14 พ.ค. 2020 เวลา 02:40 • ธุรกิจ
กรณีศึกษา ญี่ปุ่น ประเทศที่ไม่โต แต่รวยแล้ว
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก
โดยมีมูลค่า GDP ประมาณ 170 ล้านล้านบาท
มีสัดส่วนถึง 6% ของมูลค่าเศรษฐกิจโลก
และมี GDP ใหญ่กว่าประเทศไทยประมาณ 10 เท่า
ย้อนกลับไปสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ จนทำให้สุดท้ายญี่ปุ่นต้องประกาศยอมแพ้ในสงครามเมื่อปี 1945
หลังจากนั้น สหรัฐฯ เข้ามาควบคุมญี่ปุ่น โดยมีเป้าหมาย 2 อย่างคือ ไม่ให้ญี่ปุ่นสะสมกำลังทหารเพื่อทำสงครามแต่ให้มีเพียงแค่ป้องกันประเทศเท่านั้น และสหรัฐฯ ต้องการมีฐานทัพในเอเชียเพื่อป้องกันการแผ่อิทธิพลของอดีตสหภาพโซเวียตในสมัยนั้น
อย่างไรก็ตาม การไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณในด้านการทหาร กลับส่งผลดีทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นเติบโตอย่างรวดเร็วนับแต่นั้น
ตั้งแต่ปี 1961 - 1970 ญี่ปุ่นมีการลงทุนในสัดส่วนที่สูงกว่า 30% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ เทียบกับช่วงก่อนสงครามที่มีสัดส่วนเพียง 10% เท่านั้น
ปัจจัยที่สำคัญอีกด้านก็คือ
ญี่ปุ่นเป็นชาติที่ปฏิวัติอุตสาหกรรมหลังจากประเทศมหาอำนาจทางตะวันตกอย่างอังกฤษ สหรัฐอเมริกา
Cr. Japan’s Meiji Industrial Revolution
แต่นั่นคือเรื่องที่ดี เนื่องจากทำให้ญี่ปุ่นสามารถนำเข้าเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูง และผ่านการทดลองมาแล้วว่ามีประสิทธิภาพ
พอเรื่องเป็นแบบนี้ จึงทำให้ญี่ปุ่นไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูกในการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพราะจะทำให้เกิดการสูญเสียทางด้านปัจจัยการผลิต ทั้งวัตถุดิบ และเวลา น้อยกว่าชาติมหาอำนาจทางตะวันตกก่อนหน้า
เมื่อรวมกับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นในสมัยนั้นภายใต้แนวคิด Income-Doubling Plan ที่ต้องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และเพิ่มทักษะการศึกษาให้แก่สังคมญี่ปุ่นในสมัยนั้น
Cr. The Asia-Pacific Journal
และคนญี่ปุ่นก็ถูกปลูกฝังให้เป็นสังคมแห่งการเก็บออม เรื่องนี้ทำให้ปริมาณเงินในระบบธนาคารของประเทศเพิ่มมากขึ้น อันส่งผลดีต่อภาคธุรกิจในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย เพื่อนำไปลงทุนและขยายธุรกิจ
ทำให้ในช่วงระหว่างปี 1961 - 1970 GDP ของญี่ปุ่นเติบโตเฉลี่ยถึงปีละ 9.4% และยังคงเติบโตเรื่อยมาจนถึงในปี 1980
1
ปี 1960 มูลค่า GDP ของญี่ปุ่นท่ากับ 1.5 ล้านล้านบาท อยู่อันดับที่ 7 ของโลก
ปี 1980 มูลค่า GDP ของญี่ปุ่นท่ากับ 36.2 ล้านล้านบาท อยู่อันดับที่ 3 ของโลก
ญี่ปุ่นได้ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับที่ 2 ของโลกนับตั้งแต่ปี 1990
อย่างไรก็ตาม..
ญี่ปุ่นประสบปัญหาการแข็งค่าของเงินเยน หลังจากการทำข้อตกลง Plaza Accord กับสหรัฐอเมริกา ในปี 1985 ทำให้ภาคการส่งออกของประเทศซึ่งนับเป็นภาคส่วนที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของญี่ปุ่นได้รับผลกระทบอย่างหนัก
ก่อนที่จะตามมาด้วย วิกฤติฟองสบู่ในตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์ ในช่วงปี 1991
จากเรื่องนี้ทำให้ญี่ปุ่นเข้าสู่เศรษฐกิจซบเซากินเวลาต่อเนื่องหลายทศวรรษ จนทำให้จีนแซงญี่ปุ่นขึ้นมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับที่ 2 ของโลกแทนนับตั้งแต่ปี 2010
อีกประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ สังคมผู้สูงอายุและอัตราเด็กเกิดใหม่ที่ลดลง ที่ทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นนั้นเติบโตช้าลง
ญี่ปุ่นเป็นชาติแรกๆ ในโลกที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
โดยปี 1970 ญี่ปุ่นมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีมากกว่า 7% ของประชากรทั้งหมด
ขณะที่ปัจจุบัน สัดส่วนดังกล่าวเพิ่มมาอยู่ที่ 28.4%
Cr. BBC
ปี 2019 จำนวนเด็กเกิดใหม่ของญี่ปุ่นเท่ากับ 9 แสนคน เทียบกับช่วงปี 1971 ที่อยู่ประมาณ 2 ล้านคน
ผู้สุงอายุมากขึ้น เด็กเกิดน้อยลง
พอเป็นแบบนี้ เศรษฐกิจของประเทศจึงได้รับผลกระทบไปด้วย
เรื่องนี้ทำให้ญี่ปุ่นต้องหันมาพึ่งพาแรงงานต่างชาติมากขึ้น
ปี 2018 จำนวนแรงงานต่างชาติในญี่ปุ่นเพิ่มสูงถึง 1.4 ล้านคน
เทียบกับ 10 ปีก่อนหน้าที่มีจำนวนเพียง 0.4 ล้านคนเท่านั้น
ทิ้งภาพของประเทศที่มีความเป็นชาตินิยมสูงจากอดีตไปพอสมควร
3
ทั้งนี้ การชะลอตัวทางด้านเศรษฐกิจของญี่ปุ่นนั้น ทำให้รัฐบาลหันมาสนับสนุนภาคบริการมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
ในปี 2008 รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดตั้งองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่นเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาญี่ปุ่น ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาญี่ปุ่นเพิ่มจาก 8.4 ล้านคน มาอยู่ที่ 31.9 ล้านคน ในปี 2019
Cr. Kyodo News
ซึ่งคนไทยที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในปี 2013 คนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นมีจำนวน 0.4 ล้านคน
แต่ในปี 2018 จำนวนดังกล่าวเพิ่มสูงถึง 1.1 ล้านคน
แม้เศรษฐกิจญี่ปุ่นดูเหมือนว่าจะชะลอตัวอย่างมากเมื่อเทียบกับอดีต
แต่ต้องยอมรับว่าพื้นฐานของประเทศญี่ปุ่นมีความแข็งแกร่ง และคนญี่ปุ่นโดยเฉลี่ยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าประเทศอื่นที่กำลังโตเร็ว
ปัจจุบัน ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศสูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยธนาคารกลางญี่ปุ่นมีทุนสำรองกว่า 45 ล้านล้านบาท ขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีเท่ากับ 1.42 ล้านบาท หรือเฉลี่ยเดือนละ 118,000 บาท
จากประเทศที่เคยเป็นลูกหนี้รายใหญ่ของธนาคารโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
แต่ในปี 2019 ญี่ปุ่นกลายเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา
โดยญี่ปุ่นนั้นได้ลงทุนในพันธบัตรของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา มูลค่าสูงถึง 38 ล้านล้านบาท
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
ในปี 2019 มูลค่า GDP ของโตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุ่นนั้นเท่ากับ 53 ล้านล้านบาท
ซึ่งใหญ่กว่า GDP ทั้งประเทศของเกาหลีใต้ สเปน และออสเตรเลีย ทั้งยังใหญ่กว่า GDP ของประเทศไทยทั้งประเทศถึง 3 เท่า..
โฆษณา