13 พ.ค. 2020 เวลา 08:37 • ประวัติศาสตร์
เจาะเวลา หาวัดโคกแสง
เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นทุกครั้ง ที่ได้มีโอกาสสำรวจวัดต่างๆ ในพระนครศรีอยุธยาที่มีบันทึกเรื่องราวไว้ในพงศาวดาร โดยเฉพาะวัดร้างทั้งที่ได้รับการบูรณะแล้ว และที่ยังเป็นซากอิฐจมอยู่ในดงในป่า การได้ลงมาสำรวจพร้อมกับนึกถึงภาพเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น ทำให้เรายิ่งเห็นคุณค่าทางประวัติศาสตร์ผ่านกาลเวลาของซากอิฐกากปูนเหล่านี้
ดังเช่น การตามหาวัดร้างแห่งหนึ่ง ที่ชื่อว่า “วัดโคกแสง” ภายในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา...!!
ที่มาของการตามหา “วัดโคกแสง” นี้ เกิดขึ้น เมื่อได้อ่านงานเขียนเล่มหนึ่งที่เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์การชิงอำนาจในช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ซึ่งก็คือ “การบ้านการเมือง เรื่องเจ้าฟ้ากุ้ง” ของท่านอาจารย์เทพมนตรี ลิมปพยอม (๑) ที่ระบุว่า วัดโคกแสงแห่งนี้ คือวัดชุมแสง (ร้าง) ) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระบรมมหาราชวัง ติดกับคลองน้ำเชี่ยว (ปัจจุบัน คลองนี้หายไปแล้ว)
ความเข้าใจว่าวัดชุมแสง คือวัดเดียวกันกับวัดโคกแสง ยังปรากฏในบทความ “วัดโคกแสง : สถานที่หลบภัยของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์” ของ รศ.วิสุทธิ์ ภิญโญวาณิชกะ ที่ตีพิมพ์ในวารสารสยามอารยะ ปีที่ 3 ฉบับที่ 26 มีนาคม 2538 และเมื่อเข้าไปดูถึงแหล่งอ้างอิงบทความ ก็จะพบว่าข้อมูลของวัดถูกนำมาจากหนังสือของอาจารย์เทพมนตรี ลิมปพยอม นั่นเอง
ภาพวัดชุมแสง จากในหนังสือการบ้านการเมืองเรื่องเจ้าฟ้ากุ้ง ที่ถูกระบุว่าเป็นวัดโคกแสง
จนกระทั่งเมื่อได้มีโอกาสเข้าไปสำรวจวัดชุมแสง(ร้าง) ในเกาะเมืองอยุธยา จึงทำให้ผมเกิดสงสัยขึ้นมาว่า วัดชุมแสง กับวัดโคกแสง เป็นวัดเดียวกันจริงๆ หรือ เหตุใด คำว่า “โคกแสง” จึงเพี้ยนมาเป็น “ชุมแสง” ได้ง่ายๆ ถึงเพียงนั้น
การจะพิสูจน์ความจริง จึงไม่เพียงอาศัยบันทึกจากพงศาวดารแต่เพียงอย่างเดียว การเดินทางไปสำรวจให้เห็น ศิลปกรรม สถาปัตยกรรมของวัด ตลอดจนภูมิสถานที่ตั้ง เป็นสิ่งจำเป็นที่เราควรนำมาพินิจพิเคราะห์กันใหม่ เพื่อพิสูจน์ว่า วัดโคกแสง คือวัดเดียวกับวัดชุมแสงหรือไม่ และถ้าไม่ใช่ ที่ตั้งของวัดโคกแสงควรอยู่ที่ใด...?
เนื้อหาทั้งหมดของหนังสือ “การบ้านการเมือง เรื่องเจ้าฟ้ากุ้ง” เป็นการเน้นประวัติศาสตร์และงานนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) ซึ่งหลายๆ ท่านที่สนใจประวัติศาสตร์คงจะทราบเรื่องราวกันดีอยู่แล้ว ดังนั้น งานเขียนชิ้นนี้จะขอ Scope ไปที่ประเด็นเล็กๆ ในเล่มที่กล่าวถึง “วัดโคกแสง” โดยเริ่มจากการตามร่องตามรอยกันที่ตัวบุคคลอย่าง “เจ้าฟ้านเรนทร” เป็นลำดับแรก
เจ้าฟ้านเรนทร เจ้าพระแห่งวัดโคกแสง
พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาหลายฉบับเล่าสอดคล้องกันว่า เจ้าฟ้านเรนทร คือพระราชโอรสองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นี้ไม่ทรงปรารถนาในราชสมบัติ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดยอดเกาะ ที่ตั้งอยู่นอกเขตพระนคร เจ้าฟ้านเรนทรผู้นี้ ยังเป็นหลานรักของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) ผู้เป็นพระราชอนุชาและพระมหาอุปราช ถึงกับขนาดที่ว่าพระมหาอุปราช ทรงยินดีที่จะให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ทรงมอบราชสมบัติแด่พระราชโอรสพระองค์โตผู้นี้ด้วย
แต่ทว่า เจ้าฟ้านเรนทร ทรงปรารถนาที่จะอยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ตลอดพระชนม์ชีพ..!!
จนกระทั่งเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระประชวรใกล้สวรรคต พระองค์กลับมอบราชสมบัติแก่เจ้าฟ้าอภัย และเจ้าฟ้าปรเมศร์ พระราชโอรสองค์ที่สองและสามตามลำดับ แทนที่จะเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) ผู้เป็นพระมหาอุปราชและพระอนุชาคู่ทุกข์คู่ยากของพระองค์
นี่จึงเป็นที่มาของสงครามกลางเมืองชิงราชสมบัติครั้งใหญ่ระหว่างกลุ่มของเจ้าฟ้าอภัย, เจ้าฟ้าปรเมศร์ รบกับกลุ่มของพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระเสด็จสวรรคต ทหารทั้งสองฝ่ายก็สู้รบกันอย่างดุเดือด บทสรุปจบตรงที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นฝ่ายชนะ สามารถจับกุมเจ้าฟ้าทั้งสองไปสำเร็จโทษ และทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงพระนาม “สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓” (๒) หรือที่เราคุ้นเคยกับพระนาม “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ”
ป้อมประตูข้าวเปลือกตรงปากคลองข้าวเปลือกในบริเวณวัดราชประดิษฐาน ตรงนี้เคยเป็นค่ายใหญ่ของวังหลวงในสงครามกลางเมืองระหว่างเจ้าฟ้าอภัย, เจ้าฟ้าปรเมศร กับทหารฝ่ายวังหน้า
หลังการขึ้นครองราชย์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระราชโอรสของพระองค์ขึ้นทรงกรม อันเป็นนโยบายทางการเมืองรูปแบบใหม่เพื่อคานอำนาจกับขุนนางคนสำคัญ โดยเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) ผู้เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ขึ้นเป็น “เจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์” พระราชโอรสพระองค์รองๆ ก็ได้รับสถาปนาพระอิสริยยศกันอย่างถ้วนหน้า
ควันหลงจากศึกกลางเมืองครั้งนี้ ทำให้พรรคพวกของเจ้าฟ้าอภัยกับเจ้าฟ้าปรเมศร์ถูกกวาดล้างจนแทบจะสิ้นซาก แต่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศก็ยังทรงรักเจ้าฟ้านเรนทร ผู้เป็นหลานอย่างไม่เสื่อมคลาย พระองค์จึงทรงสถาปนาอิสริยยศแก่เจ้าฟ้านเรนทร ซึ่งยังคงผนวชและราษฎรนิยมเรียกพระองค์ว่า “เจ้าพระ” ขึ้นเป็น “เจ้าฟ้ากรมขุนสุเรนทรพิทักษ์”
จากวัดยอดเกาะ สู่วัดโคกแสง
วัดโคกแสง มีความสำคัญอย่างไร..?
พงศาวดารเล่าว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงประชวร จะด้วยสาเหตุใดพงศาวดารมิได้บอกแน่ชัด แต่เริ่มต้นเรื่องด้วยการเอ่ยถึงกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ก่อนเป็นอันดับแรก “ฝ่ายเจ้าฟ้ากรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ ซึ่งทรงผนวชอยู่ ณ วัดยอดเกาะนั้น เสด็จเข้ามาอยู่ ณ วัดโคกแสงภายในพระนคร เข้าไปเยี่ยมเยือนสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินอันทรงพระประชวรอยู่ในพระราชวังหน้านั้นเนืองๆ ...” (๓)
วัดยอดเกาะ วัดแรกที่เจ้าฟ้านเรนทรทรงผนวชนั้นจะอยู่ที่ใดคงหาไม่พบแล้ว คาดกันว่าน่าจะเป็นวัดที่อยู่นอกพระนคร ส่วนวัดโคกแสงนั้นพงศาวดารระบุไว้ชัดเจนว่าตั้งอยู่ในพระนคร เพื่อที่เจ้าพระจะได้เสด็จฯ เข้าไปทรงเยี่ยมพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ที่ทรงประชวรและประทับรักษาพระวรกายอยู่ที่วังหน้าหรือวังจันทรเกษมได้อย่างสะดวก
เหตุที่พระเจ้าแผ่นดิน ทรงกลับไปประทับ ณ วังหน้า แทนที่จะประทับในพระราชวังหลวงนั้น เมื่อพิเคราะห์ดูจากพงศาวดารก็พอจะสันนิษฐานได้ ๒ ประการ คือ ๑. ก่อนที่จะประชวร ทรงโปรดฯ ให้มีการปฏิสังขรณ์พระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท ที่ชำรุดทรุดโทรมนัก(๔) จึงไม่สะดวกที่จะประทับในเขตพระราชฐานได้ และ ๒. วังหน้า เป็นที่ประทับที่ทรงคุ้นเคยมาตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทั้งยังอาจจะทรงรู้สึกระแวงพวกข้าราชการวังหลวงที่เหลือรอดจากการกวาดล้างหลังศึกกลางเมือง ที่นี่จึงเป็นที่ๆ ปลอดภัยสำหรับพระองค์
เสี้ยนหนามราชสมบัติ
ด้วยความที่ “เจ้าพระ” เป็นหลานรักสุดพระทัย เป็นเหตุให้เจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ ทรงระแวงว่าสักวันหนึ่ง พระราชบิดาของพระองค์อาจเปลี่ยนพระทัยมอบราชสมบัติให้แก่หลานแทนที่จะเป็นลูกบังเกิดเกล้า ดังนั้น กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ จึงเปรียบดังเสี้ยนหนามราชสมบัติของกรมขุนเสนาพิทักษ์ไปอย่างช่วยไม่ได้ แผนการลอบปลงพระชนม์จึงเกิดขึ้น
พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเล่าว่า... “อยู่มาวันหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ ตรัสใช้ให้พระองค์เจ้าชื่น พระองค์เจ้าเกิด ซึ่งเป็นพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ ออกไปทูลลวงเจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ ว่ามีพระราชโองการให้นิมนต์เข้าไปในพระราชวังหน้าในเพลาราตรี เจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์สำคัญว่าจริง ก็เสด็จเข้ามาในพระราชวัง ขึ้นไปบนหน้าพระชัย เจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์แอบพระทวารคอยอยู่ เอาพระแสงดาบฟันเอาเจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์หาเข้าไม่ เพราะมีวิชาการดี ถูกแต่ผ้าจีวรขาด เจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ตกพระทัย กลัวพระราชอาญา วิ่งเข้าไปข้างในไปพระตำหนักพระราชมารดา เจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ก็เสด็จเข้าไปเฝ้าสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ๆ ได้ทอดพระเนตรเห็นจึงตรัสถามว่าเหตุไฉนผ้าจีวรจึงขาด เจ้าพระถวายพระพรว่ากรมขุนเสนาพิทักษ์หล่อนหยอก...” (๕)
การกระทำของเจ้าฟ้ากุ้งครั้งนี้ ทำให้พระราชบิดาทรงพิโรธเป็นอย่างมาก ทรงสั่งทหารให้หาตัวเจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ แต่หาตัวไม่พบ ด้วยกรมหลวงอภัยนุชิต พระราชมารดาของเจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ ได้เสด็จฯ มาอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากเจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ ซึ่งเจ้าพระได้ทรงตรัสว่า “จะช่วยได้ก็แต่ผ้ากาสาวพัสตร์อันเป็นธงชัยแห่งพระอรหันต์” พระราชมารดาจึงนำตัวเจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ซ่อนตัวในพระวอเดียวกันกับเจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ ออกจากประตูฉนวนกลับไปยังวัดโคกแสง
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงหาตัวพระราชโอรสไม่พบ ได้แต่พระองค์เจ้าชื่น พระองค์เจ้าเกิด ผู้เป็นพระราชนัดดา ด้วยความที่ยังคงพิโรธขนาดหนัก จึงดำรัสสั่งให้นำตัวพระราชนัดดาทั้งสองไปประหารเสียด้วยท่อนจันทร์
เจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ จึงได้ผนวชหนีราชภัย ณ วัดโคกแสง อันเป็นวัดเดียวกับที่เจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ผนวชอยู่ และที่วัดนี้เอง พระองค์ได้นิพนธ์วรรณกรรมพุทธศาสนาอันทรงคุณค่าถึง ๒ เรื่อง คือ “นันโทปนันทสูตรคำหลวง” ในปี พ.ศ.๒๒๗๙ และ “พระมาลัยคำหลวง” ในปีถัดมา (๖)
วัดชุมแสง (ร้าง)
“เจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์จึงทรงผนวช ณ วัดโคกแสง เมื่อปี พ.ศ.๒๒๗๘/ค.ศ.๑๗๓๕ ซึ่งตั้งอยู่ริมคลองน้ำเชี่ยวทางทิศตะวันตกของวังหน้า”(๗)
 
ข้อความที่ยกมาข้างต้น มาจาก “การบ้านการเมือง เรื่องเจ้าฟ้ากุ้ง” ของท่านอาจารย์เทพมนตรี ลิมปพยอม ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่ได้ระบุชื่อวัดในปัจจุบัน แต่ภาพประกอบพร้อมคำอธิบายในหนังสือเล่มนี้ แสดงให้เห็นว่าเป็นภาพของ “วัดชุมแสง(ร้าง)” นั่นเอง(๘)
วัดชุมแสง (ร้าง)
จากการขุดค้นทางโบราณคดีของวัดชุมแสง(ร้าง) พบเจดีย์ทรงระฆังที่มีสภาพชำรุด, พระพุทธรูปปูนปั้นหน้าตักกว้างราว ๓ เมตร เหลือเพียงพระชานุและพระวรกาย หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ประดิษฐานบนฐานที่ตั้งอยู่บนเนินโบราณสถานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า บนพื้นเนินปรากฏเสาฐานอาคารเป็นเสากลม จำนวน ๔ ฐาน สันนิษฐานว่าใช้สำหรับรองรับโครงสร้างหลังคา ซึ่งเป็นรูปแบบอาคารที่นิยมสร้างกันในสมัยอยุธยาตอนต้น ที่สำคัญคือไม่พบโบราณวัตถุที่บ่งบอกว่าเป็นศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายเลย
พื้นที่ของวัดเป็นส่วนหนึ่งของบึงพระราม เรียงตามแนวเหนือ-ใต้ โดยเริ่มจากวัดชุมแสง, วัดหลังคาขาว, วัดหลังคาดำ และวัดสังขปัด ส่วนคลองน้ำเชี่ยว ในคำวินิจฉัยเกี่ยวกับแผนที่พระนครศรีอยุธยาของพระยาโบราณราชธานินทร์ได้อธิบายว่า เป็นรางน้ำที่ถัดจากหน้าวัดญาณเสนลงมา ชาวบ้านเรียกกันว่า “คลองน้ำเชี่ยว” เมื่อถึงหน้าน้ำ น้ำจากคลองเมืองด้านทิศเหนือพระนครจะไหลเชี่ยวผ่านรางน้ำเข้าสู่บึงพระราม และจากทิศใต้บึงพระรามก็จะมีคลองระบายน้ำไปออกที่ประตูเทพหมีไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศใต้ ซึ่งอาจเป็นวิธีการถ่ายเทน้ำในบึงพระรามให้มีความสะอาด แต่เมื่อครั้งที่ท่านอาจารย์ น. ณ ปากน้ำไปสำรวจ แนวรางคลองน้ำเชี่ยวถูกถมเป็นพื้นดินเชื่อมกับถนนหมดแล้ว(๙)
ประวัติของวัดชุมแสง(ร้าง) มิได้มีบันทึกในหลักฐานชั้นต้นว่ามีที่มาและเรื่องราวสำคัญอันใดเกิดขึ้นที่นี่ ชื่อวัดชุมแสง ปรากฏขึ้นครั้งแรกบนแผนที่กรุงศรีอยุธยา ฉบับปี พ.ศ.๒๔๖๙ ของพระยาโบราณราชธานินทร์ ที่ระบุตำแหน่งของวัดชุมแสงไว้ตรงกับที่ตั้งในปัจจุบัน
การสำรวจวัดร้างในกรุงเก่าของพระยาโบราณราชธานินทร์ นอกจากวัดขนาดใหญ่หรือวัดที่สามารถระบุชื่อได้ถูกต้องตามหลักฐานชั้นต้นในพงศาวดารแล้ว ยังมีวัดร้างเป็นจำนวนมากที่ไม่สามารถระบุชื่อดั้งเดิมได้ แต่ชื่อวัดเหล่านี้ล้วนเป็นชื่อที่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นเรียกชื่อขึ้นมาใหม่
เมื่อไม่มีที่มาที่ไปในหลักฐานใดๆ เช่นนี้ จึงมีความเป็นไปได้ว่า “วัดชุมแสง(ร้าง)” นี้ น่าจะเป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกมากกว่าที่จะเป็นชื่อดั้งเดิม และคงเป็นเรื่องยากที่คำว่า “โคก” จะถูกเรียกผิดเพี้ยนมาเป็นคำว่า “ชุม” ได้อย่างง่ายดายเพียงนั้น
แผนที่กรุงศรีอยุธยา สมัยรัชกาลที่ ๔
จากข้อสมมติฐานที่ว่าวัดชุมแสง ไม่น่าจะใช่วัดเดียวกับ “วัดโคกแสง” ของท่านเจ้าพระนเรนทร อย่างที่หนังสือท่านอาจารย์ว่าไว้ การตามล่าหาวัดโคกแสงที่แท้จริงจึงดำมืดไร้หนทางที่จะตามหา เพราะแผนที่กรุงศรีอยุธยาฉบับต่างๆ รวมทั้งคำวินิจฉัยจากบรรดาครูบาอาจารย์รุ่นเก่าก่อนก็มิได้กล่าวถึงวัดโคกแสงนี้อีกเลย
จนกระทั่งได้พบกับแผนที่กรุงศรีอยุธยาเก่าแก่ฉบับหนึ่งซึ่งเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดพระวชิรญาณ ระบุว่าเป็นแผนที่ที่เขียนขึ้นราวรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ความแปลกประหลาดของแผนที่นี้คือการวาดแผนที่กลับหัวเอาทิศเหนือของพระนครมาอยู่ข้างล่าง แล้วเอาทิศใต้ของพระนครอยู่ด้านบน แต่ตำแหน่งชื่อวัดต่างๆ เขียนตามแบบปกติ ซึ่งน่าจะเป็นการสำรวจทำแผนที่เกาะเมืองและตำแหน่งของวัดต่างๆ อย่างเป็นทางการครั้งแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
แผนที่กรุงเก่า วาดในสมัยรัชกาลที่ ๔
จากแผนที่โบราณฉบับนี้เอง ได้ปรากฏชื่อ “วัดโคกแสง” ในตำแหน่งที่ไม่ใช่วัดชุมแสงในปัจจุบัน แสดงว่าช่วงรัชกาลที่ ๔ ที่มีการสำรวจทำแผนที่กรุงเก่ากันนั้น วัดโคกแสง ยังคงมีอยู่ และอาจจะยังมีคนเฒ่าคนแก่พอจะจดจำชื่อวัดสำคัญแห่งนี้ได้
วัดโคกแสง ในแผนที่เก่าสมัยรัชกาลที่ ๔ อยู่ติดกับด้านทิศเหนือของวัดขุนเมืองใจ (ในแผนที่เก่าเขียนว่า “วัดขุนคนใจ) วัดขุนเมืองใจนี้เป็นวัดโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น เอกสารคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมระบุว่าเจดีย์ประธานของวัดเป็นหนึ่งในห้ามหาเจดีย์สำคัญของกรุงศรีอยุธยา ถัดจากวัดโคกแสงขึ้นไปเป็นตำแหน่งของ “วัดโคกเสือ” โดยทั้งสามวัดเรียงตัวกันในแนวริมคลองประตูข้าวเปลือก (ปัจจุบันถูกถมจนสิ้นสภาพคลองไปเกือบหมด สิ่งที่ยังเป็นร่องรอยของคลองเหลืออยู่เพียงต้นคลองสายสั้นๆ ที่กลายเป็นสระน้ำเล็กๆ ตรงบริเวณป้อมประตูข้าวเปลือกที่อยู่ภายในพื้นที่วัดราชประดิษฐานเท่านั้น)
ตำแหน่งวัดโคกแสง ในแผนที่กรุงเก่าสมัยรัชกาลที่ ๔
มีความเป็นไปได้ว่า วัดโคกแสง ในช่วงรัชกาลที่ ๔ นั้น อาจจะยังมีซากอาคารปรากฏอยู่บ้าง และคงจะถูกไถพื้นที่จนสูญหายไปในช่วงเวลาต่อมา เพราะเมื่อแผนที่กรุงเก่าฉบับปี พ.ศ.๒๔๖๙ ของพระยาโบราณราชธานินทร์ถือกำเนิดขึ้น ก็ไม่ปรากฏชื่อวัดโคกแสง กับ วัดโคกเสือ อีกเลย
และเมื่อได้ออกสำรวจพื้นที่จริง โดยเริ่มตั้งแต่วัดขุนเมืองใจ ไปตามเส้นทางถนนชีกุนขึ้นไปทางทิศเหนือ ก็จะพบว่าตำแหน่งที่เคยเป็นวัดโคกแสง และวัดโคกเสือนั้น เป็นพื้นที่บ้านเรือนและอาคารพาณิชย์ปลูกทับหมดแล้ว
ซากอาคารน่าสงสัยที่วัดขุนเมืองใจ
ย้อนกลับมาที่วัดขุนเมืองใจ เป็นที่ทราบกันว่าวัดแห่งนี้มีอายุเก่าแก่ย้อนไปถึงช่วงเวลาก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา โดยลักษณะของเจดีย์ประธานของวัด มีความคล้ายคลึงกับเจดีย์แปดเหลี่ยมวัดพระแก้ว เมืองสรรค์บุรี จังหวัดชัยนาท (๑๐) ทั้งยังเป็นมหาเจดีย์สำคัญหนึ่งในห้าองค์ของกรุงศรีอยุธยา (๑๑)
วัดขุนเมืองใจ
แต่ทว่า เมื่อพิจารณาถึงส่วนประกอบอาคารต่างๆ ของวัดขุนเมืองใจ จะพบว่ามีสิ่งที่น่าแปลกประหลาดอยู่จุดหนึ่ง คือซากอาคารทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัด
ตำแหน่งที่ตั้งของอาคารแห่งนี้ อยู่ด้านนอกกำแพงแก้วของวัดขุนเมืองใจ ทั้งยังเป็นอาคารที่บ่งบอกว่ามีรูปแบบที่นิยมสร้างในช่วงอยุธยาตอนปลาย ทั้งยังถูกสร้างออกมาอย่างเอกเทศและดูไม่เข้ากันกับศิลปะและสถาปัตยกรรมของวัดขุนเมืองใจเลยแม้แต่น้อย
อาคารดังกล่าวนี้มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อด้วยอิฐ ด้านล่างของผนังแนวยาวทางด้านเหนือ – ใต้ เจาะช่องหน้าต่างรูปกลีบบัวเป็นช่องๆ เรียงกัน ภายในอาคารเป็นพื้นที่โล่ง มีแท่นสี่เหลี่ยมใกล้ผนังด้านทิศตะวันออก กว้าง ๓ x ๓ เมตร ไม่ปรากฏลวดลายใดๆ เหลืออยู่
อาคารสี่เหลี่ยม ทรงตำหนักศิลปะอยุธยาตอนปลาย ทางทิศเหนือของวัดขุนเมืองใจ
นี่เป็นรูปแบบอาคารที่นิยมสร้างตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์เป็นต้นมา และส่วนใหญ่ถูกระบุว่าเป็นตำหนักของบรรดาเจ้านายที่มาผนวชหรือทรงมีกิจกรรมสำคัญอย่างการบูรณะวัดนั้นๆ ดังเช่น พระตำหนักคำหยาด ของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร, ตำหนักกำมะเลียน วัดกุฎีดาว ที่สมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร และต่อมาคือสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) เสด็จฯ มาประทับคราวบูรณะวัดกุฎีดาว และตำหนักใหญ่ในวัดเจ้าย่า ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยาทั้งสิ้น
เป็นไปได้หรือไม่ว่า อาคารสี่เหลี่ยมที่อยู่นอกกำแพงแก้วของวัดขุนเมืองใจนี้ แท้จริงแล้ว มิใช่อาคารของวัดขุนเมืองใจ แต่เป็นตำหนักของเจ้าฟ้าองค์สำคัญบนพื้นที่ของวัดโคกแสง...
ภาพถ่ายของวิลเลี่ยม ฮันท์
นอกจากนี้ เรายังได้พบภาพถ่ายทางอากาศของนายนาย ปีเตอร์ วิลเลี่ยม ฮันท์ (Peter Williams Hunt) ที่เคยมาถ่ายภาพบริเวณเหนือถนนโรจนะติดกับวัดขุนเมืองใจ เมื่อราวปี พ.ศ.๒๔๘๙ เมื่อขยายภาพดู เราจะเห็นซากวัดขุนเมืองใจติดกับถนนโรจนะ จากนั้น เยื้องไปทางทิศเหนือของวัดค่อนไปทางตะวันตก เป็นซากอาคารตำหนักสี่เหลี่ยม เหนืออาคารตำหนักขึ้นไป เป็นพื้นที่โล่งสีขาว ดูแล้วน่าจะเป็นโคกขนาดใหญ่ ๒ โคก เรียงตัวขึ้นไปทางทิศเหนือ โคกทั้งสองนี้คงเป็นพื้นที่ของวัดโคกแสง กับวัดโคกเสือ ตรงตามตำแหน่งในแผนที่กรุงเก่าสมัยรัชกาลที่ ๔
ภาพถ่ายทางอากาศของนายนาย ปีเตอร์ วิลเลี่ยม ฮันท์ (Peter Williams Hunt) ถ่ายปี พ.ศ.2489
และถ้าสังเกตุให้ลึกไปกว่านี้ จะเห็นทางสีขาวเชื่อมจากโคกวัดโคกแสงมายังอาคารตำหนักสี่เหลี่ยม นี่จึงเป็นประจักษ์พยานอย่างดีว่า อาคารสี่เหลี่ยมหลังนี้ ควรจะมีความเกี่ยวข้องกับวัดโคกแสง มากกว่าวัดขุนเมืองใจ
ย้อนกลับไปพิจารณาแผนที่เกาะเมืองอยุธยาสมัยรัชกาลที่ ๔ อีกครั้งก็จะเห็นได้ว่าพื้นที่ของวัดโคกแสง ค่อนข้างที่จะอยู่ใกล้กับวัดขุนเมืองใจในระยะกำแพงแทบจะติดกัน อีกทั้งพื้นที่บางส่วนของวัดขุนเมืองใจด้านทิศใต้นั้น อยู่ในบริเวณที่ถนนโรจนะตัดผ่าน ดังนั้น พื้นที่ด้านทิศเหนือของวัดขุนเมืองใจจึงควรที่จะสิ้นสุดตรงกำแพงแก้ว ซึ่งอยู่ใกล้กันกับอาคารปริศนาหลังดังกล่าว
เมื่อนำเรื่องราวทั้งหมดในพงศาวดารที่เล่าถึงกรมขุนสุเรนทร์พิทักษ์ (เจ้าฟ้านเรนทร) กับเจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) เสด็จมาผนวช ณ วัดโคกแสง ประกอบกับภูมิสถานของวัดที่ปรากฏในแผนที่แล้ว มีความเป็นไปได้ว่า อาคารปริศนาหลังนี้ น่าจะเป็นตำหนักของเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งระหว่างเจ้าพระนเรนทรกับเจ้าฟ้ากุ้ง ที่หลังจากทรงบาดหมางกัน ก็ทรงมาผนวชอยู่ในวัดเดียวกัน ทั้งยังเป็นสถานที่ๆ เจ้าฟ้ากุ้งทรงนิพนธ์ผลงานวรรณกรรมพุทธศาสนาที่สำคัญถึง ๒ เรื่อง และอาจเป็นผลงานที่ทำให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงพอพระทัยและทรงพระกรุณายกโทษพระราชโอรสของพระองค์
บทสรุป
ถ้าเราไล่เรียงประวัติศาสตร์ตามแผนที่ จะเห็นได้ว่าในช่วงรัชกาลที่ ๔ ซึ่งมีการสำรวจวัดร้างในพื้นที่เกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา และได้ทำแผนที่ระบุตำแหน่งของวัดต่างๆ ที่ได้จากการสำรวจในครั้งนั้น พื้นที่ของวัดโคกแสง วัดโคกเสือ คงจะยังปรากฏซากอาคารอุโบสถ วิหาร เจดีย์ เหลืออยู่บ้าง แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นไป อันเป็นช่วงที่พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ทำการสำรวจโบราณสถานทั่วกรุงเก่า ในเวลานั้นซากอาคารของวัดโคกแสง วัดโคกเสือ อาจถูกรื้อทำลายจนไม่เหลือสภาพความเป็นโบราณสถานอีกต่อไป นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ ๒ วัดนี้ ไม่ปรากฏชื่อบนแผนที่กรุงศรีอยุธยา ฉบับพระยาโบราณราชธานินทร์ พ.ศ.๒๔๖๙ รวมทั้งแผนที่ฉบับหลังๆ อีกด้วย ชื่อวัดโคกแสง วัดโคกเสือ จึงสูญหายไปตามกาลเวลา
แท่นสี่เหลี่ยมใกล้ผนังด้านทิศตะวันออกของอาคารตำหนักสี่เหลี่ยม
แต่ถ้าซากอาคารตำหนักเหนือวัดขุนเมืองใจ เป็นส่วนหนึ่งของวัดโคกแสงจริงดังที่สันนิษฐานเอาไว้ ก็แสดงว่า วัดโคกแสง ถูกทำลายในส่วนที่เป็นอาคารหลักๆ ของวัดจนหมดสิ้น เหลือเพียงซากอาคารดังกล่าว ซึ่งไม่มีใครทราบถึงที่มาของอาคารหลังนั้น และด้วยความที่ตั้งอยู่ใกล้กับกำแพงแก้วของวัดขุนเมืองใจ จึงทำให้เข้าใจไปว่า อาคารตำหนักยุคอยุธยาตอนปลาย คือส่วนหนึ่งของวัดขุนเมืองใจนั่นเอง
ดังนั้น จึงมีข้อสรุปที่ชัดเจนอย่างหนึ่งแล้วว่า วัดชุมแสง (ร้าง) ที่อยู่ใกล้บึงพระราม หาใช่วัดโคกแสงของเจ้าฟ้านเรนทร ดังที่อาจารย์ใหญ่ด้านประวัติศาสตร์ทั้งสองท่านเคยเข้าใจ แต่เป็นวัดโคกแสงที่ปรากฏในแผนที่สมัยรัชกาลที่ ๔ ซึ่งพื้นที่วัดในปัจจุบันได้ถูกบ้านเรือนปลูกทับไปจนหมดแล้ว
นี่จึงเป็นข้อสันนิษฐานที่น่าสนใจ และเปิดมุมมองใหม่ถึงการมีอยู่ของวัดโคกแสง วัดที่ปรากฏชื่อในหน้าประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาในช่วงปลาย ถึงเรื่องราวความขัดแย้งของเจ้าฟ้าสองพระองค์ ก่อนที่จะทรงคืนดีกันด้วยการผนวชร่วมวัดเดียวกัน และเป็นสถานที่ๆ ผลิตวรรณกรรมทางพุทธศาสนาอันทรงคุณค่า ซึ่งเหตุการทั้งหมดได้เกิดขึ้นที่ “วัดโคกแสง” แห่งนี้...
ตีพิมพ์แล้วใน ศิลปวัฒนธรรม (ปีที่ ๔๑) ฉบับเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๒
เอกสารอ้างอิง
๑. ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ การบ้านการเมือง เรื่องเจ้าฟ้ากุ้ง (พิมพ์ครั้งที่ ๒, กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๓) : เทพมนตรี ลิมปพยอม
๒. พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๓ , สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พิมพ์เผยแพร่ พ.ศ.๒๕๕๙ (หน้า ๑๗๖)
๓. พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๓ , สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พิมพ์เผยแพร่ พ.ศ.๒๕๕๙ (หน้า ๑๘๔)
๔. พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๓ , สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พิมพ์เผยแพร่ พ.ศ.๒๕๕๙ (หน้า ๑๘๔)
๕. พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๓ , สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พิมพ์เผยแพร่ พ.ศ.๒๕๕๙ (หน้า ๑๘๔ - ๑๘๕)
๖. พระมาลัยคำหลวง นิพนธ์ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร • เจ้าฟ้ากุ้ง : หน้าคำนำ, พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพคุณยายรอด จันทนะตระกูล ๒๒ เมษายน ๒๔๙๑
๗. ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ การบ้านการเมือง เรื่องเจ้าฟ้ากุ้ง (พิมพ์ครั้งที่ ๒, กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๓) : เทพมนตรี ลิมปพยอม (หน้า ๕๘)
๘. ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ การบ้านการเมือง เรื่องเจ้าฟ้ากุ้ง (พิมพ์ครั้งที่ ๒, กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๓) : เทพมนตรี ลิมปพยอม (ภาพวัดชุมแสง หน้า ๘๗)
๙. ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา : น. ณ ปากน้ำ , สำนักพิมพ์เมืองโบราณ พิมพ์ครั้งที่ ๔, มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๘ (หน้า ๑๗๖)
๑๐ สถูปเจดีย์ในประเทศไทย : น. ณ ปากน้ำ , ปี พ.ศ.๒๕๑๖ (หน้า ๒๗)
๑๑. คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ลงพิมพ์ใน แถลงงานฯ พ.ศ.๒๕๑๓ (หน้า ๖๙)
โฆษณา