14 พ.ค. 2020 เวลา 09:10 • สุขภาพ
กระเจี๊ยบแดง..สมุนไพร สสม.
ชื่อท้องถิ่น
กระเจี๊ยบแดง, กระเจี๊ยบเปรี้ยว(ภาคกลาง), ผักเก็งเค็ง, ส้มพอเหมาะ, ส้มเก็งเค็ง(ภาคเหนือ), แกงแดง, ส้มตะเลงเครง, ส้มปู
ชื่อวิทยาศาสตร์ Hibiscus Sabdariffa Linn.
วงศ์ MALVACEAE
ชื่อสามัญ Roselle, Jamaican Sorrel
ลักษณะ
เป็นพืชล้มลุก อายุเกินหนึ่งปี เป็นไม้พุ่มสูง 50-180 ซม.ลำต้นและกิ่งก้านมีสีแดงอมม่วง ใบเดี่ยวออกสลับกัน ตัวใบเว้าเป็นแฉกคล้ายนิ้วมือ 3-5 แฉก ดอกเดี่ยวขนาดใหญ่ ดอกออกตรงซอกระหว่างใบและกิ่ง กลีบดอกสีเหลืองอ่อนหรือสีชมพู เมื่อกลีบดอกร่วงกลีบเลี้ยงจะขยายใหญ่ กลีบหนา แข็ง สีแดงอมม่วง มีรสเปรี้ยว ผลสีแดง รูปไข่ ปลายแหลม มีขน มีกลีบเลี้ยงและใบประดับหุ้มอยู่ ผลเมื่อแก่จะแห้งและแตก
การขยายพันธุ์
ใช้เมล็ดปลูกห่างกันครึ่งเมตร
ส่วนที่นำมาเป็นยา
ใบประดับ และกลีบเลี้ยง กลีบรองดอก ใบ
1
สารเคมีและสารอาหารที่สำคัญ
กลีบเลี้ยงมีสีแดง ซึ่งเป็นสารแอนโทไซยานิน (anthocyanin) ยอดอ่อนและกลีบเลี้ยงประกอบด้วยกรดอินทรีย์หลายชนิด
ส่วนที่ใช้เป็นยา
กลีบเลี้ยงและกลีบรองดอก ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา ตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงช่วงเก็บเกี่ยวใช้เวลา ๔ - ๕ เดือนครึ่ง
รสและสรรพคุณยาไทย
กลีบรองดอก กลีบเลี้ยงและใบ มีรสเปรี้ยว ใช้เป็นยากัดเสมหะ
วิธีใช้
ใช้เป็นยารักษาอาการขัดเบา โดยนำเอากลีบเลี้ยง หรือกลีบรองดอกสีม่วงแดง ตากแห้ง บดเป็นผง ใช้ครั้งละ ๑ ช้อนชา (หนัก ๓ กรัม)
ชงกับน้ำเดือด ๑ ถ้วย (๒๕๐ มิลลิลิตร) ดื่มเฉพาะน้ำสีแดงใส ดื่มวันละ ๓ ครั้ง ติดต่อกันจนกว่าอาการขัดเบาจะหายไป
วิธีใช้
ขับปัสสาวะ : นำกลีบเลี้ยงแห้งบดเป็นผง ชงเป็นชา ดื่มวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 1 ช้อนชา (3 กรัม) กับน้ำ 1 แก้ว (250 ซีซี)
แก้ร้อนใน กระหายน้ำ ป้องกันการจับตัวของไขมันในเส้นเลือด : ใช้กลีบรองดอกและกลีบเลี้ยง นำไปต้มกับน้ำ เติมน้ำตาลขนาดพอเหมาะ ดื่มเป็นประจำ
แก้ไอ ขับเสมหะ : รับประทานใบและยอดอ่อน
ลดน้ำตาลในเลือด
จากการศึกษากับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ได้รับชากระเจี๊ยบแดง 3 กรัม ชงกับน้ำร้อน 150 มิลลิลิตร ติดต่อกันเป็นเวลา 1 เดือน พบว่า ระดับน้ำตาลในเลือดของอาสาสมัครลดลงสูงสุดจาก 162.1 เป็น 112.5 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร จากกลไกทางชีวภาพของสารพฤกษเคมีที่ช่วยลดการย่อยและการดูดซึมน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวและโมเลกุลคู่ผ่านการยับยั้งเอนไซม์แอลฟา-อะไมเลส แลแอลฟา-กลูโคซิเดส
ลดความดันโลหิต
จากการศึกษาทางคลินิกในอาสาสมัครที่มีความเสี่ยงภาวะความดันโลหิตสูง โดยให้อาสาสมัครดื่มชากระเจี๊ยบแดง 1.25 กรัม ชงกับน้ำร้อน 240 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 6 สัปดาห์ พบว่า ความดันโลหิตของอาสาสมัครลดลง 7.2 มิลลิเมตรปรอท (ขณะหัวใจบีบตัว) และ 3.1 มิลลิเมตรปรอท (ขณะหัวใจคลายตัว)
ปกป้องไต
การศึกษาในคลินิกที่ให้อาสาสมัครดื่มน้ำกระเจี๊ยบแดง 24 กรัมต่อวัน พบว่า สารพฤกษเคมีในกระเจี๊ยบแดงมีส่วนช่วยขับครีเอตินิน กรดยูริก ซิเตรต ทราเทรต แคลเซียม โพแทสเซียม และฟอสเฟต และในข้อมูลสัตว์ทดลองยังพบว่า กรดของสารพฤกษเคมีในดอกกระเจี๊ยบแดงขนาด 750 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สามารถป้องกันและยับยั้งการพัฒนาของก้อนนิ่วได้ ทว่าผลการยับยั้งนิ่วในคนยังต้องศึกษากันต่อไป
รักษาแผล
ใบของกระเจี๊ยบมีสรรพคุณในการต้านอาการอักเสบ จากตำรับยาแผนโบราณจะพบว่ามีการนำใบสดของกระเจี๊ยบแดง ล้างให้สะอาด และตำให้ละเอียด จากนั้นนำมาประคบฝีหรือต้มใบแล้วนำน้ำต้มใบมาล้างแผล ก็จะช่วยบรรเทาอาการแผลให้หายเร็วขึ้น นอกจากนี้ ใบยังมีวิตามินเอ สามารถทานบำรุงสายตาได้
ข้อระวัง
จากการทดลองมีรายงานแสดงผลว่าการดื่มน้ำกระเจี๊ยบมีการขับกรดยูริคออกมาในปัสสาวะลดลง จึงไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคเก๊าส์ซึ่งมีปริมาณกรดยูริคในเลือดสูง และต้องขับออกมาให้มากที่สุดเพื่อไม่ให้ตกตะกอนในร่างกาย
ภาพกระปุกดอทคอม
โฆษณา