15 พ.ค. 2020 เวลา 15:45 • ท่องเที่ยว
ความชุลมุนวุ่นวายในเรื่องการใช้สกุลเงิน เมื่อท่านไปท่องเที่ยวยุโรปตะวันออก
นับตั้งแต่โควิด19 ระบาด การท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศก็ต้องหยุดไปโดยปริยาย เชื่อว่าตอนนี้หลายๆท่านก็คงจะคิดถึงและโหยหาวันเวลาเก่าๆ ที่ได้เดินทาง หรือท่องเที่ยวและการไปนั่ง Hang out ตามร้านกาแฟกับคนรู้ใจ วันนี้ Wisdom for the Future จะมาชวนท่านคุยเรื่องความวุ่นวายเกี่ยวกับสกุลเงินเมื่อท่านต้องไปท่องเที่ยวแถบยุโรปตะวันออก และยุโรปกลางอย่าง ประเทศเยอรมัน เช็กเกีย ฮังการี่ และสโลวเกีย ในทริปเดียวกัน พอให้ท่านได้นึกถึงบรรยากาศของการท่องเที่ยวได้บ้าง ซึ่งไม่รู้ว่าจะมีโอกาสได้เดินทางกันอีกเมื่อไหร่ ทั้งจากปัญหาเรื่องเจ้าไวรัส Covid ที่ยังคงอาละวาดอยู่ทั่วโลกในขณะนี้ หรือถึงแม้ว่าโรคระบาดอาจบรรเทาเบาบางจนหมดไปแล้ว แต่การใช้เงินเพื่อการท่องเที่ยวใน 2-3 ปีข้างหน้า ก็คงไม่ใช่เรื่องที่ตัดสินใจได้โดยง่าย เนื่องจากหลัง Covid19 อาจลดทอนความสามารถในการหาเงินของใครๆหลายคน เนื่องด้วยปัญหาเศรษฐกิจของประเทศและทั้งโลกที่ยากจะคาดเดาว่าจะรุนแรงและลากยาวไปไกลแต่ไหน
ตึกรัฐสภาของฮังการี่ริมแม่น้ำดานูบ ถ่ายจากบนเรือล่องชมบรรยากาศ ยามพลบค่ำ
เอาละ มาเข้าเรื่องกันครับ ทริปนี้ผมเดินทางก่อนที่เจ้า Corona-virus หรือ Covid19 จะมาปรากฏตัวเขย่าขวัญชาวโลก 2-3 สัปดาห์ คือท่องเที่ยวช่วง วันที่ 02-11 ธันวาคม 2562 ซึ่งการท่องเที่ยวในโซนยุโรปตะวันออก ยุโรปกลาง เช่นแถบประเทศอังการี เช็ก สโลวเกีย เยอรมัน และ ออสเตรีย สิ่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวต้องเผชิญคือ การใช้สกุลเงินที่แตกต่างกัน คือ สกุลเงินยูโร (Euro) และ สกุลเงินของประเทศที่ยังคงใช้สกุลเงินดั้งเดิมของตนเอง เช่น ประเทศฮังการี ใช้สกุลเงินโฟรินต์ (Forint) สาธารณรัฐเช็กใช้สกุลเงินโครูน่าเช็ก (Czech Koruna) ส่วนประเทศออสเตรีย เยอรมัน และ สโลวเกียใช้สกุลเงินยูโร ทำให้เกิดความยุ่งยากในการที่ต้องแลกเงินสกุลท้องถิ่นของประเทศดังกล่าว เพื่อการจับจ่ายใช้สอยซื้อสิ่งของต่างๆ การแลกเปลี่ยนเงินไปมามักจะขาดทุน เสียเปรียบเสมอๆ
เหรียญสกุลเงิน Euro ของยุโรป Koruna ของเช็ก และ Forint ของอังการี่
เมื่อพูดถึงการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของประเทศต่างๆในทวีปยุโรป ตามกติกาของสภายุโรปโดยปกติแล้วไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก ขอแค่ประเทศที่ยื่นขอเข้าเป็นสมาชิก ต้องมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีอำนาจอธิปไตย คืออำนาจสูงสุดในการปกครองรัฐ มีองค์กรที่ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและเคารพต่อกฎหมาย เมื่อประเทศใดยื่นขอเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป สภายุโรป (European Parliament) ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงบรัสเซล ก็จะทำการพิจารณาก่อนให้การรับรอง ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 28 ประเทศ (อังกฤษกำลังจะออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปด้วยเหตุผลภายในของประเทศอังกฤษเอง)
ส่วนการใช้สกุลเงินร่วมเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ชาติสมาชิกไม่ได้ใช้สกุลเงินยูโรอย่างอัตโนมัติเมื่อเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป เพราะจะมีเหตุผลภายในชาติตนเองและเงื่อนไขต่างหากที่กำหนดโดยธนาคารกลางยุโรป European Central Bank (ECB) ซึ่งเงื่อนไขการขอเข้าใช้เงินสกุลยูโร เช่น
(1) การจัดทำงบประมาณประจำปีของรัฐบาลต้องไม่ขาดดุลเกินร้อยละ 3 ของ GDP
(2) หนี้สาธารณะ (หนี้รัฐบาล) ต้องไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP
(3) รัฐต้องมีความสามารถในการควบคุมเงินเฟ้อ คืออัตราเงินเฟ้อห้ามสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของ 3 ประเทศสมาชิกที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำสุดได้ไม่เกิน ร้อยละ 1.5
และมีเงื่อนไขอื่นๆ อีก เช่น อัตราดอกเบี้ยระยะยาว (พันธบัตรรัฐบาล) จะสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของ 3 ประเทศสมาชิกที่มี อัตราเงินเฟ้อต่ำสุดได้ไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี และ อัตราแลกเปลี่ยนจะต้องมีเสถียรภาพ และ ประเทศสมาชิกต้องไม่ลดค่าเงินภายใน 2 ปีก่อนการตัดสินใจเข้าร่วมใช้เงิน สกุลยูโร เป็นต้น อย่างไรก็ตามเงื่อนไขหรือเกณฑ์ดังกล่าวสามารถยืดหยุ่นได้บ้าง โดยพิจารณาแนวโน้มในอนาคต ว่าโอกาสที่แต่ละประเทศจะมีโอกาสปรับตัวเข้าสู่เกณฑ์ดังกล่าวได้ในที่สุด
อาคารประกอบ หน้าพระราชวังเชินบรุนน์ เวียนนา
ประเทศสาธารณรัฐเช็ก หรือ เช็กเกีย ยื่นเข้าร่วมใช้เงินสกุลยูโรไปแล้ว และจะใช้ตั้งแต่ปี 2018 เพราะตัวเลขทางเศรษฐกิจทุกตัว ผ่านเงื่อนไขทั้งหมดของ ECB แต่ด้วยเหตุผลภายในของประเทศ คือ ประชาชนไม่เห็นด้วย ถึงร้อยละ 70 เพราะเกรงผลกระทบเชิงลบต่อค่าครองชีพ สินค้าอาจมีราคาแพงขึ้น ฝ่ายการเมืองก็กลัวผลกระทบต่อคะแนนเสียงถ้าเปลี่ยนไปใช้ยูโรแทนสกุลเงินดังเดิม จึงชะลอการใช้เงินร่วมสกุลยูโรไปก่อน ซึ่งนักการเมืองก็กลัวการเสียคะแนนเสียงเหมือนกันทุกประเทศกระมังครับ
ฉะนั้น ถ้าท่านมีความต้องการไปท่องเที่ยวยุโรปตะวันออก ที่ใช้สกุลเงินแตกต่างกัน ก็ต้องทำใจยอมรับกับการต้องแลกเปลี่ยนสกุลเงินไปมา ถ้าซื้อของมีราคา ใช้บัตรเครดิตจะเหมาะกว่าครับ แต่ก็ต้องมีเงินสดแลกติดกระเป๋าไว้ เพื่อใช้ซื้อสิ่งของเล็กๆน้อย หรือไว้หยอดเหรียญเข้าห้องน้ำในปั้มน้ำมันบ้างก็ดีครับ
เข้าห้องน้ำในปั้ม ต้องหยอดเหรียญ ขอถ่ายรูปเป็นที่ระลึกสักหน่อย
ขณะที่เดินเล่นอยู่บนสะพานชาร์ล (Charles Bridge) สะพานเก่าแก่ข้ามแม่น้ำวัลตาวา ในกรุงปราก เมืองหลวงของสาธารณะรัฐเช็ก ก็ไปเจอกับ ปีเตอร์ เช็ก อดีตนายด่านของทีมสิงโตน้ำเงินคราม เชลซี และไอ้ปืนใหญ่อาร์เซนอล หลังจากแขวนถุงมือไปแล้ว ก็มาวาดรูปนักท่องเที่ยวหากินอยู่บนสะพาน Ha.Ha..Ha.. ล้อเล่นครับ แค่คนหน้าละหม้าย คล้ายคลึง เป็นศิลปินนีรนามครับ
ช่างวาดรูปเหมือนบนสะพานชาร์ล หน้าเหมือน ปีเตอร์ เช็ก มาก ใครเจออุดหนุน ใช้บริการให้วาดรูปเหมือนด้วยนะครับ
Astronomical Clock ย่านเมืองเก่าของกรุงปราก
โฆษณา