13 พ.ค. 2020 เวลา 12:40 • การศึกษา
- ชีวิตสัมพันธ์ (2) -
เป็นที่ทราบกันดีครับว่ากระบวนการที่พืชสังเคราะห์ด้วยแสงนั้นมีหลักอยู่ว่า พืชดึงเอาคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในอากาศ กับน้ำ (H2O) ใช้พลังงานจากดวงอาทิตย์ เปลี่ยนสารเหล่านี้ให้กลายเป็นน้ำตาล (C6H12O6) และได้ออกซิเจน (O2) และน้ำออกมาด้วย...
จากสมการเคมีข้างต้น อย่างน้อยก็ใช้สอบเอาตัวรอดผ่านมัธยมมาได้ (ถึงจะคาบเส้นก็ตาม 555)...แต่เอ้ะ!..แล้วพืชมันโตด้วยน้ำตาลอย่างเดียวเลยเหรอ? แล้วมันไปได้ธาตุอาหารอื่นๆ เช่น N, P, K, Ca, Mg, S, Mo, Zn, B และอื่นๆ ที่จำเป็นกับการเจริญเติบโต การผลิตดอก ออกผล ออกหัว (มีมากกว่า 42 ชนิด) ตอนไหน?..แล้วจุลินทรีย์ อินทรีย์วัตถุ และสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในดินหล่ะเกี่ยวเนื่องกันอย่างไร?..แล้ว PH ค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดิน ที่เขาบอกว่ามีผลกับการปลดปล่อยธาตุอาหารนั้นมันสัมพันธ์กันอย่างไร?...ฟังดูอาจจะศัพท์ทางเคมีเยอะไปหน่อย อย่าเพิ่งปวดหัวนะครับ...ถ้างั้นผมลองเปลี่ยนคำถามใหม่เป็นว่า แล้วต้นพริกข้างต้นขามทั้งที่ขึ้นในพื้นที่เดียวกันนั่นหล่ะ แม้ไม่เคยรู้จักตารางธาตุมาเลย ก็คงพอจะเดาได้ว่ามันคงใช้ธาตุอาหาร ปริมาณ สัดส่วนที่ต่างกันในการเจริญเติบโต และออกดอกออกผล...มะขามเปรี้ยวแต่พริกเผ็ด ทั้งที่ดินก็ดินเดียวกัน แล้วแมงลักกับผักสลัดบนแปลงเดียวกันนั่นอีก มันต้องมีอะไรที่มากกว่าการออสโมซีสธาตุอาหารจากดินเข้าสู่รากพืชหรือเปล่า?..มันดึงเอาสารที่จะไปทำให้ใบแมงลักหอมไปใช้ ในขณะที่สลัดไม่ทำแบบนั้น ทั้งที่ตอนปรุงดินก็ดินอันเดียวกัน....แล้วทำไมย่อหน้านี้ถึงมีแต่คำถาม...555
Dr. Elaine Ingham ได้ศึกษาและอธิบายเกี่ยวกับความสัมพันธุ์ของ soil biology และห่วงโซ่อาหารในดินเชิงโมเลกุลและจุลชีพ ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้ครับ...
เมื่อพืชเกิดกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงแล้วนั้น และได้น้ำตาลออกมาตามที่ทราบกัน ครึ่งหนึ่งที่ผลิตได้นั้นจะถูกปั๊มส่งกลับไปที่ระบบราก (Exudate) โดยองค์ประกอบหลักของสารที่ปล่อยกลับไปในดินนั้น จะเป็นน้ำตาล และโปรตีนกับคาร์โบไฮเดรทผสมอยู่เล็กน้อย...ถ้าเข้าครัว แล้วนึกถึงส่วนผสมที่มีน้ำตาลเป็นหลัก (น้ำตาลแดง/ขาว น้ำเชื้อม น้ำตาลปิ๊บ) เติมโปรตีนนิด (ไข่ นม) และคาร์โบไฮเดรทอีกเล็กน้อย (แป้งมัน แป้งข้างโพด แป้งข้าวจ้าว/เหนียว) ถ้าพิจารณาดีๆ ส่วนผสมเหล่านี้มันจะคล้ายๆ กับที่เราทำเค๊กและคุกกี้นั่นเอง...
แล้วทำไมพืชถึงทำแบบนั้น?...ถ้าเปรียบพืชแต่ละชนิดเสมือนพ่อครัว แต่ละคนก็จะมีสูตรเค๊กกับคุกกี้สูตรใครสูตรมัน มีรดชาติที่ต่างกันออกไป ตามอัตราส่วนผสมที่เฉพาะของแต่ละคน เมื่อปั๊มลงไปในดินก็จะไปเป็นอาหารเพื่อเลี้ยง "แบคทีเรีย" หรือ "รา" หรือ "จุลินทรีย์" ที่เฉพาะเจาะจงที่อยู่รอบๆ ระบบรากของพืชมันเท่านั้น จากนั้น แบคทีเรียหรือเชื้อราเหล่านั้นก็จะผลิตเอนไซม์เพื่อย่อย หรือสกัดธาตุอาหารจากอนุภาคของดิน ไม่ว่าจะเป็นดินทราย ดินเหนียว ดินร่วน หิน ดินดาน หรืออินทรีย์วัตถุ ในปริมาณ ในสัดส่วน ในรูปฟอร์มพร้อมใช้ที่พืชนั้นต้องการ ซึ่งเกิดขึ้นตลอดเวลา ทุกวินาที ทุกชั่วโมงตามช่วงการเจริญเติบโตของพืช...ในขณะเดียวกันแบคทีเรียและเชื่อราเหล่านั้นก็จะขยายปริมาณ สร้างกำแพงป้อมปราการเพื่อกินอาหารรอบๆ บริเวณรากที่พืชป้อนให้ และป้องกันแบคทีเรีย เชื้อรา ตัวร้ายที่เป็นสาเหตุของโรคพืชที่จะเข้าทำลายระบบรากให้อีกด้วย
หลายคนเมื่อได้ยินชื่อ "แบคทีเรีย" หรือ "เชื้อรา" นั้น ก็มักจะบอกว่ามันเป็นสิ่งไม่ดี มันทำให้เกิดโรคต่างๆ...นั่นเป็นเพราะเราได้รับข้อมูลที่ไม่ครบรอบด้านครับจากโฆษณาสบู่ น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอกจากทีวี จนเราเหมารวมว่าพวกนี้เป็นสาเหตุเชื้อโรคไปซะหมด ในร่างกายของคนเราเองโดยเฉพาะระบบย่อยอาหารก็มีแบคทีเรีย และเชื้อราที่เป็นประโยชน์จำนวนมากครับ หรือแม้กระทั่งที่ผิวหนังของเราเองก็เช่นกัน...ในดินที่สมบูรณ์...เพียงปริมาณหนึ่งช้อนชา เขาบอกว่าจะมีแบคทีเรียมากกว่าประชากรของมนุษย์บนโลก และมีมากกว่า 25,000 สปีชีส์ แล้วยังมีเชื้อราอีกหล่ะ...ดังนั้นพืชก็จะเลือกผลิตเค๊กกับคุกกี้ที่ใช้เลี้ยงเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อราตามที่ตัวเองต้องการธาตุอาหารนั้นๆ หรือพูดง่ายๆ พืชเป็นคนคุมเกมส์เอาไว้ทั้งหมด...
เดี๋ยวตอนหน้าจะมาขยายให้เห็นภาพรวมว่าแล้วจุลชีพอื่นๆ ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็นด้วยตาเปล่านั้น มีความสัมพันธ์กันอย่างไร?.. ไว้มาแลกเปลี่ยนกันครับ...
โฆษณา