15 พ.ค. 2020 เวลา 03:57 • ไลฟ์สไตล์
เร่งโปรโมทพะเยาเป็นเมืองนกยูงไทยระดับโลก : Green Peafowl Route
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของจังหวัดพะเยาคือการดำเนินโครงการพัฒนาจัดการพื้นที่อนุรักษ์นกยูงไทยในถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ (in situ Conservation) เพื่อการท่องเที่ยวธรรมชาติในพื้นที่อนุรักษ์ และสร้างจิตสำนึกแก่ชุมชนท้องถิ่น กิจกรรมหลัก ล้านนาตะวันออก "เมืองรักษ์นกยูงไทยระดับโลก" สู่การท่องเที่ยวเชื่อมโยงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ภายใต้โครงการบูรณาการ โดยจะได้ศึกษาพื้นที่อนุรักษ์นกยูงไทยในฟื้นที่เป้าหมายทั้ง 10 แห่ง ได้แก่ 1. อุทยานแห่งชาติดอยหลวง 2. อุทยานแห่งชาติดอยภูนาง 3. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ 4. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาช้าง 5. เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทับพญาลอ 6. วนอุทยานร่องคำหลวง 7. อุทยานแห่งชาติภูชาง 8. อุทยานแห่งชาติแม่ยม 9. อุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกิน 10. อุทยานแห่งชาติแม่ปืม ที่พื้นที่ผืนป่าเหล่านี้ถือเป็น The Last Stronghold of Green Peafowl in The World หรือ ฐานที่มั่นสุดท้ายของเหล่านกยูงสีเขียวในโลกที่มีอาณาเขตติดต่อกันเป็นดินแดนกว้างใหญ่
จากการศึกษาวิจัยพบว่าพื้นที่ล้านนาตะวันออก ประกอบด้วย เชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน เป็นถิ่นอาศัยนกยูงไทยหรือ นกยูงเขียว (green peafowl) ในเขตอนุรักษ์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ จัดอยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าของไทยและ IUCN จัดอยูในบัญชี Red-List สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (endangered species) พบมากและหนาแน่นพื้นที่เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าเวียงลอ อ.จุน จ.พะเยา และมีประเด็นน่าสนใจว่าพะเยาเป็นแหล่งค้านกยูงเถื่อนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
สำหรับโครงการพัฒนาล้านนาตะวันออก “เมืองนกยูงไทยระดับโลก” (Green Peafowl Route) นับเป็นโครงการที่จังหวัดพะเยาพยายามสร้างอัตลักษณ์ หรือBranding ให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ระดับโลกที่น่าส่งเสริมยิ่ง เนื่องจากนกยูงเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ โดยมีจำนวนเหลือมากที่สุดที่ประเทศไทย ซึ่งจังหวัดพะเยา ถือได้ว่าเป็นถิ่นที่อยู่ของนกยูงไทยมากที่สุดแห่งหนึ่ง และบริเวณวนอุทยานร่องคำหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่ติดกับชุมชน ก็เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนกยูงไทย
นายเอนก มีมงคล รองเลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันจำนวนนกยูงไทยในหลายๆประเทศลดน้อยลง เช่น ประเทศจีนเหลืออยู่ไม่เกิน 200 ตัว ที่สิบสองปันนา และบางประเทศนกยูงไทยได้สูญพันธ์ไปแล้ว เช่นที่มาเลเซีย อินโดนีเซีย แต่กลับปรากฏว่าในพื้นที่ล้านนามีนกยูงไทยแพร่กระจายพันธุ์เป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระดับสากลได้ระบุว่า พื้นที่ผืนป่าเหล่านี้ถือเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของเหล่านกยูงสีเขียวในโลกที่มีอาณาเขตติดต่อกันเป็นดินแดนกว้างใหญ่ สามารถพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสในการส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่สามารถเยี่ยมชมนกยูงไทยได้ตลอดทั้งปี อีกทั้งยังเป็นการเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของล้านนา ล้านช้าง ลุ่มแม่น้ำโขงและสาละวินโดยมีนกยูงเป็นสื่อกลาง สร้างความสัมพันธ์จากคุณค่าสู่มูลค่า เพื่อความกินดีอยู่ดีภายใต้กรอบความคิดที่ว่า นกยูงอยู่ได้ คนอยู่ได้ อีกด้วย
โฆษณา