14 พ.ค. 2020 เวลา 08:25 • ประวัติศาสตร์
นักเทศ-ขันที ในราชสำนักสยาม
ขันที เป็นคำที่ใช้เรียกชายผู้ที่ถูกตอนอวัยวะเพศ มีรากศัพท์มาจาก "ขณฺฑ" ในภาษาสันสกฤต ซึ่งแปลว่า “ทำลาย”
หนังสือ A Practical Sanskrit Dictionary ของ Arthur Anthony Macdonell ได้ให้ความหมายไว้ว่า “incomplete, deficient, break or cut in pieces, destroy, cause to cease” ซึ่งแปลได้ว่า “ไม่สมบูรณ์, ขาดหายไป, ทำลายหรือตัดออกเป็นชิ้น” ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช จึงสันนิษฐานว่า ขันที เป็นการเขียนแบบไทยสะดวกสำหรับคำว่า ขณฺฑี ในภาษาสันสกฤต
จิตรกรรมฝาผนังลายรดน้ำภายในหอเขียนวังสวนผักกาด แสดงภาพนักเทศขันที (ขวาสุด) แต่งกายอย่างมุสลิมอินโด-อิหร่านในช่วงศตรรษที่ ๑๗-๑๘ ถือหวายจะหวดมหาดเล็กที่มาแอบดูพวกนางในที่อยู่หลังม่านที่กั้นอยู่
ชาติตะวันตกเรียกขันทีว่ายูนุค (Eunuch) ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษากรีกโบราณ eune (bed) + ekhein (to keep) แปลว่า “เจ้าพนักงานกระลาบรรทม” ส่วนจีนเรียกว่า ฮ่วนกวน (宦官) หรือ ไท่เจี้ยน (太监 แปลตรงตัวว่าผู้กำกับราชการใหญ่ มักใช้เรียกขันทีระดับสูง)
ขันทีมีหน้าที่รับใช้กษัตริย์และดูแลราชสำนักฝ่ายในหลายอาณาจักรทั่วโลกตั้งแต่อารยธรรมยุคโบราณ มาจนถึงจักรวรรดิในยุคหลัง เช่น จีน เปอร์เซียหรือออตโตมาน เนื่องจากฝ่ายในมีแต่ผู้หญิงซึ่งอาจไม่สะดวกในการงานที่ผู้ชายสามารถทำได้ดีกว่า เช่น เป็นองครักษ์ดูแลความปลอดภัยในฝ่ายใน การใช้แรงงาน หรือการกำกับข้าหลวงฝ่ายในให้เป็นระเบียบเรียบร้อย แต่ด้วยเกรงว่าจะมีความสัมพันธ์ทางเพศกับพระราชวงศ์หรือข้าราชการของฝ่ายใน จึงต้องตัดอวัยวะเพศของชายนั้นเป็นการตัดปัญหา
วัฒนธรรมการมีขันทีในราชสำนักได้แพร่หลายมาถึงหลายรัฐในภูมิภาคอุษาคเนย์ เช่นเวียดนามที่มีขันทีเหมือนจีนที่เป็นเจ้าประเทศราช พม่าที่มีขันทีมุสลิมจากอะระกัน (ยะไข่) หรือแม้แต่ในราชสำนักอยุทธยาเองผู้รับใช้ในราชสำนักฝ่ายในซึ่งถูกตอนอวัยวะเพศเช่นเดียวกัน
ภาพเขียนจักรพรรดิหมิงเซวียนจงทรงพระสำราญ 《明宣宗行樂圖》 แสดงภาพขันทีสมัยราชวงศ์หมิงสวมเสื้อสีน้ำเงินและสีเขียว ถวายงานรับใช้จักรพรรดิเซวียนเต๋อ (宣德帝) ที่ทรงฉลองพระองค์สีเหลือง ประทับบนพระเสลี่ยง
หลักฐานเก่าที่สุดที่กล่าวถึงขันทีของไทยคือกฎมณเฑียรบาลซึ่งตราในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ (ครองราชย์ พ.ศ. ๑๙๙๑ – ๒๐๓๑) แห่งกรุงศรีอยุทธยา ได้แบ่งผู้รับใช้ซึ่งถูกตอนอวัยวะเพศออกเป็น ๒ ประเภทคือ นักเทศ (หรือ นักเทษ) และ ขันที
ด้วยเหตุที่หลักฐานส่วนใหญ่เขียนว่า “นักเทศขันที” จึงทำให้เข้าใจกันว่าน่าจะเป็นตำแหน่งเดียวกัน แต่เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่าแยกเป็นสองกลุ่ม
พิจารณาจากกฎมณเฑียรบาลมาตรา ๑๓๕ การพระราชพิธีเบาะพก มีการกล่าวว่า “พระราชกุมารสมเดจ์พระอรรคมเหษีเจ้าขวา พระราชบุตรีซ้าย ลูกเธอหลานเธอแม่เจ้าพระสนม ออกเจ้ากำนัลซ้ายนักเทศขวาขันทีซ้าย” แสดงว่านักเทศและขันทีเป็นคนละกลุ่ม ถูกแยกให้รับราชการอยู่ฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายตามลำดับ
และในตำราธรรมเนียมในราชสำนักครั้งกรุงศรีอยุธยาได้ระบุถึง ทิม หรืออาคารที่พักของในพระราชฐานฝ่ายใน “...ทิมนักเทศ ทิมขันที ทิมโขลน...” แสดงให้เห็นว่านักเทศและขันทีมีที่พักแยกจากกัน จึงไม่ใช่กลุ่มเดียวกัน
ไม่พบหลักฐานชัดเจนว่านักเทศแตกต่างกับขันทีอย่างไร ทั้งนี้ปรากฏหลักฐานคือหัวอี๋อี้อวี่เซียนหลัวกว่าน 《華夷譯語暹羅館》 หรือพจนานุกรมภาษาไทย-จีนสมัยราชวงศ์หมิง แปลคำว่า "นักเทด" เป็นภาษาจีนว่า 太監 ตรงกับตำแหน่งขันทีระดับผู้บังคับบัญชาในภาษาจีน
หัวอี๋อี้อวี่เซียนหลัวกว่าน 《華夷譯語暹羅館》 หรือพจนานุกรมภาษาไทย-จีนสมัยราชวงศ์หมิง แปลคำว่า "นักเทด" เป็นภาษาจีนว่า 太監 ตรงกับตำแหน่งขันทีระดับผู้บังคับบัญชาในภาษาจีน (ที่มาภาพ : ลิปิกรมไทยจีนสมัยราชวงศ์หมิง)
มีข้อสันนิษฐานว่า นักเทศ หมายถึงยูนุคจากชาติตะวันตก เช่น อาหรับ เปอร์เซีย ออตโตมาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชาติที่นับถือศาสนาอิสลาม พิจารณาจากจากคำว่า “เทศ” ที่หมายถึงมาจากต่างประเทศ ซึ่งส่วนมากมักใช้กล่าวถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชาติตะวันตก อย่าง แขกเทศ เมืองเทศ เครื่องเทศ
ส่วนขันที มีการสันนิษฐานว่าหมายถึงขันทีชาวจีน ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าน่าจะเป็นขันทีกลุ่มแรกที่อยุทธยารับเข้ามา แต่เมื่อภายหลังมีขันทีจากตะวันตกเข้ามาเลยเรียกกลุ่มหลังว่า “นักเทศ” ให้แตกต่างกัน
อย่างไรก็ตามพบหลักฐานสมัยอยุทธยากล่าวถึงแต่ขันทีที่เป็นมุสลิมเท่านั้น และไม่มีการกล่าวถึงนักเทศอีก จึงสันนิษฐานว่าคำว่าขันทีในสมัยหลังอาจใช้เรียกรวมทั้งขันทีจีนและมุสลิมโดยไม่แบ่งแยก
ซ้าย: จิตรกรรมลายรดน้ำภายในหอเขียนวังสวนผักกาด กรุงเทพฯ ผาติกรรมมาจากวัดบางกลิ้ง พระนครศรีอยุธยา แสดงภาพพระฉาก (กั้นพระทวารระหว่างฝ่ายนอกกับฝ่ายใน) ที่เขียนรูปนักเทศขันทีมุสลิมถือไม้เท้า แต่งกายตามวัฒนธรรมอินโด-เปอร์เซียในช่วงศตรรษที่ ๑๗-๑๘ ขวา : ภาพเหมือนของ คาวาส ข่าน (Khawas Khan) ขันทีในราชสำนักจักรพรรดิบาฮาดูร์ ชาห์ที่ ๑ (Baharduh Shah I) แห่งจักรวรรดิโมกุลในอินเดีย ศิลปะโมกุลสมัยศตวรรษที่ ๑๗
สำหรับรายละเอียดที่บ่งบอกถึงหน้าที่รับผิดชอบของนักเทศและขันที ปรากฏในกฎมณเฑียรบาลดังต่อไปนี้
มาตรา ๑๔ กล่าวถึงการเสด็จทางเรือของพระเจ้าแผ่นดินและการถวายอารักขา ความตอนหนึ่งว่า “ถ้าเสดจ์หนในมกอกน้ำออกมา ขุนสนมแลกันยุบาดราชเสวกแลมหาดเลกนักเทษลง ถ้าเสดจ์หนเรือแลประเทียบฝ่ายในลงก็ดี แต่นักเทษขันทีแลทนายเรือลง”
สรุปความได้ว่า นักเทศมีหน้าที่ตามเสด็จถวายงานอารักขาเวลาพระเจ้าแผ่นดินเสด็จหนในมกอกน้ำ (ไม่ทราบว่าคือบริเวณใด) ร่วมกับขุนสนมที่เป็นพนักงานฝ่ายในกับกันยุบาดราชเสวกซึ่งเป็นตำแหน่งของทหารรักษาพระองค์ แต่ถ้าพระเจ้าแผ่นดินเสด็จทางเรือโดยมีประเทียบ (พระสนม) ลงด้วย ทั้งนักเทศและขันทีต้องตามเสด็จ
.
มาตรา ๖๙ “ถ้าขัดพระราชฎีกา[แลพระเสาวนีไหมตรีคูน] สมเดจ์พระอรรคมเหษีใช้พระราชฎีกา สมเดจ์พระชายาแลสมเดจ์หน่อพระพุทธเจ้าใช้พระเสาวนี
สมเดจ์พระเจ้าลูกเธอกินเมืองใช้พระสาศน ผู้ใดขัดพระสาศนไหมทวีคูน
ถ้าแลมีพระราชฎีกาดำเนีร มีตราขุนจันทราทิตยนำ ถ้าพระราชเสาวนีดำเนีร ตราขุนอินทราทิตยนำ
ถ้าพระราชฎีกานักเทศ[จำ]ถือไป พระเสาวนี[ขันที]จำถือไป”
แสดงว่านักเทศและขันทีมีหน้าที่เป็นผู้อัญเชิญพระราชกระแสของพระราชวงศ์ระดับสูงไปถ่ายทอด ใกล้เคียงกับราชสำนักจีนที่มักให้ขันทีเป็นผู้ถ่ายทอดพระราชโองการ และยังพบในหลายราชสำนักที่มีการใช้งานขันที ทั้งพม่า อะระกัน ที่ให้ขันที่เป็นผู้ถ่ายทอดพระราชกระแสเช่นเดียวกัน
.
มาตรา ๑๐๔ “อนึ่ง พระราชกุมารพระราชบุตรี นักเทษขันทีจ่าในเรือนค่อมเตี้ยออกไปนอกขนอนนอกด่าน ผิดอายการ”
การห้ามนักเทศขันที รวมถึงพระราชกุมาร พระราชบุตรี และตำแหน่งข้าราชการฝ่ายใน ออกไปถึงขนอนหรือด่านเก็บภาษีซึ่งถือว่าเป็นทางเข้าออกของพระนคร สันนิษฐานว่าเพราะเป็นข้าราชการฝ่ายในที่มีความใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดิน การปล่อยให้ออกไปนอกเขตเมืองอาจมีผลต่อความมั่นคงของราชสำนักได้เนื่องจากเป็นผู้รู้กิจการภายในและถวายงานใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดิน
.
มาตรา ๑๑๗ กล่าวถึงการเสด็จราชานุกิจถานาเทวีซึ่งเกี่ยวข้องกับการเสด็จออกฝ่ายในของพระเจ้าแผ่นดิน ระบุว่านักเทศขันทีตำแหน่งต่างๆ เข้าเฝ้าที่เฉลียงนอก
“ฝ่ายเฉนียงนอก พระศรีมโนราชแลพระศรีอไภย ขุนราชาข่านขุนมโน บหลัดทัง ๔ นักเทษแลขันที หมื่นศรีเสารักษหมื่นสรรเพชญ นายจ่านายกำนัลมหาดเลกเตี้ยค่อม”
.
มาตรา ๑๓๑ พิธีงานเลี้ยงวงดอกไม้มงคล ระบุว่า “๔ นาลิกาเสดจ์มังคลาภิเศก นักเทศตีกรับ”
จิตรกรรมฝาผนังวัดไชยทิศ บางขุนนนท์ แสดงภาพนักเทศขันที (ด้านซ้าย) แต่งกายอย่างมุสลิม ยืนประจำอยู่บริเวณม่านกั้นพื้นที่ของฝ่ายใน (ที่มาภาพ : http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3459.60)
ราชสำนักอยุทธยาได้มีการจัดตั้งหน่วยงานของขันทีขึ้นเป็นข้าราชการสังกัดพลเรือน ปรากฏทำเนียบตำแหน่งขันทีในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือนว่า
-ออกพระศรีมะโนราชภักดีศรีปรัยวัล นา ๑๐๐๐
-หลวงราชาชานภักดี (น่าจะสะกดผิดจาก ราชาข่าน ในกฎมณเฑียรบาล) นา ๕๐๐
-ปลัดจ่านุชิด ปลัดพิพิท ปลัดมระกฏ
-หลวงศรีมโนราชภักดีศรีองคเทพ รักษาองค นา ๑๐๐๐
-หลวงเทพชำนาญภักดีศรีเทพรักษา องครักษ นา ๑๐๐๐
(สองตำแหน่งหลังน่าจะเป็นองครักษ์เหมือนกัน)
บางท่านเรียกหน่วยงานของนักเทศขันทีนี้ว่า “กรมขันที” แต่มีข้อควรพิจารณาคือตามทำเนียบพระไอยการนาพลเรือนที่เรียบเรียงในสมัยรัชกาลที่ ๑ ได้ระบุหน่วยงานของนักเทศขันทีว่า “ขันที” เท่านั้น แตกต่างจากหน่วยงานอื่นๆ ส่วนใหญ่ที่ระบุชัดเจนว่าเป็น “กรม” โดยมีคำว่ากรมนำหน้า
นอกจากนี้ก็ไม่มีการระบุตำแหน่งขันทีว่ามี เจ้ากรม ปลัดกรม และสมุหบัญชี เหมือนกรมอื่น ผู้เขียนจึงเชื่อว่าหน่วยงานของขันทีอาจไม่ได้ใหญ่โตถึงขนาดตั้งเป็นกรม ดังที่พบหลักฐานของซิมง เดอ ลาลูแบร์ว่าในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ซึ่งมีการเจริญสัมพันธไมตรีกับชาติตะวันตกมากเป็นพิเศษยังมีขันทีเพียง ๘ ถึง ๑๐ คนเท่านั้น
น่าสังเกตุว่าในพระไอยการไม่ได้กล่าวถึงทำเนียบของนักเทศ และไม่มีตำแหน่งของ “พระศรีอไภย” ซึ่งปรากฏในกฎมณเฑียรบาลคู่กับพระศรีมโนราชที่เป็นเจ้ากรมขันที จึงสันนิษฐานว่า “พระศรีอไภย” น่าจะเป็นเจ้ากรมนักเทษ รับราชการฝ่ายขวา คู่กับขันทีซึ่งรับราชการฝ่ายซ้าย
.
เนื่องด้วยตำแหน่งนักเทศและขันทีมีปรากฏอยู่ในกฎมณเฑียรบาลสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ จึงอนุมานได้ว่าอาจมีการใช้งานในราชสำนักอยุทธยามาก่อนหน้านั้นแล้ว สันนิษฐานว่าแรกเริ่มอาจมาจากจีน
ทั้งนี้อยุทธยามีการติดต่อค้าขายกับจีนราชวงศ์หมิงอย่างแน่นแฟ้นในช่วงรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราช (ขุนหลวงพ่องั่ว) และสมเด็จพระนครอินทร์ ซึ่งหลายครั้งพบว่าราชสำนักต้าหมิงได้ส่งขันทีเป็นราชทูตมาหลายครั้ง โดยเฉพาะเมื่อครั้งที่กองเรือมหาสมบัติของขันทีเจิ้งเหอได้เดินทางมา ก็มีขันทีติดตามมาด้วยจำนวนมาก จึงเป็นไปได้ว่าราชสำนักอยุทธยาอาจจะรับขันทีผ่านการค้าในระบบบรรณาการกับจีนด้วย
อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงการสันนิษฐานเท่านั้น เพราะยังไม่เคยพบหลักฐานที่ชัดเจนว่าเคยมีขันทีชาวจีนอยู่ในราชสำนักอยุทธยาจริงๆ
Saru Taqi (سارو تقی) ยูนุคชาวเปอร์เซีย ผู้เป็นอัครมหาเสนาบดีของชาห์ ซาฟี (Shah Safi) จักรพรรดิเปอร์เซียแห่งราชวงศ์เศาะฟะวียะฮ์ (Safavid Dynasty) ภาพวาดศิลปะโมกุลสมัยคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ แต่งกายใกล้เคียงกับ นักเทศขันที ในจิตรกรรมไทย
จนถึงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์จึงพบหลักฐานอย่างชัดเจนว่ามียูนุคอยู่ในราชสำนัก ทั้งนี้ราชสำนักอยุทธยามีการเจริญสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับเปอร์เซียราชวงศ์เศาะฟะวียะฮ์ (Safavid Dynasty) และจักรวรรดิโมกุลของอินเดีย รวมไปถึงจักรวรรดิออตโตมาน-เติร์ก จึงน่าจะเป็นช่องทางในการในการรับยูนุคจากดินแดนเหล่านั้นเข้ามายังราชสำนักอยุทธยา และสมเด็จพระนารายณ์เองก็มีหลักฐานว่าโปรดวัฒนธรรมอินโด-อิหร่านมาก ทั้งเรื่องอาหาร สถาปัตยกรรม หรือการแต่งกาย การที่ทรงนำเข้ายูนุคเข้ามาในราชสำนักอยุทธยาก็น่าจะเป็นการสะท้อนให้เห็นพระราชนิยมของสมเด็จพระนารายณ์ในระดับหนึ่ง
.
ในจดหมายเหตุของซิมง เดอ ลู ลูแบร์ (Simon de la Loubère) ราชทูตชาวฝรั่งเศสได้กล่าวถึงยูนุคในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ว่า
“ส่วนห้องที่ประทับของสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามนั้น ตัวเจ้าพนักงานที่แท้ล้วนเป็นสตรีทั้งนั้น เจ้าพนักงานเหล่านี้จำพวกเดียวมีสิทธิที่จะล่วงล้ำเข้าไปได้ เป็นผู้แต่งที่พระบรรทมและแต่งเครื่องพระกระยาหาร ทรงเครื่องพระองค์ท่านและคอยบำเรอพระยุคลบาทเวลาเสวย แต่ไม่มีใครจะต้องพระเศียรของพระองค์ได้เลยในขณะที่แต่งเครื่องเสวยหรือจะส่งสิ่งไรข้ามพระเศียรไม่ได้ดุจกัน. บรรดาผู้รับเหมาส่งอาหารจัดส่งเครื่องโภชนาหารให้แก่ขันที (eunuque) ขนไปให้ผู้หญิงห้องเครื่องต้น และนางพนักงานหน้าเตาที่ปรุงพระเครื่องต้นนั้นจะใช้เกลือหรือเครื่องเทศก็ต้องชั่งน้ำหนัก จะได้ไม่มากหรือน้อยเกินไป"
อีกตอนหนึ่งระบุว่า "บรรดานารีในพระบรมมหาราชวังนั้น จะออกไปข้างไหนไม่ได้เลยนอกจากตามเสด็จพระราชดำเนิน พวกขันทีก็เหมือนกันไม่ออกไปภายนอก นอกจากเชิญกระแสพระราชดำรัสไปจัดการตามพระบรมราชโองการเท่านั้น ว่ากันว่าทรงมีขันทีอยู่เพียง ๘ หรือ ๑๐ คนเท่านั้น มีทั้งคนผิวขาวและคนผิวดำ.”
.
ส่วนนิโกลาส์ แชรแวส (Nicolas Gervais) บาทหลวงฝรั่งเศสก็ได้บันทึกไว้ถึงยูนุค (eunuques) เช่นเดียวกันว่า
"เหล่าสนมกำนัลก็มีที่พักอาศัยงดงามเป็นตึกแถวยาวขนานไปกับพระตำหนักที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินและพระราชธิดาตั้งแต่มุมโน้นจรดมุมนี้ และการเข้าออกก็ยากมาก ห้ามแม้กระทั่งพระราชโอรส มีแต่พวกขันที (eunuques) เท่านั้น ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปถวายการปรนิบัติได้"
นอกจากนี้ยังระบุว่า เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาของสมเด็จพระนารายณ์ก็ทรงมียูนุคถวายงานรับใช้โดย
“แต่งกายเป็นสตรีทั้งสิ้น และอยู่ในพระตำหนักอย่างสงบเสงี่ยมและระมัดหน้าระวังหลังเป็นที่สุด (แต่ สันต์ ท. โกมลบุตร ผู้แปลเอกสารเลือกแปลว่า 'จ่าโขลน' ที่เป็นหญิง)
ยูนุคผิวดำ (Black Eunuch) ในราชสำนักออตโตมาน
สำหรับขันทีผิวดำและผิวขาวที่ลา ลูแบร์ระบุ ผศ.ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ วิเคราะห์ไว้ว่า
“เป็นไปได้ว่าขันทีดำที่ลาลูแบร์กล่าวถึง คือ ขันทีแอฟริกันซึ่งจะพบมากในราชสำนักออตโตมาน และเปอร์เซีย ขันทีกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นเด็กแอฟริกันที่ถูกพ่อค้าอาหรับจับมาขายเป็นทาสแล้วถูกตอนเป็นยูนุค
ยูนุคดำ (black eunuch) ในราชสำนักออตโตมาน มีบทบาทสำคัญมาก ทำหน้าที่ดูแลฮาเร็ม (harem) ของสุลต่าน และถือกุญแจพระคลังมหาสมบัติ ยูนูคดำบางคนยังได้รับแต่งตั้งเป็นถึงอัครมหาเสนาบดี หรือแกรนด์วิเซียร์ (Grand Vizier) สำหรับยูนุคขาว น่าจะมาจากอินเดียหรือเปอร์เซีย เพราะในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ พระองค์ทรงติดต่อสัมพันธ์ใกล้ชิดกับราชสำนักซาฟาวีของเปอร์เซีย และบรรดาราชรัฐต่างๆ ในอินเดีย ขันทีซึ่งเป็นวิชาชีพหนึ่งในดินแดนเหล่านั้น คงได้รับการว่าจ้างเข้ามาในฐานะขุนนางชำนาญการเพื่อดูแลกิจการฝ่ายใน อันเป็นการยกระดับความยิ่งใหญ่ของราชสำนักอยุธยาให้ทัดเทียมอารยประเทศอย่างจีน เปอร์เซีย และอินเดีย
ส่วนขันทีขาว (white eunuch) ในวัฒนธรรมออตโตมานและเปอร์เซีย ส่วนใหญ่จะมาจากแคว้นจอร์เจีย (Georgia) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอิหร่าน เป็นรัฐคริสต์แต่มักถูกรุกรานจากออตโตมานและเปอร์เซีย สงครามทำให้เด็กชายชาวจอร์เจียถูกจับเป็นเชลยและตอนเป็นขันที ต่อมาคนเหล่านี้ได้เปลี่ยนมารับอิสลามและรับราชการเป็นใหญ่เป็นโตในราชสำนักมุสลิม”
.
พิจารณาจากหลักฐานแล้ว นักเทศขันทีในราชสำนักอยุทธยามีจำนวนน้อยมาก ไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบเป็นพิเศษนอกจากงานกำกับข้าราชการฝ่ายใน เป็นราชองครักษ์ เชิญพระกระแสรับสั่งแลการเตรียมพระกระยาหาร ซึ่งมีเจ้าพนักงานตำแหน่งอื่นรวมถึงชายที่ไม่ถูกตอนอย่างมหาดเล็กร่วมถวายงานด้วย จึงไม่พบว่าขันทีมีบทบาทในราชสำนักมาก
แตกต่างกับราชสำนักจีนที่มีขันทีจำนวนหลักพันถึงหลักหมื่นรับผิดชอบกิจการดูแลพระราชวังเกือบทั้งหมดโดยแทบไม่มีชายที่ไม่ถูกตอนเลย จนบางยุคสมัยขันทีก็มีอำนาจและอิทธิพลทางการปกครองเป็นอย่างสูงจนหลายครั้งพบว่ามีส่วนทำให้ราชวงศ์ล่มจมเพราะฮ่องเต้ทรงให้อิทธิพลขันทีมากเกินไป
นอกจากนี้ไม่ปรากฏชัดเจนว่ามีนักเทศขันทีในทุกรัชกาล จึงอาจเป็นเพียงพระราชนิยมของพระเจ้าแผ่นดินอยุทธยาบางพระองค์เท่านั้น
อย่างไรก็ตามพบว่ายังมีขันทีในราชสำนักอยู่จนถึงก่อนเสียกรุงศรีอยุทธยาไม่นาน เนื่องจากปรากฏในเอกสาร “คำให้การขุนหลวงหาวัดประดู่ทรงธรรม” ตอนความแทรกคำให้การเกี่ยวกับสมัยพระนครศรีอยุธยาตอนปลาย กล่าวถึงการเสด็จออกเลียบพระนครในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าเอกทัศว่า
“จึ่งมีขันทีมีชื่อคือราขารแลสังขสุรินได้ดูกำกับฝ่ายข้างกรมฝ่ายแลขุนนางกรมฝ่ายในนั้นได้ดูแลข้างพระสนมกำนันทั้งปวงเปนอันมาก”
ราขาร เข้าใจว่าเพี้ยนมาจาก “ราชาข่าน” ในกฎมณเฑียรบาล พิจารณาจากชื่อแล้วน่าจะเป็นขันทีจากอินโด-อิหร่าน ส่วนสังขสุริน ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร สันนิษฐานว่าน่าจะทำหน้าที่เป่าสังข์ในราชสำนัก คู่กับนักเทศที่ตีกรับ
จึงอนุมานได้ว่าเมื่อก่อนสมัยจะเสียกรุงศรีอยุทธยา ก็ยังมีการรับขันทีให้ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับข้าราชการของฝ่ายในอยู่
จิตรกรรมสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในสมุดภาพไตรภูมิสมัยธนบุรี ฉบับกรุงเบอร์ลิน มีนักเทศอยู่บริเวณมุมซ้ายล่าง
จนถึงสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ ก็ไม่พบหลักฐานว่ามีนักเทศขันทีอยู่ในราชสำนักสยามอีก จึงเข้าใจว่าวัฒนธรรมการมีขันทีของไทยได้สูญสิ้นไปตามกาลเวลา
ถึงกระนั้นยังมีร่องรอยของ นักเทศขันที อยู่ในวรรณกรรมหลายเรื่องและในภาพจิตรกรรมหลายแห่ง เช่น จิตรกรรมฝาผนังลายรดน้ำภายในหอเขียนวังสวนผักกาด ซึ่งเป็นพระตำหนักของพระมหากษัตริย์หรือพระราชวงศ์ในสมัยอยุทธยาตอนปลาย (แต่สันนิษฐานว่าน่าจะวาดซ่อมในสมัยรัตนโกสินทร์) ที่ผาติกรรมมาจากวัดบางกลิ้ง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปรากฏภาพของนักเทศขันทีแต่งกายอย่างมุสลิมอินโด-อิหร่านถือหวายจะหวดมหาดเล็กที่มาแอบดูพวกนางในที่อยู่หลังม่านที่กั้นอยู่ หรือในสมุดภาพไตรภูมิสมัยธนบุรี ฉบับกรุงเบอร์ลิน ที่พบภาพนักเทศขันทีอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
จิตรกรรมเหล่านี้น่าจะเป็นเพียงการวาดเป็นการสะท้อนภาพประเพณีราชสำนักกรุงศรีอยุทธยาในอดีตตามประเพณีเท่านั้น เพราะไม่พบหลักฐานการมีการใช้งาน นักเทศขันที อีกตามที่ได้กล่าวมาแล้ว
เอกสารอ้างอิง
- กฎหมายตรา ๓ ดวง ฉบับพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองแก้ไขปรับปรุงใหม่ เล่ม ๑
จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์. ขันทีแขกในราชสำนักอยุธยา. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๒๑ ฉบับที่ ๖ (เมษายน ๒๕๔๓)
- จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์. บทบาทแลหน้าที่ของขุนนางกรมท่าขวาในสมัยอยุธยาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2153-2435)
- แชรแวส, นิโกลาส. ค.ศ. ๑๖๖๒-๑๗๒๙ ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม
- ประชุมคำให้การ กรุงศรีอยุธยา รวม ๓ เรื่อง: คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม คำให้การขุนหลวงหาวัด
- ลาลูแบร์, ซิมอน เดอ. จดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม
- วินัย พงศ์ศรีเพียร. กะเทย / บั๊ณเฑาะก์ / ขันที / นักเทษ (https://www.gotoknow.org/posts/151017)
- หมิงสือลู่ - ชิงสือลู่ บันทึกเรื่องจริงแห่งราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง และ ระยะทางราชทูตไปกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ของพระอินทรมนตรีแย้มได้เรียบเรียงไว้ในรัชกาลที่ ๔
.
ภาพประกอบ : จิตรกรรมฝาผนังลายรดน้ำภายในหอเขียนวังสวนผักกาด แสดงภาพนักเทศขันที (ขวาสุด) แต่งกายอย่างมุสลิมอินโด-อิหร่านในช่วงศตรรษที่ ๑๗-๑๘ ถือหวายจะหวดมหาดเล็กที่มาแอบดูพวกนางในที่อยู่หลังม่านที่กั้นอยู่
หมายเหตุ : บทความทั้งหมดเรียบเรียงโดยผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ ผู้ดูแลเพจขอสงวนสิทธิไม่อนุญาตให้นำข้อมูลที่เผยแพร่ในเพจไปแก้ไข คัดลอก ดัดแปลง ทำซ้ำ เผยแพร่ต่อ และห้ามนำไปแสวงหาผลกำไรทางพาณิชย์โดยเด็ดขาด หากมีความประสงค์จะขอบทความของเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ไปเผยแพร่ต่อด้วยวิธีการใดๆ ก็ตามต้องได้รับการยินยอมจากผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ในทุกกรณี ยกเว้นแต่การแชร์ (share) ที่สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต
โฆษณา