13 พ.ค. 2020 เวลา 09:50 • ศิลปะ & ออกแบบ
กลับมาตอนที่ 2 ของการขออนุญาตก่อสร้างอาคาร
Cr. Depositphotos
คราวที่แล้ว อธิบายหลักการทั่วไปให้เห็นว่า ถ้ายื่นแบบและเอกสารตามขั้นตอนจะต้องใช้เวลาประมาณ 90 วัน++
ซึ่งหลายคนไม่ได้เผื่อเวลาส่วนนี้ไว้ หลายคนไม่อยากรอ หรือ รอไม่ได้เนื่องจากอาคารที่จะสร้างนั้น กู้เงินมาลงทุน ดอกเบี้ยกินทุกเดือน ยิ่งสร้างช้ายิ่งเสียประโยชน์
แล้วมีวิธีที่เร็วกว่านี้ไหมล่ะ ?
มาดูเคล็บลับที่เขาใช้กันครับ
1.ใช้มาตรา 39 ทวิ
ฟังดูเฉพาะกิจเหมือนมาตรา 44 ของทั่นนายกแต่ไม่ใช่อย่างนั้นนะครับ
Cr. McKeller
มาตรา 39 ทวิ เป็นมาตราหนึ่งตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 กระทรวงมหาดไทย ที่อนุญาตให้สร้างอาคารไปได้ก่อนที่จะมีการอนุมัติแบบ โดยมีข้อแม้ว่า
ก. เจ้าของอาคารจะต้องทำการยื่นเรื่องในการใช้มาตรา 39 ทวินี้ และเมื่อทางราชการออกใบตอบรับ จึงดำเนินการก่อสร้างได้
ข. สถาปนิกและวิศวกร ผู้ลงนามในแบบจะต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพตามลำดับขั้นที่สอดคล้องกับขนาดอาคารตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ถ้าเป็นอาคารสูงเกิน 23 เมตร หรือ มีพื้นที่มากกว่า 10,000 ตารางเมตร สถาปนิกวิศวกรที่ลงนามรับรองในแบบต้องเป็นระดับ วุฒิสถาปนิกและวุฒิวิศวกร  ซึ่งอาจจะมีค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างเพิ่มขึ้น
*ระดับขั้นพวกนี้จะถูกควบคุมโดยสภาสถาปนิก และสภาวิศวกร มี 3 ขั้น ไล่จากต่ำไปสูงคือ ระดับภาคี ระดับสามัญ และระดับวุฒิ
แต่ถ้าไม่มีก็เป็น สถาปนิกวิศวกร'เถื่อน' น่ะสิ
ไว้มีโอกาสจะมาเล่าความแตกต่างให้ฟังนะครับ
ค. ระหว่างที่หน้างานก่อสร้างไป ขั้นตอนการยื่นขออนุญาตก็สามารถดำเนินคู่ขนานกันไปได้ ซึ่งความถูกต้องของแบบอาคารยังต้องมี หมายความว่า ถ้าเกิดตรวจสอบพบว่าอาคารมีข้อหนึ่งข้อใดผิดกฎหมาย ก็จะต้องทุบหรือแก้ไขอาคารที่สร้างไปแล้วให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเจ้าของอาคารต้องรับความเสี่ยงนี้ไป
2. ใช้ตัวแทนในการยื่นฯ
ขั้นตอนในการยื่นก็ยังคงเหมือนเดิม เพียงแต่ว่า ตัวแทนพวกนี้จะชำนาญมากกว่าในการเตรียมเอกสาร  ในการเช็คประเด็นของแบบที่อาจผิดกฎหมาย ในการเจรจากับผู้ตรวจ
เจ้าของอาคารก็จะลดความยุ่งยากวุ่นวายลงได้บ้าง (คล้ายๆกรณีให้บริษัททัวร์ทำเรื่องขอวีซ่าแทนเรานั่นแหละ)
ซึ่งตัวแทนเหล่านี้ก็มาในหลายรูปแบบ ตั้งแต่เป็นผู้รับจ้างชำนาญทางนี้จริงๆ หรือเป็นผู้รับเหมาที่ก่อสร้างงานในพื้นที่ ไปจนถึงผู้กว้างขวางที่ไม่อาจเอ่ยนาม
เรื่องแบบนี้ก็มีความสุ่มเสี่ยงในเรื่องที่ว่ามันเป็นความชำนาญที่พิสูจน์ได้ยาก มีข้อแม้เยอะ บางทีเสียเงินจ้างไปแล้วก็อาจจะไม่ได้แตกต่างจากการยื่นเรื่องเองสักเท่าไร
Cr. Helpdee.com
3.ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการให้
เมื่อใช้ตัวแทนอาจจะไม่แน่นอน จึงมีไอเดียว่า งั้นก็ใช้ผู้รู้จริงที่แน่นอนกว่าในการจัดการสิ
ผู้รู้จริงในที่นี้ก็คือเจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้ตรวจอาคารของเรานั่นแหละ
วิธีแบบนี้ก็มีทำในหลายลักษณะครับ เช่น
- แบบบ้านๆทั่วไป 
ก็คือ เข้าไปหาเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ก่อนเริ่มทำแบบ ไปปรึกษาขอคำชี้แนะว่า ที่ผืนนี้ทำอะไรได้แค่ไหน มีข้อกำหนดอย่างไร เมื่อแบบเป็นรูปเป็นร่างแล้วก็ไปปรึกษาให้ดูแบบอีกทีว่า ครบถ้วนถูกต้องเพียงใดก่อนยื่นจริง
ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ไม่ขัดข้อง เพราะมีหน้าที่ดูแลประชาชนอยู่แล้ว
แต่แหม ! ถ้าไปกันเยอะๆ หรือมากันบ่อยๆ ก็เกรงใจแย่เลย  ก็เลยขยับมาเป็นวิธีต่อไป
- ว่าจ้างเจ้าหน้าที่ตรวจแบบ
ถ้าเป็นไปอย่างถูกหลักการก็คือ ว่าจ้างนอกเวลาราชการให้ช่วยดูแบบให้ทีว่า โอเค ติดขัดอะไรหรือไม่ ?
ซึ่งบางครั้งก็อาจจะล้นไปถึง ช่วยออกแบบ  หรือหาสถาปนิกวิศวกรมาเซ็นแบบหรือดำเนินการยื่นเรื่องให้ด้วย ซึ่งก็ต้องดูให้ดีว่า มันล้นจนล้ำเส้นกฎหมายหรือไม่ ??
นี่คือกระบวนการที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องเคยพบเจอมาบ้าง
ซึ่งถ้าเดินตามหลักการวิชาชีพของสถาปนิกและวิศวกร คืออาคารมีความถูกต้องตามกฎหมาย มีความแข็งแรงปลอดภัยต่อผู้ใช้อาคาร และตอบสนองประโยชน์ใช้สอยตามหลักจรรยาบรรณของวิชาชีพ ก็ยังพอกล้อมแกล้มไปได้บ้าง
Cr. pantip.com
บทความหน้า จะมาเล่าให้ฟังถึงวิชามารในวงจรอุบาทว์ ที่สร้างปัญหาให้กับวงการสถาปัตยกรรมของประเทศเราครับ
โปรดติดตามนะครับ
***********************************
สำหรับเพื่อนๆ Blockdit ที่สนใจแนวอื่น ผมมีเขียนลงอีก 2 เพจคือ
๏ 'Bear's Books'  = ข้อคิดดีๆที่ได้จากการอ่าน
๏ 'Bear's Blog'  = ภาพถ่ายกับมุมมองของชีวิต ในรูปของ บทกลอน เรื่องสั้น หรือ ไฮกุ
ขอเชิญชวนให้เข้าไปแวะชมนะครับ
เผื่อจะมีบางข้อเขียนที่อาจถูกใจ
ฝากติดตาม หรือ แลกเปลี่ยนความคิดกันได้ครับ
หรือใครสนใจเฉพาะภาพถ่าย
ลองเข้าไปดูและกดติดตามได้ใน
ig : khanaad_photo  นะครับ
แล้วพบกันนะครับ
โฆษณา