15 พ.ค. 2020 เวลา 06:48
เคล็ด(ไม่)ลับในการร้องเพลงให้เพราะกว่าที่เคย
หลายคนมักเข้าใจผิดว่า “การร้องเพลงให้ได้ดี” นั้นเป็นเรื่องของคนที่มีเนื้อเสียงดี (แก้วเสียงใสกังวานน่าฟัง) และมีหูเทพ (สามารถบอกได้ว่าเสียงที่ได้ยินนั้นมันคือโน๊ตตัวไหน)
พูดเลยว่าไม่จริงซะทีเดียว เคยได้ยินมั้ยคนที่เสียงพูดแบบว่าบู้บี้มากแต่พอเปล่งเสียงร้องออกเท่านั้น โอ้ว..มีตะลึง ตัวผมเองถึงแม้จะไม่ใช่นักร้องแผ่นเสียงทองคำ แต่ก็เรียกได้ว่าสามารถร้องเพลงได้โดยไม่อายใคร ที่ตัดสินใจอัดพอดแคสต์ เขียนเป็นบทความนี้ขึ้นมา เพราะอยากเป็นกำลังใจให้กับคนที่คิดว่าตัวเองไม่มีคุณสมบัติพอที่จะร้องเพลงให้ได้เพราะ
สิ่งที่จะแชร์ต่อไปนี้แม้จะไม่ใช่เทคนิคขั้นเทพอะไรนักหนา แต่เชื่อแน่ว่าถ้าคุณเข้าใจหลักการสำคัญๆ แล้วหมั่นฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง คุณจะสามารถสร้างความประหลาดใจให้ใครต่อใครที่ได้ยินคุณพูดหรือร้องเพลงแน่นอน
ก่อนอื่นโปรดจำไว้ว่าพื้นฐานด้านดนตรีอาจมีส่วนช่วยให้คุณจับจังหวะ เข้าใจโน้ตเพลงได้ดี แต่นั่นไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดของการเป็นนักร้อง สำหรับผม ผมคิดว่า “เอกลักษณ์ในการร้องเพลง(อย่างถูกวิธี)” และ “การตีโจทย์อารมณ์เพลง” สำคัญมากกว่า
เอกลักษณ์หรือลายเซ็นของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ถ้าคุณหาเนื้อเสียงที่แท้จริงของคุณเจอ แล้วร้องมันออกมาในสไตล์ที่ไม่ซ้ำแบบใคร มันทำให้ผู้คนจดจำคุณได้มากกว่าคนที่ร้องออกมาแล้วคล้ายๆ กับคนส่วนใหญ่ และที่ต้องใส่เครื่องหมายวงเล็บไว้ว่า (อย่างถูกวิธี) เพราะมีบางคนแอบคิดว่า ฉันจะร้องคร่อมจังหวะยังไงก็ได้ เพี้ยนเท่าไหร่ก็ได้ ลากเสียงยาวขนาดไหน มันก็เป็นเรื่องของฉัน มันเป็นสไตล์ ยูโนว์? อันนี้ไม่ใช่ละ มันมีเส้นบางๆ ที่คั่นกลางระหว่าง การดีไซน์เสียงร้องให้ดูโดดเด่นและแตกต่าง กับ การร้องในแบบของฉันที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร เอาจริงๆ คนฟังเขาแยกออกนะว่า อันไหนเพราะ อันไหนพัง
เรื่องของอารมณ์เพลงนี่ยังมิบังอาจสอนใคร เพราะไม่ได้เรียนเรื่อง Voice Acting มา คนที่จะเป็นนักพากษ์ได้น่าจะมีคุณสมบัติข้อนี้ นั่นคือการจัดวางเสียง Pitching สูงต่ำ การเปล่งเสียงที่มี Dynamic Range หนักเบาสอดคล้องกับเนื้อหาเพลงและจังหวะดนตรี แบบว่าพอปิดตาฟัง แล้วนึกออกว่าคนร้องกำลังสื่อสารอะไรกับคนฟัง
สิ่งที่จะพูดดังต่อไปนี้เปรียบเสมือนเป็น Anatomy ของสรีระร่างกายและจิตวิญญาณ เพราะการที่เราจะร้องเพลงได้ดีนั้นมันเริ่มจากเราเข้าใจเรื่องพื้นฐานเกี่ยวการบริหารความตื่นเต้นเมื่อต้องออกไปยืนพูดหรือร้องเพลงต่อหน้าคนเยอะๆ
"สกัดความตื่นเต้น หยุดสั่นโดยไม่ให้มีอะไรมาขวางกั้น"
เคยเป็นกันมั้ยครับเวลาที่เราถูกเชิญออกไปร้องเพลงหน้าเวทีแล้วมีอาการดังต่อไปนี้ คอแห้ง มือสั่น ขาสั่น เสียงสั่น หรือแม้กระทั่งใจสั่น ผมขอแนะนำวิธีที่พอช่วยให้เราสามารถลดอาการประหม่าลงได้บ้าง
เริ่มจากเรื่อง “การจิบน้ำ” เพื่อทำให้เส้นเสียงมีความยืดหยุ่นคล่องตัว แนะนำให้ดื่มน้ำเปล่าที่อุณหภูมิห้อง ต้องไม่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป คำว่าน้ำอุ่น หมายถึงน้ำที่ไม่ได้ลวกคอนะครับ ผมเคยพลาดจิบน้ำชาเข้าไปเป็นกา เพราะเผลอคิดว่าร่างกายต้องการน้ำอุ่น พอไปถึงหน้างานจริง เสียงหายไปเลยครับพี่น้อง ตั้งแต่นั้นมาคือเข็ดเลย น้ำที่ร้อนไปทำให้เสียงแหบแห้งหาย น้ำที่เย็นไปทำให้เสียงแข็ง เราเคยแต่ได้ยินมาว่านักร้องห้ามดื่มน้ำเย็น ผมขอเพิ่มไปอีกอย่างคือห้ามดื่มน้ำร้อนและเครื่องดื่มทุกชนิดที่ทำให้ระคายคอ เสียงเราจะใสกังวานก็ต่อเมื่อเส้นเสียงเราสามารถสบัดพริ้วไหวอย่างเป็นธรรมชาติโดยไม่มีอะไรมาขวางกั้น
ทีนี้ก็มาต่อด้วยการลดอาการมือสั่น/ขาสั่น ลึกๆ แล้วอาการทางร่างกายมันเริ่มมาจากเสียงภายในของเราที่สร้างกลไกอะไรบางอย่างเพื่อบอกเราว่า “ฉันกลัว”, “ฉันไม่มั่นใจ” วิธีแก้แนะนำมาทำ 2 เรื่องนี้ควบคู่กันไปครับ คือ “การปลอบประโลมจิตใจ” ให้มองโลกในแง่บวก ขอย้ำว่าห้ามสั่ง ห้ามดุ เพราะเดี๋ยวอาการมันจะหนักขึ้น ให้เปลี่ยนจากเสียงที่บอกเราว่า “แย่แล้ว จะถึงคิวเราแล้ว เราจะลืมเนื้อมั้ย คนดูจะชอบเรามั้ย ถ้าเกิดเราร้องผิดคีย์ล่ะ?” เป็น “แค่ 5 นาทีเอง แป๊บเดียวเดี๋ยวก็จบแล้ว รอรถ bts ยังนานกว่านี้เลย นี่ไม่ใช่ครั้งแรกนะ ฉันเชื่อว่านายทำได้อยู่แล้ว สู้ๆ”
เมื่อสั่งจิตได้แล้ว ก็มาสั่งกายต่อด้วย “การเคลื่อนไหวร่างกายให้เป็นอิสระ” เวลาที่มือเราสั่น ขาเราสั่น ถ้ายิ่งยืนตัวตรง มือทั้งสองกุมอยู่ที่ไมค์ อาการสั่นจะดูชัดเจนยิ่งขึ้น ให้ลองยืนแยกเท้าเล็กน้อย มือข้างที่ไม่ได้จับไมค์ให้ผายออกไป ขยับเขยื้อนตามจังหวะเพลง ความสั่นมันจะกระจายตัวจนเมื่อใจเราสงบลงได้ ความสั่นจะหายเป็นปลิดทิ้ง ลองสังเกตดูนะครับคนที่เป็นโรคพาคินสันเวลาเขาจับถ้วยถือช้อนอยู่นิ่งๆ เขาจะสั่นหนักมาก แต่พอเวลาที่เขาขยับแขนเอื้อมมือไปหยิบโน่นนี่ระดับความสั่นจะน้อยลง
มาถึงอีกเรื่องที่สำคัญคือ “การควบคุมลมหายใจ” เข้าออกเพื่อคลายความตื่นเต้นกังวล เคยได้ยินแต่คนบอกให้เราหายใจลึกๆ แต่ไม่มีใครยักบอกให้เราหายใจออกไปแรงๆ เพราะอันที่จริงแล้วการอัดแต่ก๊าซอ๊อกซิเจนเข้าไปเยอะๆ ถี่ๆ อาจทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ตรงกันข้าม นั่นคือกระตุ้นให้หัวใจสูบฉีดแรงขึ้นไปอีก ทางที่ดีควรทำให้ปริมาณอ๊อกซิเจนและคาร์บอนไดอ๊อกไซด์สัมพันธ์กัน นั่นคือการหายใจเข้าไปลึกๆ แล้วหายใจออกมายาวๆ หรือจะเปล่งเสียงกระแทกออกมาว่า “อ่า ฮ่า” ก็ได้
เทคนิคนี้จะช่วยลดความตึงเครียดลงได้บ้าง และมีอีกเรื่องนึงที่คนร้องเพลงต้องให้ความใส่ใจมากเป็นพิเศษคือการเก็บลมไว้ที่ท้องให้ได้เยอะๆ เคยได้ยินกันใช่มั้ย หายใจเข้าท้องพองออก หายใจออกท้องยุบลง วิธีนึงที่ช่วยให้เราคุมลมในขณะยืนได้ดีคือ ให้เอามือทั้งสองข้างยันไว้กับฝาผนัง ล็อคไหล่ทั้งสองข้างไว้ แล้วเป่าลมออกไปที่กำแพง ลองทำตามดูนะครับ หายใจเข้าสูดลมหายใจเข้าไปลึกๆ หายใจออก เป่าลมให้พุ่งไปข้างหน้า คุณจะสังเกตได้ว่าขณะที่เราหายใจเข้าออกนั้นไหล่เราจะไม่ยกขึ้นเพราะมันได้ถูกล็อคเอาไว้แล้ว ให้จำสรีระนี้เอาไว้ว่าในขณะที่เราร้องเพลงนั้นลมหายใจของเราจะถูกดันจากท้องผ่านคอแล้วพุ่งออกไปที่ปากโดยที่ไหล่เราไม่ยกขึ้น
“การวอร์มเสียง” นี่ก็ถือเป็นท่าพื้นฐานที่ทำให้เส้นเสียงของเรามีความสั่นสู้ สังเกตกันบ้างรึเปล่าว่าตอนตื่นนอนขึ้นมา เสียงเรามักจะอู้อี้ วันไหนเกิดคึกอยากร้องเพลงขึ้นมา ปรากฎว่าแตะโน๊ตตัวบนไม่ถึงซะงั้น อันนี้เป็นเพราะเสียงเราถูกแช่แข็งเป็นเวลานานในช่วงเวลานิทรา
ดังนั้นเพื่อให้ร่างกายพร้อมที่จะร้องเพลง ให้ทิ้งช่วงเวลาอย่างน้อย 15-20 นาที ทำโน่นทำนี่ จิบน้ำ พูดคุยสนทนากับคนโน้นคนนี้จนเริ่มรู้สึกว่าเสียงปกติของตัวเองกลับมาแล้วค่อยร้องเพลง เทคนิคการวอร์มเสียงมีหลายแบบมาก เอาแบบง่ายๆ คือให้เริ่มจากการยืดเหยียดกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ โดยเฉพาะบริเวณกระพุ้งแก้ม ขยับปากฉีกยิ้มเป็นรูปต่างๆ ให้รู้สึกกล้ามเนื้อบริเวณส่วนนั้นไม่เกร็งตัว หลังจากนั้นก็ให้ทำ
Lip Roll คือการบรึ้นหรือเบิ้ลริมฝีปากรัวๆ ให้เกิดแรงสั่นสะเทือน บรือออออออออ…… นอกจากกล้ามเนื้อบริเวณช่องปากจะถูกกระตุ้นแล้ว ลำคอก็จะถูกกระตุ้นตามไปด้วย และถ้าอยากเปิดคอด้วยให้ลองเปล่งเสียงพร้อมขยับรูปปากตามรูปร่างไปด้วย อา เอ อี โอ อู….อา เอ อี โอ อู….
"กิจกรรมเข้าจังหวะ อย่าเผลอเข้าผิดห้อง"
สำหรับคนที่ไม่ใช่นักดนตรี (ซึ่งหมายรวมถึงผมด้วย) เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยากเอาการเลยทีเดียว เพราะเราไม่รู้จัก Time Signature หรือการนับเลขเพื่อเข้าให้ถูกจังหวะ เพลงส่วนใหญ่ที่ร้องกันทั่วไปมักจะเป็น 1,2,3,4 ปัญหานี้จะหมดไปเมื่อมีคนร้องไกด์ให้ หรือมีนักดนตรีคอยส่งซิกให้ด้วยการพยักหน้าหรือตีกลองส่ง แต่ถ้าเราหมดตัวช่วย เราต้องฝึกฟังแล้วหมั่นสังเกตว่าเพลงนั้นเขาเล่นจังหวะอะไร ขออนุญาตไม่พูดศัพท์เทคนิคนะ (เพราะตัวเองก็ไม่รู้เหมือนกัน) เอาเป็นว่าให้หัดเคาะมือ เคาะเท้าจับจังหวะจากเพลงต้นฉบับ ถ้าเพลงที่เราร้องเป็นแบบ 1 และ 2 และ 3 และ 4 ทั้งหมดอันนี้ถือว่าง่าย เพลงเก่าๆ ส่วนใหญ่มักจะไม่ยากเกินคาดเดา เพราะทุกท่อนจะถูกแบ่งเท่าๆ กันหมด แต่สำหรับเพลงใหม่ๆ บางเพลงจังหวะมันซับซ้อนกว่านั้น แถมเครื่องดนตรีก็ไม่ส่งซิกให้ด้วย ผมเลยใช้วิธีฟังเพลงนั้นจาก youtube เอา ท่อนไหนที่ชอบเข้าผิดห้อง ผมจะใช้วิธีนับจากหัวเพลงโดยการมาร์กจุดจากเสียงดนตรีที่เราจับได้ชัดที่สุด แล้วนับเลขเอาว่ามันคือกี่จังหวะก่อนจะเข้าเนื้อร้อง วิธีนี้อาจไม่ได้ถูกหลักซะทีเดียว แต่มันทำให้ผมร้องเพลงได้รอดมาหลายเพลงแล้วครับ
"ร้องยังไงไม่ให้เพี้ยน"
เป็นเรื่องแปลกมาก สำหรับคนบางคนแค่ฟังเพลงหนเดียวก็สามารถร้องตามได้เลยโดยไม่มีเพี้ยน แต่กับบางคนร้องกี่ทีก็ผิดคีย์ นี่ถ้ามีปัญหาในการเข้าผิดห้องด้วยแล้วล่ะก็ แนะนำให้ลงคอร์สเรียนร้องเพลงกับครูตัวเป็นๆ เลยจะดีกว่า มันเหมือนการฝึกว่ายน้ำอ่ะครับ ถ้าลองฝึกท่าเบสิคอย่างการกลั้นหายใจ การลอยตัว การว่ายท่าฟรีสไตล์ด้วยตัวเองแล้วยังทำไม่ได้ แนะนำให้ไปฝึกกับโค้ชจะดีกว่า เพราะถ้าเราฝืนฝึกมาแบบผิดๆ ไปเรื่อย มาแก้ให้มันถูกทีหลังจะทำได้ยากกว่า นี่เลยเป็นที่มาว่าถ้าจะเล่นดนตรีหรือกีฬาให้ได้ดี เขาถึงให้ฝึกตั้งแต่ตอนเด็ก เพราะถ้าฝึกตอนโต เราจะติดกับดักความคิดและความเคยชินของตัวเราเอง
ใครที่รู้ตัวว่ามีแนวโน้มว่าเป็นคนหูเพี้ยนเสียง ผมแนะนำให้ถอยหลังมาหนึ่งสเต็ป คือการหันมาฟังเพลงเยอะๆ ก่อน ฟังจนสามารถจับเสียงสูงต่ำของดนตรี แล้วฮึมฮัมตามได้โดยยังไม่ต้องร้อง เพราะถ้าร้องโดยที่ไม่ตัวรู้ว่ามันผิดเพี้ยนรึเปล่า อันนี้มันจะกลายเป็นติดนิสัยไปเลยนะครับ ร้องแบบโนสนโนแคร์ว่าคนฟังจะรู้สึกว่ามันเพราะด้วยมั้ย
พอฝึกฟังแล้วฮัมเพลงบ่อยๆ แล้ว ทีนี้ลองร้องตามดูบ้าง ให้ใช้วิธีร้องทาบกับนักร้องต้นฉบับไปก่อน อย่าเพิ่งใจร้อนร้องกับดนตรีเปล่าหรือคาราโอเกะแบบที่ตัดเสียงร้องออก เพราะมันไม่มีตัวเทียบเสียงให้เรารู้ว่าเราร้องหลุดคีย์รึเปล่า
ถ้าทำ 2 ขั้นแรกผ่านแล้ว ทีนี้ลองอัดเสียงร้องตัวเองดูครับ อัดเสียงร้องจากเครื่องบันทึกเสียง หรือฝึกกับแอป Smule, We Sing หรือ Joox ยังไม่ต้องรีบไปร้อง Join กับคนอื่นนะครับ ให้ลองร้องด้วยตัวเองแล้วย้อนกลับมาฟังซ้ำๆ ว่าเราสามารถร้องเพลงเดิมให้ดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง ตอนที่ผมฝึกร้องเพลงใหม่ๆ ยุคนั้นไม่มีแอปพวกนี้ เลยต้องอัดเพลงใส่เทปคาสเซ็ต แล้วนั่งฟังวนไปเป็นร้อยๆ รอบ แก้ทีละท่อน จนเรามั่นใจว่า เข้าถูกจังหวะ ร้องได้ถูกคีย์ เนื้อไม่ผิด เสียงไม่หลง ฯลฯ กว่าจะได้เพลงนึงก็ร้องซ่อมเป็นวันๆ เลย ถ้าคุณคิดจะจริงจังกับเรื่องนี้ มันไม่มีทางลัดจริงๆ ครับ แต่ถ้าคิดจะร้องเพลงเอามัน เพราะไม่เพราะช่างมัน เน้นสนุก คลายเครียด อันนี้ก็ไม่ว่ากัน
"เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับการร้องเพลงให้ได้ดี"
เรื่องนี้เขามีบทพิสูจน์กันมาแล้วว่าการเปลือยเท้าแนบกับพื้นมีส่วนช่วยให้เราหายใจจากช่องท้องได้ดีกว่า พยายามหลีกเลี่ยงการใส่ส้นสูงในการร้องเพลงถ้าพื้นฐานการควบคุมลมหายใจของคุณยังไม่แข็งแรง
เมื่อไหร่ที่เราต้องร้องคีย์ต่ำมากๆ อย่าพยายามก้มหน้า เพราะมันทำให้เสียงมันหายไปในลำคอ ให้เชิดหน้าเปิดปากให้กว้างเข้าไว้ จำเอาไว้ว่าเสียงร้องที่พุ่งไปข้างหน้า เกิดจากการที่เราปรับลำคอให้เป็นท่อกลมๆ ที่ไม่ตีบตันสกัดกั้นเสียงของเราที่ถูกดันมาจากช่องท้อง
การฉีกยิ้มช่วยทำให้กล้ามเนื้อในช่องปากดูผ่อนคลาย ยิ่งเราสามารถเปิดปากกว้างได้เท่าไหร่ เสียงที่ออกมาก็จะดูสว่างกังวานได้มากเท่านั้น
ถ้าอยากรู้ว่าเสียงที่คนอื่นได้ยินเหมือนกันเสียงที่ดังข้างหูของเราหรือไม่ ให้ลองดันใบหูทั้งสองข้างออกไปข้างหน้า แล้วคุณจะรู้ว่าเสียงในหูที่เราได้ยินกับเสียงที่คนอื่นได้ยินอาจไม่เหมือนกัน
สุดท้ายคือเรื่องการจับไมค์ ไม่ควรถือไมค์แนบลำตัว เพราะมันทำให้เสียงที่ออกจากริมฝีปากของเรานั้นไม่เข้าตัวไมค์ตรงๆ (ไมค์ร้องเพลงทั่วไปเป็น Dynamic Microphone สามารถรับเสียงได้ทางตรงจากหัวไมค์ ซึ่งต่างจาก Condenser Microphone ที่สามารถรับเสียงได้รอบทิศกว่า) ฉะนั้นให้ลองเปลี่ยนด้วยการหันหัวไมค์เข้าหาตัว ก้นไมค์ชี้ออกด้านนอก ทิ้งระยะห่างระหว่างไมค์และริมฝีปากประมาณ 1 กำมือ
ฝากกดติดตามและฟังพอดแคสต์ตอน “เสียงเปลี่ยนชีวิต” ได้ที่ลิงค์ด้านล่างนี้เลยครับ
ท้ายที่สุดนี้ขอให้คุณเพลิดเพลินกับการร้องเพลงที่มีคนขอให้ร้อง Encore Encore Encore ถ้าไม่อยากพลาดเรื่องราวดีๆ โปรดกด Subscribe บน Youtube Channel นะครับ (https://www.youtube.com/somchartlee)
โฆษณา