14 พ.ค. 2020 เวลา 15:07 • ประวัติศาสตร์
*** ศึกเจ้าอนุวงศ์ และการเทครัวชาวลาวล้านช้างสู่อาณาจักรสยาม (1)
..... มูลเหตุที่เเท้จริงเเห่งการยกทัพตีอาณาจักรล้านช้าง เเละกวาดต้อนผู้คนลงสู่ภาคกลางของสยาม ในครั้งนั้นคือทางสยามต้องการจำนวนผู้คน เพื่อเติมเต็มพื้นที่ภาคกลางของสยาม ที่รกร้างผู้คนจากศึกสงครามกับพม่าจากสงคราม 9 ทัพ ในสมัยรัชกาลที่ 1 เเละเตรียมการไว้รับศึกพม่าในอนาคต ...
Cr. Khun Guy Intarasopa
..... ในขณะนั้นอาณาจักรลาวล้านช้าง ได้เเตกออกเป็น 3 อาณาจักร ในปี พ.ศ. 2250 ตรงในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย คือ
- อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง
- อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์
- อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์
ทั้ง 3 อาณาจักร ต่างเป็นอิสระไม่ขึ้นแก่กัน และเพื่อชิงความเป็นใหญ่ ต่างก็ขอสวามิภักดิ์ต่ออาณาจักรเพื่อนบ้าน เช่นสยาม อังวะ ในที่สุดอาณาจักรลาวทั้ง 3 แห่งนี้ ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงธนบุรี ในปี พ.ศ. 2321
อาณาจักรลาวล้านช้าง ได้เเตกออกเป็น 3 อาณาจักร ในปี พ.ศ. 2250
..... ประมาณปี พ.ศ. 2311 ในสมัยกรุงธนบุรี เจ้าสิริบุญสารได้ให้กองทัพยกมาปราบเจ้าพระวอ ผู้เป็นเสนาบดีผู้ใหญ่ในราชสำนักเวียงจันทน์ ที่มีความขัดแย้งกับพระเจ้าสิริบุญสาร ได้หลบหนี และสู้รบในอาณาเขตจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ ที่ดอนมดเเดง(เมืองอุบลราชธานี) เจ้าพระวอตายในสนามรบ ท้าวก่ำบุตรชายจึงนำความกราบทูลต่อสมเด็จพระเจ้าตากสิน เป็นข้าขอบขัณฑสีมาของกรุงธนบุรี
..... จึงเป็นเหตุให้กรุงธนบุรีได้ใช้โอกาสนี้ หาเหตุยกทัพตีอาณาจักรล้านช้าง โดยกรุงธนบุรีได้ยกทัพตีอาณาจักรล้านช้างจำปาสัก, อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ เเละได้บังคับให้อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง เป็นเมืองประเทศราชด้วยเช่นกัน
..... ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น อาณาจักรลาวล้านช้างทั้ง 3 อาณาจักร ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการแก่สยาม รวมทั้งกำลังคนลาว ดังนั้นคนลาวล้านช้างจำนวนไม่น้อย ได้ถูกเทครัวส่งไปภาคกลางของสยามเรื่อยมา
..... รัชกาลที่ 1 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ให้เจ้าอนุวงศ์ ขึ้นไปครองนครเวียงจันทน์ เมืองประเทศราชของสยาม ต่อจากเจ้าอินทวงศ์ผู้เป็นพระเชษฐา ที่สวรรณคต
หลังจากครองราชย์ ทางเจ้าอนุวงศ์ได้ทำการทำนุบำรุงบ้านเมืองในหลายๆด้าน เช่นสร้างวัดวาอาราม บูรณะพระราชวัง สร้างสะพานข้ามน้ำโขงมายังฝั่งเมืองศรีเชียงใหม่ จนนครเวียงจันทน์กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง
..... ในระหว่างปีพ.ศ. 2360-2364 ได้เกิดกบถขึ้นแถบนครจำปาสัก เรียกกันว่า กบถสาเกียดโง้ง ซึ่งนำโดยพระภิกษุสา รวบรวมไพร่พลชาวข่าจำนวนมาก เพื่อปลดแอกไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจของราชอาณาจักรสยาม
..... ทางสยามโดยรัชกาลที่ 2 มีพระบรมราชบัญชา ให้เจ้าอนุวงศ์ซึ่งครองเวียงจันทน์อยู่ ให้นำทัพไปปราบพระสาเกียดโง้ง แต่เจ้าอนุวงศ์กลับได้ใช้วิธีนุ่มนวลโดยให้เจ้าราชบุตรโย้เข้าไปเกลี้ยกล่อมพระสาเกียดโง้งให้ยอมมอบตัว พระสาเกียดโง้งยอมมอบตัว และยอมไปรับโทษที่กรุงเทพฯ
..... ความชอบในครั้งนั้น รัชกาลที่ 2 เห็นถึงความจงรักภักดีของเจ้าอนุวงศ์ จึงทรงแต่งตั้งเจ้าราชบุตรโย้ โอรสของเจ้าอนุวงศ์ ขึ้นครองนครจำปาสัก ทำให้อำนาจการปกครองของเจ้าอนุวงศ์มีมากขึ้นโดยครอบคลุมไปถึงอาณาเขตล้านช้างจำปาสักด้วย
ทำให้ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ของสยามส่วนหนึ่ง ไม่เห็นด้วยเพราะเกรงว่าจะทำให้เจ้าอนุวงศ์ทรงมีอำนาจมากเกินไป แต่รัชกาลที่ 2 ทรงเชื่อกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ 3) ว่า ถ้าลาวเข้มแข็งจะช่วยป้องกันมิให้ญวนขยายอำนาจเข้ามา
..... ในปี พ.ศ. 2367 รัชกาลที่ 2 สวรรคต เจ้าอนุวงศ์มาถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ 2 พอเสร็จงานทางเจ้าอนุวงศ์ได้ทูลขอแบ่งพวกครัวชาวเวียงจันทน์ที่โดนกวาดต้อนมาสมัยกรุงธนบุรีกลับเวียงจันทน์
แต่รัชกาลที่ 3 ทรงปฏิเสธ เพราะหากทรงยอมก็จะมีคนกลุ่มอื่นที่สยามกวาดต้อนมา "พากันกำเริบ" เอาอย่างบ้าง เมื่อไม่พระราชทานตามพระประสงค์ ทางเจ้าอนุวงศ์รู้สึกอัปยศ กลับขึ้นไปเวียงจันทน์ก็ตั้งต้นคิดกบฎ
..... เจ้าอนุวงศ์ทรงเห็นว่าการที่ญวนขยายอำนาจเข้ามาในอาณาจักรเขมร ตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 2 สยามก็ยอม เพราะสยามเกรงจะเกิดศึกกระหนาบทั้งพม่า และญวน
เจ้าอนุวงศ์ทรงเอาใจออกห่างจากสยามไปฝักใฝ่ญวน และหากเวียงจันทน์แยกตัวจากไทยก็คงได้ญวนเป็นที่พึ่ง และสยามก็อาจไม่กล้าทำศึกหลายด้าน โดยมีข่าวลือถึงเวียงจันทน์ในปี พ.ศ. 2369 ว่าสยามได้วิวาทกับอังกฤษ อังกฤษจะยกทัพเรือมาตีกรุงเทพฯ จึงเป็นโอกาสเหมาะที่เวียงจันทน์จะออกหน้าก่อการกบฎต่อราชอาณาจักรสยาม
.... เจ้าอนุวงศ์ ได้ส่งขณะทูตไปชักชวนเกลี้ยกล่อมให้ญวน หลวงพระบาง หัวเมืองล้านนามี น่าน แพร่ ลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ เข้ามาช่วยพระองค์ด้วย เพราะลำพังเวียงจันทน์-จำปาศักดิ์ กำลังน้อยกว่าฝ่ายสยามมาก
สำหรับเมืองในอีสาน ที่เจ้าอนุวงศ์ทรงส่งขุนนางและทหารไปเกลี้ยกล่อม ปรากฏว่าผลของการเกลี้ยกล่อม มีระดับที่แตกต่างกัน กล่าวคือ มี ๒ เมืองที่เข้าร่วมอย่างเต็มที่คือ นครพนม กับ จัตุรัส อีก ๙ เมืองที่เข้าร่วมไม่เต็มที่เท่า ๒ เมืองแรก คือ ขุขันธ์ สระบุรี หล่มสัก ชนบท ยโสธร สุรินทร์ ปักธงชัย ขอนแก่น สกลนคร
เมืองที่เจ้าเมืองไม่เข้าร่วม และถูกทหารฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ฆ่าตาย คือ เจ้าเมืองเขมราฐ กาฬสินธุ์ ภูเวียง ภูเขียว ชัยภูมิ หล่มสัก และขุขันธ์ สำหรับ ขุขันธ์ ตอนแรกให้ความร่วมมือดีมาก แต่ภายหลังเจ้านครจำปาศักดิ์ (เจ้าราชบุตรโย่) เกิดไม่ไว้ใจจึงฆ่าเสีย
กำลังสนุกอยู่เลย ...ช่วงหน้าทางผมจะนำเสนอยุทธวิถี ภูมิศาสตร์เส้นทางการเดินทัพในสมัยนั้นให้รับทราบทั่วกันครับ
ขอบคุณทุกท่านที่มารับชมกันนะครับ ฝากกดไลค์ กดแชร์ และกดติดตาม เพื่อเป็นกำลังใจ ที่นำสาระเรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทยของเรานะครับ :-)
โฆษณา