผนในระยะที่ 1
สุสานของคนงานเหมืองทั้งเจ็ดคน ที่เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ 1918 เครดิต: Kirsty Duncan ที่มา: Hunting the 1918 Flu: One Scientist's Search for a Killer Virus By Kirsty Duncan
จากการสำรวจด้วยเรดาร์ (GPR) บอกได้ว่ามีดินใต้ไม้กางเขนที่บอกตำแหน่งสุสาน ถูกรบกวนจริงลงไปถึงระดับ 2 เมตร แสดงว่าเคยมีการขุดพื้นลงบริเวณนี้ลงไปลึกถึง 2 เมตร ส่วนผิวบนของชั้นดินเยือกแข็งอยู่ที่ระดับประมาณครึ่งเมตรจากผิวดิน
โลงศพก็น่าจะวางอยู่ที่ก้นหลุมที่ระดับ 1.5-2 เมตร ซึ่งอยู่ในลึกลงไปในชั้นดินเยือกแข็ง (permafrost) จึงมีโอกาสสูงที่ศพจะอยู่ในสภาพดี
ภาพที่สร้างจาก Ground-penetrating radar สึอ่อนคือดินที่ไม่ถูกรบกวน สีเข้มคือดินที่ถูกรบกวน คำว่า marker หมายถึงตำแหน่งที่มีไม้กางเขนปักอยู่ เครดิต: Kirsty Duncan ที่มา: Hunting the 1918 Flu: One Scientist's Search for a Killer Virus By Kirsty Duncan
ผลการสำรวจเป็นที่น่าพอใจ ทีมอเวนเจอร์จึงเตรียมการต่อสำหรับระยะที่ 2
ระหว่างนี้ก็เกิดเรื่องวุ่น ๆ ขึ้น
ปกติเราจะเก็บไวรัสไว้ที่อุณหภูมิต่ำกว่าติดลบ 70 องศาเซลเซียส ไวรัสในศพที่อยู่ใน permafrost ซึ่งมีอุณหภูมิสูงกว่าติดลบ 10 องศาเซลเซียสมาเป็นเวลา 80 ปี จะมีโอกาสที่ยังมีไวรัสที่ยังมีชีวิตติดต่อได้เป็นเท่าไหร่
นักวิทยาศาสตร์ในทีมดันแคนประมาณค่าความน่าจะเป็นไว้ที่
0.00000000000000000001% หรือ 10^-18
แต่ก็ไม่มีใครกล้าฟันธงว่าโอกาสเป็นศูนย์ มาตรการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพยังต้องมีอยู่ดี ไม่งั้นทางการ สื่อ ประชาชน เจ้าของทุน ไม่ยอมแน่
ดันแคนเองได้รับปากกับสถาบันและองค์กรต่าง ๆ ว่าจะไม่เก็บเอาไวรัสที่มีชีวิต
รหัสพันธุกรรมของไวรัสต่างหากที่เป็นเป้าหมาย ส่วนไวรัสตัวเป็น ๆ คือความเสี่ยง
ตามแผนดั้งเดิม ก็ทำเหมือนคุณปู่ฮุลทิน คือใส่น้ำยารักษาสภาพอาร์เอ็นเอ ซึ่งฆ่าไวรัสเกลี้ยง ปกป้องไว้เฉพาะสารพันธุกรรม แบ่งชิ้นเนื้อที่ได้เป็น 4 ส่วน ส่งไป 4 ประเทศ คือ นอร์เวย์ แคนาดา อเมริกา อังกฤษ
ต่างคนต่างวิเคราะห์ เมื่อได้ผลแล้วต้องเอามาเทียบกัน ห้ามใครในทีมไปแอบประกาศหรือตีพิมพ์ผลงานก่อนโดยไม่แจ้ง
ปัญหาเริ่มจาก พวกนักไวรัสวิทยาบอกอยากได้ไวรัสตัวเป็น ๆ ขึ้นมาทั้งที่รู้ว่าโอกาสมีแค่ 0.00000000000000000001% โดยเฉพาะทีมจากอังกฤษ
ปัญหาที่ตามมาคือถ้าโอกาสที่ยังมีไวรัสที่มีชีวิตไม่ใช่ศูนย์ จะเอาชิ้นเนื้อออกมาตรวจวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการธรรมดาไม่ได้ จะให้สมศักดิ์ศรีกับเชื้อนี้ต้องความปลอดภัยสูงสุดระดับ 4 (BSL4 - คำอธิบายอยู่ส่วนถัด ๆ ลงไป)
นอร์เวย์ ไม่มีห้องปฏิบัติการระดับนี้
แคนาดากำลังสร้างอีกนานกว่าจะเสร็จ
อเมริกามีอยู่ที่ CDC แต่ทีม CDC ถอนตัวไปแล้ว
อังกฤษจึงเป็นชาติเดียวในทีม ที่มี BSL4
หมายความว่าถึง 3 ประเทศแรกได้ชิ้นเนื้อไป ก็ต้องเก็บในตู้แช่แข็งอย่างเดียว เอาออกมาวิเคราะห์ไม่ได้
เจตนาจริง ๆ ของทีมอังกฤษคือตั้งใจจะเอาเปรียบอีก 3 ชาติหรือเปล่า คงเดาได้ยาก แต่ถ้าคิดว่านี่เลวร้ายแล้ว คุณยังมองโลกในแง่ดีเกินไป เดี๋ยวจะรู้ว่าทำไม
ทีมอังกฤษให้เหตุผลว่ารหัสพันธุกรรมอย่างเดียวมันทำอะไรไม่ได้มาก ต้องใช้เวลาหลายปีในการศึกษา หรือประกอบร่างมันขึ้นมาใหม่ ถ้าได้ไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่มีชีวิต จะสามารถศึกษากลไกความร้ายกาจของมันได้ในเวลาไม่กี่เดือน
1
ด้วยทุนวิจัยที่ทีมอังกฤษมีเป็นตัวประกัน สุดท้ายดันแคนก็ต้องกลืนน้ำลายตัวเอง ขอเก็บตัวอย่างไวรัสที่มีชีวิต คือใช้วิธีแช่แข็งชิ้นเนื้อที่เก็บได้แทน เพื่อไม่ให้ไวรัส (ถ้ามี) ตาย
ความเลวร้ายยังไม่จบ ในการประชุมแสดงผลงานที่สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (NIH) ของอเมริกา ทอเบนเบอร์เกอร์ได้ประกาศความก้าวหน้าว่าได้มีชิ้นตัวอย่างเพิ่มขึ้นเป็น 3 ราย แต่เมื่อถามว่าที่เพิ่มขึ้นนี้ได้มาจากไหน ทอเบนเบอร์เกอร์ให้หัวหน้าของเขาตอบแทน ซึ่งก็บอกแค่ว่าพวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้บอกแหล่งที่มา
อยู่ ๆ ทอเบนเบอร์เกอร์ ที่เป็นสมาขิกของทีมดันแคน ก็หันมาโจมตีว่าการไปสำรวจขุดศพที่นอร์เวย์ ไม่สมควร ไม่คุ้มค่า ทำเอาดันแคนเหวอไปเลย
1
เขามาสารภาพกับดันแคนภายหลัง ว่าเขาได้ชิ้นเนื้อมาจากคุณปู่ฮุลทินแล้ว และออกจากการเป็นสมาชิกทีมอเวนเจอร์สไป
ทีมดันแคนตกที่นั่งลำบาก แต่ในแง่วิทยาศาสตร์ การได้ชิ้นเนื้อจากหลาย ๆ แหล่งมาเทียบกันก็ยังมีประโยชน์ แผนการจึงดำเนินต่อไป
สิงหาคม 1998 ดันแคนพร้อมเหล่าอเวนเจอร์ส ก็เดินทางไป ลองเยียร์เบียน (Longyearbyen) อีกครั้งและเป็นครั้งสุดท้าย
ดันแคนและทีมต้องรับมือกับกองทัพสื่อทั้งหลาย รวมทั้งคนในทีมที่อยากได้หน้า ไปให้สัมภาษณ์กันเองโดยไม่บอกคนอื่น
รถบรรทุกขนตู้คอนเทนเนอร์ทำการลำเลียงอุปกรณ์ภาคสนามสำหรับการขุดศพครั้งนี้ รวมน้ำหนักทั้งสิ้น 17 ตัน เข้าสู่ไซต์งาน
รถบรรทุกที่ขนอุปกรณ์สำหรับงานขุดศพครั้งนี้ เครดิต: Kirsty Duncan ที่มา: Hunting the 1918 Flu: One Scientist's Search for a Killer Virus By Kirsty Duncan
พื้นสังเคราะห์และทางเดินได้ถูกปูรอบ ๆ สุสานเป็นบริเวณทั้งสิ้น 600 ตารางเมตร เพื่อป้องกันความเสียหายของพื้นผิว ที่จะมีคนเดินผ่านเหยียบย่ำจำนวนมาก ทั้งทีมงาน เจ้าหน้าที่ทางราชการ นักข่าว นักถ่ายทำสารคดี
ปูพื้นป้องกันพื้นผิว เครดิต: Kirsty Duncan ที่มา: Hunting the 1918 Flu: One Scientist's Search for a Killer Virus By Kirsty Duncan
จากนั้นทำการถอนไม้กางเขนและหลักศิลาสุสาน ลำเลียงมาเก็บไว้ที่ด้านล่างของเนิน แล้วกางเต้น (biohazard tent) แบบสูบลม ครอบบริเวณที่จะขุดเพื่อป้องกันการเล็ดรอดของเชื้อออกสู่โลกภายนอก
เต้นสูบลมชั่วคราว เครดิต: Kirsty Duncan ที่มา: Hunting the 1918 Flu: One Scientist's Search for a Killer Virus By Kirsty Duncan
เต้นสูบลมที่กางครอบสุสานเสร็จแล้ว พร้อมรั้วกั้นบริเวณ เครดิต: Kirsty Duncan ที่มา: Hunting the 1918 Flu: One Scientist's Search for a Killer Virus By Kirsty Duncan
ก่อนจะเริ่มการขุดก็มีพิธีไว้อาลัยให้ผู้วายชนม์ทั้งเจ็ด รวมทั้งเชิญบาทหลวงมาให้ศีลให้พรด้วย
เฉพาะคนที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องเท่านั้นที่จะอยู่ในเต็นท์ได้ ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับการขุดศพต้องทานยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และใส่ชุดป้องกันเต็มยศ (Martindale suit)
Martindale suit เครดิต: Kirsty Duncan ที่มา: Hunting the 1918 Flu: One Scientist's Search for a Killer Virus By Kirsty Duncan
งานขุดดำเนินไปโดยทีมนักธรณีวิทยาและบริษัทขุดศพ (Necropolis) หลังจากขุดไปได้หลายวัน ก็เจอไม้ที่น่าจะเป็นฝาโลง แต่นั่นไม่ทำให้เหล่าทีมอเวนเจอร์ยินดีเลยสักนิด
เพราะมันเจอที่ระดับแค่ 0.5 เมตร ตื้นเกินไป จากการสำรวจด้วยเรดาร์ ระดับนี้เป็นส่วนบนสุดของชั้นดินเยือกแข็ง (permafrost) น้ำแข็งในชั้นนี้ (active layer) จะผ่านวัฏจักรการแช่แข็งสลับละลาย (freeze-thaw cycle) ซึ่งจะทำให้เนื้อเยื่อและชีวโมเลกุลทั้งหลายรวมทั้งอาร์เอ็นเอของไวรัสเสื่อมสภาพ
นักธรณีวิทยาก็งงกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะจากการสำรวจด้วยเรดาร์ครั้งก่อน พบว่าดินบริเวณสุสานถูกรบกวนลึกลงไปถึง 2 เมตร ถ้าวางโลงที่ก้นหลุม รวมความหนาของโลง ฝาโลงก็น่าจะอยู่ที่ระดับ 1.5 เมตร ไม่น่าโผล่ขึ้นมาตื้นขนาดนี้
เขาให้เหตุผลว่าอาจเป็นเพราะมีการใช้ระเบิดไดนาไมต์ (Dynamite) เพื่อทำหลุม ทำให้ดินระเบิดลึกไปถึงระดับ 2 เมตร แต่ด้วยความกลัวโรคระบาดทำให้รีบเอาโลงไปวางทับเศษดินจากการระเบิดในหลุมที่ยังโกยขึ้นมาได้ไม่หมด ทำให้โลงอยู่ตื้นกว่าที่ควรจะเป็น
ส่วนดันแคนเชื่อว่าเวลาที่ผ่านไปหลายสิบปีอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงของพื้นดินที่ค่อย ๆ ดันเอาโลงตื้นขึ้นมาเรื่อย ๆ เหมือนกับที่มีรายงานโลงหรือศพโผล่ขึ้นมา (resurface) จากหลุมฝังหลายแห่งในอลาสก้า
ในขณะที่คนขุดศพจาก Necropolis มีไอเดียบรรเจิดกว่านั้น เขาบอกว่าลักษณะโลงเหมือนของพวกเยอรมันมากกว่านอร์เวย์ เป็นไปได้ว่านี่เป็นโลงของคนที่ถูกกองทัพนาซีสังหารในสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อที่จะซ่อนอาชญากรรมต่อเพื่อนมนุษย์ กองทัพนาซีจะเอาศพเหยื่อสงครามเหล่านี้ไปฝังรวมกับสุสานดั้งเดิมของคนในพื้นที่
1
นั่นหมายความว่า นี่อาจเป็นโลงศพของคนอื่นที่ตายในสงครามโลก ที่เอามาวางทัพไว้ข้างบน ส่วนศพของคนงานเหมืองจริง ๆ อาจจะอยู่ลึกลงไปข้างใต้
หลังจากขุดต่ออีกซักพักก็เจอโลงทั้งเจ็ด ซึ่งขณะนี้ส่งกลิ่นหวานน่าสะอิดสะเอียนออกมา จนทีมงานกลัวว่ามันจะดึงดูดให้หมีขั้วโลกเข้าโจมตีเต็นท์ได้
ถึงจุดนี้ก็ผลัดจากทีมขุดเป็นทีมเก็บชิ้นเนื้อ ตอนแรกว่าต้องให้เฉพาะผู้ที่มีหน้าที่เท่านั้นที่อยู่ในเต็นท์ได้ แต่คนในทีมอังกฤษ บอกว่าโลงอยู่ตื้นมาก อย่างนี้โอกาสเจอเชื้อที่ยังมีชีวิตอยู่น้อยกว่า 0.00000000000000000001% เสียอีก เลยให้ทุกคนมาเฝ้าสังเกตการณ์ตอนเก็บชิ้นเนื้อได้
เมื่อเปิดฝาโลงออก พบศพเปลือยที่ห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ สภาพศพไม่ดีนัก แต่ยังพอมีชิ้นเนื้อให้เก็บได้ นักพยาธิวิทยาทำหน้าที่เจาะเอาชิ้นเนื้อ (core) หลายชิ้นจากอวัยวะต่าง ๆ เช่น ปอด หลอดลม หัวใจ สมอง
โดยใช้ความเร็วในการเจาะต่ำเพื่อป้องกันการฟุ้งของละอองฝอยที่อาจมีเชื้อไวรัสมรณะได้ แล้วส่งให้นักไวรัสวิทยาเอาชิ้นเนื้อใส่ภาชนะ ติดฉลาก แช่ในตู้แช่แข็ง ติดลบ 70 องศาเซลเซียส
1
มีหนึ่งโลงที่ทางการไม่อนุญาตให้เปิด (เข้าใจว่าญาติไม่ยินยอม) ทีมของดันแคนจึงทำการเปิดโลงเก็บชิ้นเนื้อไปจนครบทั้ง 6 ศพ ซึ่งในศพที่ 6 กระดาษหนังสือพิมพ์ที่ห่อ มีเขียนปีไว้ว่า 1917 จึงทำให้ดันแคนมั่นใจว่านี่คือศพคนงานเหมืองที่ตายในปี 1918 จากไข้หวัดใหญ่จริง ๆ
1
อย่างไรก็ดียังมีคนติดใจไอเดียที่ว่าอาจมีโลงซ้อนอยู่ข้างใต้ จึงให้ลองขุดให้ลึกลงไปอีกเรื่อย ๆ ซึ่งก็ไม่พบอะไร และน้ำแข็งในพื้นที่ละลายเริ่มทำให้ดินทรุดตัว เจ้าหน้าที่ของทางการจึงสั่งให้ระงับการขุดในที่สุด
สำหรับคนที่มองโลกในแง่ดีก่อนหน้านี้ มาดูกันว่าจะเกิดอะไรต่อไป ใช่แล้ว ขั้นตอนการแบ่งชิ้นเนื้อ เพื่อส่งไปยังประเทศทั้งสี่ ปรากฏว่าคนในทีมอังกฤษยืนยันว่าการแบ่งชิ้นเนื้อในเต็นท์นี้ไม่ปลอดภัย (ใส่ชุดอวกาศอยู่นะยังไม่ปลอดภัยอีก?) ซึ่งก็คือคนเดียวกับที่เมื่อกี้บอกว่าไม่มีเชื้อที่มีชีวิตหรอก ให้ทุกคนมาสังเกตการณ์ได้
ดังนั้นทีมอังกฤษรับเป็นโต้โผ ให้ส่งชิ้นเนื้อทั้งหมดไปที่ห้องปฏิบัติการ BSL4 ที่อังกฤษ ทางทีมอังกฤษจะเสียสละตรวจสอบให้เอง ถ้าพบว่าไม่มีเชื้อไวรัสที่มีชีวิต ค่อยแบ่งชิ้นเนื้อคืนให้ 3 ประเทศที่เหลือ
ทีมอังกฤษกุมทุนวิจัยอยู่ในมือ สุดท้ายทุกคนก็ต้องยอม แต่มีเงื่อนไขว่า ทีมอังกฤษห้ามแอบตรวจหาสารพันธุกรรมก่อนชาติอื่น ให้รีบหาไวรัสที่มีชีวิตอย่างเดียว เมื่อพบว่าไม่มี ก็ให้แบ่งชิ้นเนื้อคืนให้ครบทุกประเทศในทีม หลังจากนั้นค่อยเริ่มตรวจหาสารพันธุกรรมพร้อม ๆ กัน และห้ามใครไปรายงานผลหรือตีพิมพ์เองแต่ฝ่ายเดียวโดยไม่ปรึกษาทีมก่อน
แน่นอนทีมอังกฤษก็รับปากไปก่อน อ้อยกำลังจะเข้าปากช้าง อย่าไปขัดใจคนป้อน และแล้วชิ้นเนื้อก็ถูกแพ็คเป็น 2 ชุด ขึ้นเครื่องบินคนละเที่ยวไปส่งที่ลอนดอนทั้งคู่
หลังจากนั้นก็เป็นการเคลียร์พื้นที่ กลบฝัง รื้อถอนอุปกรณ์ ติดตั้งไม้กางเขนกลับเข้าที่ จนเสมือนหนึ่งว่าไม่เคยมีใครมาที่นี่
ส่วนเจ๊ดันแคนควักเนื้อจนถังแตกแล้ว ไม่มีปัญญาจ่ายค่าโรงแรมหลายสัปดาห์ที่อลาสก้า คิดเป็นเงิน 5,000 ดอลล่าร์ ซึ่งทางทีมอังกฤษที่มีทุนวิจัยไม่จ่ายให้ จนสุดท้ายบริษัทขุดศพ Necropolis ใจป้ำออกให้ดันแคนเอง
ห้องปฏิบัติการ BSL4 ที่ลอนดอน เองก็ยังไม่พร้อมต้องรออยู่ 2 เดือนกว่าจะได้เริ่มงาน
แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีวี่แววว่าประเทศอื่น ๆ จะได้รับแบ่งชิ้นเนื้อตามสัญญา ด้วยข้ออ้างว่าทางอังกฤษยังตรวจดูไวรัสจากชิ้นเนื้อได้ไม่หมด แม้เวลาจะล่วงไปครบปีแล้วก็ตาม
ที่สำคัญทีมอังกฤษล่วงหน้าตรวจหารหัสพันธุกรรมของไข้หวัดใหญ่ 1918 ไปก่อนแล้ว แม้จะสัญญาว่าให้เริ่มทำพร้อมกัน กว่าประเทศอื่นจะได้ตัวอย่างชิ้นเนื้อ ทีมอังกฤษคงตีพิมพ์ผลงานไปถึงไหนต่อไหนแล้ว
ต่อมาดันแคนได้ข่าวว่า ทีมอังกฤษเริ่มได้ผลตรวจเจอพันธุกรรมของไวรัสไข้หวัดใหญ่ 1918 จากชิ้นเนื้อที่ไปขุดกันมาแล้ว แต่ทีมอังกฤษไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลให้กับคนอื่นในทีมตามที่สัญญาไว้
เอ...นี่ก็ผิดสัญญาเกือบครบทุกข้อแล้ว ยังมีสัญญาอะไรเหลือให้ฉีกอีกน้า...
ที่ลอนดอนจะมีงานประชุม "ไข้หวัดใหญ่; อดีต, ปัจจุบัน และ อนาคต" ในเดือน พฤศจิกายน 1999 จัดโดยสมาชิกในทีมอเวนเจอร์สของเธอ (อังกฤษ+อเมริกา) ในขณะที่เธอ (แคนาดา) กับทีมจากนอร์เวย์ ไม่ได้รับเชิญ
จอห์น ออกซ์ฟอร์ด (John Oxford) จากทีมอังกฤษที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับดันแคนบอกว่าไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับการสำรวจของทีมที่สปิตส์เบอร์เกน (Spitsbergen) แต่ดันแคนก็ยังอยากจะไปเข้าร่วมอยู่ดี
(ถ้าใครลืม สุสานคนงานเหมืองอยู่ในหมู่บ้าน Longyearbyen ที่อยู่บนเกาะ Spitsbergen อีกที)
เสียแต่ว่าเธอไม่สามารถขอทุนสนับสนุนค่าเดินทางจากมหาวิทยาลัยได้ จึงได้แต่ตัดใจ เพราะเธอใช้เงินตัวเองในโครงการนี้ไปกว่า 70,000 ดอลล่าร์ (ปรับตามเงินเฟ้อ มากกว่า 3 ล้านบาทในปัจจุบัน) และทีมอังกฤษที่มีทุนวิจัยก็เลิกจ่ายเงินค่าบริหารงานวิจัย (administrative cost) ให้กับดันแคนมาสักพักแล้ว
เมื่อการประชุมใกล้เข้ามา มีนักข่าวอังกฤษหลายเจ้า ติดต่อดันแคน ถามว่า "คุณเป็นส่วนหนึ่งใน การสำรวจสปิตส์เบอร์เกนของ 'จอห์น ออกซ์ฟอร์ด' หรือเปล่าครับ ช่วยบอกรายละเอียดของผลการวิจัยของทีม ที่จะออกสื่อในวันที่ 16 พฤศจิกายน ณ กรุงลอนดอน ด้วยครับ"
การสำรวจสปิตส์เบอร์เกนของ "จอห์น ออกซ์ฟอร์ด"
แม่เจ้า! นี่มันจุดไต้ตำตอ ชัด ๆ
สามีของดันแคนจัดแจงหาบริษัทที่รับผิดชอบการจัดงานนี้ได้ แล้วก็ทำการส่งแฟกซ์ ใบปลิวโฆษณามาให้ดันแคน ตามรูปข้างล่าง
ใบปลิวอันแรก ดูตรงดอกจัน Spitzbergen expedition undertaken by "Professor Oxford" and his team ที่มา: Hunting the 1918 Flu: One Scientist's Search for a Killer Virus By Kirsty Duncan
งานนี้ เจ๊ดันแคนไม่ไป ไม่ได้แล้ว พ่อแม่ของเธอจึงช่วยออกค่าใช้จ่ายให้
มีการเผยงานวิจัยที่ได้จากชิ้นเนื้อของทีมดันแคน โดยคนในทีมอังกฤษ ว่าพบพันธุกรรมของไวรัสนอกจากในปอดแล้ว ยังพบในตับ ไต และสมองอีกด้วย แสดงว่าไวรัสไข้หวัดใหญ่กระจายไปได้ทั่วร่างไม่เฉพาะที่ปอดเท่านั้น และรหัสพันธุกรรมที่ได้ก็ต่างจากของทอเบนเบอร์เกอร์และรี้ดอยู่บ้าง
แน่นอนว่าดันแคนกับออกซ์ฟอร์ดได้ฟาดปากกัน โดยดันแคนต่อว่าออกซ์ฟอร์ดและทีมอังกฤษที่ผิดสัญญา (อีกแล้ว) เอาผลงานวิจัยมาออกสื่อโดยไม่แจ้งทีม ซึ่งงานวิจัยที่ถูกเปิดเผยในวงกว้างแล้วมักจะหมดสิทธิ์ตีพิมพ์ ในวารสารชื่อดัง (prestigious journals) อย่าง Nature หรือ Science
แต่ที่เลวร้ายกว่านั้นคือการฮุบการสำรวจ แอบอ้างว่าตัวเองเป็นหัวหน้าทีม โดยไม่ให้เครดิตทีมแคนาดาและนอร์เวย์เลย ดันแคนใช้คำว่านี่เป็น การโจรกรรมทางวิชาการ (Academic piracy)
ดันแคนยังพยายามจะหยิบใบปลิวโฆษณาจากโต๊ะขึ้นมาอ่าน แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมให้ ออกซ์ฟอร์ดบอกว่ามันยังไม่เรียบร้อยดี ต้องมีการแก้ไขอีกหน่อย (ทั้งที่การประชุมเริ่มไปแล้ว) ให้ไปเดินเล่นซักพัก แล้วค่อยกลับมาดู
พอกลับมาดันแคนก็เจอใบปลิวแบบข้างล่างที่ตัดคำว่าโดยออกซ์ฟอร์ดและทีมออกไปแล้ว
ใบปลิวใหม่ ไม่มีส่วนที่ว่า undertaken by Professor Oxford แล้ว ที่มา: Hunting the 1918 Flu: One Scientist's Search for a Killer Virus By Kirsty Duncan
ดันแคนได้ยื่นคำขาดว่าในการนำเสนอผลงานต้องให้เครดิตเธอและทีมงานจากทุกประเทศ ไม่อย่างนั้นเธอจะลุกขึ้นมาแฉกลางห้องประชุม โดยเธอได้ร่างให้ว่ามีประเด็นไหนบ้างที่ออกซ์ฟอร์ดต้องพูด
ดันแคนนั่งกอดอกอยู่แถวหน้าสุดในการประชุม ออกซ์ฟอร์ดได้ให้เครดิตกับดันแคนและทีมงานทั้งหมดตามที่เธอต้องการ
แต่ก่อนจะปิดการประชุม บังเอิญมีนักข่าวจากแคนาดา (บังเอิญจัง!) ถามออกซ์ฟอร์ดว่า ทำไมทีมแคนาดาถึงไม่ได้รับเชิญมาร่วมงาน เมื่อไม่ได้คำตอบที่เป็นที่น่าพอใจ จึงเปิดโอกาสให้ดันแคนได้เป็นผู้ตอบแทนและพูดถึงความเป็นมาของโครงการทั้งหมด (บังเอิญอีกแล้ว)
เรื่องราวของดันแคนก็จบลงแต่เพียงเท่านี้ ในส่วนของดันแคนส่วนใหญ่จะมาจากหนังสือของเธอเอง "Hunting the 1918 Flu: One Scientist's Search for a Killer Virus" By Kirsty Duncan แน่นอนว่าเธอคงไม่เขียนอะไรที่ไม่ดีเกี่ยวกับตัวเอง ดังนั้นก็อย่าปักใจเชื่อนัก
ที่สำคัญ ออกซ์ฟอร์ด ก็ยังคงเป็นผู้มีชื่อเสียงอยู่ในวงการต่อไป อันนี้ไม่แน่ใจจริง ๆ ว่าระบบที่อังกฤษยุคนั้นมันเป็นยังไง คดีไม่มีมูลหรือพวกศาสตราจารย์นี่ไม่มีใครแตะต้องได้กันแน่
แต่ถ้าที่อเมริกายุคหลัง ๆ มีข่าวศาสตราจารย์โดนไล่ออกประเด็นความไม่ซื่อสัตย์ทางวิชาการอยู่เรื่อย ๆ และส่วนใหญ่ดูเป็นเรื่องเล็กน้อยกว่าของออกซ์ฟอร์ดมาก
มีเรื่องประหลาดอีกอย่างคือ ดันแคนกล่าวไว้ในหนังสือของเธอว่า มีคนซึ่งไม่ต้องการเปิดเผยชื่อ บอกว่าผลการทดลองที่แถลงออกข่าวที่ลอนดอนว่าเจอรหัสพันธุกรรมของไวรัสไข้หวัดใหญ่ 1918 ตามอวัยวะต่าง ๆ ของชิ้นเนื้อจากทีมอเวนเจอร์สเป็นเรื่องหลอกลวง แต่ไม่ได้ขยายความไปกว่านั้น
นอกจากนี้ ในที่สุดทีมอังกฤษได้ส่งชิ้นเนื้อบางส่วนไปตรวจยืนยันผลที่แคนาดา ซึ่งปรากฏว่า ไม่เจอชิ้นส่วนของไข้หวัดใหญ่ 1918 เลยแม้แต่น้อย
จนถึงทุกวันนี้ ก็ยังไม่มีผลงานตีพิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับการไปขุดศพคนงานเหมืองเลยแม้แต่ฉบับเดียว ยกเว้นผลงานวิจัยเรื่องการใช้เรดาร์ตรวจสอบพื้นดิน ซึ่งก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับชิ้นเนื้อหรือไข้หวัดใหญ่เลย ทั้งที่เฉพาะแค่ผลงานที่โชว์ตอนแถลงข่าวที่ลอนดอนก็น่าจะเพียงพอให้ตีพิมพ์ในวารสารทั่วไปได้แล้ว
การที่ไม่ยอมตีพิมพ์ มีความเป็นไปได้หลายอย่าง เช่น
1. ขี้เกียจ เจอบ่อยสุด ถ้าเป็นงานวิจัยเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่งานนี้ลงทุนกันไปขนาดนี้คงแปลกที่จะขี้เกียจเขียนต้นฉบับส่งตีพิมพ์
2. ผลงานทั้งหมดเป็นเรื่องหลอกลวง แค่จุดเทียนแล้วก็นั่งเขียนขึ้นมาจากจินตนาการเลย เพราะชิ้นเนื้อนั้นแย่เกินกว่าจะตรวจหาอะไรเจอ แต่ความแปลกอยู่ที่ทีมอังกฤษจะเอาชิ้นเนื้อไปให้ทางแคนาดาตรวจสอบทำไมถ้าตั้งใจจะโกง ทางนึงที่เป็นไปได้คือพวกศาสตราจารย์โดนนักเรียนที่เป็นลูกมือเขียนผลงานปลอม ๆ ขึ้นมาหลอกอีกที
3. กลัวเรื่องการโจรกรรมทางวิชาการจะแดงขึ้นมาถ้าไปตีพิมพ์ ก็เลยปล่อยให้โครงการนี้ตายไปซะเลย
ที่แสบสันต์คือ หลังจากนั้นหลายปีก็มีผลงานตีพิมพ์ที่ทีมอังกฤษไปร่วมมือกับทีมของทอเบนเบอร์เกอร์ที่หักหลังดันแคน โดยใช้ชิ้นเนื้อในบล็อคพาราฟินของผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 1918 ในอังกฤษ ซึ่งก็คือชิ้นเนื้อที่ จอห์น ออกซ์ฟอร์ด เคยสัญญาว่าจะให้ดันแคน (สุดท้ายไม่ได้ให้จริง) เพื่อแลกกับการได้เข้าทีมขุดศพนั่นเอง
3
ย้อนเวลากลับมาที่ทีมของทอร์เบนเบอร์เกอร์
เขาได้ค้นหาชิ้นเนื้อในบล็อคพาราฟินจากผู้ป่วยที่ตายด้วยไข้หวัดใหญ่ในปี 1918 เพิ่มเติมได้อีก 46 ราย ในนี้มีอยู่หนึ่งราย ชื่อพลทหาร เจมส์ ดาวส์ (James Downs) ที่ในชิ้นเนื้อปอดตรวจพบรหัสพันธุกรรมของไวรัสมรณะ
จนถึงตอนนี้ทอร์เบนเบอร์เกอร์และรี้ด มีชิ้นเนื้อปอดสำหรับให้งมหาชิ้นส่วนของไวรัสมรณะจากผู้ล่วงลับถึง 3 คน ได้แก่
1. พลทหาร รอสโค วอห์น (Roscoe Vaughan) เสียชีวิต 26 กันยายน 1918 (6 วันหลังเริ่มป่วย) ที่ค่ายทหารใน South Carolina ชิ้นส่วนไวรัสแต่ละชิ้นยาวไม่เกิน 150 เบส
2. พลทหาร เจมส์ ดาวส์ (James Downs) เสียชีวิตวันเดียวกันหลังจากล้มป่วยเพียง 3 วัน ที่ค่ายทหารใน New York ชิ้นส่วนไวรัสแต่ละชิ้นยาวไม่เกิน 150 เบส เช่นกัน
3. ลูซี่ (Lucy - ชื่อที่คุณปู่ฮุลทินตั้งให้) เสียชีวิตในช่วง 15-20 พฤศจิกายน 1918 ที่ Brevig Mission ชิ้นส่วนไวรัสแต่ละชิ้นยาวไม่เกิน 120 เบส
แปลว่าคุณภาพชิ้นเนื้อปอดของลูซี่สู้สองชิ้นแรกไม่ได้ ชิ้นส่วนอาร์เอ็นเอของไวรัสแตกหักเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยยิ่งกว่าที่ได้จากบล็อคพาราฟินเสียอีก แต่เข้าใจว่าคุณปู่คงตัดชิ้นเนื้อมาให้เยอะหนำใจแน่ ๆ เพราะปอดอันเบ้อเริ่ม ไม่มีเหตุผลที่จะตัดแบ่งมานิดเดียว แม้คุณภาพจะต่ำแต่ถ้าปริมาณมีเยอะมากพอให้ทำการทดลองซ้ำ ๆ ก็พอชดเชยกันได้
เป้าหมายแรกของทอเบนเบอร์เกอร์และรี้ด คือ ประกอบชิ้นส่วนให้ท่อน (segment) สมบูรณ์ของไวรัสที่มียีนสร้าง hemagglutinin (HA) สำหรับใช้ในการยึดเกาะผิวเซลล์
ท่อน HA นี้มีความยาวของยีน 1,701 เบส แต่เนื่องจากชิ้นเนื้อทั้งสามที่ได้ อาร์เอ็นเอแตกหักเป็นชิ้นเล็ก ๆ แต่ละชิ้น (fragment) มีความยาวไม่ถึง 150 เบส ทีมวิจัยจึงไม่สามารถกู้รหัสออกมาทีเดียวทั้งท่อนได้
ด้วยการแบ่งท่อนนี้ออกเป็น 22 ชิ้น ที่มีส่วนซ้อนเกยกัน (overlap) คือ 1 เกย 2, 2 เกย 3, 3 เกย 4, ... แล้วทำการทวีคูณเพิ่มจำนวน (RT-PCR) ทีละชิ้น เพื่อนำไปหาลำดับเบสอีกที จากนั้นเอาลำดับเบสของทั้ง 22 ชิ้น มาประกอบกันเป็นท่อน HA ที่สมบูรณ์
ลองสมมุติตัวอย่างชิ้นสั้น ๆ สัก 3 ชิ้น ให้พอเห็นภาพ (นิยมแสดงเป็นเบส ATCG ของดีเอ็นเอคู่สม-complementary DNA ที่ถูกถอดย้อนความ-reverse transcription จากอาร์เอ็นเอของไวรัสอีกที)
ชิ้นที่ 1 ATTTCCGG(AAAT)
ชิ้นที่ 2 (AAAT)GGT(CGA)
ชิ้นที่ 3 (CGA)CGTTTACGTTTC
ในวงเล็บคือส่วนที่เกยกัน (ของจริงจะแต่ละชิ้นยาวกว่านี้และเกยกันเยอะกว่านี้)
จะเห็นได้ว่า ชิ้นที่ 1 เกยกับ 2 ตรง AAAT
ส่วนชิ้น 2 เกยกับ 3 ตรง CGA
ดังนั้นประกอบร่างเป็นท่อนเดียวจาก 3 ชิ้น โดยตัดส่วนที่เกยออกก็จะได้เป็น
ATTTCCGG(AAAT)GGT(CGA)CGTTTACGTTTC
กว่าจะประกอบร่างท่อนแรกได้เสร็จ แล้วได้ตีพิมพ์ในวารสาร PNAS ก็เดือน กุมภาพันธ์ 1999 และแน่นอนมีชื่อคุณปู่ฮุลทินเป็นผู้วิจัยร่วมด้วย
ทั้งสามชิ้นเนื้อให้ลำดับเบสที่เหมือนกันเกือบเป๊ะ โดยมีเบสต่างกันเพียง 2 ตำแหน่งจากทั้งท่อน 1,701 เบส
2
จึงเป็นการยืนยันว่าการระบาดใหญ่ในปี 1918 ทั้งที่ South Carolina, New York, และ Alaska มีตัวการเดียวกันหมดคือไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เดียว
ลำดับเบสสมบูรณ์ของท่อน HA. Reid et al. PNAS 1999 96 (4) 1651-1656 ที่มา: https://doi.org/10.1073/pnas.96.4.1651
หลังจากนั้นทีมทอเบนเบอร์เกอร์ ก็ใช้เทคนิคเดิมกับท่อน (segment) ที่เหลือของไวรัสไข้หวัดใหญ่ 1918 และตีพิมพ์ผลงานออกมาเรื่อย ๆ โดยสรุป ดังนี้
ปี 1999 Hemagglutinin (HA) 1,701 เบส จากชิ้นที่เกยกัน 22 ชิ้น
ปี 2000 Neuraminidase (NA) 1,407 เบส จากชิ้นที่เกยกัน 22 ชิ้น
ปี 2001 Non-structural (NS) 838 เบส จากชิ้นที่เกยกัน 13 ชิ้น
ปี 2002 Matrix (M) 982 เบส จากชิ้นที่เกยกัน 15 ชิ้น
ปี 2004 Nucleoprotein (NP) 1,497 เบส จากชิ้นที่เกยกัน 18 ชิ้น
ปี 2005 RNA polymerase subunit
(PB2) 2,280 เบส จากชิ้นที่เกยกัน 33 ชิ้น
(PB1) 2,274 เบส จากชิ้นที่เกยกัน 33 ชิ้น
(PA) 2,151 เบส จากชิ้นที่เกยกัน 32 ชิ้น
ครบ 8 ท่อน (segment) รหัสพันธุกรรมของไข้หวัดใหญ่ 1918 สมบูรณ์แล้ว!
จำนวนเบสนี้นับเฉพาะส่วนที่เป็นยีนเท่านั้น จริง ๆ แล้วยังมีส่วนที่ไม่ได้โค้ดโปรตีน (UTR-untranslating region) เป็นติ่งตรงหัว (5') กับท้าย (3') อีกเล็กน้อย
บล็อคพาราฟินชิ้นเนื้อปอดของพลทหารทั้งสอง ได้ใช้แค่ในการถอดรหัสไวรัสท่อน HA กับ NA (NA ได้ไม่ครบท่อน) เท่านั้น ไม่ได้ใช้กับ 6 ท่อนที่เหลือ
เนื้อปอดจากลูซี่นั่นเองที่แม้จะมีคุณภาพต่ำ สายพันธุกรรมขาดเป็นชิ้นชิ้นน้อย แต่ชิ้นเนื้อมีมากพอให้ใช้ทำการทดลองตลอด 8 ปี ได้ชิ้นส่วนพันธุกรรมเล็ก ๆ ของไวรัสที่เกยกันถึง 188 ชิ้น ซึ่งถอดรหัสเอามาเรียงประกอบจนได้ 8 ท่อนครบสมบูรณ์ รวมความยาวของจีโนมทั้งหมด 13,130 เบส (ไม่รวม 5' & 3'UTR)
ตัวอย่างทางชีวภาพ ต้องไขว่คว้ามาด้วยเวลา หยาดเหงื่อ และเงิน ถือเป็นห่านทองคำของนักวิจัย มีเงินอย่างเดียวก็หาซื้อไม่ได้ ชิ้นเนื้อของลูซี่รายเดียว สร้างผลงานวิจัยต่อยอดให้ทอเบนเบอร์เกอร์เป็นจำนวนมาก
ปัญหาเรื่องการแย่งตัวอย่าง ไปจนถึงขโมยตัวอย่างก็มีให้เห็น ตอนอ่านข่าวจีนให้ทำลายตัวอย่างไวรัสที่เก็บได้ในระยะแรกของการระบาด (ซึ่งสำคัญมาก) เพราะแลปไม่ได้มาตรฐานนี่งงมาก ไม่มีรถใช้ขนส่งกันหรือไง ก็ปิดผนึกตัวอย่างส่งไปยังแลปที่ได้มาตรฐานสิ ไม่เห็นต้องทำลาย
อนึ่ง คุณปู่ฮุลทิน ได้ชื่อเป็นผู้ร่วมวิจัยแค่ครั้งเดียว คือตอนที่ถอดรหัสท่อน HA เท่านั้น หลังจากนั้นชื่อแกก็กระเด็นไปอยู่ในส่วนกิติกรรมประกาศ (acknowledgement)
รหัสจากท่อนทั้งแปดได้ถูกเอาไปเทียบกับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ต่าง ๆ ทั้งในคนและสัตว์ เพื่อเปรียบเทียบหาต้นตอของไข้หวัดใหญ่ ซึ่งผมจะกล่าวถึงในตอนถัด ๆ ไป
1
จากเดิมที่เห็นแค่ติ่งหูขวา ตอนนี้จิ๊กซอว์รหัสพันธุกรรมประกอบครบแล้ว เหมือนเราได้เห็นภาพนิ่งเต็มตัวของไวรัสไข้หวัดใหญ่ 1918 ช่างงดงามอะไรเช่นนี้ มองมุมไหนก็สวยอย่างร้ายกาจ
"ปากแดง ๆ จะไว้ใจได้กา"
แต่การเห็นแค่ภาพนิ่ง (รหัสพันธุกรรม) มันไม่ได้บอกพฤติกรรม หรือนิสัยใจคอของมัน ตกลงมันโหดจริงสมคำร่ำลือหรือเปล่า
ถ้ามีไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่โหดกว่า และเราศึกษาจนรู้แน่ว่ารหัสตรงไหนแบบไหนทำให้มันดุร้าย ก็พอจะเอามาเทียบดูได้ว่ามีรหัสความโหดเหมือนกันมั้ย
แต่ไข้หวัดใหญ่ 1918 เป็นตัวที่โหดสุดในประวัติศาสตร์มนุษย์แล้ว เลยไม่รู้ว่าจะเอามันไปเทียบกับใคร มีแต่จะให้มันจะเป็นตัวต้นแบบให้สายพันธุ์อื่นมาเทียบมากกว่า
ใคร ๆ ก็หาว่ามันเป็นเชื้อฆาตกร ถ้าอย่างนั้นผมขอเป็นทนายแก้ต่างให้จำเลย
อัยการนักวิทย์: นายฟลู 1918 นายเหี้ยมโหดมาก ฆ่าคนไปทั้งโลกเกือบร้อยล้านคน
บทเรียนจากเชื้อโรค: มั่วป่าว แค่เจอรหัสพันธุกรรมคุณฟลู ในชิ้นเนื้อคนที่ตายไปแล้ว 3 คน จากชิ้นเนื้อไม่ถึงร้อย จะรู้ได้ไงว่าคนอื่นทั่วโลกนับล้านจะป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ตัวเดียวกันจริง ไม่ได้เป็นโรคอื่น?
อัยการฯ: แต่ที่เบรวิก มิสชั่น นายฟลูทำคนป่วยตายไป 90% เลยนะ
บทเรียนฯ: เดือน พ.ย. ในอลาสก้า แค่คุณป่วยหมดแรงก่อกองไฟไม่ไหว ก็หนาวตายก่อนแล้ว ไม่ได้ตายเพราะโรครุนแรงล่ะมั้ง
อัยการฯ: อัตราตายทั่วโลกก็สูงมากเลยนะ อัตราป่วยตายมากกว่าไข้หวัดใหญ่ตัวอื่นตั้งหลายร้อยเท่า
บทเรียนฯ: มันช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เศรษฐกิจแย่ คนไม่มีอะไรจะกิน พอเป็นโรคขาดสารอาหารก็เลยตายกันง่าย ไม่ว่าจะป่วยเป็นโรคอะไรก็ตาม อาจจะไม่มีตังค์ไปโรงพยาบาล
หมอกับโรงพยาบาลมีไม่พอ ถึงมีพอก็ยังล้าหลังเมื่อเทียบกับปัจจุบัน ยาปฏิชีวนะสำหรับรักษาปอดบวมจากแบคทีเรียซ้ำเติมก็ไม่มี คนเลยตายกันเกลื่อน
1
อัยการฯ: หมอสมัยนั้นก็เห็นด้วยว่านายฟลู 1918 ดุร้ายมากเลยนะ
บทเรียนฯ: หมอสมัยนั้นนั่นแหละตัวดี ชอบให้แอสไพรินเกินขนาด จนคนไข้ตายเพราะพิษจากแอสไพริน
อัยการฯ: เอิ่ม... ผมขอคุยกับจำเลยแทนได้มั้ย คุณฟลูครับ
รหัสพันธุกรรมของไข้หวัดใหญ่ 1918: ~~~~~~~~~~~ (I'm still dead!)
ท่านเปา ผู้พิพากษาของเราส่ายหัว ยื่นไมค์ให้รหัสพันธุกรรม มันก็ไม่ตอบกลับมาเองหรอกว่ามันร้ายกาจยังไง ถ้าอยากให้มันให้การได้ ต้องไปที่ "ประตูราโชมอน" เพื่อเรียก "วิญญาณ" ของไข้หวัดใหญ่ 1918 มาสิงสู่ "ร่างทรง"
Rashomon Gate ที่มา: https://akirakurosawa.info/biography-part-5/
"ประตูราโชมอน" (Rashomon) สถานที่ที่เป็นประตูผีที่เราจะอัญเชิญวิญญาณไข้หวัดใหญ่จากนรกกลับมาสู่โลกมนุษย์ คือ HEK 293T cells (human embryonic kidney)
มันคือเซลล์ที่ คุณ Frank Graham แยกได้จากไตของตัวอ่อนมนุษย์ ในการทดลองครั้งที่ 293 แล้วเอาชิ้นส่วนจากไวรัสชนิดหนึ่ง (SV40 large T antigen) ฝังเข้าไปในเซลล์ ทำให้เซลล์นี้มีความสามารถในการเป็นประตูผี สำหรับการสำแดงเดช (expresson) แสดงลักษณะของวิญญาณดีเอ็นเอแปลกปลอมใด ๆ รวมถึงดีเอ็นเอที่มีรหัสของไวรัส ที่นักวิจัยเอามาเข้าทรงใส่เซลล์นี้
ถ้าไม่มีเซลล์ ไวรัสก็เหมือนเจ้าไม่มีศาล ไม่สามารถเพิ่มจำนวนหรือทำอะไรได้ทั้งนั้น
"วิญญาณ" ของไวรัสไข้หวัดใหญ่ 1918 คือ รหัสพันธุกรรมของที่ทอเบนเบอร์เกอร์ถอดมาได้ เอาไปสังเคราะห์เป็นดีเอ็นเอแทรกใส่ในพลาสมิด (expression plasmid vector) ซึ่งเป็นดีเอ็นเอแปลกปลอม ที่มื่อเอาเข้าสู่เซลล์แล้วจะสามารถเพิ่มจำนวนหรือถอดรหัสสร้างอาร์เอ็นเอและ/หรือโปรตีนต่อไปได้
เสี้ยววิญญาณของไวรัสไข้หวัดใหญ่ 1918 ที่เราจะอัญเชิญมาก่อนในรอบแรก คือ ท่อน NS (Non-structural) ที่สั้นที่สุด
1
"ร่างทรง" (medium) ที่ได้รับเกียรติมาเป็นร่างหลักที่มีชิ้นส่วนที่เหลือของไวรัสไข้หวัดใหญ่ อีก 7 ท่อนคือ ไวรัส Influenza A/WSN/1933(H1N1) ซึ่งสืบทอดมาจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ของมนุษย์ที่แยกได้เป็นตัวแรกของโลกในปี 1933 นั่นเอง
ส่วน WSN มาจาก Wilson Smith (หนึ่งในสามผู้ค้นพบไวรัสไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์) กับ Neuroadapted (เอาไวรัสไปใส่หนูเป็นทอด ๆ จนไวรัสปรับตัวเข้ากับระบบประสาทของหนู) ค่อนข้างดุร้ายฆ่าหนูทุกตัวที่ติดเชื้อ
ปกติเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จะตั้งชื่อสายพันธุ์ตามสถานที่ที่ค้นพบ แต่ตัวนี้ตั้งตามชื่อคน เพราะมันเริ่มจาก ตัวเฟอร์เรต (ferret สัตว์คล้ายพังพอน) ที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่จากมนุษย์ ดันไปจามใส่คุณ สมิธ (Wilson Smith) ของเราเข้าให้ จนเขาป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ไปด้วย
1
เขาจึงเอาเชื้อจากคอตัวเองไปใส่ตัวเฟอร์เรตตัวใหม่ จนมันป่วยแยกได้เชื้อไวรัสอีกที ไวรัสสายพันธุ์นี้ที่ใช้ในการทดลองอีกมากมายจึงถูกตั้งชื่อตามคุณสมิธ
เมื่อเตรียมทุกอย่างพร้อมแล้ว ก็นำทุกอย่างมารวมกัน โดยหุ้มทั้งร่างทรงและวิญญาณที่เป็นดีเอ็นเอแฝงรหัสของไวรัสด้วยชั้นไขมัน (liposome) ตัวไขมันนี้ทำหน้าที่เป็น เครื่องเซ่น ที่จะให้ร่างทรงกับวิญญาณเข้าประตูราโชมอน (cell) ได้
ทันใดนั้น ไวรัสร่างทรงไข้หวัดใหญ่ 1918 ก็กำเนิดขึ้น มันมีพันธุกรรม 7 ท่อนของไวรัสไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลจากปี 1933 กับอีก 1 ท่อน (NS) ที่มาจากไข้หวัดใหญ่ 1918
เอาเชื้อร่างทรงที่องค์ลงแล้วไปทดสอบในหนูดูซิ (งานของทีมทอเบนเบอร์เกอร์ที่ตีพิมพ์ในปี 2001)
ผลปรากฏว่า...
หนูกระดิกหางเต้นเบรคแดนซ์อย่างมีความสุข
1
บทเรียนจากเชื้อโรค: เห็นมั้ยไวรัสมันเชื่องขึ้น (attenuated) ไข้หวัดใหญ่ 1918 มันก็แค่ไข้หวัดธรรมดา ๆ (ฟังดูคุ้น ๆ นะคำพูดนี้) นิสัยน่ารักกว่าไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลเสียอีก
ท่านเปา: ยกฟ้อง เลิกศาล!
~~~~~~~~~~~~~~~
อัยการนักวิทย์: ผมขออุทธรณ์ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ 1918 มันเป็นเชื้อของคน เอาไปใส่หนู ก็ต้องรุนแรงสู้เชื้อไข้หวัดใหญ่ที่ปรับตัวเข้ากับหนูมานานไม่ได้อยู่แล้ว
ท่านเปา: แล้วจะเอายังไง ไม่นะ หรือว่า...
อัยการนักวิทย์: ไม่เอาร่างทรงแล้ว เราจะคืนชีพไวรัสไข้หวัดใหญ่ 1918 ร่างสมบูรณ์กัน
บทเรียนจากเชื้อโรค: ไชโย เอ้ย กรี๊ดดดดดด
เรากำลังจะเล่นบทบาทของพระเจ้า คราวนี้ไม่ใช่แค่ดัดแปลงพันธุกรรมบางส่วน แต่เราจะให้กำเนิดสิ่งมีชีวิต (บางคนไม่นับไวรัสเป็นสิ่งมีชีวิต) ทั้งตัวขึ้นมาจากรหัสพันธุกรรมที่สังเคราะห์ขึ้นในหลอดทดลอง
ความพยายามถอดแบบพิมพ์เขียว (blueprint) รหัสพันธุกรรมไข้หวัดใหญ่ 1918 ของทอเบนเบอร์เกอร์ ที่ใช้เวลาหนึ่งทศวรรษ ได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว ได้เวลาส่งไม้ผลัดให้กับผู้ที่จะมาคืนชีพไวรัสมรณะ
ประกอบร่างสร้างเทพมรณะ (Reconstruction of the 1918 pandemic virus)
เริ่มจากเปลี่ยนตัวอักษร ATCG ในเอกสารของทอเบนเบอร์เกอร์ ให้กลายเป็นสายดีเอ็นเอจริง ๆ
ผู้ที่มารับไม้ผลัดแรกคือ ด็อกเตอร์ Peter Palese และ Adolfo Garcia-Sastre นักจุลชีววิทยาจากเม้าท์ไซนาย (Mount Sinai) นิวยอร์ค ทำการสร้างพลาสมิด (plasmid) โดยอาศัยพิมพ์เขียวรหัสพันธุกรรมไวรัสไข้หวัดใหญ่ 1918 ทั้ง 8 ท่อนของทอเบนเบอร์เกอร์
พลาสมิดที่มีรหัสพันธุกรรมไข้หวัดใหญ่นี้ สามารถออกแบบให้มันสร้างสายอาร์เอ็นเออย่างเดียว หรือออกแบบให้มันสร้างโปรตีนด้วยก็ได้
พลาสมิดถูกสร้างขึ้นมาทั้งหมด 12 วง
8 วง เมื่อเข้าสู่เซลล์ จะสร้างอาร์เอ็นเอสายลบทั้ง 8 ท่อน (segment) รวมกันเป็นจีโนม (genome) ที่สมบูรณ์ ของไวรัสไข้หวัดใหญ่ 1918
4 วง เมื่อเข้าสู่เซลล์ จะสร้างโปรตีนสำคัญ 4 ชนิดของไวรัส (PA, PB1, PB2, NP) ที่จะไปทำปฏิกิริยากับสายอาร์เอ็นเอของไวรัส แล้วเริ่มกระบวนการสร้างไวรัสตัวเป็น ๆ ออกมาโดยอาศัยกลไกของเซลล์
เมื่อไหร่ที่เราเอาพลาสมิดทั้ง 12 วงยัดใส่เซลล์ ความมหัศจรรย์จะบังเกิด
ไวรัสมฤตยูที่สูญพันธุ์ไปแล้วจะคืนชีพกลับมา!
ด็อกเตอร์ทั้งสองส่งพลาสมิดทั้ง 12 วง ส่งไปที่ ศูนย์ควบคุมโรค (CDC - Center of Disease Control)
หมายเหตุ: จริง ๆ การคืนชีพไวรัสจากพลาสมิดที่มีรหัสของไวรัสที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก (~หมื่นเบส) เป็นอะไรที่ง่ายมาก สมัยเรียนผมก็ทำประจำ ถ้าเป็นไวรัสอาร์เอ็นเอสายบวกขนาดเล็ก เราใช้พลาสมิดเดียวก็พอ
แต่ความยากของไวรัสไข้หวัดใหญ่อยู่ที่มันเป็นอาร์เอ็นเอสายลบที่เป็นท่อน ๆ จึงต้องใช้พลาสมิดจำนวนมากตามจำนวนท่อนกับโปรตีนที่ไวรัสต้องใช้ในกระบวนการแรกเริ่มของการติดเชื้อในเซลล์
บางคนยังไม่ถือว่าการสร้างไวรัสเป็นการสร้างสิ่งมีชีวิตขึ้นเองได้ เพราะไวรัสไม่ใช่เซลล์บางคนจึงไม่จัดว่ามันมีชีวิต แต่จริง ๆ แล้วมีนักวิทยาศาสตร์ที่เคยได้รางวัลโนเบล สามารถสร้างแบคทีเรียขนาดเล็ก [Mycoplasma] ที่มีรหัสพันธุกรรมยาวประมาณ 5 แสนเบส ขึ้นมาจากดีเอ็นเอสังเคราะห์ได้
CDC รับไม้ผลัดมาตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่อาวุโสในรัฐบาลที่เลือกให้ สำนักงานใหญ่ (headquarter) ของ CDC ที่แอตแลนต้า (Atlanta) เป็นจุดที่จะทำการประกอบร่างเชื้อมรณะกัน
โครงการได้รับไฟเขียวจาก สถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อ (NIAID - National Institute of Allery and Infectious Disease) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (NIH - Naitonal Institute of Health) ของอเมริกา
คนที่ทำงานด้านเชื้อโรคต้องรู้จัก NIAID ที่เป็นองค์กรระดับโลก ผู้อำนวยการก็คือ คุณหมอ แอนโทนี่ ฟาวซี่ (Anthony Fauci) ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมา คอยเบรคประธานาธิบดีทรัมป์ (Donald Trump) ของอเมริกาจนหัวทิ่มนั่นเอง
คณะกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพ (IBC - Institutional Biosafety Committee) และคณะกรรมการกำกับดูแลการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ (IACUC - Institutional Animal Care and Use Committee) ของ CDC มีมติอนุมัติให้ทำการวิจัยนี้ได้ในห้องปฏิบัติการ Biosafety level 3 enhanced (BSL3+)
BSL มีทั้งหมด 4 ระดับ อธิบายคร่าว ๆ ได้แก่
BSL1 - เชื้อไม่ก่อโรค ทำวิจัยเกี่ยวกับเชื้อบนโต๊ะธรรมดาได้
BSL2 - เชื้อก่อโรคที่ไม่อันตรายมาก หรือติดยาก ทำในตู้ชีวะปลอดภัย (Biosafety cabinet)
BSL3 - เชื้อก่อโรคที่ติดต่อทางการหายใจได้ งานทั้งหมดต้องอยู่ในห้องความดันลบ (negative pressure) ป้องกันเชื้อเล็ดรอดออกนอกห้องปฏิบัติการ
BSL4 - เชื้ออันตราย ไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีนป้องกัน ติดต่อง่าย ใส่ชุดอวกาศทำงานเหมือนที่เราเห็นในหนังโรคระบาดทั้งหลาย
BSL5 - ไม่มีอยู่จริง แต่เป็นชื่อเล่นที่ใช้เรียกห้องปฏิบัติการ ที่จัดการกับวัตถุจากนอกโลก (เผื่อมี alien virus ติดมากับหินที่เอากลับมาจากดวงจันทร์)
ยังมีรายละเอียดจุกจิกอีกมหาศาล อุปกรณ์ป้องกันก็จะรัดกุมขึ้นเรื่อย ๆ ตามระดับ
ห้องปฏิบัติการทางจุลชีววิทยาทั่วไปจะเป็น BSL2 เกือบทั้งหมด ส่วน BSL3 ในไทยมีไม่กี่แห่ง เพราะแพงมาก ค่าดูแลรักษา (maintenance) ปีละหลายล้าน ในขณะที่ BSL4 มีอยู่ไม่กี่แห่งในโลก (ไทยไม่มี)
1
ส่วนคำว่า enhanced หรือ plus คือเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการขึ้นไปอีก ดังนั้นกรณีสร้างไข้หวัดใหญ่ 1918 นี้ ให้ทำใน BSL3+ คือเข้มงวดกว่าระดับ 3 แต่ยังไม่ถึงขั้นระดับ 4
ในแง่ของการรักษาความปลอดภัยและลดโอกาศเชื้อหลุดรอด ทาง CDC จึงมอบหมายให้คนเพียงผู้เดียวเท่านั้นที่จะดำเนินการประกอบร่างเชื้อมรณะนี้
ผู้ที่ได้รับเกียรตินั้นคือ ด็อกเตอร์ เทอร์เรนส์ ทัมปี (Terrence Tumpey) ผู้เชี่ยวชาญด้านไข้หวัดใหญ่ใน CDC
Dr. Terrence Tumpey ทำงานในห้องปฏิบัติการ BSL3-enhanced เครดิตภาพ: James Gathany - Public Health Image Library #7989. ที่มา: https://www.cdc.gov/flu/pandemic-resources/reconstruction-1918-virus.html
ปฏิบัติการเริ่มขึ้นในหน้าร้อนปี 2005 คุณทัมปี ต้องรอช่วงเย็นที่เพื่อน ๆ กลับกันหมดแล้ว เข้ามาทำงานอันใหญ่ยิ่งตามลำพัง เขาต้องสแกนนิ้วเพื่อจะเข้าใช้ห้องปฏิบัติการ BSL3 และต้องสแกนม่านตาเพื่อที่จะเปิดตู้แช่แข็ง (freezer) ที่มีตัวอย่างหรือชิ้นส่วนของไวรัสนี้
ระหว่างที่ทำการทดลอง ดร.ทัมปี ยังต้องทานยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ (oseltamivir) ทุกวันเพื่อลดโอกาสติดเชื้อ และแน่นอนถ้าเขามีอาการป่วยขึ้นมาก็ต้องโดนกักตัวกันยาว
หน้าที่ของเขาคือใส่พลาสมิดทั้ง 12 ลงไปในเซลล์ แล้วเฝ้าดูว่าไวรัสไข้หวัดใหญ่ร่างจริงจะโผล่ขึ้นมาแบบตัวเป็น ๆ หรือไม่
งานประกอบร่างทำในช่วงเดือน กรกฎาคม 2005 เพื่อนร่วมงานต่างถาม ดร.ทัมปี ว่า "มัน" มาหรือยัง
จนมาวันหนึ่งในเดือนเดียวกัน ดร.ทัมปี ส่งอีเมลล์ให้เพื่อนร่วมงาน
“That’s one small step for man, one giant leap for mankind.”
"ก้าวเล็ก ๆ ของคน แต่เป็นก้าวกระโดดของมนุษยชาติ" เลียนแบบคำพูดของ นีล อาร์มสตรอง ตอนไปเหยียบดวงจันทร์เป็นครั้งแรกนั่นเอง
เพื่อนร่วมงานทุกคนรู้ทันทีว่าต้องซื้อเค้กจุดเทียนฉลองวันเกิดกันแล้ว
Happy Birthday to You, 1918 Pandemic Influenza!
กำเนิดใหม่ไวรัสล้างโลก! ชื่อสายพันธุ์อย่างเป็นทางการของมันคือ
Influenza A/Brevig Mission/1/18 (H1N1)
นั่นคือไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ จากเบรวิก มิสชั่น ลำดับที่ 1 ในปี 1918 (โปรตีนบนผิวเป็นชนิด H1N1) เพราะรหัสพันธุกรรมของมันพบอยู่ในศพของลูซี่ที่ถูกฝังอยู่ที่เบรวิก มิสขั่น ในอลาสก้านั่นเอง
ไวรัสไข้หวัดใหญ่ 1918 ที่คืนชีพมานี้ ถูกนำไปทดสอบความหฤโหดของมันทั้งในเซลล์เพาะเลี้ยงและในหนูเทียบกับไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (seasonal flu) สายพันธุ์ที่ได้จากเท็กซัสในปี 1991 ผลปรากฏว่า...
ปล่อยไวรัสออกจากเซลล์ปอดมนุษย์มากกว่าสายพันธุ์เท็กซัส 50 เท่า
หนูน้ำหนักลด 13% ภายใน 2 วัน (สายพันธุ์เท็กซัสหนูน้ำหนักแทบไม่ลด)
มีไวรัสในปอดหนูมากกว่าสายพันธุ์เท็กซัส 39,000 เท่า (4 วันหลังติดเชื้อ)
หนูตายเรียบใน 5 วัน ขณะที่หนูที่ได้รับไวรัสสายพันธุ์เท็กซัส ไม่ตายซักตัว
สรุปได้ว่า "โหด-sus-Russia" จริง ๆ
ถุงลมปอดของหนู ตามปกติจะเห็นเป็นโพรงว่าง ๆ เพราะข้างในเป็นอากาศที่มาแลกเปลี่ยน รูปบนแสดงภาพขยายปอดของหนูที่ได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลซึ่งดูปกติดี ในขณะที่รูปล่างคือภาพขยายปอดของหนูที่ได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่ 1918 อากาศในถุงลมถูกแทนที่ด้วยเลือดและเซลล์อักเสบมหาศาล เครดิตภาพ: CDC, Science ที่มา: https://www.cdc.gov/flu/pandemic-resources/reconstruction-1918-virus.html
แต่เหตุผลว่าทำไมถึงโหดได้ขนาดนี้ขออุบไว้กล่าวถึงในตอนถัด ๆ ไป
งานวิจัยนี้ได้ตีพิมพ์ในวารสาร Science เมื่อ ตุลาคม 2005 (งานชิ้นแรกของทอเบนเบอร์เกอร์ก็ตีพิมพ์ใน Science เหมือนกัน)
หลังจากนั้นก็มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการคืนชีพ
คนที่เห็นด้วย ความรู้ที่ได้จากเชื้อที่คืนชีพมานี้ จะป้องกันหรือบรรเทาความร้ายแรงของการระบาดใหญ่จากไข้หวัดใหญ่ในอนาคตได้
คนที่ไม่เห็นด้วยก็มี 2 ประเด็นคือ
1. ถ้าเชื้อหลุดออกมาแล้วซวยเกิดการระบาดใหญ่จะทำยังไง (pandemic) อาจมีคนพยายามขโมยเชื้อ หรือเชื้อหลุดออกมาโดยไม่ตั้งใจ ทำไมไม่ใช้ความปลอดภัยระดับสูงสุด (BSL4) ก่อนหน้านี้ SARS ก็เคยหลุดออกจาก BSL3 มาแล้ว
2. การเอารหัสพันธุกรรมสมบูรณ์แบบของไวรัส กับวิธีการคืนชีพ มาโชว์ในที่สาธารณะ ก็เหมือนการเชื้อเชิญให้ผู้ก่อการร้ายหรือนักวิทยาศาสต์ผู้ชั่วร้าย เอาไปทำตามได้ น้ำยาทั้งหลายก็หาซื้อได้ทั่วไป สายดีเอ็นเอ ก็มีบริษัทรับจ้างสังเคราะห์ให้ได้อยู่แล้ว เรียกได้ว่าห้องปฏิบัติการทั่ว ๆ ไป ตามมหาวิทยาลัยในไทยก็พอทำได้
จะชอบหรือไม่ชอบก็ตามเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 1918 ได้กลับมาเป็นเพื่อนร่วมโลกของเราอีกครั้ง หลังจากสาบสูญไปเกือบหนึ่งศตวรรษ
มหากาพย์คืนชีพเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 1918 ได้จบลงแล้ว
แต่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของหนทางที่นำไปสู่การจบเกม (Endgame) ของมหาสงครามไม่รู้จบ (Infinity War) ระหว่างมนุษย์กับไข้หวัดใหญ่ ใครจะเป็นผู้ชนะ...
บทเรียนจากเชื้อโรค:
เราได้เห็นตัวละครที่มีบทบาทสำคัญอยู่ 3 คน คือ ฮุลทิน (Hultin), ทอเบนเบอร์เกอร์ (Taubenberger), และ ดันแคน (Duncan) 2 ใน 3 คนนี้ไม่ได้มีพื้นฐานด้านไวรัสมาก่อนด้วยซ้ำ ซึ่งการข้ามศาสตร์เป็นความสามารถที่น่าสนใจ และอาจจะเหมาะกับผู้คนในยุคนี้ ที่วันดีคืนดีความรู้ความสามารถบางอย่างก็หมดประโยชน์ไปซะเฉย ๆ จากเทคโนโลยีและพฤติกรรมของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนเกิดการ disruption ไปทั่วทุกหย่อมหญ้า
1
ผมเคยไปงานประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล (Nobel laureates) ที่ลินเดา (Lindau) ประเทศเยอรมันนี ความประทับใจอย่างหนึ่งในครั้งนั้นคือ ผู้ได้รางวัลแต่ละคนซึ่งส่วนใหญ่ก็แก่งั่กแล้ว ก็ยังคงทำงานวิจัยและมีจำนวนไม่น้อยที่เปลี่ยนแนวงานวิจัยไปคนละทิศกับผลงานที่ได้รางวัลโนเบลโดยสิ้นเชิง
บางคนอายุเกิน 60 หรือ 70 ปีแล้ว พองานเดิมอิ่มตัวแล้ว ก็เปลี่ยนหัวข้อการทำวิจัย ไปทำเรื่องที่ตัวเองคิดว่าน่าสนใจและท้าทาย ไม่ยึดติดกับความสามารถที่ตัวเองมี โดยที่ไม่มีพื้นความรู้ด้านที่กระโจนเข้าไปเลยด้วยซ้ำ
1
เจ้าคุณทวดโนเบลเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่มีความรู้ก็ไปศึกษาให้รู้ ถ้ายังรู้ไม่พอก็หาคนที่รู้ดีกว่ามาช่วย และความรู้ความสามารถดั้งเดิมของเราไม่มีสูญเปล่า สามารถดัดแปลงมาใช้ข้ามศาสตร์ได้ซึ่งทำให้เราได้เปรียบผู้ที่มีความสามารถจำกัดอยู่แต่เฉพาะในศาสตร์นั้น ๆ
ถ้าเราแยกวิจารณ์ ฮีโร่ทั้ง 3 ของเรา แต่ละคนก็มีวิถีชีวิตที่น่าสนใจไปคนละแบบ
ทอเบนเบอร์เกอร์ (Jeffery Taubenberger)
เป็นคนที่ดูหวือหวาน้อยที่สุด แต่ได้ผลงานมากที่สุด ไม่ต้องยุ่งกับใครมาก ตั้งหน้าตั้งตาทำงานของตัวเองไป ขอให้เก่งจริงเถอะ เดี๋ยวก็มีคนมาเสนอตัว ทั้งฮุลทิน ทั้งดันแคน และไม่ว่าใครจะขุดสำเร็จ ทอเบนเบอร์เกอร์ก็ได้ประโยชน์ทั้งคู่
บั้นปลาย: เจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน อยู่ที่ NIH (สุดท้ายสถาบัน AFIP ที่ทำงานเก่าแกก็โดนยุบจนได้)
คุณปู่ฮุลทิน (Johan Hultin)
คนนี้ชีวิตดูมีรสชาติมาก และมีความสามารถล้นเหลือ แต่เป็นสไตล์ฉายเดี่ยวซะส่วนใหญ่ อันที่จริงแกเป็นคนที่มีคุณสมบัติครบถ้วนที่สุด คือมีประสบการณ์ค้นหาและขุดศพจาก permafrost มาก่อน เป็นนักนิติพยาธิวิทยา ดังนั้นเรื่องตัดชิ้นเนื้อจากศพเป็นเรื่องหมู ๆ และยังเคยทำงานด้านไวรัสและเชื้อโรคมาก่อน
1
เสมือนว่าเป็น นักภูมิศาสตร์+นักธรณีวิทยา+นักพยาธิวิทยา+นักไวรัสวิทยา ในร่างเดียว ถ้าให้แข่งกันตัวต่อตัวไม่น่าจะมีใครตามแกทันได้ ถ้าแกยังไม่เกษียณนี่ แกอาจจะนั่งถอดรหัสไวรัสในแลปตัวเองจนเสร็จไม่ต้องง้อใครเลยก็ได้
แม้จะดูหุนหันพลันแล่น เตรียมการแค่สัปดาห์เดียวก็ไปขุดรอบสองที่อลาสก้าแล้ว แต่ก็มีความรอบคอบแบ่งชิ้นเนื้อเป็น 4 ชุด ส่งผ่าน 3 บริษัท
ชื่นชอบความท้าทาย ขึ้นปีนเขาเสี่ยงตาย แต่ในขณะเดียวกับก็ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการขับขี่รถยนต์แบบสุด ๆ
ชีวิตคุณปู่อาจเป็นการสอนให้รู้ว่ายิ่งคุณชอบเสี่ยงมากแค่ไหน (กีฬาผาดโผน, ทำธุรกิจที่ high risk, high return) ก็ยิ่งต้องรอบคอบมากเท่านั้น
ดูเหมือนว่าแกจะเป็นศูนย์กลางของเรื่องนี้ ใคร ๆ ก็ชอบในความเฮ้วของแก แต่ถ้าคิดดูดี ๆ สิ่งที่แกทุ่มเทให้กับการคืนชีพไวรัสมีอยู่แค่ไม่กี่สัปดาห์ ในขณะที่ทอเบนเบอร์เกอร์ทุ่มเทมาตลอด 10 ปี ส่วนดันแคนประมาณ 8 ปี
1
ดูเหมือนว่าทุกคนจะมองแต่ที่ผลลัพธ์มากกว่าตัวกระบวนการ
ถึงจะไม่มีใครฟ้อง แต่สิ่งที่คุณปู่ทำนั้นมันผิดกฎหมาย ถึงชาวบ้านจะอนุญาต แต่เขาไม่ได้ทำเรื่องขอขุดศพกับทางราชการเลย (ซึ่งถ้าขอ แกก็คงต้องไปกางเต็นท์อะไรกันวุ่นวายเหมือนดันแคน) ตัวแกก็เกษียณแล้วยังมีสิทธิอะไรมาทำการชันสูตรได้อีก การใช้กรรไกรตัดกิ่งถึงจะดูฮา แต่ถ้าศพนั้นเป็นญาติของเรา เราจะหัวเราะออกมั้ย ที่ปู่แกเอาเครื่องมือแบบนี้มาเลาะศพคนที่เรารัก
1
การที่แกไม่ป้องกันตัวเองเลย แถมยังเอาชาวบ้านที่เป็นมือสมัครเล่นมาช่วยงาน ก็ด้วยเหตุผลว่าขนาด 46 ปีที่แล้วยังหาไวรัสไม่เจอ มารอบนี้โอกาสมีไวรัสต้องยิ่งน้อยลงไปอีก จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีไวรัสที่ยังมีชีวิตอยู่
อันนี้น่าจะจริง แต่ถ้าถามว่าโอกาสเป็นศูนย์สัมบูรณ์เลยหรือไม่ที่ศพที่เหลือจะไม่มีเชื้อเหลืออยู่เลย ผู้เชี่ยวชาญแต่ละท่านอาจจะตอบไม่เหมือนกัน
แล้วถ้าสุสานนี้อยู่ข้างบ้านเรา เราจะอยากให้เขาเดินดุ่ย ๆ มาขุดโดยไม่มีอะไรป้องกันการหลุดออกมาของเชื้อโรคเลยหรือไม่
ถ้าดูที่ผลลัพธ์ วงการวิชาการได้ประโยชน์ แต่ถ้าดูที่ตัวแกเอง ภารกิจนี้นอกจากสร้างชื่อเสียงก็คงไม่ได้ทำให้แกเก่งหรือมีความสามารถมากขึ้นตรงไหน
น่าสงสัยว่าถ้าเราอยากพัฒนานักเรียน เราควรจะเน้นที่ผลลัพธ์คือคะแนนสอบ หรือเราควรเน้นที่กระบวนการ การเรียนรู้กันแน่
บั้นปลาย: แกก็ยังคงใช้ชีวิตโลดโผนต่อไป มีคนมาชวนแกไปขุดศพที่ไซบีเรีย เพื่อหาไข้หวัดใหญ่ 1889 (Russian Flu) หรือว่าง ๆ แกก็ขนหินไปบูรณะเขาวงกตที่ไอซ์แลนด์
ดันแคน (Kirsty Duncan)
คนนี้ในบทความทั่วไปจะไม่ค่อยพูดถึง หรือพูดถึงนิดหน่อยในฐานะเป็นตัวโจ๊กว่า ลงทุน ลงแรง ลงเงิน ลงเวลา ไปมหาศาล แต่ไม่ได้ผลงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย
แต่ถ้ามองดี ๆ ดันแคนไม่ได้ลักไก่แบบฮุลทิน แต่ทำทุกอย่างไปตามระบบอย่างถูกต้อง ตามที่มันควรจะเป็น
ตัวเธอเริ่มต้นจากศูนย์ คืออยู่นอกวงการไวรัสอย่างแท้จริง จนมานำนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกเป็นฝูงไปทำการวิจัยข้ามประเทศได้
ตรงกันข้ามกับฮุลทิน ดันแคนไม่ได้สร้างผลงานทางวิทยาศาสตร์อะไรให้กับโลกใบนี้เลย แต่ตัวเธอต่างหากที่ได้ตักตวงความรู้ ทักษะ และประสบการณ์มหาศาลไป
8 ปีที่เธอต้องจัดการกับพวกนักวิทยาศาสตร์อีโก้สูงทั้งหลาย จัดการการเงิน ติดต่อประสานงานกับราชการ ต่อรองกับแต่ละฝ่าย รับมือสื่อต่าง ๆ ฯลฯ ในระดับนานาชาติ ตั้งแต่อายุแค่ 20 ปลาย ๆ แล้วลองทายสิว่าเธอจะไปทำอะไรต่อ
1
บั้นปลาย: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ประเทศแคนาดา!
1
โปรดติดตามตอนต่อไป
ตอนที่ 7: ไขปริศนาต้นกำเนิดไวรัสไข้หวัดใหญ่ 1918
เอกสารอ้างอิง:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา