13 พ.ค. 2020 เวลา 15:47 • สุขภาพ
"วิถีที่ยั่งยืน" ช่วง โควิด-๑๙
วันสองวันก่อน มีภารกิจต้องเดินทางจากนราธิวาส ไปทำภารกิจที่จังหวัดยะลา จึงมีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับข้าราชการในสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดยะลา เกี่ยวกับสถานการณ์โควิดที่พบผู้ติดเชื้อค่อนข้างเยอะในยะลา แต่สิ่งที่ผมพบเห็นในสื่อออนไลน์ พบว่าทีมงานของวัฒนธรรมจังหวัดยะลา ยังคงแบ่งทีมลงพื้นที่เพื่อนำสิ่งของไปมอบให้ชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลอย่างต่อเนื่อง
การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ คือ บุญ
"เขาลำบากก็ต้องช่วยเหลือ ดูแลกัน"
วนัส ทองนุ้ย ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม บอกเล่า พร้อมกับให้แง่คิดน่าสนใจว่า จากการลงพื้นที่พบปะชาวบ้าน พบว่าหากเป็นเกษตรกรทำสวนทำไร่ ปลูกพืชผักเป็นสวนเล็กๆ ในพื้นที่รอบๆ บ้าน ก็จะไม่เดือดร้อนเรื่องอาหารการกินมากนัก
"ขอแค่ให้มีข้าวสารก็พอ ส่วนเรื่องอาหารกับข้าวกับแกง เราหาได้จากรอบบ้าน ทั้งพืชผักในป่าและที่ปลูกเอง ส่วนปูปลาหาได้จากแม่น้ำลำคลองใกล้บ้านนี่แหล่ะ" ชาวบ้านสะท้อนให้ฟัง
เมื่อดูแลธรรมชาติ ธรรมชาติจะกลับมาดูแลเรา
ตกเย็นวันนี้ มีโอกาสได้รับประทานอาหารช่วงละศีลอดกับพี่ๆ น้องๆ มุสลิมที่บ้านเคียงน้ำบางนรา-นราธิวาส พอเห็นเมนูอาหารพื้นบ้านแต่ละเมนู ยิ่งตอกย้ำว่า รอบๆ บ้านเรามีวัตถุดิบจากธรรมชาติพร้อมสรรพจริงๆ
เมนูอาหารพื้นง่ายๆ แต่รสชาติสุดยอด
เมนูมื้อนี้ ปลาดาบและปลาหางแข็งจากประมงพื้นบ้าน นำมาทอดกลิ่นหอมฉุย แกงเนื้อหอมกลิ่นเครื่องเทศ ผักเสี้ยนดองหั่นพริกสดเพิ่มเผ็ด น้ำบูดูใส่เนื้อปลาย่าง กินกับลูกเนียงสด สะตอดอง แถมมียำผักกูด ซอเลาะลาดอ (พริกยัดไส้) และน้ำอ้อยคั้นสดเย็นๆ ดื่มให้ชุ่มคอชื่นใจ
เมนูอาหารที่ผลิตจากวัตถุดิบรอบตัว
ระหว่างทานอาหาร ให้ย้อนนึกถึงคำพูดของ พี่วนัส ทองนุ้ย ที่ว่า สถานการณ์โควิด-๑๙ ส่งผลกระทบกับทุกคน แต่ไม่เท่ากัน อย่างคนชั้นกลางที่เคยสุขสบาย จะลำบากหน่อย รายได้ลดลง แต่สารพัดรายจ่ายยังคงอยู่ ทั้งค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าผ่อนโน่นนี่ จะหาอะไรกินในแต่ละวันก็ยาก แต่คนชนบท เรื่องอาหารการกิน หายห่วง ของกินมีให้เลือกมากมาย หมายถึงหากชอบชีวิตเรียบง่ายในวิถีแบบยั่งยืนจริงๆ
"เชื่อว่าหลังสถานการณ์โควิด วิถีชีวิตผู้คนคงเปลี่ยนแปลงแน่นอน และวิถีชีวิตแบบชนบทเรียบง่าย จะเป็นหนึ่งในทางเลือกของผู้คน"
คำพูดทิ้งท้าย แฝงนัยสำคัญอะไรไว้มากมาย
วิถีที่ยั่งยืน
โฆษณา