Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
นักเล่านิทรา
•
ติดตาม
15 พ.ค. 2020 เวลา 00:49 • ประวัติศาสตร์
อยุธยากับสงครามพม่าที่สาบสูญ
ขึ้นต้นมาก็พอจะกระเดียดนึกไปถึงบรรดาชื่อตอนของแฮรี่พ่อมดน้อยอยู่นิดๆ แต่ที่จริงเป็นเรื่องราวพื้นฐานประวัติศาสตร์บ้านเราที่มักเกี่ยวข้องกับคู่แค้นตลอดกาลอย่างพม่านี่เอง ซึ่งจะว่าไปแล้วคนไทยมักรู้จักสงครามไทย-พม่าอยู่หลักๆ แค่ไม่กี่ครั้ง เช่นสงครามเสียกรุงครั้งที่ 1 สมัยพระเจ้าบุเรงนอง- พระมหินทร ,สงครามเสียกรุงครั้งที่ 2 สมัยพระเจ้ามังระ-พระเจ้าเอกทัศน์ แล้วก็จะทราบแค่ว่าไทยเราเคยยกทัพไปตีพม่าแค่ 2 ครั้งในรัชสมัยพระนเรศวร-พระเจ้านันทบุเรง จะมีส่วนช่วยขยายเพิ่มก็ตอนละครบุพเพสันนิวาสที่ทำให้รู้ว่าสมัยพระนารายณ์ไทยเคยเอาชนะพม่าได้อีกศึกเช่นกัน
แต่ที่จริงแล้วมันยังมีประเด็นสงครามไทย-พม่าซึ่งเป็นศึกที่น่าสงสัยมากอยู่อีกหนึ่งครั้ง ที่ประวัติศาสตร์ไทยไม่เคยกล่าวถึงชนิดไม่มีบันทึกในพงศาวดารฉบับใดเลย หากแต่ดันไปปรากฏในมหาวงศ์ พงศาวดารพม่าที่บันทึกไว้ แล้วถ้าเป็นสงครามที่พม่าเอาชนะได้ก็จะไม่แปลกใจถ้าจะบันทึกไว้เป็นเกียรติ ขณะที่เราไม่ยอมรับหรือไม่อยากจดจำ แต่ดันกลายเป็นว่าเป็นสงครามคราวนั้นฝ่ายพม่าพ่ายแพ้แบบย่อยยับ อาจจะเรียกว่าหลังจากสงครามนั้น ต้องรออีกเกือบร้อยปีพม่าจึงได้แพ้เราแบบราบคาบอีกก็สมัยรัตนโกสินทร์ในสงครามเก้าทัพเลยทีเดียว
แล้วถ้าเป็นแบบนั้น ทำไมเราจึงไม่บันทึกลงหน้าประวัติศาสตร์ใดๆ เลย? แล้วฝ่ายพม่าดันจดลงในพงศาวดารของตน เพราะขนาดสงครามยุทธหัตถีของพระเนรศวรกับพระมหาอุปราช พงศาวดารพม่ายังไม่บันทึกแถมบอกว่าไม่เคยเกิดขึ้นเลย
งั้นมาเริ่มกันก่อนที่ว่า มหาวงศ์ พงศาวดารพม่าบันทึกสงครามครั้งนั้นไว้ว่าอย่างไรกันก่อน โดยจุดเริ่มต้นอยู่ที่ในปี พ.ศ. ๒๒๑๗ ตรงกับสมัยพระนารายณ์ช่วงท้ายๆ ทางอยุธยาได้ส่งกองทัพไปตีเมืองเมาะตะมะ ฝ่ายพระเจ้าอังวะทราบเรื่องก็ส่งกองทัพมาป้องกันโดยให้เล็ดยาสูระตุริงราชาเป็นแม่ทัพ แต่ก็ถูกฝ่ายไทยตีแตกพ่าย ต้องยกทัพหนีกลับอังวะ โดยสงครามครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ไม่ได้ถูกบันทึกใดๆ ในหน้าประวัติศาสตร์ไทยเลย แต่ก็อาจจะพอเป็นไปได้ว่าสมัยนั้นกำลังเห่อฝรั่ง เอาแต่สนใจจดบันทึกเรื่องราวของฝรั่งเศสและอาจจะมองว่าสงครามยกเข้าตีเมาะตะมะเป็นเรื่องเล็กน้อย หรืออาจจะมองว่าเมาะตะมะเป็นของไทย การยกมาของเล็ดยาสูระตุริงราชาเป็นการยกมาตีเมืองในปกครอง กองทัพอยุธยาแค่ป้องกันเมือง แต่เช่นนั้นก็ถือว่าเป็นสงครามที่เราเอาชนะพม่าได้อยู่ดี เหตุใดไม่คิดบันทึกเอาไว้
แต่จะอย่างไรก็ตามผลของความพ่ายแพ้ในสงครามคราวนั้นทำให้พระเจ้าอังวะเคียดแค้นเป็นอย่างมาก จึงได้จัดเตรียมกองทัพเป็นเวลาหลายปี ยิ่งเมื่ออยุธยาผลัดแผ่นดินเปลี่ยนราชวงศ์ แถมมีกบฏภายในจนน่าจะอ่อนแอ บวกกับสารวัตรหรือสละวุตที่น่าจะเป็นขุนนางไทยที่เกี่ยวด้วยกบฏแข็งข้อต่อพระเพทราชาได้นำทหารช้างม้าไปขอเข้าด้วยพม่า ทำให้พระเจ้าอังวะจัดเตรียมกองทัพเข้าตีอยุธยา หากแต่พระเจ้ามังกะยอดินอยู่ในช่วงปลายรัชกาลจึงรอจนถึงปี พ.ศ. 2242 ภายหลังที่พระเจ้าเสน่ห์มินครองราชย์ได้ 1 ปี ก็ไม่รอช้าส่งทัพใหญ่เข้ามาตีไทยถึง 2 ทาง ซึ่งมหาวงศ์ พงศาวดารพม่าบันทึกไว้โดยละเอียดทีเดียว
“ครั้งได้มหาพิชัยฤกษ์ ให้ยกทัพไปทางเมืองเชียงใหม่เข้าตีกรุงศรีอยุธยา พวกนายทัพนายกองนั้น คือ มังแรนะสิหพล ๑ ไชยจอถิง ๑ ชอยระสังรัน ๑ รันตสูร ๑ แล็ดยาไชยะสู ๑ ไปสั่งรันนายทหารม้ากอง ๑ ใน ๖ กองนี้มีช้าม้าแลพลทหารเป็นอันมาก แต่ ๖ กองนี้ให้ไปทางเชียงใหม่
ทางมุตตะมะนั้นตรัสให้นันทมิตจอถิงพล ๑ นันทมิต ๑ ภยะนันทมิต ๑ ภยะไชย ๑ ภยะราชสูอามะคำ ๑ แรโยธานายทหารม้ากอง ๑ รวม ๖ กองทัพ ให้ยกจากมุตตะมะในวันขึ้น ๒ ค่ำ เดือนอ้ายปีนั้น แต่กองทัพที่ยกจากมุตตุมะนั้น ครั้งถึงตำบลอองสาก็ได้รับกับกองทัพของอยุธยาก็เสียทีแก่อยุธยา แตกถอยหนีกลับมาทางมุตะมะ”
จะเห็นว่าจากพงศาวดารพม่านั้น สงครามไทย-พม่าในสมัยพระเทพราชานั้นใหญ่และพม่าใช้ยุทธวิธีคล้ายกับสงครามคราวกรุงแตกครั้งที่ 2 คือยกทัพใหญ่มาจากทางเหนือและใต้ แต่กองทัพอยุธยาใช้กลศึกที่ต่างไป คือไม่ตั้งรับในกรุง แต่ได้ยกทัพมารบกันที่ตำบลอองสา ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นที่ใดที่หนึ่งในกาญจนบุรี จัดการตีกองทัพใต้ให้แตกพ่ายไปก่อน เพื่อไม่ให้รวมกำลังกับกองทัพทางเหนือได้
หลังจากนั้นได้ยกทัพขึ้นไปตั้งรับกองทัพทางเหนือ ก่อนจะมีการปะทะกัน ซึ่งคาดว่าจะเป็นพื้นที่แถวจังหวัดตาก พิชัย หรือที่สวรรคโลก ก็เอาชนะได้อีก เพราะไม่มีกองทัพใต้เข้ามาช่วย ฝ่ายพม่าจึงแตกพ่ายถอยหนีกลับไปอีก
1
จะเห็นได้ว่าสงครามคราวนี้ทำให้ฝ่ายพม่ายำเกรงอยุธยา จึงไม่ได้ยกทัพเข้ามาตีอยุธยาอีกเกือบร้อยปี และที่สำคัญทำให้เห็นว่าราชวงศ์บ้านพลูหลวงในแผ่นดินพระเพทราชานั้นไม่ได้อ่อนแออย่างที่คิด
ตรงนี้ทำให้เราหันมามองว่าแล้วเหตุใดพงศาวดารไทยไม่จดบันทึกเหตุการณ์นี้ ขณะที่พม่าฝ่ายแพ้ยังบันทึกละเอียดกระทั่งชื่อแม่ทัพนายกองไว้ครบทุกคน ส่วนนี้เป็นเพราะการตั้งข้อรังเกียจราชวงศ์บ้านพลูหลวงในฐานะที่ทำให้เสียกรุงครั้งที่ 2 หรือไม่ เราจึงเลือกไม่จดบันทึกและไม่กล่าวถึงเกียรติภูมินักรบไทยกับชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่นี้เอาไว้
แต่กระนั้นก็มีข้อที่น่าคิดไปอีกว่า เหตุใดต้นราชวงศ์ได้ใช้ยุทธวิธีออกรบยังปากทางเข้าประเทศ เพื่อทำลายกองทัพย่อย ดีกว่าปล่อยให้รวมทัพใหญ่มาล้อมกรุง จนเสามารถอาชนะและขัพไล่พม่าได้อย่างง่ายดาย เหตุใดหลังจากนั้นอีก 80 ปี ปลายราชวงศ์กลับเลือกการตั้งรับจนเสียแผ่นดิน เหตุใดไม่เรียนรู้ยุทธวิธีของบรรพบุรุษที่สามารถเอาชนะได้มาก่อน แต่จะเอาข้อสงสัยนี้ว่าสงครามในปี พ.ศ.2242 ไม่เคยเกิดขึ้นจริงก็คงไม่ได้
และไม่ว่าข้อสรุปจะเป็นเช่นไรก็อยากให้คนไทยได้รวมกันศึกษา วิเคราะห์ถึงกรณีสงครามที่สาบสูญ เพื่อจะได้เชิดชูวีรกรรมของบรรพบุรุษไทย ที่แม้แต่ฝ่ายพ่ายแพ้ยังจดบันทึกกล่าวถึงวีรกรรมในคราวนั้นเอาไว้เช่นนี้
7 บันทึก
18
3
3
7
18
3
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย